ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2567 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า กรมกิจการผู้สูงอายุ เปิดเผยสถิติผู้สูงอายุ สัญชาติไทย และ มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน มกราคม 2565 โดยมีประชากรผู้สูงอายุในปี 2565 จำนวน 12,116,199 คน แบ่งเป็นเพศชาย 5,339,610 คน เพศหญิง 6,776,589 คน
- ระหว่างอายุ 60-69 ปี จำนวน จำนวน 6,843,300 คน คิดเป็น 56.5% ของผู้สูงอายุทั้งหมด
- ระหว่างอายุ 70-79 ปี มีจำนวน 3,522,778 คน คิดเป็น 29.1% ของผู้สูงอายุทั้งหมด
- ระหว่างอายุ 80 ปีขึ้นไป จำนวน 1,750,121 คน คิดเป็น 14.4% ของผู้สูงอายุทั้งหมด
ผู้สูงอายุที่คิดว่าตัวเองเป็นภาระให้กับผู้อื่นอาจจะรู้สึกว่าชีวิตของตนเองนั้นด้อยค่าตามไปด้วย อาจส่งผลให้เผชิญความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและแยกตัวจากสังคม ผู้สูงอายุที่มีทัศนคติต่อความชราภาพไปในเชิงลบจะมีอายุยืนยาวน้อยกว่าผู้สูงอายุที่มีทัศนคติต่อความชราภาพไปในเชิงบวกถึง 7.5 ปี การเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสทำงาน ช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองยังมีค่า สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข ผู้สูงอายุแต่ละคนมีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ไม่เท่ากัน ปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่าง คือ ประสบการณ์ที่ผ่านมาตลอดชีวิต หากได้รับการฝึกอบรมทักษะต่างๆ การศึกษาเรียนรู้หรือทำงานมาหลากหลายรูปแบบ คนเหล่านี้เป็นผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์ ซึ่งจะช่วยให้อยู่ได้อย่างมีคุณค่า
ผู้สูงอายุ เป็นวัยที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจ อาจมีโรคเรื้อรังที่ต้องดูแลและรักษา เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคกระดูกพรุน โรคเกาต์ โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคจอประสาทตา เป็นต้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ อารมณ์ สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งผู้สูงอายุบางรายอาจไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ และอาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย ดังนั้นการดูแลผู้สูงอายุ คือการทำให้ผู้สูงอายุดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข มีอิสระ และมีคุณภาพ สามารถพึ่งพาตนเองได้โดยพึ่งพาผู้อื่นน้อยที่สุด