อาหาร กับผู้ป่วยเบาหวาน

โรคเบาหวาน เกิดจากการทำงานของตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิต อินซูลิน(Insulin) ออกมาได้น้อยกว่าปกติ ทำให้ไม่เพียงพอกับการเผาผลาญน้ำตาลในเลือดมาใช้เป็นพลังงาน หากร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และหากผู้ที่เป็นเบาหวานไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ อาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังต่างๆได้
หมวดข้าวแป้ง
เป็นอาหารในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานหลักแก่ร่างกาย ผู้ที่เป็นเบาหวานควรให้ความสำคัญในการกำหนดสัดส่วน ปริมาณให้เหมาะสมในการรับประทาน ซึ่งโดยทั่วไปไม่ควรเกินมื้อละ 2-3 ทัพพี ควรเลือกรับประทานข้าวแป้งที่ไม่ขัดสีมากกว่าข้าวขาว เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีท ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่มีใยอาหารสูง ร่างกายจะย่อยและดูดซึมได้อย่างช้าๆระดับน้ำตาลในเลือดจึงไม่ขึ้นสูงเร็วจนเกินไป
หมวดผักชนิดต่างๆ
อาหารในกลุ่มนี้มีทั้งวิตามิน เกลือแร่ และใยอาหารสูง ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลไปใช้ได้ดีแล้ว ยังช่วยในเรื่องของระบบขับถ่ายได้ดีด้วย ผู้ที่เป็นเบาหวานจึงควรเน้นรับประทานผักให้ อย่างน้อยวันละ 3-4 ทัพพี เน้นเป็นผักสด ลวก ต้ม จะดีกว่าการนำไปผัดหรือทอด
หมวดผลไม้
จัดเป็นกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะนอกจากผลไม้จะมีวิตามิน และใยอาหารสูงแล้วยังมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบอีกด้วย หากทานในปริมาณที่มากกว่าปริมาณที่กำหนด จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ ผู้ที่เป็นเบาหวานสามารถทานผลไม้ได้ 3-4 ครั้งต่อวัน หลังอาหารหรือเป็นอาหารว่าง ไม่ควรเกินครั้งละ1ส่วน เช่น องุ่น 5-8 ผล,ส้ม 1-2 ผล,ฝรั่ง ½ ผล,มะละกอ 6-8 ชิ้นคำ หลีกเลี่ยงผลไม้รสหวานจัด เช่น ทุเรียน ขนุน น้อยหย่า ละมุด ผลไม้ที่ผ่านการแปรรูป เช่น ผลไม้กวน ผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้กระป๋อง เป็นต้น
หมวดเนื้อสัตว์
จะให้ทั้งโปรตีนและไขมันต่อร่างกาย โปรตีนเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต ใช้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและเป็นแหล่งพลังงานด้วย ผู้ที่เป็นเบาหวานควรได้รับทุกมื้อ มื้อละ 2-4 ช้อนกินข้าว แต่ในเนื้อสัตว์มักมีไขมันและโคเลสเตอรอลแฝงอยู่ หากรับประทานปริมาณมากอาจมีความเสี่ยงจากการเกิดโรคไขมันในเลือดสูงได้ จึงควรเลือกโปรตีนจากเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อปลา ไข่ และเต้าหู้ เป็นหลัก
หมวดไขมัน
เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายเพื่อช่วยในการดูดซึมวิตามินต่างๆผู้ที่เป็นเบาหวานควรเลือกใช้น้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก ในการประกอบอาหาร หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น กะทิ เนื้อสัตว์ติดมัน ครีมเทียม  เนยเทียม เป็นต้น
สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานควรเลือกดื่มนมพร่องมันเนย ขาดมันเนย หรือโยเกิร์ตรสธรรมชาติ หลีกเลี่ยง นมข้นหวาน นมเปรี้ยว นมปรุงแต่งรสหวาน โยเกิร์ตปรุงแต่งรสชาติ

โปรแกรมและแพ็คเกจ