รู้ทัน ป้องกัน ข้อเข่าเสื่อม Knee Osteoarthritis

ความรู้ทั่วไปของข้อเข่า
ข้อเข่าประกอบด้วย 3 ส่วน
  1. ส่วนปลายของกระดูกต้นขา
  2. ส่วนต้นของกระดูกหน้าแข้ง
  3. ลูกสะบ้า
ข้อเข่ามีลักษณะคล้ายบานพับ ประกอบด้วยกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้งซึ่งเชื่อมต่อกันด้วยเส้นเอ็นที่แข็งแรงทำหน้าที่ค้ำจุนและให้ความแข็งแรงมั่นคงแก่ข้อเข่าทั้งด้านข้างและภายในข้อเข่าอยู่สี่เส้น ขอบบนลูกสะบ้ามีกล้ามเนื้อต้นขาส่วนหน้ามาเกาะและส่วนปลายของลูกสะบ้ามีเอ็นเกาะติดกับส่วนบนของกระดูกหน้าแข้ง
อาการของข้อเข่าเสื่อม
  1. ปวด อาการปวดเข่าในระยะแรกจะปวดเมื่อย ตึงบริเวณหัวเข่าหรือน่อง โดยจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหว เมื่อพักเข่าจะดีขึ้น อาการเป็นๆหายๆ ในรายที่เป็นมากจะปวดตลอดเวลา
  2. บวม ในรายที่มีการอักเสบจะมีอาการบวม
  3. ข้อเข่าผิดรูป ข้อเข่าผิดรูปโดยเปลี่ยนรูปร่างไปจากเดิมทำให้ขาผิดรูปตามมา ซึ่งหากผิดรูปมากจะทำให้เดินลำบาก รู้สึกขาไม่เท่ากัน ปวดมากเวลาเดิน
  4. ข้อเข่าไม่มั่นคง โดยผู้ป่วยมักรู้สึกว่าข้อหลวมหรือหลุดเวลาลงน้ำหนักหรือมีเสียงข้อเข่าขณะเคลื่อนไหว
  5. ข้อเข่าติด ผู้ป่วยไม่สามารถเหยียดหรืองอเข่าได้สุด
  6. มีเสียงในข้อเข่า เมื่อมีการเคลื่อนไหว จากผิวกระดูกอ่อนที่ไม่เรียบเสียดสีกัน
ปัจจัยเสี่ยงของโรคข้อเข่าเสื่อม
  1. อายุ พบว่าเมื่อมีอายุเกิน 40 ปีจะเริ่มมีข้อเข่าเสื่อม
  2. เพศ ผู้หญิงมีโอกาสเป็นได้มากกว่าผู้ชาย 2 เท่าโดยเฉพาะเมื่อมีอายุมากกว่า 50 ปี
  3. น้ำหนัก คนที่น้ำหนักมาก เสี่ยงต่อข้อเข่าเสื่อมได้เร็วกว่าปกติ โดยน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น 0.5 กิโลกรัม จะเพิ่มแรงที่กระทำต่อข้อเข่า 1-1.5 กิโลกรัม
  4. พฤติกรรมการใช้ชีวิต ผู้ที่นั่งงอเข่ามาก ๆ เช่นนั่งยอง ๆ นั่งขัดสมาธิ เสี่ยงต่อข้อเสื่อมได้มากกว่าปกติ
  5. การใช้งานข้อเข่าอย่างหนักและต่อเนื่อง เช่น ทำงานยกแบกของหนัก ทำงานที่มีการกระแทกหรือกระโดด ในผู้ป่วยที่มีอาชีพชาวนา,ชาวสวนหรือกรรมกรแบกหามตลอดช่วงวัยทำงานมักมาพบแพทย์ด้วยโรคข้อเข่าเสื่อมและกระดูกสันหลังเสื่อมในวัยสูงอายุ
  6. การได้รับอุบัติเหตุที่ข้อเข่า เช่น มีกระดูกข้อเข่าแตกหรือมีหมอนรองกระดูกข้อเข่ารวมถึงเอ็นภายในหัวเข่าฉีก
  7. ความบกพร่องของส่วนประกอบของข้อ เช่น ข้อเข่าหลวม กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง
  8. ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณหัวเข่า ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกายเสี่ยงต่อข้อเข่าเสื่อมมากกว่าเนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณหัวเข่าไม่แข็งแรง
  9. นักกีฬา เช่นนักกีฬากลุ่มที่ต้องวิ่งหรือกระโดด มักมีปัญหาข้อเข่าเสื่อมเร็วกว่าปกติ
  10. กรรมพันธุ์ ในผู้ป่วยที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม มีโอกาสเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น
การรักษาข้อเข่าเสื่อม
  1. การรักษาแบบอนุรักษ์นิยม
    • การรักษาแบบไม่ใช้ยา เช่น การทำกายภาพบำบัด การลดน้ำหนัก การปรับการใช้ชีวิตประจำวัน การใช้ที่ช่วยพยุงเข่า การนวด การฝังเข็ม การใช้สมุนไพรประคบนวด การรักษาเหล่านี้เป็นเพียงเพื่อบรรเทาอาการปวดเท่านั้น
    • การรักษาแบบใช้ยา เช่น การให้ยาต้านการอักเสบ ยาในกลุ่ม Glucosamine
  2. การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ โดยใช้ยาชาที่ผสมอยู่ช่วยระงับปวดในระยะแรกและยาสเตียรอยด์ช่วยยับยั้งการอักเสบในระยะยาว ทั้งนี้การตอบสนองต่อการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อเข่ามีความแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นกับสภาพความเสื่อมของข้อเข่า
  3. ยาฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียมเพื่อเพิ่มความหล่อหลื่นภายในข้อเข่าเป็นการรักษาแบบประคับประคองในระดับหนึ่ง
  4. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เป็นวิธีการรักษาภาวะข้อเข่าเสื่อมในระยะปานกลางถึงระยะรุนแรงโดยได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีสากลที่ให้ผลการรักษาดีที่สุด เป็นการผ่าตัดที่ตัดผิวข้อส่วนที่เสื่อมออกแล้วทดแทนด้วยโลหะสังเคราะห์ โดยสามารถช่วยลดอาการปวดและเพิ่มคุณภาพชีวิตได้
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
  1. มีอาการปวด บวม ตึงข้อเข่า ซึ่งส่งผลต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ใน ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
  2. แก้ไขความผิดรูปหรือความพิการของข้อเข่า
  3. เพื่อป้องการการเสื่อมของข้ออื่น ๆ ตามมา
  4. รักษาด้วยวิธีอนุรักษ์นิยมมาแล้วไม่ดีขึ้น
การป้องกันข้อเข่าเสื่อม
สามารถทำได้โดยลดปัจจัยเสี่ยงตามที่ได้กล่าวมา
    1. การลดน้ำหนัก ในผู้ป่วยที่อ้วนควรลดน้ำหนักให้ได้ร้อยละ 5 ของน้ำหนักตัวในสามเดือน
    2. การปรับการใช้ชีวิต พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนไทยมักอยู่กับพื้น มักมีการพับงอเข่ามากและส่งผลให้เกิดการอักเสบของข้อเข่าได้ เช่น นั่งยอง ๆ คุกเข่า ขัดสมาธิ ควรมีการปรับอิริยาบถให้เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น
      • การนั่งเก้าอี้แทนการนั่งพื้น
      • ในห้องน้ำควรใช้ชักโครกแบบมีโถนั่งเพื่อลดการงอเข่า
      • การซักผ้า ซักทีละไม่มากชิ้น นั่งซักบนม้าเตี้ย ๆ และเหยียดเข่าสองข้าง
      • การรีดผ้า เลี่ยงการนั่งรีดผ้ากับพื้น ควรใช้การนั่งเก้าอี้หรือยืนรีดและควรหาม้าเตี้ย ๆ มารองพักขา
      • เลี่ยงการก้มถูบ้าน ให้ใช้ไม้ม๊อบถูพื้นแทน
      • หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ โดยไม่จำเป็น เพราะเข่าต้องรับน้ำหนัก ประมาณ 3-4 เท่าของน้ำหนักตัวผู้นั้นขณะขึ้นลงบันได ในรายที่จำเป็นต้องขึ้นลงบันไดควรทำการจับราว โดยการขึ้นบันไดควรนำขาข้างที่ดีพยุงตัวขึ้นบันไดและตามด้วยขาข้างที่มีข้อเข่าเสื่อมไปทีละขั้น ในทางกลับกันเมื่อลงบันได ควรทำการจับราวและนำขาข้างที่มีข้อเข่าเสื่อมลงบันไดและตามด้วยขาข้างที่ดีทีละขั้นเพื่อให้ขาข้างที่ดีช่วยพยุงตัวผู้ป่วยระหว่างการก้าวลง
    3. ออกกำลังกาย การออกกำลังกายโดยสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันข้อเข่าเสื่อม เพราะเป็นการเสริมสร้างความแข็งแรงแก่กล้ามเนื้อรอบข้อเข่า ทำให้น้ำหนักลงที่เข่าน้อยลงและช่วยลดแรงที่กระทำต่อข้อเข่า ควรพิจารณาระดับการออกกำลังกายตามความเหมาะสมของสภาพร่างกายของแต่ละคน
      การออกกำลังกายในน้ำเป็นการออกกำลังกายที่ดีต่อข้อเข่ามากที่สุด เพราะน้ำมีแรงพยุงตัวทำให้ข้อเข่ารับน้ำหนักน้อยลงจึงเหมาะกับผู้ที่มีอาการปวดเข่าและมีน้ำหนักตัวมาก แรงหนืดของน้ำทำให้ต้องออกแรงมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าได้ดี
การเดินก็เป็นการออกกำลังที่ดี สามารถเดินเร็วในรายที่กล้ามเนื้อต้นขามีความแข็งแรงพอแต่ถ้ากล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ควรเดินช้า ๆ หรือเดินเท่าที่จำเป็น
การขี่จักรยาน ควรปรับอานนั่งของจักรยานให้ขางอเพียงเล็กน้อยเพื่อลดแรงที่กระทำต่อข้อเข่า หลีกเลี่ยงการถีบจักรยานที่ตั้งความฝืดหรือระดับความสูงไม่เหมาะสม ซึ่งจะเพิ่มการบาดเจ็บให้กับข้อเข่าได้
ท่าออกกำลังกายเพื่อข้อเข่าที่แข็งแรง
การบริหารกล้ามเนื้อต้นขามีความสำคัญมาก หากกล้ามเนื้อมัดนี้มีความแข็งแรง ก็จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับข้อเข่าจะช่วยชะลอข้อเข่าเสื่อมได้โดยป้องกันแรงที่กระทำต่อข้อในขณะที่ใช้ข้อเข่าในการลุกขึ้น และยังป้องกันแรงกระแทกที่กระทำต่อข้อเข่าในขณะเดิน ควรออกกำลังกายดังกล่าวเป็นประจำทุกวัน โดยเริ่มทำจากน้อยไปมาก ทำประมาณ 10-20 ครั้ง/ชุด วันละ 2-3ชุดเป็นอย่างน้อย การค่อยๆเพิ่มความสามารถของกล้ามเนื้อรอบเข่าจะช่วยเพิ่มทั้งความแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อ การบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่านี้สามารถทำได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอให้ข้อเข่าเสื่อมก่อน

โปรแกรมและแพ็คเกจ

โปรแกรม Office Syndrome ออฟฟิศ ซินโดรม

เลือกโปรแกรมที่เหมาะ […]

ฝังเข็มรักษาโรค

การฝังเข็ม (Acupunct […]

โปรแกรมลดปวด 7 ฟรี 1

โปรแกรมลดปวดด้วยเครื […]