คำแนะนำการสลายต้อกระจก

PHACOEMULSIFICATION
คือภาวะเลนส์แก้วตาขุ่น มีสายตาฝ้ามัว ทำให้แสงผ่านเข้าไปยังจอประสาทตาได้น้อยลง สายตาจึงเริ่มมีอาการมัว ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นไม่ชัดเจน พบมากในผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไปและผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจะมีภาวะเสี่ยงที่จะเกิดต้อกระจกได้เร็วขึ้นกว่าคนทั่วไป
อาการ
  • สายตามัวเหมือนมีฝ้าหรือหมอกมัว
  • เห็นภาพซ้อน สายตาพร่า สู้แสงไม้ได้
  • อ่านหนังสือไม่ชัด แม้จะใส่แว่นตาช่วย
  • หากทิ้งไว้นาน อาจเกิดโรคต้อหินแทรกซ้อน ทำให้ปวดตา และตาบอดได้
การรักษาต้อกระจก
เมื่อสายตามัวลงไม่สะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติแล้ว ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยดวงตาจากจักษุแพทย์โดยละเอียดเพื่อให้ทราบแน่ชัดว่าต้อกระจกเป็นสาเหตุเดียว ที่ทำให้สายตาขุ่นมัวหรือมีโรคอื่นแทรกด้วย
สำหรับการสลายต้อกระจก ด้วยคลื่นความถี่สูง จักษุแพทย์จะใช้เวลาในการรักษา 20 – 30 นาทีแพทย์จะเปิดช่องเล็กประมาณ 2.75 – 3.0 ม.ม. ที่ขอบกระจกตาเพื่อสอดเครื่องมือสลายต้อเข้าไปไว้ที่ตัวต้อกระจก แล้วปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อสลายต้อกระจกเป็นอณูเล็กๆ แล้วดูดออกมา เหลือไว้แต่เปลือกหลังของเลนส์แก้วตา เพื่อเป็นถุงใส่เลนส์แก้วตาเทียมแทน แผลที่เกิดจากการรักษาวิธีนี้มีขนาดเล็กมาก จึงสมานตัวได้เป็นปกติอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเย็บ ผู้ป่วยสามารถมองเห็นได้ชัดขึ้นทันทีในวันรุ่งขึ้น
เลนส์แก้วตาเทียม
คืออวัยวะเทียมที่สามารถทำให้ผู้ป่วยมองเห็นได้ มีให้เลือกหลายชนิด
  1. ชนิดโฟกัสระยะเดียว (Monofocal) จะช่วยให้มองเห็นระยะไกลชัดเจนแต่มองใกล้ต้องใช้แว่นอ่านหนังสือ
  2. ชนิดโฟกัสหลายระยะ (Multifocal) อาศัยเทคโนโลยีที่ใหม่เรียกว่า Apodized diffractive จะช่วยให้มองเห็นได้ทั้งไกล กลาง ใกล้ โดยไม่ต้องใช้แว่น
  3. ชนิดแก้สายตาเอียง (Toric) ออกแบบให้มีความโค้งด้านหลังเลนส์ไม่เท่ากันในแนวตั้งและแนวนอน เพื่อชดเชยความโค้งของกระจกตาที่ไม่เท่ากันของผู้ที่มีภาวะสายตาเอียงที่กระจกตา จะช่วยให้มองเห็นในระยะไกลโดยไม่ต้องใช้แว่น
ข้อควรปฏิบัติก่อนสลายต้อกระจก
  1. ฝึกหัดนอนราบ ไม่หนุนหมอนคลุมโปง เพื่อให้เคยชินจะได้ไม่รู้สึกอึดอัด
  2. พักผ่อนเต็มที่ เพื่อความแข็งแรงของร่างกาย
  3. ควรชำระร่างกายและสระผมให้สะอาดสุภาพสตรีไม่ควรแต่งหน้า สุภาพบุรุษไม่ใส่น้ำมันใส่ผมสวมเสื้อผ้าที่ใส่สบายไม่ใส่เครื่องประดับ
  4. รับประทานอาหารที่ย่อยง่ายจะได้ไม่อึดอัดหลังรับประทานอาหารควรแปรงฟัน หรือ บ้วนปากให้สะอาด
  5. ยาที่รับประทานหรือใช้เป็นประจำ ควรปรึกษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พร้อมแจ้งชนิดยาที่แพ้ให้เจ้าหน้าที่ทราบ
  6. นำญาติที่ต้องดูแลผู้ป่วยมาด้วย 1 ท่าน
หมายเหตุ : กรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถมาได้ตามวันเวลาที่นัดไว้ โปรดโทรศัพท์ติดต่อเจ้าหน้าที่ให้ทราบอย่างน้อย 3 วัน
การปฏิบัติตัวขณะสลายต้อกระจก
  1. ระหว่างทำควรนอนนิ่งๆ ไม่ส่ายหน้าหรือสั่นศีรษะ นอนปล่อยตัวตามสบายไม่นอนเกร็ง
  2. ถ้ารู้สึกว่าต้องการไอหรือจามควรบอกให้แพทย์ทราบทันที เพื่อจะนำเครื่องมือออกจากตาก่อน
  3. บางรายที่ได้รับยาระงับความรู้สึกด้วยการหยอดยาชาเฉพาะที่ ควรให้ความร่วมมือกลอกตาไปซ้ายหรือขวาตามที่แพทย์บอก
อาการผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์ทันที หลังการสลายต้อกระจก
  • มีอาการปวดตามมาก ตามัวลง ตาแดง ขี้ตามากผิดปกติ หนังตาบวมแดง
  • มีเลือดออกที่บริเวณตาขาว หรือ ตาดำ
  • มีอาการเคืองตาผิดปกติ น้ำตาไหลมาก
การปฏิบัติตัวหลังการสลายต้อกระจก
  • เดินนั่ง พูดคุย ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ และทำกิจวัตรประจำวันที่ไม่ต้องออกแรงมากได้ตามปกติ
  • ไม่ให้น้ำเข้าตา 3 สัปดาห์ โดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดหน้าแทนการล้างหน้า บริเวณรอบตาใช้สำลี และน้ำเกลือเช็ดแทนการล้างหน้าอย่างน้อยวันละครั้ง
  • หยอดตา และรับประทานยาตามแพทย์สั่ง วิธีหยอดตาควรล้างมือให้สะอาด เงยหน้าขึ้น ลืมตามองข้างบน ดึงเปลือกตาล่างลง ทำให้ เกิดแอ่งระหว่างเปลือกตาและลูกตาหยอดยาลงไป 1 หยด แล้วหลับตาสักครู่ ( กรณีที่มียาหยอดยาตามากกว่า 1 ชนิด ให้เว้นช่วงห่างกันอย่างน้อย 10 นาที )
  • ใส่แว่นกันแดดเวลาออกกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงฝุ่นและลม
  • พบจักษุแพทย์ตามนัด ในครั้งต่อไปเพื่อติดตามผล

โปรแกรมและแพ็คเกจ