Q & A สารพันคำถามเกี่ยวกับโรคต้อกระจก
สารพันคำถามเกี่ยวกับโรคต้อกระจก
Q & A Cataract
เลนส์แก้วตา (Lens) เป็นเลนส์นูนใสอยู่หลังม่านตา มีลักษณะเหมือนเลนส์นูนทั่วไปทั้งด้านหน้า และด้านหลัง โดยด้านหน้าแบนกว่าด้านหลัง มีความหนาประมาณ 5 ม.ม. เส้นผ่าศูนย์ กลาง 9 ม.ม. ทำหน้าที่ร่วมกับกระจกตาในการหักเหแสงจากวัตถุให้ตกโฟกัสที่จอประสาทตา จึงทำให้เกิดการมองเห็น เมื่อเลนส์แก้วตาเสื่อม แทนที่จะใสกลับขุ่น แก้วตาที่ขุ่นลงนี้ ส่งผลให้กำลังหักเหของแสงผิดไป ตลอดจนขัดขวางไม่ให้แสงเข้าตา ผู้นั้นจึงมองเห็นภาพไม่ชัด นั่นคือโรคที่เรียกกันว่า “ต้อกระจก”
ถาม โรคต้อกระจกเกิดกับช่วงอายุใดบ้าง
ตอบ โรคต้อกระจกเกิดได้ทุกวัยตั้งแต่แรกเกิด เพราะมีสาเหตุการเกิดได้หลายอย่างเช่น เด็กแรกเกิดในแม้ที่เป็นหัดเยอรมัน อุบัติเหตุ โรคเบาหวาน แต่โดยทั่วไปที่พบเป็นปกติคือการเสื่อมของเลนส์แก้วตาในผู้ป่วยสูงอายุ หากไม่แน่ใจว่าอาการตามัวเกิดจากโรคต้อกระจกหรือไม่ แนะนำตรวจกับจักษุแพทย์จะได้รับการวินิจฉัยที่แน่นอนที่สุด
ถาม ต้อกระจกถ้าทิ้งไว้นานจะทำให้ตาบอดได้หรือไม่
ตอบ ต้อกระจกถือเป็นปัญหาทางสาธารณสุขอันดับหนึ่งของประเทศไทยที่สูญเสียการมองเห็นระดับรุนแรง ผู้ป่วยจะตามัวลงเรื่อยๆจนเกิดอาการต้อหินแทรกซ้อนได้ จึงไม่ควรทิ้งไว้จนต้อกระจกแข็งหรือ สุก หากปล่อยต้อกระจกสุกจะทำให้เกิดการอักเสบรุนแรงในตา นำไปสู่โรคต้อหินแทรกซ้อนซึ่งจะทำให้ปวดตา และมองไม่เห็นในที่สุด
ถาม โรคต้อกระจกสามารถใช้ยาหยอดรักษาให้หายได้จริงหรือไม่
ตอบ ปัจจุบันการใช้ยาหยอดเพื่อชะลอหรือทำให้ต้อกระจกหายไปนั้น ไม่ได้รับการยอมรับแล้ว ยาดังกล่าวไม่ได้ชะลอหรือทำให้หายได้ ถ้าได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นต้อกระจก ในกรณีที่ต้อกระจกยังไม่มากและผู้ป่วยยังไม่พร้อมทำ ก็สามารถรอได้ แต่ถ้าต้อกระจกเป็นมาก สมควรทำแล้วก็แนะนำให้ทำเนื่องจากการทิ้งไว้นานทำให้ต้อกระจกแข็งมากขึ้นและยากต่อการสลายต้อกระจก
ถาม การผ่าตัดต้อกระจก (ECCE) และสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียง (Phacoemulsification) ต่างกันอย่างไร
ตอบ การผ่าตัดต้อกระจก ECCE เป็นวิธีที่มีมาก่อนการใช้คลื่นเสียงสลายต้อกระจก ต้องฉีดยาชา แผลใหญ่เพราะเอาเลนส์แก้วตาขุ่นออกมาทั้งหมดทางแผล ขนาด 8-10 มม. ต้องเย็บแผลด้วยไหมขนาดเล็กมาก ทำให้เกิดสายตาเอียง เหมาะสำหรับประเทศที่ไม่มีเครื่องสลายต้อกระจก หรือ ต้อกระจกทิ้งไว้นานจนเครื่องสลายไม่สามารถสลายได้ ค่าใช้จ่ายถูกกว่า ส่วนการสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงเป็นวิธีรักษาที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ใช้เพียงยาชาหยอดตา ยกเว้นในรายที่ผู้ป่วยกลัวมาก หรือมี โรคแทรกซ้อนการฉีดยาชา อาจจำเป็นเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างทำได้ แผลเล็กมากตั้งแต่ 1.8 - 3.0 มม. ขึ้นอยู่กับเครื่องมือและทักษะของแพทย์ผู้รักษา ส่วนใหญ่แผลไม่ต้องเย็บเพราะเล็กมากใช้เวลาการรักษา 5 – 25 นาทีขึ้นกับทักษะของแพทย์ผู้รักษา สามารถฟื้นกลับมาเห็นได้ดีภายใน 6 ชั่วโมง ข้อด้อยคือถ้าทิ้งต้อกระจกไว้นานจนเลนส์แข็งจนเป็นสีดำ หรือสุก เครื่องไม่สามารถสลายได้ ต้องการทักษะของผู้ทำการรักษาสูง และค่าใช้จ่ายมากกว่าการผ่าตัด ECCE เล็กน้อย
ถาม เลนส์แก้วตาเทียมมีกี่ชนิด และแต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไร
ตอบ ชนิดของเลนส์แก้วตาเทียม ชนิดแข็ง 5.25 – 7 มม. วัสดุ PMMA เหมาะสำหรับการผ่าตัด ECCE หรือการฝังเลนส์แบบไม่ใส่ในถุงหุ้มเลนส์แก้วตาเทียม เลนส์ชนิดนิ่มพับได้ ผ่านแผลเล็กขนาด 1.8 – 3.0 มม. เหมาะสำหรับการสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียง เลนส์ชนิดแก้สายตาเอียง(Toric IOL) เหมาะสำหรับผู้ที่มีสายตาเอียงมากเช่น 2.0 D ขึ้นไป เลนส์สำหรับมองไกลและอ่านหนังสือ (Multifocal IOL) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องการมองไกลและมองใกล้โดยไม่ต้องใช้แว่นอ่านหนังสือ แต่ทั้งนี้การเลือกชนิดของเลนส์แก้วตาเทียมควรขึ้นอยู่กับการปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเป็นรายๆไปว่าผู้ป่วยเหมาะสมหรือไม่ต่อเลนส์ชนิดนั้น
ถาม การผ่าตัดต้อกระจกจะทำให้สายตาสั้น ยาว เอียงหายไปได้หรือไม่
ตอบ การผ่าตัดหรือการสลายต้อกระจก เพื่อเอาเลนส์แก้วตาที่ขุ่นมัวออก และใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าทดแทนตำแหน่งเลนส์ธรรมชาติ ซึ่งเลนส์แก้วตาเทียมจะแก้ไขภาวะสายตา สั้น ยาว เอียงได้
ถาม ถ้าเป็นโรคต้อกระจกและโรคต้อหินจะสามารถผ่าตัดโรคต้อหินได้หรือไม่
ตอบ สามารถผ่าตัดต้อกระจกได้ โดยอาจทำให้โรคต้อหินชนิดมุมม่านตาปิด ดีขึ้นด้วย และเนื่องด้วยการผ่าตัดที่ทันสมัยมากขึ้นบางกรณีสามารถที่จะทำผ่าตัดทั้งโรคต้อกระจกและโรคต้อหิน ในการผ่าตัดครั้งเดียวกันได้โดยช่วยให้ผู้ป่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้และปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้ก่อนการผ่าตัดจักษุแพทย์ผู้รักษาจะให้คำแนะนำที่ชัดเจนได้
ถาม โรคต้อกระจกป้องกันได้หรือไม่
ตอบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคต้อกระจก คือผู้สูงวัย อายุเกิน 50 ปีขึ้นไป สาเหตุเกิดจากความเสื่อมของเลนส์แก้วตา จึงไม่มีตัวยากิน หรือ ยาหยอดตา เพื่อชะลอหรือทำให้ต้อกระจกหายไปได้ แม้ว่าสมัยก่อนจะเชื่อว่ายาหยอดตาเพื่อช่วยชะลอต้อกระจก แต่ปัจจุบันจักษุแพทย์ส่วนใหญ่ไม่ยอมรับกันแล้ว
อย่างไรก็ตาม ดวงตาเป็นสิ่งสำคัญที่เราทุกคนไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออายุเริ่มมากขึ้น โอกาสที่ดวงตาจะถูกคุกคามก็ยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หากเราไม่ต้องการให้บั้นปลายชีวิตต้องจมอยู่กับความเลือนลางในการมองเห็น การหันมาใส่ใจดูแลดวงตา และพบจักษุแพทย์ทุกๆ 1-2 ปี เพื่อตรวจสุขภาพตา ก็คือสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม