รู้ทัน ป้องกัน โรคกระดูกพรุน
รู้ทัน ป้องกัน โรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุน
คือ โรคที่กระดูกบางมาก หรือผุพรุนจากการเสื่อมสลายของ มวลกระดูกทำให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลง เสี่ยงต่อการหักหรือพิการได้ง่าย ตำแหน่งที่พบกระดูกหักได้บ่อย คือ กระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือและกระดูกสะโพก อาจเกิดผลแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น หลังค่อม การหายใจไม่เต็มที่ เหนื่อยหอบ เอ็นอักเสบและข้อกระดูกเสื่อม เดินไม่ได้เป็นภาระต่อคนรอบข้าง การผ่าตัดต้องใช้อุปกรณ์ราคาแพง และมีอัตราการเสียชีวิตสูง
โดยปกติในวัยเด็กร่างกายจะมีขบวนการสร้างกระดูกมากกว่าการสลายจนมีการสะสมมวลกระดูกได้สูงสุด เมื่ออายุ 30 ปี หลังจากนั้นจะมีการเสื่อมสลายของกระดูกอย่างต่อเนื่องมากกว่าการสร้าง โดยเฉพาะในสตรีที่เข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนจะมีการสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็วมากกว่าเพศชายถึง 2-3 เท่า
ดังนั้นจึงควรมีการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน พบแพทย์เพื่อประเมิน ป้องกันหรือรักษาให้กระดูกมีสุขภาพที่ดีต่อไป
อาการแสดง
โรคกระดูกพรุนเป็น “ภัยเงียบ” ที่เกิดได้กับทุกคน โดยไม่มี อาการใดๆ จะทราบว่ามีกระดูกพรุนก็เมื่อมีการหักทรุดของกระดูก แล้ว เช่น อาการปวดหลัง หลังค่อม ตัวเตี้ยลง กระดูกสะโพกหัก เพียงแค่ล้มแล้วลุกเดินไม่ได้ เป็นต้น
ใครมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน
- สตรีวัยหมดประจำเดือน หรือได้รับการผ่าตัดรังไข่ทั้ง 2 ข้าง
- ผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุนหรือกระดูกสะโพกหัก
- เคยมีประวัติกระดูกหัก เมื่ออายุมากกว่า 50 ปี และจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักซ้ำ
- รูปร่างผอมบาง น้ำหนักตัวน้อย
- ขาดสารอาหารแคลเซียมและวิตามินดี
- ไม่ออกกำลังกายหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานาน เช่น นอนรักษาตัวนานหรือใส่เฝือกนานๆ
- สูบบุหรี่
- ชอบดื่มสุรา น้ำอัดลม ชา กาแฟ ยาชูกำลัง
- ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นประจำ ยารักษาโรคเบาหวาน โรคต่อมไธรอยด์ ยายับยั้งการตกไข่ในโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ เป็นต้น
การป้องกันตัวเองให้ลดความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกพรุน
- รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง หรือรับประทานแคลเซี่ยม เสริมและวิตามินดี เช่น นม เนยแข็ง โยเกิร์ต ผักใบเขียว ปลาเล็กๆที่รับประทานทั้งตัว กุ้งแห้ง งาดำ เห็ดหอม เต้าหู้ เป็นต้น
- เสริมวิตามิน K2 ในผู้สูงอายุ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอแบบลงน้ำหนักอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที เช่น การวิ่งเหยาะๆ การเดินเร็ว เต้นรำ หรือ ออกกำลังกายแบบแรงต้านโดยใช้การดึงยางยืดหรือยกน้ำหนัก และการรำมวยจีน เพื่อฝึกการทรงตัว ป้องกันการหกล้มลดอุบัติการณ์ ของกระดูกหักได้
- รับแสงแดด นาน 20 นาที สัปดาห์ละ 3 วัน
- งดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการดื่มสุรา ชา กาแฟ น้ำอัดลม
- ตระหนักถึงภัยของโรคกระดูกพรุน ปรึกษาแพทย์เมื่อมีปัจจัยเสี่ยง
- ตรวจประเมินภาวะโรคกระดูกพรุน เพื่อป้องกันและรักษาตั้งแต่ ระยะแรกเริ่ม
การตรวจประเมินภาวะโรคกระดูกพรุน
- การตรวจมวลกระดูก หรือความหนาแน่นของกระดูก ด้วยเครื่อง DEXA (Dual Energy X-rays Absorptiometry) ที่บริเวณข้อสะโพก กระดูกสันหลังช่วงเอว เพื่อการวินิจฉัย
- การเจาะเลือด (Bone Turnover Markers) ใข้ดูอัตราการสลาย และการสร้างมวลกระดูก เพื่อประเมินและ ติดตามผลการรักษา
การรักษาโรคกระดูกพรุน
- ป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่หลีกเลี่ยงได้
- การใช้ยา
- แคลเซียมเสริมและวิตามินดี
- ยาต้านการสลายกระดูก
- ยาเพิ่มการสร้างมวลกระดูก
การใช้ยาจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพราะต้องมีการเลือกใช้และปรับขนาดยาให้เหมาะสมเฉพาะผู้ป่วยแต่ละราย และควรมีการติดตามการรรักษาเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง
- ควบคุมและรักษาโรคประจำตัวต่างๆ เช่น เบาหวาน ไธรอยด์
- ป้องกันการหกล้มเพราะเสี่ยงต่อกระดูกหักง่าย
- การปรับสภาพแวดล้อม ไม่ให้พื้นลื่นหรือเปียกน้ำ และควรมียางกันลื่นเวลาอาบน้ำ ไม่วางของเกะกะทางเดินและ ขั้นบันได ไม่ใส่ถุงเท้าเดินจะลื่นง่าย ถ้าบ้านมีพรมควรให้พรมตึงเรียบ ใช้ไม้เท้าหรืออุปกรณ์ช่วยเดิน ใส่รองเท้าที่พื้นไม่ลื่น หลีกเลี่ยง การเดินบนพื้นที่ไม่เรียบและลื่น
- พบจักษุแพทย์ ตรวจรักษาโรคทางสายตาที่ผิดปกติ เพื่อการมองเห็นชัดเจน
- ยาเพิ่มการสร้างมวลกระดูก