ต้อกระจกเป็นโรคความเสื่อมทางธรรมชาติ

โรคต้อกระจกเป็นโรคความเสื่อมทางธรรมชาติ

cataract surgery
มองไม่ชัด❗️ ตาขุ่นมัว❗️เป็นเบาหวาน❗️ หากมีอาการเหล่านี้ คุณอาจเสี่ยงเป็นโรคต้อกระจก
หากคุณมีอาการหรือพบสัญญาณเตือน อย่านิ่งนอนใจ
โรคต้อกระจกเป็นโรคความเสื่อมทางธรรมชาติจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง คนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปก็สามารถเป็นโรคต้อกระจกได้ แต่วัยที่เราพบมากสุด คือ 60 - 70 ปีขึ้นไป

โปรแกรมและแพ็คเกจ

รู้ทัน ป้องกัน โรคกระดูกพรุน

รู้ทัน ป้องกัน โรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน
คือ โรคที่กระดูกบางมาก หรือผุพรุนจากการเสื่อมสลายของ มวลกระดูกทำให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลง เสี่ยงต่อการหักหรือพิการได้ง่าย ตำแหน่งที่พบกระดูกหักได้บ่อย คือ กระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือและกระดูกสะโพก อาจเกิดผลแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น หลังค่อม การหายใจไม่เต็มที่ เหนื่อยหอบ เอ็นอักเสบและข้อกระดูกเสื่อม เดินไม่ได้เป็นภาระต่อคนรอบข้าง การผ่าตัดต้องใช้อุปกรณ์ราคาแพง และมีอัตราการเสียชีวิตสูง
โดยปกติในวัยเด็กร่างกายจะมีขบวนการสร้างกระดูกมากกว่าการสลายจนมีการสะสมมวลกระดูกได้สูงสุด เมื่ออายุ 30 ปี หลังจากนั้นจะมีการเสื่อมสลายของกระดูกอย่างต่อเนื่องมากกว่าการสร้าง โดยเฉพาะในสตรีที่เข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนจะมีการสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็วมากกว่าเพศชายถึง 2-3 เท่า
ดังนั้นจึงควรมีการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน พบแพทย์เพื่อประเมิน ป้องกันหรือรักษาให้กระดูกมีสุขภาพที่ดีต่อไป
อาการแสดง
โรคกระดูกพรุนเป็น “ภัยเงียบ” ที่เกิดได้กับทุกคน โดยไม่มี อาการใดๆ จะทราบว่ามีกระดูกพรุนก็เมื่อมีการหักทรุดของกระดูก แล้ว เช่น อาการปวดหลัง หลังค่อม ตัวเตี้ยลง กระดูกสะโพกหัก เพียงแค่ล้มแล้วลุกเดินไม่ได้ เป็นต้น
ใครมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน
  1. สตรีวัยหมดประจำเดือน หรือได้รับการผ่าตัดรังไข่ทั้ง 2 ข้าง
  2. ผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี
  3. มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุนหรือกระดูกสะโพกหัก
  4. เคยมีประวัติกระดูกหัก เมื่ออายุมากกว่า 50 ปี และจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักซ้ำ
  5. รูปร่างผอมบาง น้ำหนักตัวน้อย
  6. ขาดสารอาหารแคลเซียมและวิตามินดี
  7. ไม่ออกกำลังกายหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานาน เช่น นอนรักษาตัวนานหรือใส่เฝือกนานๆ
  8. สูบบุหรี่
  9. ชอบดื่มสุรา น้ำอัดลม ชา กาแฟ ยาชูกำลัง
  10. ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นประจำ ยารักษาโรคเบาหวาน โรคต่อมไธรอยด์ ยายับยั้งการตกไข่ในโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ เป็นต้น
การป้องกันตัวเองให้ลดความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกพรุน
  1. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง หรือรับประทานแคลเซี่ยม เสริมและวิตามินดี เช่น นม เนยแข็ง โยเกิร์ต ผักใบเขียว ปลาเล็กๆที่รับประทานทั้งตัว กุ้งแห้ง งาดำ เห็ดหอม เต้าหู้ เป็นต้น
  2. เสริมวิตามิน K2 ในผู้สูงอายุ
  3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอแบบลงน้ำหนักอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที เช่น การวิ่งเหยาะๆ การเดินเร็ว เต้นรำ หรือ ออกกำลังกายแบบแรงต้านโดยใช้การดึงยางยืดหรือยกน้ำหนัก และการรำมวยจีน เพื่อฝึกการทรงตัว ป้องกันการหกล้มลดอุบัติการณ์ ของกระดูกหักได้
  4. รับแสงแดด นาน 20 นาที สัปดาห์ละ 3 วัน
  5. งดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการดื่มสุรา ชา กาแฟ น้ำอัดลม
  6. ตระหนักถึงภัยของโรคกระดูกพรุน ปรึกษาแพทย์เมื่อมีปัจจัยเสี่ยง
  7. ตรวจประเมินภาวะโรคกระดูกพรุน เพื่อป้องกันและรักษาตั้งแต่ ระยะแรกเริ่ม
การตรวจประเมินภาวะโรคกระดูกพรุน
  1. การตรวจมวลกระดูก หรือความหนาแน่นของกระดูก ด้วยเครื่อง DEXA (Dual Energy X-rays Absorptiometry) ที่บริเวณข้อสะโพก กระดูกสันหลังช่วงเอว เพื่อการวินิจฉัย
  2. การเจาะเลือด (Bone Turnover Markers) ใข้ดูอัตราการสลาย และการสร้างมวลกระดูก เพื่อประเมินและ ติดตามผลการรักษา
การรักษาโรคกระดูกพรุน
  1. ป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่หลีกเลี่ยงได้
  2. การใช้ยา
    • แคลเซียมเสริมและวิตามินดี
    • ยาต้านการสลายกระดูก
    • ยาเพิ่มการสร้างมวลกระดูก

    การใช้ยาจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพราะต้องมีการเลือกใช้และปรับขนาดยาให้เหมาะสมเฉพาะผู้ป่วยแต่ละราย และควรมีการติดตามการรรักษาเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง

  3. ควบคุมและรักษาโรคประจำตัวต่างๆ เช่น เบาหวาน ไธรอยด์
  4. ป้องกันการหกล้มเพราะเสี่ยงต่อกระดูกหักง่าย
    • การปรับสภาพแวดล้อม ไม่ให้พื้นลื่นหรือเปียกน้ำ และควรมียางกันลื่นเวลาอาบน้ำ ไม่วางของเกะกะทางเดินและ ขั้นบันได ไม่ใส่ถุงเท้าเดินจะลื่นง่าย ถ้าบ้านมีพรมควรให้พรมตึงเรียบ ใช้ไม้เท้าหรืออุปกรณ์ช่วยเดิน ใส่รองเท้าที่พื้นไม่ลื่น หลีกเลี่ยง การเดินบนพื้นที่ไม่เรียบและลื่น
    • พบจักษุแพทย์ ตรวจรักษาโรคทางสายตาที่ผิดปกติ เพื่อการมองเห็นชัดเจน
    • ยาเพิ่มการสร้างมวลกระดูก

โปรแกรมและแพ็คเกจ

รู้ทัน ป้องกัน ข้อเข่าเสื่อม Knee Osteoarthritis

รู้ทัน ป้องกัน ข้อเข่าเสื่อม Knee Osteoarthritis

ความรู้ทั่วไปของข้อเข่า
ข้อเข่าประกอบด้วย 3 ส่วน
  1. ส่วนปลายของกระดูกต้นขา
  2. ส่วนต้นของกระดูกหน้าแข้ง
  3. ลูกสะบ้า
ข้อเข่ามีลักษณะคล้ายบานพับ ประกอบด้วยกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้งซึ่งเชื่อมต่อกันด้วยเส้นเอ็นที่แข็งแรงทำหน้าที่ค้ำจุนและให้ความแข็งแรงมั่นคงแก่ข้อเข่าทั้งด้านข้างและภายในข้อเข่าอยู่สี่เส้น ขอบบนลูกสะบ้ามีกล้ามเนื้อต้นขาส่วนหน้ามาเกาะและส่วนปลายของลูกสะบ้ามีเอ็นเกาะติดกับส่วนบนของกระดูกหน้าแข้ง
อาการของข้อเข่าเสื่อม
  1. ปวด อาการปวดเข่าในระยะแรกจะปวดเมื่อย ตึงบริเวณหัวเข่าหรือน่อง โดยจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหว เมื่อพักเข่าจะดีขึ้น อาการเป็นๆหายๆ ในรายที่เป็นมากจะปวดตลอดเวลา
  2. บวม ในรายที่มีการอักเสบจะมีอาการบวม
  3. ข้อเข่าผิดรูป ข้อเข่าผิดรูปโดยเปลี่ยนรูปร่างไปจากเดิมทำให้ขาผิดรูปตามมา ซึ่งหากผิดรูปมากจะทำให้เดินลำบาก รู้สึกขาไม่เท่ากัน ปวดมากเวลาเดิน
  4. ข้อเข่าไม่มั่นคง โดยผู้ป่วยมักรู้สึกว่าข้อหลวมหรือหลุดเวลาลงน้ำหนักหรือมีเสียงข้อเข่าขณะเคลื่อนไหว
  5. ข้อเข่าติด ผู้ป่วยไม่สามารถเหยียดหรืองอเข่าได้สุด
  6. มีเสียงในข้อเข่า เมื่อมีการเคลื่อนไหว จากผิวกระดูกอ่อนที่ไม่เรียบเสียดสีกัน
ปัจจัยเสี่ยงของโรคข้อเข่าเสื่อม
  1. อายุ พบว่าเมื่อมีอายุเกิน 40 ปีจะเริ่มมีข้อเข่าเสื่อม
  2. เพศ ผู้หญิงมีโอกาสเป็นได้มากกว่าผู้ชาย 2 เท่าโดยเฉพาะเมื่อมีอายุมากกว่า 50 ปี
  3. น้ำหนัก คนที่น้ำหนักมาก เสี่ยงต่อข้อเข่าเสื่อมได้เร็วกว่าปกติ โดยน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น 0.5 กิโลกรัม จะเพิ่มแรงที่กระทำต่อข้อเข่า 1-1.5 กิโลกรัม
  4. พฤติกรรมการใช้ชีวิต ผู้ที่นั่งงอเข่ามาก ๆ เช่นนั่งยอง ๆ นั่งขัดสมาธิ เสี่ยงต่อข้อเสื่อมได้มากกว่าปกติ
  5. การใช้งานข้อเข่าอย่างหนักและต่อเนื่อง เช่น ทำงานยกแบกของหนัก ทำงานที่มีการกระแทกหรือกระโดด ในผู้ป่วยที่มีอาชีพชาวนา,ชาวสวนหรือกรรมกรแบกหามตลอดช่วงวัยทำงานมักมาพบแพทย์ด้วยโรคข้อเข่าเสื่อมและกระดูกสันหลังเสื่อมในวัยสูงอายุ
  6. การได้รับอุบัติเหตุที่ข้อเข่า เช่น มีกระดูกข้อเข่าแตกหรือมีหมอนรองกระดูกข้อเข่ารวมถึงเอ็นภายในหัวเข่าฉีก
  7. ความบกพร่องของส่วนประกอบของข้อ เช่น ข้อเข่าหลวม กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง
  8. ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณหัวเข่า ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกายเสี่ยงต่อข้อเข่าเสื่อมมากกว่าเนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณหัวเข่าไม่แข็งแรง
  9. นักกีฬา เช่นนักกีฬากลุ่มที่ต้องวิ่งหรือกระโดด มักมีปัญหาข้อเข่าเสื่อมเร็วกว่าปกติ
  10. กรรมพันธุ์ ในผู้ป่วยที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม มีโอกาสเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น
การรักษาข้อเข่าเสื่อม
  1. การรักษาแบบอนุรักษ์นิยม
    • การรักษาแบบไม่ใช้ยา เช่น การทำกายภาพบำบัด การลดน้ำหนัก การปรับการใช้ชีวิตประจำวัน การใช้ที่ช่วยพยุงเข่า การนวด การฝังเข็ม การใช้สมุนไพรประคบนวด การรักษาเหล่านี้เป็นเพียงเพื่อบรรเทาอาการปวดเท่านั้น
    • การรักษาแบบใช้ยา เช่น การให้ยาต้านการอักเสบ ยาในกลุ่ม Glucosamine
  2. การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ โดยใช้ยาชาที่ผสมอยู่ช่วยระงับปวดในระยะแรกและยาสเตียรอยด์ช่วยยับยั้งการอักเสบในระยะยาว ทั้งนี้การตอบสนองต่อการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อเข่ามีความแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นกับสภาพความเสื่อมของข้อเข่า
  3. ยาฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียมเพื่อเพิ่มความหล่อหลื่นภายในข้อเข่าเป็นการรักษาแบบประคับประคองในระดับหนึ่ง
  4. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เป็นวิธีการรักษาภาวะข้อเข่าเสื่อมในระยะปานกลางถึงระยะรุนแรงโดยได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีสากลที่ให้ผลการรักษาดีที่สุด เป็นการผ่าตัดที่ตัดผิวข้อส่วนที่เสื่อมออกแล้วทดแทนด้วยโลหะสังเคราะห์ โดยสามารถช่วยลดอาการปวดและเพิ่มคุณภาพชีวิตได้
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
  1. มีอาการปวด บวม ตึงข้อเข่า ซึ่งส่งผลต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ใน ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
  2. แก้ไขความผิดรูปหรือความพิการของข้อเข่า
  3. เพื่อป้องการการเสื่อมของข้ออื่น ๆ ตามมา
  4. รักษาด้วยวิธีอนุรักษ์นิยมมาแล้วไม่ดีขึ้น
การป้องกันข้อเข่าเสื่อม
สามารถทำได้โดยลดปัจจัยเสี่ยงตามที่ได้กล่าวมา
    1. การลดน้ำหนัก ในผู้ป่วยที่อ้วนควรลดน้ำหนักให้ได้ร้อยละ 5 ของน้ำหนักตัวในสามเดือน
    2. การปรับการใช้ชีวิต พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนไทยมักอยู่กับพื้น มักมีการพับงอเข่ามากและส่งผลให้เกิดการอักเสบของข้อเข่าได้ เช่น นั่งยอง ๆ คุกเข่า ขัดสมาธิ ควรมีการปรับอิริยาบถให้เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น
      • การนั่งเก้าอี้แทนการนั่งพื้น
      • ในห้องน้ำควรใช้ชักโครกแบบมีโถนั่งเพื่อลดการงอเข่า
      • การซักผ้า ซักทีละไม่มากชิ้น นั่งซักบนม้าเตี้ย ๆ และเหยียดเข่าสองข้าง
      • การรีดผ้า เลี่ยงการนั่งรีดผ้ากับพื้น ควรใช้การนั่งเก้าอี้หรือยืนรีดและควรหาม้าเตี้ย ๆ มารองพักขา
      • เลี่ยงการก้มถูบ้าน ให้ใช้ไม้ม๊อบถูพื้นแทน
      • หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ โดยไม่จำเป็น เพราะเข่าต้องรับน้ำหนัก ประมาณ 3-4 เท่าของน้ำหนักตัวผู้นั้นขณะขึ้นลงบันได ในรายที่จำเป็นต้องขึ้นลงบันไดควรทำการจับราว โดยการขึ้นบันไดควรนำขาข้างที่ดีพยุงตัวขึ้นบันไดและตามด้วยขาข้างที่มีข้อเข่าเสื่อมไปทีละขั้น ในทางกลับกันเมื่อลงบันได ควรทำการจับราวและนำขาข้างที่มีข้อเข่าเสื่อมลงบันไดและตามด้วยขาข้างที่ดีทีละขั้นเพื่อให้ขาข้างที่ดีช่วยพยุงตัวผู้ป่วยระหว่างการก้าวลง
    3. ออกกำลังกาย การออกกำลังกายโดยสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันข้อเข่าเสื่อม เพราะเป็นการเสริมสร้างความแข็งแรงแก่กล้ามเนื้อรอบข้อเข่า ทำให้น้ำหนักลงที่เข่าน้อยลงและช่วยลดแรงที่กระทำต่อข้อเข่า ควรพิจารณาระดับการออกกำลังกายตามความเหมาะสมของสภาพร่างกายของแต่ละคน
      การออกกำลังกายในน้ำเป็นการออกกำลังกายที่ดีต่อข้อเข่ามากที่สุด เพราะน้ำมีแรงพยุงตัวทำให้ข้อเข่ารับน้ำหนักน้อยลงจึงเหมาะกับผู้ที่มีอาการปวดเข่าและมีน้ำหนักตัวมาก แรงหนืดของน้ำทำให้ต้องออกแรงมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าได้ดี
การเดินก็เป็นการออกกำลังที่ดี สามารถเดินเร็วในรายที่กล้ามเนื้อต้นขามีความแข็งแรงพอแต่ถ้ากล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ควรเดินช้า ๆ หรือเดินเท่าที่จำเป็น
การขี่จักรยาน ควรปรับอานนั่งของจักรยานให้ขางอเพียงเล็กน้อยเพื่อลดแรงที่กระทำต่อข้อเข่า หลีกเลี่ยงการถีบจักรยานที่ตั้งความฝืดหรือระดับความสูงไม่เหมาะสม ซึ่งจะเพิ่มการบาดเจ็บให้กับข้อเข่าได้
ท่าออกกำลังกายเพื่อข้อเข่าที่แข็งแรง
การบริหารกล้ามเนื้อต้นขามีความสำคัญมาก หากกล้ามเนื้อมัดนี้มีความแข็งแรง ก็จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับข้อเข่าจะช่วยชะลอข้อเข่าเสื่อมได้โดยป้องกันแรงที่กระทำต่อข้อในขณะที่ใช้ข้อเข่าในการลุกขึ้น และยังป้องกันแรงกระแทกที่กระทำต่อข้อเข่าในขณะเดิน ควรออกกำลังกายดังกล่าวเป็นประจำทุกวัน โดยเริ่มทำจากน้อยไปมาก ทำประมาณ 10-20 ครั้ง/ชุด วันละ 2-3ชุดเป็นอย่างน้อย การค่อยๆเพิ่มความสามารถของกล้ามเนื้อรอบเข่าจะช่วยเพิ่มทั้งความแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อ การบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่านี้สามารถทำได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอให้ข้อเข่าเสื่อมก่อน

โปรแกรมและแพ็คเกจ

การตรวจไฟฟ้าวินิจฉัย (NCV and needle EMG)

การตรวจไฟฟ้าวินิจฉัย (NCV and needle EMG)

คือ การตรวจเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า เพื่อการวินิจฉัยโรคทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ประกอบด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (เรียกย่อว่า EMG หรือ Electromyography) และการตรวจความเร็วการนำสัญญาณประสาท (เรียกย่อว่า NCV หรือ Nerve conduction velocity)
ใช้ตรวจเพื่อการวินิจฉัยและบอกความรุนแรงในผู้ป่วยที่มีอาการสงสัย
  • โรคของไขสันหลังส่วนที่เรียกว่า Anterior horn cell เช่นโรค ALS
  • โรคของรอยต่อระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ (์Neuromuscular junction) เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี (Myasthenia Gravis : MG)
  • โรคของรากประสาทเช่น รากประสารทถูกกดทับ (Nerve root compression) จากกระดูกคอหรือหลังเสื่อม หมอนรองกระดูกเคลื่อน
  • โรคของเส้นประสาทส่วนปลาย เช่น โรคเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบเรื้อรังหรือฉับพลัน ทำให้มีอาการชามือชาเท้า, โรคเส้นประสาทพิการแต่กำเนิด
  • โรคของกล้ามเนื้อ เช่น โรคกล้ามเนื้ออักเสบ โรคกล้ามเนื้อฝ่อ เป็นต้น
  • โรคเส้นประสาทคู่ที่ 7 อักเสบ (Bell’s palsy)
นอกจากนี้การตรวจ EMG, NCV ยังสามารถใช้ติดตามผลการรักษา และการฟื้นตัวของเส้นประสาทได้ด้วย
ข้อห้ามในการทำ EMG, NCV
โดยทั่วไปไม่มีข้อห้าม ไม่มีอันตราย มีผลข้างเคียงจากการตรวจน้อยมาก ตรวจได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่มีข้อจำกัดคือ
  • ผู้ป่วยที่แขน ขาบวม จะทำให้เข็มที่สอดเข้าไปไม่ถึงตำแหน่งชั้นกล้ามเนื้อ แต่จะไปอยู่ในเนื้อเยื่อที่บวมแทน จึงส่งผลให้ผลการตรวจผิดพลาด
  • ผู้ป่วยมีปัญหาเลือดออกง่าย เพราะอาจมีเลือดออกมากจากรอยที่สอดใส่เข็มตรวจ
  • มีการติดเชื้อบริเวณที่ตรวจ เพราะการสอดใส่เข็มตรวจ อาจทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้
  • มีแผล หรือ ก้อนเนื้อบริเวณที่ตรวจ เพราะจะทำให้การแปลผลตรวจผิดพลาดได้
  • ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือ หรือ ไม่รู้สึกตัว จะตรวจไม่ได้ และ/หรือจะทำให้แปลผลตรวจผิดพลาดได้สูง
การเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนตรวจ
โดยทั่วไปไม่ต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ ไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร หรือหยุดยาที่ทาน ยกเว้นกรณีทานยาละลายลิ่มเลือด และ/หรือ มีภาวะเลือดหยุดยาก และ/หรือ ทานยารักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง Myasthenia Gravis เช่นเดียวกับการตรวจในโรคอื่นๆคือ ผู้ป่วยต้องแจ้งแพทย์ พยาบาล ถึงโรคประจำตัว และยาที่ใช้อยู่ ผู้ป่วยควรแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ถอด ใส่ ได้ง่าย รวมทั้งรองเท้าด้วย และไม่ควรใส่เครื่องประดับต่างๆมาในวันตรวจ
หลังตรวจต้องดูแลตัวเองอย่างไร
หลังตรวจ ไม่จำเป็นต้องดูแลอะไรเป็นพิเศษ ไม่มีผลข้างเคียง กลับบ้านได้เลย ใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ถ้ามีอาการผิดปกติ ซึ่งพบน้อยมากๆเช่น บริเวณที่ตรวจ บวม แดง หรือเลือดออกไม่หยุด ควรกลับมาพบแพทย์

โปรแกรมและแพ็คเกจ

เตรียมสูงวัย..อย่างมีสุขภาพดี

เตรียมสูงวัย..อย่างมีสุขภาพดี

Older Good Health
1 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุสากล (International Day of Older Persons) โดยองค์การสหประชาชาติ กำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1991 หรือ พ.ศ. 2534 จัดขึ้นเพื่อแสดงให้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ ที่ได้สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ให้กับสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน "บุคลากรสำคัญผู้สร้างคุณงามความดี และคุณประโยชน์ไว้ให้คนรุ่นหลัง “ผู้สูงอายุ” มีความหมายว่า คือบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปทั้งชายและหญิง แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ
  1. ผู้สูงอายุตอนต้น (Young old) คือ บุคคลที่มีอายุ 60-69 ปี
  2. ผู้สูงอายุตอนกลาง (Middle old) คือ บุคคลที่มีอายุ 70-80 ปี
  3. ผู้สูงอายุตอนปลาย (Very old) คือ บุคคลที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป
ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2567 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า กรมกิจการผู้สูงอายุ เปิดเผยสถิติผู้สูงอายุ สัญชาติไทย และ มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน มกราคม 2565 โดยมีประชากรผู้สูงอายุในปี 2565 จำนวน 12,116,199 คน แบ่งเป็นเพศชาย 5,339,610 คน เพศหญิง 6,776,589 คน
  1. ระหว่างอายุ 60-69 ปี จำนวน จำนวน 6,843,300 คน คิดเป็น 56.5% ของผู้สูงอายุทั้งหมด
  2. ระหว่างอายุ 70-79 ปี มีจำนวน 3,522,778 คน คิดเป็น 29.1% ของผู้สูงอายุทั้งหมด
  3. ระหว่างอายุ 80 ปีขึ้นไป จำนวน 1,750,121 คน คิดเป็น 14.4% ของผู้สูงอายุทั้งหมด
ผู้สูงอายุที่คิดว่าตัวเองเป็นภาระให้กับผู้อื่นอาจจะรู้สึกว่าชีวิตของตนเองนั้นด้อยค่าตามไปด้วย อาจส่งผลให้เผชิญความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและแยกตัวจากสังคม ผู้สูงอายุที่มีทัศนคติต่อความชราภาพไปในเชิงลบจะมีอายุยืนยาวน้อยกว่าผู้สูงอายุที่มีทัศนคติต่อความชราภาพไปในเชิงบวกถึง 7.5 ปี การเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสทำงาน ช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองยังมีค่า สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข ผู้สูงอายุแต่ละคนมีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ไม่เท่ากัน ปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่าง คือ ประสบการณ์ที่ผ่านมาตลอดชีวิต หากได้รับการฝึกอบรมทักษะต่างๆ การศึกษาเรียนรู้หรือทำงานมาหลากหลายรูปแบบ คนเหล่านี้เป็นผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์ ซึ่งจะช่วยให้อยู่ได้อย่างมีคุณค่า
ผู้สูงอายุ เป็นวัยที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจ อาจมีโรคเรื้อรังที่ต้องดูแลและรักษา เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคกระดูกพรุน โรคเกาต์ โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคจอประสาทตา เป็นต้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ อารมณ์ สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งผู้สูงอายุบางรายอาจไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ และอาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย ดังนั้นการดูแลผู้สูงอายุ คือการทำให้ผู้สูงอายุดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข มีอิสระ และมีคุณภาพ สามารถพึ่งพาตนเองได้โดยพึ่งพาผู้อื่นน้อยที่สุด
การเตรียมความพร้อมสู่ความสูงวัย
  • ทางร่างกายการมีสภาพร่างกายที่ดีอวัยวะต่างๆอยู่ในสภาพที่ดีมีความแข็งแรง สมบูรณ์ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ร่างกายสามารถทำงานได้ตามปกติมีความสัมพันธ์กับทุกส่วน และมีประสิทธิภาพที่ดีในการทำงาน
    1. การรับประทานอาหาร
      - เลือกรับประทานอาหารอย่างถูกต้องรับประทานอาหารครบ 3 มื้อ ครบทั้ง 5 หมู่ เป็นอาหารที่เหมาะกับวัย
      - รับประทานผักผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกแป้ง หวาน อาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่มีรสจัด อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ
      - ดื่มน้ำสะอาดอย ่างน้อยวันละ 10 แก้วดื่มนำ้หลังจากตื่นนอนวันละ 3-5 แก้ว ดื่มน้ำก่อนหรือหลังอาหารอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อให้น้ำย่อยย่อยอาหารได้เต็มที่
        การออกกำลังกาย
        - ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3 วัน วันละอย่างน้อย 20 - 30 นาที ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัย
        - เลือกวิธีการบริหารร ่างกายที่เหมาะสมกับวัยให้อวัยวะทุกส่วนได้เคลื่อนไหว
        - ออกกำลังกายในที่ที่ปลอดภัย
          การตรวจสุขภาพ
          - การรักษาสุขภาพในช่องปาก พบทันตแพทย์อย่างน้อยทุก 6 เดือน
          - การตรวจวัดสายตาปีละครั้ง
          - การตรวจวัดมวลกระดูก ดัชนีมวลกายเพื่อทราบสุขภาวะตามวัย
          - การตรวจสุขภาพตามช่วงวัย การวัดสายตา การฉีดวัคซีน
          - การตรวจสุขภาพประจำ ปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งหรือทุก 6 เดือน
          - ตรวจสุขภาพกับแพทย์ประจำตัวเพื่อสร้างความคุ้นเคยและสะดวกในการติดตามสุขภาพ
      1. ทางจิตใจปรับตัวเข้ากับสังคม สิ่งแวดล้อม มีความสุข มีอารมณ์แจ่มใส รู้จักควบคุมอารมณ์
      2. ทางปัญญารู้เท่าทันสังคม เรียนรู้ นำความรู้มาปรับใช้ในชีวิต
      3. ทางสังคมมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวและสังคมได้
      การดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดี
      การดูแลผู้สูงอายุ มีความจำเป็นและสำคัญมาก เราควรเอาใจใส่ในด้านสุขภาพและสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ผู้สูงอายุหลายคนมักรู้สึกเหนื่อยง่ายและเคลื่อนไหวได้ช้าลง บางคนอาจรู้สึกอ่อนเพลียและทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันลำบากขึ้น อาการเหล่านี้เป็นปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น เรียกว่า ภาวะแบบนี้ว่า ภาวะเปราะบางในผู้สูงอายุ หรือเฟรลตี้ (Frailty) ผู้สูงอายุที่ประสบภาวะนี้จะรู้สึกอ่อนแรง เหนื่อย ไม่มีแรง รวมทั้งน้ำหนักลดลงเอง บุคคลในครอบครัวต้องหมั่นสังเกตว่าญาติผู้ใหญ่ของเราเกิดอาการภาวะเปราะบางหรือไม่ หากเกิดอาการ 3 อย่างขึ้นไป อาจหมายถึง ผุ้สูงอายนั้นๆ กำลังประสบภาวะดังกล่าวอยู่ ควรให้ความสำคัญเพื่อจะได้มีสุขภาพดีขึ้น
      1. รูปร่างผอมลง น้ำหนักตัวลดลงประมาณ 5 กิโลกรัมหรือมากกว่านั้น
      2. เกิดอาการอ่อนเพลีย ยืนเองไม่ค่อยได้หรือไม่มีแรงที่จะถือสิ่งของ
      3. รู้สึกเหนื่อยง่ายมาก ทำสิ่งต่าง ๆ ไม่ค่อยได้ ทำเพียงนิดหน่อยก็จะมีอาการเหนื่อย
      4. สมรรถภาพในการทำกิจกรรมลดลง อาทิ ออกกำลังกาย ทำงานบ้าน หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่เคยชอบ แต่ทำไม่ได้เหมือนแต่ก่อน
      5. เดินช้าลง โดยใช้เวลาเดินในระยะทาง 5 เมตร มากกว่า 6-7 วินาที
      ดังนั้น ลูกหลานควรเอาใจใส่ดูแลผู้สูงอายุ ด้วยความรักและความเข้าใจ จะช่วยให้ผู้สูงอายุดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข มีอิสระ และมีคุณภาพ สามารถพึ่งพาตนเองได้ พึ่งพาผู้อื่นน้อยที่สุด การดูแลเรื่องสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ ควรได้รับตรวจสุขภาพเป็นประจำทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี และพบแพทย์หากมีโรคประจำตัว เพื่อเป็นการประเมินภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด

      โปรแกรมและแพ็คเกจ

      DM Care ตรวจคัดกรองเบาหวานโปรแกรมตรวจสุขภาพ ”สมองและระบบประสาท"

      คำแนะนำการสลายต้อกระจก

      คำแนะนำการสลายต้อกระจก

      PHACOEMULSIFICATION
      คือภาวะเลนส์แก้วตาขุ่น มีสายตาฝ้ามัว ทำให้แสงผ่านเข้าไปยังจอประสาทตาได้น้อยลง สายตาจึงเริ่มมีอาการมัว ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นไม่ชัดเจน พบมากในผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไปและผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจะมีภาวะเสี่ยงที่จะเกิดต้อกระจกได้เร็วขึ้นกว่าคนทั่วไป
      อาการ
      • สายตามัวเหมือนมีฝ้าหรือหมอกมัว
      • เห็นภาพซ้อน สายตาพร่า สู้แสงไม้ได้
      • อ่านหนังสือไม่ชัด แม้จะใส่แว่นตาช่วย
      • หากทิ้งไว้นาน อาจเกิดโรคต้อหินแทรกซ้อน ทำให้ปวดตา และตาบอดได้
      การรักษาต้อกระจก
      เมื่อสายตามัวลงไม่สะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติแล้ว ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยดวงตาจากจักษุแพทย์โดยละเอียดเพื่อให้ทราบแน่ชัดว่าต้อกระจกเป็นสาเหตุเดียว ที่ทำให้สายตาขุ่นมัวหรือมีโรคอื่นแทรกด้วย
      สำหรับการสลายต้อกระจก ด้วยคลื่นความถี่สูง จักษุแพทย์จะใช้เวลาในการรักษา 20 – 30 นาทีแพทย์จะเปิดช่องเล็กประมาณ 2.75 – 3.0 ม.ม. ที่ขอบกระจกตาเพื่อสอดเครื่องมือสลายต้อเข้าไปไว้ที่ตัวต้อกระจก แล้วปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อสลายต้อกระจกเป็นอณูเล็กๆ แล้วดูดออกมา เหลือไว้แต่เปลือกหลังของเลนส์แก้วตา เพื่อเป็นถุงใส่เลนส์แก้วตาเทียมแทน แผลที่เกิดจากการรักษาวิธีนี้มีขนาดเล็กมาก จึงสมานตัวได้เป็นปกติอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเย็บ ผู้ป่วยสามารถมองเห็นได้ชัดขึ้นทันทีในวันรุ่งขึ้น
      เลนส์แก้วตาเทียม
      คืออวัยวะเทียมที่สามารถทำให้ผู้ป่วยมองเห็นได้ มีให้เลือกหลายชนิด
      1. ชนิดโฟกัสระยะเดียว (Monofocal) จะช่วยให้มองเห็นระยะไกลชัดเจนแต่มองใกล้ต้องใช้แว่นอ่านหนังสือ
      2. ชนิดโฟกัสหลายระยะ (Multifocal) อาศัยเทคโนโลยีที่ใหม่เรียกว่า Apodized diffractive จะช่วยให้มองเห็นได้ทั้งไกล กลาง ใกล้ โดยไม่ต้องใช้แว่น
      3. ชนิดแก้สายตาเอียง (Toric) ออกแบบให้มีความโค้งด้านหลังเลนส์ไม่เท่ากันในแนวตั้งและแนวนอน เพื่อชดเชยความโค้งของกระจกตาที่ไม่เท่ากันของผู้ที่มีภาวะสายตาเอียงที่กระจกตา จะช่วยให้มองเห็นในระยะไกลโดยไม่ต้องใช้แว่น
      ข้อควรปฏิบัติก่อนสลายต้อกระจก
      1. ฝึกหัดนอนราบ ไม่หนุนหมอนคลุมโปง เพื่อให้เคยชินจะได้ไม่รู้สึกอึดอัด
      2. พักผ่อนเต็มที่ เพื่อความแข็งแรงของร่างกาย
      3. ควรชำระร่างกายและสระผมให้สะอาดสุภาพสตรีไม่ควรแต่งหน้า สุภาพบุรุษไม่ใส่น้ำมันใส่ผมสวมเสื้อผ้าที่ใส่สบายไม่ใส่เครื่องประดับ
      4. รับประทานอาหารที่ย่อยง่ายจะได้ไม่อึดอัดหลังรับประทานอาหารควรแปรงฟัน หรือ บ้วนปากให้สะอาด
      5. ยาที่รับประทานหรือใช้เป็นประจำ ควรปรึกษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พร้อมแจ้งชนิดยาที่แพ้ให้เจ้าหน้าที่ทราบ
      6. นำญาติที่ต้องดูแลผู้ป่วยมาด้วย 1 ท่าน
      หมายเหตุ : กรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถมาได้ตามวันเวลาที่นัดไว้ โปรดโทรศัพท์ติดต่อเจ้าหน้าที่ให้ทราบอย่างน้อย 3 วัน
      การปฏิบัติตัวขณะสลายต้อกระจก
      1. ระหว่างทำควรนอนนิ่งๆ ไม่ส่ายหน้าหรือสั่นศีรษะ นอนปล่อยตัวตามสบายไม่นอนเกร็ง
      2. ถ้ารู้สึกว่าต้องการไอหรือจามควรบอกให้แพทย์ทราบทันที เพื่อจะนำเครื่องมือออกจากตาก่อน
      3. บางรายที่ได้รับยาระงับความรู้สึกด้วยการหยอดยาชาเฉพาะที่ ควรให้ความร่วมมือกลอกตาไปซ้ายหรือขวาตามที่แพทย์บอก
      อาการผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์ทันที หลังการสลายต้อกระจก
      • มีอาการปวดตามมาก ตามัวลง ตาแดง ขี้ตามากผิดปกติ หนังตาบวมแดง
      • มีเลือดออกที่บริเวณตาขาว หรือ ตาดำ
      • มีอาการเคืองตาผิดปกติ น้ำตาไหลมาก
      การปฏิบัติตัวหลังการสลายต้อกระจก
      • เดินนั่ง พูดคุย ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ และทำกิจวัตรประจำวันที่ไม่ต้องออกแรงมากได้ตามปกติ
      • ไม่ให้น้ำเข้าตา 3 สัปดาห์ โดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดหน้าแทนการล้างหน้า บริเวณรอบตาใช้สำลี และน้ำเกลือเช็ดแทนการล้างหน้าอย่างน้อยวันละครั้ง
      • หยอดตา และรับประทานยาตามแพทย์สั่ง วิธีหยอดตาควรล้างมือให้สะอาด เงยหน้าขึ้น ลืมตามองข้างบน ดึงเปลือกตาล่างลง ทำให้ เกิดแอ่งระหว่างเปลือกตาและลูกตาหยอดยาลงไป 1 หยด แล้วหลับตาสักครู่ ( กรณีที่มียาหยอดยาตามากกว่า 1 ชนิด ให้เว้นช่วงห่างกันอย่างน้อย 10 นาที )
      • ใส่แว่นกันแดดเวลาออกกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงฝุ่นและลม
      • พบจักษุแพทย์ตามนัด ในครั้งต่อไปเพื่อติดตามผล

      โปรแกรมและแพ็คเกจ

      อาหารบำรุงสายตา

      อาหารบำรุงสายตา

      ดวงตาเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่รับความรู้สึกด้านการมองเห็น เราใช้ดวงตาตั้งแต่เกิด อาจละเลยไม่ใส่ใจสุขภาพดวงตาเท่าที่ควร เราใช้ดวงตาวันละ 16 ชั่วงโมง ประมาณปีละ 5,760 ชั่วโมง ดังนั้นอาการเสื่อมสุขภาพตาจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สามารถชะลอได้ หากเรารู้วิธีการป้องกัน และรู้จักสารอาหารที่จะเข้าไปฟื้นฟูสภาพหรือบำรุงเซลล์ต่างๆ ภายในดวงตา ความผิดปกติทางสายตาสามารถป้องกันและรักษาได้ หากเรารู้วิธีการป้องกันความเสื่อมและรับประทานสารอาหารที่สามารถชะลอการเสื่อมของดวงตาให้มากขึ้น อาจเป็นไปได้ที่จำนวนผู้ป่วยหรือพิการทางสายตาจะลดลง
      การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และหลากหลายก็เพียงพอกับสุขภาพที่ดีของตา การขาดวิตามินเอจะทำให้มีปัญหาตามัวตอนกลางคืนและตาแห้งได้ แต่มักจะพบในผู้ที่ขาดอาหารอย่างมาก ซึ่งก็จะขาดสารอาหารประเภทอื่นด้วย เช่น โปรตีน วิตามิน เกลือแร่อื่นๆ ไม่ใช่พบในผู้ที่รับประทานอาหารในชีวิตตามปกติ
      ดังนั้น เราควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่และหลากหลาย โดยเฉพาะพวกพืชผักผลไม้และปลา งดสูบบุหรี่ รักษาตัวไม่ให้อ้วน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยลดโอกาสเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุและช่วยบำรุงสุขภาพตาของเรา โดยไม่จำเป็นต้องหาอาหารเสริมอื่นๆ ควรสังเกคสภาพดวงตาและตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอ

      โปรแกรมและแพ็คเกจ

      ความรู้เรื่อง…โรคเบาหวาน

      ความรู้เรื่อง...โรคเบาหวาน

      โรคเบาหวานคืออะไร
      โรคเบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือด สูงกว่าปกติ เกิดขึ้นเนื่องจากร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้ตามปกติ ถ้าน้ำตาลในเลือดสูงอยู่เป็นเวลานานจะเกิดโรคแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ตา ไต และระบบประสาท
      เบาหวานมีกี่ประเภท
      1. เบาหวานประเภทที่ 1 (เบาหวานชนิดพึ่งอินสุลิน)
      2. เบาหวานประเภทที่ 2 (เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินสุลิน)
      3. เเบาหวานจากสาเหตุอื่นๆ เช่น โรคของตับอ่อน โรคทางพันธุกรรม โรคเนื้องอกของต่อมหมวกไตที่สร้างฮอร์โมน
      4. เบาหวานในหญิงตั้งครรภ์ในประเทศไทย พบเบาหวานชนิดที่ 2 มากที่สุด ประมาณ ร้อยละ 95
      สาเหตุของโรคเบาหวาน
      เบาหวานสืบทอดทางกรรมพันธุ์ได้ก็จริง แต่ผู้ที่มีญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง ) เป็นเบาหวาน ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคเบาหวานทุกคน
      มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดโรคเบาหวาน ได้แก่
      1. โรคอ้วน ทำให้การตอบสนองของเนื้อเยื่อร่างกายต่ออินสุลินไม่ดี
      2. ผู้สูงอายุ การสังเคราะห์และการหลั่งฮอร์โมนอินสุลินลดลง
      3. การได้รับยาบางชนิด สเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ ยาคุมกำเนิดบางชนิด ทำให้มีการสร้างน้ำตาลมากขึ้น หรือการตอบสนองของอินสุลินไม่ดี
      4. การตั้งครรภ์ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนจากรกหลายชนิดมีผลยับยั้งการทำงานของอินสุลิน
      อาการของโรคเบาหวาน
      ผู้ป่วยเบาหวานอาจไม่มีอาการใดๆ โดยทั่วไปจะมีอาการปัสสาวะบ่อยและมาก ปัสสาวะกลางคืน คอแห้ง กระหายน้ำ ดื่มน้ำมาก มีอาการหิวบ่อยรับประทานจุ แต่น้ำหนักลด อ่อนเพลีย คันตามผิวหนัง ชาปลายมือ ปลายเท้า ตามัว
      วินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานได้อย่างไร
      การวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานได้โดย
      1. ผู้ที่มีอาการของโรคเบาหวานชัดเจนคือ หิวน้ำมาก ปัสสาวะบ่อยและมาก น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่มีสาเหตุ ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเวลาใดก็ได้ไม่จำเป็นต้องออาหาร ถ้ามีค่ามากกว่า หรือเท่ากับ 200 มก./ดล. ให้วินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน
      2. การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดตอนเช้าหลังอดอาหารข้ามคืนมากกว่า 8 ชั่วโมง พบค่า มากกว่าหรือเท่ากับ 126 มก./ดล. ให้ตรวจยืนยันอีกครั้งหนึ่ง ต่างวันกัน
      3. การตรวจความทนต่อน้ำตาลกลูโคส (75 g Oral Glucose Tolerance Test, OGTT) ใช้สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงแต่ตรวจพบน้ำตาลในเลือดตอนเช้าหลังอดอาหารข้ามคืน น้อยกว่า 126 มก./ดล. ถ้าระดับน้ำตาลในเลือด 2 ชั่วโมงหลังดื่มกลูโคสมากกว่าหรือเท่ากับ 200 มก./ดล. ให้การวินิจฉัยว่า "เป็นโรคเบาหวาน"
      หมายเหตุ : ในการเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลพลาสมากลูโคสให้งดอาหารอย่างน้อย 8-10 ชม. ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหรือลูกอม แต่ดื่มน้ำเปล่าได้
      ผู้ใดควรได้รับการตรวจเช็คเบาหวาน
      1. ผู้ที่มีอาการดังกล่าวข้างต้น
      2. ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้
        • ไม่มีอาการแต่อายุเกิน 35 ปี
        • ญาติสายตรงเป็นโรคเบาหวาน
        • น้ำหนักจัดอยู่ในเกณฑ์โรคอ้วน
        • เคยแท้งหรือบุตรเสียชีวิตตอนคลอด
        • คลอดบุตรน้ำหนักแรกคลอดมากกว่า 4 กิโลกรัม
        • เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
        • หญิงตั้งครรภ์ทุกราย (อายุครรภ์อยู่ระหว่าง 24-28 สัปดาห์)
        • ผู้ที่มีโรคหลอดเลือดไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือโรคหลอดเลือดในสมองตีบ
        • ผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง
        • ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง
      ทำไมเราจึงควรตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน
      แม้ว่าบุคคลเหล่านี้ไม่มีอาการโรคเบาหวานชัดเจน ก็ควรหมั่นตรวจสอบ ถ้าระดับน้ำตาลอยู่ระดับน่าสงสัย ก็ควรตรวจระดับพลาสมากลูโคสเป็นระยะทุก 1 ปี การวินิจฉัยโรคเบาหวานได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และให้การรักษาควบคุมระดับน้ำตาลให้ดีจะชะลอการเกิดโรคแทรกซ้อนเรื้อรังได้ ผู้ป่วยบางรายมีอาการชัดเจนแต่เพิ่งวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานอาจพบโรคแทรกซ้อนร่วมด้วย เพราะเป็นโรคเบาหวานนานแล้วแต่ไม่เคยตรวจ
      โรคเบาหวานรักษาไม่หายขาด แต่ถ้าปฏิบัติตัวดีสามารถควบคุมระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมจะชะลอการเกิดโรคแทรกซ้อน

      โปรแกรมและแพ็คเกจ

      การรักษาต้อหิน

      ต้อหิน

      Glaucoma
      โรคต้อหินเป็นโรคของดวงตาชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากความเสื่อมของประสาทตา เป็นประสาทที่เชื่อมระหว่างตากับสมอง (Optic Nerve) หรือการที่เส้นประสาทตาถูกทำลาย สาเหตุมักเกิดจากความดันในลูกตาสูง ทำให้สูญเสียการมองเห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเริ่มจากบริเวณรอบนอกก่อน แต่ยังสามารถเห็นวัตถุที่วางอยู่ตรงหน้าได้ชัดเจน แต่จะมองไม่เห็นวัตถุที่อยู่ด้านข้าง เมื่อมีอาการมากขึ้น การมองเห็นก็จะค่อยๆแคบลงและตาบอดในที่สุด สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
      ต้อหินแบ่งได้เป็น 2  ประเภทคือ
      1. ต้อหินแบบมุมเปิด พบได้บ่อย เกิดจากลักษณะการอุดตันที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้นอย่างช้าๆ จึงไม่มีอาการเจ็บปวดแต่ประสาทตาจะถูกทำลายไปทีละน้อย การสูญเสียการมองเห็นจะเกิดขึ้นเมื่อเป็นโรคนี้ในระยะเวลานาน และมักเป็นกับตา 2 ข้าง
      2. ต้อหินแบบมุมปิด ทำให้ของเหลวในลูกตาไหลออกจากตาไม่ได้  ความดันลูกตาจึงสูงขึ้น อาจมีอาการแบบเฉียบพลัน โดยมีอาการปวดตารุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะในข้างที่มีต้อหินเฉียบพลัน ตามัวลง มองเห็นสีรุ้งรอบดวงไฟ ตาแดง และต้อหินชนิดมุมปิดนี้อาจมีอาการเรื้อรังได้ ไม่ปวดตาแต่ตรวจพบความดันลูกตาสูงและการมองเห็นแคบลง ต้อหินมุมปิดมักพบในชาวเอเชีย
      ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นต้อหิน
      • มีกรรมพันธุ์ในครอบครัวเป็นโรคต้อหินมุมเปิด
      • ผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง  โรคหลอดเลือดอักเสบ
      • ผู้ที่มีสายตาสั้นมากๆ
      • ผู้ที่เคยผ่าตัดหรือได้รับอุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตา
      • การใช้ยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์มาเป็นเวลานาน
      การวินิจฉัย
      1. Tonometry เป็นการวินิจฉัยที่ไม่เจ็บเพื่อวัดความดันในลูกตา
      2. Opthalmoscopy เป็นการใช้เครื่องมือเพื่อช่วยให้มองเห็นเส้นประสาทตาในลูกตา
      3. Visual Field Testing เป็นการวัดประสิทธิภาพของงานสายตาซึ่งสัมพันธ์กับความเสื่อมของประสาทตา
      4. Gonioscopy เป็นการตรวจช่องทางการไหลของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา
      การรักษาโรคต้อหิน
      1. การใช้ยาหยอดตาและกินยาลดความดันลูกตา สำหรับผู้ที่เป็นต้อหินระยะเริ่มแรกที่ความดันลูกตายังไม่สูงมาก
      2. การรักษาด้วยการยิงเลเซอร์ขึ้นอยู่กับชนิดต้อหินที่เป็น หลักการเพื่อช่วยทำให้มุมม่านตาระบายน้ำออกจากลูกตาได้ดีขึ้น ความดันตาจะได้ลดลง
      3. การผ่าตัดจะเป็นการช่วยลดความดันในลูกตา โดยทำช่องทางระบายน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาไหลออกกว้างขึ้น หรือทำช่องทางเดินระบายน้ำใหม่ให้น้ำหล่อเลี้ยงลูกตาไหลออกได้  ปัจจุบันการใช้ยารักษาต้อหินด้วยยาหยอดตาเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด และนิยมมากที่สุด
      การมีส่วนร่วมในการรักษาต้อหิน
      1. ใช้ยาหยอดยาหรือรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
      2. ไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อวัดความดันลูกตาเป็นระยะๆ เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของโรค
      3. ปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อพบผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยา
      การป้องกัน
      1. หลีกเลี่ยงการโดนลมบ่อยๆ ฝุ่นละออง แสงแดด  ความร้อน ควรสวมแว่นตากันแดดที่ป้องกันแสง UV เมื่อออกกลางแจ้ง ที่ที่ต้องเจอลมบ่อยๆ หรือ ที่แสงแดดจัดๆ
      2. สวมหน้ากากป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเลตขณะทำงานเชื่อมโลหะ

      โปรแกรมและแพ็คเกจ

      เบาหวานขึ้นตา

      เบาหวานขึ้นตา

      Diabetic Retinopathy
      คือ ภาวะที่น้ำตาลในเลือดสูงในผู้ป่วยเบาหวาน ทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ไต หัวใจ เส้นประสาทและเส้นเลือดทั่วร่างกาย เบาหวานในจอประสาทตาเกิดจากการทำลายเส้นเลือดฝอยที่จอประสาทตา ซึ่งเป็นตัวรับข้อมูลภาพที่เรามองเห็นเพื่อส่งต่อไปยังสมอง ทำให้เกิดตามัวและตาบอดตามมา
      ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของจอประสาทตา
      • ระยะที่ 1 เส้นเลือดฝอยในจอประสาทตามีการโป่งพอง มีเลือด มีน้ำเหลือง ไขมันซึมออกจากเส้นเลือดและมีเส้นเลือดอุดตัน ทำให้จอประสาทตาขาดเลือด ขาดสารอาหาร และออกซิเจนในบางแห่ง
      • ระยะที่ 2 หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงจากระยะที่ 1 แล้ว บริเวณที่ขาดเลือดไปเลี้ยงจะส่งสัญญาณให้ร่างกายสร้างหลอดเลือดฝอยใหม่เพื่อลำเลียงสารอาหารไปเลี้ยงเส้นเลือดให้ที่เกิดใหม่นี้เปราะบาง และผิดปกติทำให้เลือดออกในจอประสาทตาและเข้าไปในน้ำวุ้นลูกตาทำให้สายตาเสียจนในที่สุดเกิดเยื่อพังผืดคลุมประสาทตา เป็นเหตุให้ตาบอดในที่สุด
      อาการของเบาหวานขึ้นจอประสาทตา
      เบาหวานในจอประสาทตาอาจดำเนินโรคไปจนถึงขั้นรุนแรงโดยไม่แสดงอาการใดๆ เลยก็ได้ หรืออาจมีอาการ เช่น ตามัว มองเห็นภาพตรงบิดเบี้ยว เห็นเป็นจุดดำ หรือเป็นเส้นผมลอยไปมาอยู่ในสายตา มองเห็นไม่ชัดในเวลากลางคืน ในรายที่เป็นต้อหินจากเบาหวานอาจจะที่อาการปวดร่วมด้วย
      ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดเบาหวานในจอประสาทตา
      ผู้ป่วยเบาหวานทุกคน มีโอกาสเกิดโรคเบาหวานในจอประสาทตา โอกาสเกิดและความรุนแรงจะมากขึ้น ถ้ามีปัจจัยดังนี้

    1. ระยะเวลาการเป็นเบาหวาน ยิ่งเป็นมานาน ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงมาก
    2. ความดันโลหิตสูง
    3. ระดับน้ำตาลในเฮโมโกลบินของเม็ดเลือดแดงสูง
    4. ไขมันในเลือดสูง
    5. การตั้งครรภ
    6. การรักษาเบาหวานในจอประสาทตา
      1. รักษาโดยทั่วไป โดยการควบคุมระดับน้ำตาล ความดันโลหิต ระดับไขมันในเลือด เป็นการยืดเวลาและลดความรุนแรงของเบาหวานในจอประสาทได้บ้าง
      2. การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ ซึ่งสามารถนำมารักษาเบาหวานขึ้นจอประสาทตาในทุกๆระยะ ดังนี้
        • ระยะที่ 1 เมื่อจุดศูนย์กลางของจอรับภาพบวม การใช้แสงเลเซอร์ต่อจอประสาทตาที่ขาดเลือดมาเลี้ยง จะช่วยการยับยั้งการสร้างเส้นเลือดฝอยที่ผิดปกติ
        • ระยะที่ 2 ใช้แสงเลเซอร์ต่อเส้นเลือดฝอยที่เกิดใหม่ ลดปริมาณเส้นเลือดฝอยที่เกิดใหม่ ป้องกันการแตก และการเจริญของเส้นเลือดฝอยผิดปกติเข้าไปในน้ำวุ้นลูกตา เป็นการลดโอกาสการเกิดตาบอด
      3. การรักษาด้วยการผ่าตัด
      ปัจจุบันมีการใช้อุปกรณ์ผ่าตัดสมัยใหม่เพื่อใช้ผ่าตัด ในรายที่มีเลือดออกมากในน้ำวุ้นลูกตา หรือในรายที่มีเยื่อพังผืดที่อาจดึงรั้งให้จอประสาทตาหลุด สามารถรักษาสายตาไว้ได้ ถึงแม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดีกว่าปล่อยให้บอดไป
      ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานทุกคน ควรได้รับการตรวจตาโดยจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง อย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ก็ตาม และถ้ามีอาการผิดปกติใดๆ ควรรีบมาพบจักษุแพทย์ทันที โรคเบาหวานในจอประสาทตา หากพบและรักษาตั้งแต่ในระยะแรก จะสามารถป้องกันการดำเนินโรคไม่ให้ตาบอดได้ ดังนั้นการตรวจตาสม่ำเสมออย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

      โปรแกรมและแพ็คเกจ

      แค่โรคกระเพาะ หรีอ มะเร็ง

      แค่โรคกระเพาะ หรือ มะเร็ง

      stomach cancer
      จุกแน่น ท้องอืด ปวดหรือแสบร้อนบริเวณลิ้นปี
      เป็นอาการที่พบบ่อยในประชากร จากการสำรวจในประชากรไทยพบว่ามีมากกว่าร้อยละ 50 หรือมากกว่าครึ่งที่เคยประสบปัญหานี้ โดยประชากรกลุ่มนี้แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วจะตรวจไม่พบโรคร้าย แต่ก็มีผู้ป่วยอีกถึง 14% ที่่จะตรวจพบความผิดปกติในกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร ได้แก่ แผลในกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อนชนิดรุนแรง รวมทั้งโรคที่อันตรายอย่างมะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งหลอดอาหาร นอกจากนั้นอาการเหล่านี้ก็อาจจะเป็นอาการของอวัยวะอื่นๆได้ เช่น มะเร็งที่ตับ นิ่วในถุงน้ำดี ดังนั้นคงไม่ถูกซะทีเดียวหากเราจะเหมารวมผู้ป่วยที่มีอาการจุกแน่นหรือแสบบริเวณลิ้นปีเป็นโรคจุกแน่นแบบธรรมดาหรือที่มักเรียกกันว่า "โรคกระเพาะ"ทั้งหมด ดั้งนั้นผู้ที่มีอาการเหล่านี้ควรที่จะมาพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการซักประวัติและการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง ไม่ควรที่จะซื้อยามารับประทานเอง เพราะถึงแม้ว่าหลังรับประทานยาแล้วอาการตีขึ้นก็ไม่ได้บ่งบอกว่าผู้ป่วยไม่เป็นโรคร้าย เนื่องจากในความเป็นจริงแล้วผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารก็สามารถมีอาการที่ดีขึ้นได้จากการกินยาลดกรดในกระเพาะอาหารเช่นเดียวกัน
      มะเร็งกระเพาะอาหารเป็นมะเร็งที่ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิตมากเป็นอันดับที่สองของโลก สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคคือมีการติดเชื้อโรคที่ชื่อ "เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter py(ori)" โดยหากมีเชื้อโรคชนิดนี้อยู่ในกระเพาะอาหารจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารถึง 13 เท่าเลยทีเดียว ในส่วนของอาการนั้นหากมะเร็งยังอยู่ในระยะเริ่มแรกก็จะไม่สามารถแยกโรคกับโรคกระเพาะอาหารแบบธรรมดาได้เลยการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ต้องใช้การส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนบนเท่านั้น แต่หากมะเร็งอยู่ในระยะหลังก็จะมีอาการอื่นร่วมด้วย ได้แก่ อาเจียนเรื้อรัง อาเจียนเป็นเลือดหรือสีดำ อุจจาระเป็นสีดำ กลืนติดหรือกลืนลำบาก ซีด โลหิตจาง อ่อนเพลีย น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ซึ่งหากมะเร็งเข้าสู่ระยะหลังแล้วมักจะมีการดำเนินโรคที่รุนแรงอัตราการหายขาดจากโรคจะลดลงจาก 71 % เหลือเพียง 44 เท่านั้น ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงจึงควรที่จะได้รับการตรวจด้วยวิธีการที่เหมาะสมเพื่อวินิจฉัยและรักษาเชื้อโรคเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ที่อาจเป็นเหตุให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร และเพื่อที่จะได้ค้นพบมะเร็งกระเพาะอาหารตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งการกำจัดเชื้อโรคเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรนี้นอกจากจะลดโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารแล้ว ยังช่วยลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย
      เมื่อไรควรพบแพาย์
      ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา ผู้ป่วยที่มีอาการจุกแน่น ท้องอืด ปวดหรือแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ ควรที่จะมาปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนบนเพื่อป้องกันและรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหารตั้งแต่ระยะแรก โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงดังต่อไปนี้
      1. มีอาการเตือนที่ทำให้สงสัยมะเร็ง คือ เริ่มมีอาการหลังอายุ 50 ปี รักษาแล้วไม่ดีขึ้นหรือมีการกลับเป็นซ้ำของอาการ อาเจียนเรื้อรัง อาเจียนเป็นเลือดหรือสีดำ อุจจาระเป็นสีดำ กลืนติดหรือกลืนลำบาก ซีด โลหิตจางอ่อนเพลีย น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ไข้
      2. มีความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดมะเร็งในอนาคต ได้แก่ มีญาติป่วยเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
      3. มีความเสี่ยงของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ได้แก่ มีความจำเป็นต้องกินยาละลายลิ่มเลือดหรือแอสไพรินในระยะยาว มีความจำเป็นต้องกินยาแก้ปวดหรือยาแก้อักเสบอย่างเรื้อรัง
      การป้องกัน ย่อมดีกว่าการรักษา ดังนั้นการคัดกรองมะเร็ง อาจทำให้พบมะเร็งได้ในระยะเริ่มต้น

      โปรแกรมและแพ็คเกจ

      Promotion ตรวจเช็คโรคระบบประสาทและสมอง
      คัดกรองความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
      Promotion ชุดตรวจสุขภาพ ลด 20%

      อันตรายจากน้ำวุ้นตาเสื่อม

      อันตรายจากน้ำวุ้นตาเสื่อม

      Vitreous Degeneration
      น้ำวุ้นตาเสื่อม ตะกอนในวุ้นตา แสงแว่บในตา จอประสาทตาฉีกขาด
      ตาของคนเรามีหลักการง่ายๆ เหมือนกล้องถ่ายรูป เวลาเรามองอะไร แสงจะวิ่งผ่านกระจกตาดำ (cornea) และเลนส์ตา (lens) ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ เปรียบเหมือนระบบเลนส์กล้อง ภาพที่ได้จากการหักเหแสงของกระจกตาดำ และเลนส์ตา จะไปตกที่จอประสาทตา (retina) ซึ่งทำงานเหมือนฟิล์มกล้องถ่ายรูป ระหว่างเลนส์ตา และจอประสาทตา จะมีส่วนของน้ำใสๆ ลักษณะคล้ายวุ้น เรียกว่า น้ำวุ้นตา หรือวุ้นตา (vitreous)
      ตอนเราอายุน้อยๆ วุ้นตาจะใส ไม่มีตะกอน และแนบติดกับด้านหน้าของจอประสาทตา แนบติดกับด้านหลังของเลนส์ เมื่อมีเหตุอะไรสักอย่าง เช่น
      • อายุเกิน 40 ปีขึ้นไป
      • มีอุบัติเหตุกระแทกที่ตา หรือเคยผ่าตัดในตามาก่อน
      • สายตาสั้น โดยเฉพาะสั้นกว่า 600
      • เคยมีตาอักเสบรุนแรง (Uveitis)
      • โรคของวุ้นตาบางโรค เช่น Jansen disease, Wagner disease, Stickler syndrome
      วุ้นตาเสื่อม ซึ่งการเสื่อมก็จะมีสองขั้นตอนใหญ่ๆ
      1. วุ้นตาเริ่มขุ่นเป็นตะกอน (Vitreous syneresis, Vitreous degeneration, Vitreous liquefaction) อันที่จริงวุ้นตา ไม่ใช่วุ้นใสๆ หรือเยลลี่ แต่ของเส้นใยคอลลาเจน ซึ่งมีน้ำอยู่มากถึง 90% โครงข่ายเส้นใยคอนลาเจนเหล่านี้ ปกติเป็นเส้นเล็กละเอียด เรียงเป็นระเบียบ ทำให้ไม่สามารถมองเห็นเงาของเส้นใยเหล่านี้ เมื่อวุ้นตาเสื่อม เส้นใยคอลลาเจนเหล่านี้ บางเส้นจะขาดเป็นท่อนๆ บางเส้นใยก็หนาขึ้น จับตัวเป็นก้อนๆ และเสียความใส ทำให้ เริ่มเห็นตะกอน ซึ่งอาจบรรยายเป็นใยแมงมุม จุดๆ เส้นๆ หรือหมอกๆ ลอยไปมาตามการกลอกตา (เพราะเมื่อเรากลอกตา วุ้นตาก็จะเลื่อนลอยไปตามด้วย) โดยมากมักจะเห็นตะกอนเหล่านี้ไม่ตลอดเวลา จะเห็นได้เฉพาะช่วงที่ภาวะของแสงเหมาะสม เช่น มองออกไปที่ท้องฟ้าในวันฟ้าสว่างๆ การอ่านหนังสือ กลอกตาซ้ายขวา ทำให้วุ้นตาเลื่อนไปมามาก เห็นมันง่ายขึ้น เป็นต้น
      2. วุ้นตาหลุดออกจากจอประสาทตา (posterior vitreous detachment) วุ้นตาของเรา จะเกาะกับจอประสาทตาแต่ละส่วนด้วยความแข็งแรงไม่เท่ากัน จุดที่เกาะแน่นที่สุด อยู่ที่ด้านหน้าของจอประสาทตา ใกล้กับบริเวณด้านหลังของเลนส์ เราเรียกบริเวณนี้ว่า ฐานของวุ้นตา (ไม่รู้จะแปลยังไงดี จากคำว่า vitreous base) ส่วนที่เกาะแน่นรองลงมาคือ รอบขอบขั้วประสาทตา (optic disc) บริเวณจุดรับภาพ (macula) และตามแนวเส้นเลือดบนจอประสาทตา (retinal vessels)
      ดังนั้น เมื่อวุ้นตาหดตัว จะเกิดการแยกออก จากจอประสาทตาด้านหลัง บริเวณขั้วประสาทตา กับจุดรับภาพก่อน แล้วเลื่อนตัวเข้ามาหาฐานที่อยู่ด้านหน้าในระยะนี้ บางคนอาจสังเกตเห็นตะกอนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพราะ บ่อยครั้งที่ วุ้นตาที่อยู่บริเวณขอบของขั้วประสาทตา จะหนาตัวขึ้นเป็นเส้นแนววงกลม เมื่อวุ้นตาแยกตัวออกมา จะทำให้เห็นเงาเป็นวงเบี้ยวๆโค้งๆหรือเป็นวงกลม วงรีลอยไปมาทางหางตา หรือเป็นวงกลม วงรี ลอยไปมาทางหางตา (floaters )
      ในบางครั้ง บางคน เมื่อกลอกตาเร็วๆในที่มืด ตัววุ้นตาจะแกว่งไปกระทบจอประสาทตา หรือเกิดแรงดึงรั้งที่จอประสาทตา ตรงรอยต่อระหว่างส่วนที่วุ้นตาแยกจากจอประสาทตาแล้ว กับส่วนที่วุ้นตายังติดกับจอประสาทตาอยู่ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นจอประสาทตาด้วยแรงกล และอาจจะแปลผิดเป็นแสงแว่บ แสงแฟลช – flashing ช่องว่างที่อยู่ระหว่างวุ้นตา กับจอประสาทตา ตาก็จะสร้างน้ำใสๆเข้ามาเติมเต็ม หลังจากนั้นหลายๆเดือน เมื่อการแยกชั้นสมบูรณ์ขึ้น แสงแว่บก็จะน้อยลง และค่อยๆหายไป ตะกอนในวุ้นตาจะค่อยๆคงที่อยู่นานหลายเดือนหรือหลายปี ทำให้คนที่เป็นเห็นจุดๆเส้นๆอยู่พักหนึ่ง แล้วค่อยๆลดลง (ที่คนที่เป็นสังเกตเห็นเงาของมันลดลง เพราะวุ้นตาหดตัวมากขึ้น ตะกอนพวกนี้จะลอยมาอยู่ด้านหน้า ห่างจากจอประสาทตามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนไข้สังเกตเห็นเงาของมันน้อยลง (กฎง่ายๆ ที่ว่า วัตถุอยู่ใกล้ฉาก เห็นเงาได้ง่ายและชัดกว่าวัตถุอยู่ไกลฉาก)ในคนทั่วไป เราก็ไม่ต้องทำอะไร เพราะส่วนมาก มันก็แค่สร้างความรำคาญเท่านั้น ยกเว้นกรณีที่
      1. ตะกอนบางก้อนในวุ้นตา ขนาดใหญ่มาก จนเกิดปรากฏการณ์จันทรคาดจนบังการมองเห็น ก็อาจใช้เลเซอร์ยิงให้ตะกอนขนาดโตๆเหล่านี้ แตกเล็กลง – วิธีนี้ยังไม่ใช่มาตรฐาน ถือเป็นการทดลอง เพราะว่ามีความเสี่ยงสูง
      2. ตะกอนมีจำนวนมากจนวุ้นตาขุ่นทั้งหมด ทำให้มัวรักษาโดยการผ่าตัดล้างตะกอนออก (pars plana vitrectomy)
      ซึ่งจะมีบางคน ที่มีเรื่องอื่นๆต่อ ที่เป็นเรื่องร้ายแรง
      1. เลือดออกในวุ้นตา (vitreous hemorrhage) ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า วุ้นตาเกาะกับจอประสาทตาค่อนข้างแข็งแรงตามแนวเส้นเลือด บางครั้ง ถ้ามีบางจุดที่มันเกาะแน่นมากๆ เมื่อวุ้นตาหดตัว วุ้นตาอาจไม่แยกออกมา แต่กลับทำให้ผนังเส้นเลือดฉีกขาดแทน เลือดจะไหลฟุ้งเข้าไปในวุ้นตากับช่องระหว่างวุ้นตากับจอรับภาพ ทำให้การมองเห็นมัวมากๆทันที (เห็นเหมือนหมอกลงจัด)ถ้าในที่แสงน้อยๆ คนไข้จะเห็นเป็นเงาดำๆ ถ้าในที่แสงจ้าๆ กลางแดด หรือเอาไฟฉายส่อง บางคนจะเห็นเป็นสีแดงสดของเลือด
      2. จอประสาทตาฉีกขาด (retinal break, retinal tear) เหตุผลเหมือนข้อ 1 คือ ในระหว่างที่วุ้นตาหดตัว บางจุดที่วุ้นตาเกาะกับจอรับภาพแน่นกว่าปกติ จะดึงจอรับภาพให้ฉีกขาด
      ถ้าจอรับภาพฉีกขาด (อาจมีเลือดออกเหมือนข้อ 1 ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้) จะเห็นแสงแว่บบ่อยมากเพราะเมื่อกลอกตา จอรับภาพบริเวณที่ฉีกขาดออกมาจะเคลื่อนไหวมากกว่าปกติ (เพราะยังมีวุ้นตาซึ่งเลื่อนตัวง่ายเกาะติดอยู่) บางคนบอกว่าเห็นแสงแว่บเหล่านี้ วันนึงห้าหกสิบครั้ง
      ในกรณีนี้ ถ้าไม่ทำอะไร อาจเป็นไปได้สองอย่าง
      1. วุ้นตาแยกชั้นออกจากจอประสาทตาส่วนที่ฉีกขาดได้เอง ไม่ต้องทำอะไร
      2. วุ้นตาดึงจอประสาทตามากขึ้นเรื่อยๆ จนจอประสาทตาทั้งหมดหลุดลอกออก
      การป้องกันวุ้นตาเสื่อม
      1. ผู้สูงอายุ ตรวจสุขภาพดวงตา อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
      2. หลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือหรือการใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือในที่แสงสว่างไม่เพียงพอ
      3. หลีกเลี่ยงการนอนหลับในที่สว่าง
      4. การใส่แว่นตานิรภัย เพื่อป้องกันอันตรายจากอุบัติเหตุที่บริเวณดว

      โปรแกรมและแพ็คเกจ