การบำบัดรักษาอาการทางเส้นประสาท ด้วยเครื่องกระตุ้นสนามแม่เหล็ก

การบำบัดรักษาอาการทางเส้นประสาท ด้วยเครื่องกระตุ้นสนามแม่เหล็ก

Peripheral Magnetic Stimulation
การบำบัดรักษาอาการทางเส้นประสาท ด้วยเครื่องกระตุ้นสนามแม่เหล็ก
Peripherl Magnetic Stimulation (PMS)
เทคโนโลยี PMS หรือ Peripheral Magnetic Stimulation คือ เครื่องกระตุ้นระบบประสาทด้วยการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทางการแพทย์ที่เรียกว่า Electromagnetic เพื่อบำบัดรักษาอาการปวด เช่น อาการปวดกล้ามเนื้อ โรคเอ็นอักเสบ โรคปวดข้อต่อ และอาการชาจากเส้นประสาทได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคลื่นไฟฟ้าจะสามารถกระตุ้นทะลุผ่านเสื้อผ้าโดยไม่ต้องสัมผัสผิว ลงไปถึงเนื้อเยื่อและกระดูกได้ลึกประมาณ 10 ซม. คลื่นจาก PMS จะส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ไปกระตุ้นที่เส้นประสาทโดยตรง ทำให้เกิดกระบวนการ Depolarization กระตุ้นเนื้อเยื่อบริเวณที่ปวดทำให้เกิดการไหลเวียนของโลหิตบริเวณกล้ามเนื้อดียิ่งขึ้น ไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่ออวัยวะโดยรอบ รู้สึกผ่อนคลายในขณะรักษา รวมถึงส่งสัญญาณคลื่นแม่เหล็กกระตุ้นแขน ขา บริเวณที่เคลื่อนไหวไม่ได้ ให้ส่งสัญญาณไปที่สมอง และให้สมองส่วนที่ยังทำงานได้มีการฟื้นตัว แล้วส่งสัญญาณกลับลงมาทำให้แขนขาขยับได้มากขึ้น ในส่วนของการบำบัดรักษาอาการเจ็บปวด การกระตุ้นเส้นประสาทจะทำให้เกิดการส่งสัญญาณที่ช่วยยับยั้งอาการปวดได้ สามารถรักษาได้ทั้งปวดเฉียบพลันและเรื้อรัง และยังเป็นการกระตุ้นให้มีการซ่อมเสริมของเนื้อเยื่อด้วย
 
กลุ่มโรคที่รักษาด้วยเครื่อง PMS
  1. กลุ่มอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก (Stroke), เกิดจากการบาดเจ็บในสมอง (Traumatic Brain Injury), เกิดจากการบาดเจ็บของไขสันหลัง (Spinal Cord Injury) หน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell'spalsy) กลุ่มนี้จะเป็นลุ่มใหญ่ที่จะสามารถใช้เครื่องกระตุ้นแม่เหล็กมาบำบัดรักษาจะช่วย ลดอาการเกร็งในผู้ป่วย อัมพฤกษ์ อัมพาต ทำให้อาการฟื้นตัวของอาการอัมพฤกษ์ อัมพาตดีขึ้น
  2. กลุ่มโรคกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกสันหลัง คือกลุ่มโรคที่เกี่ยวกับแนวไขสันหลังโดยตรง การเสื่อมของกระดูกสันหลัง และหมอนรองกระดูก หรือการเคลื่อนตัวของหมอนรองกระดูก ที่มีผลต่อเส้นประสาทจากไขสันหลังหรือการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง การรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กจะสามารถรักษากลุ่มปวดนี้ได้มีประสิทธิภาพดีกว่าเครื่องมืออื่น เนื่องจากการกระตุ้นด้วยแม่เหล็กจะสามารถกระตุ้นลึกลงไปจนถึงรากประสาทได้
  3. กลุ่มปวดต่าง ๆ หรือ ออฟฟิศซินโดรม การบำบัดอาการปวด อาการเคล็ดคัดยอก การบาดเจ็บหรืออาการปวดเรื้อรังจากกล้ามเนื้อ เอ็น พังผืดหรืออาจเกิดจากการบาดเจ็บของตัวเส้นประสาทโดยตรง เช่น อาการปวดบริเวณคอ บ่า ข้อศอก แขน มือ เอว หลัง สะโพก ขา เข่า หรือข้อเท้า และหากทำอย่างต่อเนื่องตามแพทย์แนะนำจะทำให้อาการปวดค่อยๆ ดีขึ้นและหายไปในที่สุด
  4. กลุ่มอาการชา หรือ ผู้ที่มีอาการชาจากปลายประสาทหรือการกดทับเส้นประสาท คือกลุ่มปลายประสาทอักเสบ โดยส่วนใหญ่พบได้ในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน พบว่าอาการชามือ ชาเท้าจะดีขึ้น 50-100% ในแต่ละครั้งที่รักษา
  5. ช่วยบำบัดรักษาฟื้นฟูอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา นักกีฬาที่ได้รับบาดเจ็บจากการฝึกซ้อม หรือระหว่างแข่งขัน
การบำบัดรักษา
  1. ลดปวด ลดอาการชา ได้เป็นอย่างดี หลังการรักษา
  2. สามารถเพิ่มกำลัง และกระตุ้นกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากอัมพาต
  3. เร่งการฟื้นตัวของเส้นประสาทที่บาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น บาดเจ็บเส้นประสาท มือตก เท้าตก แขนขาอ่อนแรง อาการที่เกิดจากกดทับรากประสาทที่คอ และเอวจากโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือเสื่อม
  4. เร่งการฟื้นตัวจากเส้นประสาทที่มีพฤติกรรมผิดเพี้ยน เช่น อาการเหน็บชา ปวดแปร๊บหลังการบาดเจ็บเส้นประสาท อาการปวดเรื้อรังจากโรคทางกล้ามเนื้อกระดูกทุกชนิด
  5. เวลาการบำบัดรักษารักษาสั้นมาก ต่อ 1จุดการรักษา
  6. ถ้าบำบัดรักษาต่อเนื่อง สามารถลดจำนวนการรักษาได้
  7. สามารถบำบัดรักษาได้ผลในทุกระยะของการดำเนินโรค คือ ระยะเฉียบพลัน กึ่งเฉียบพลัน และเรื้อรัง
  8. กลไกการรักษาเป็นการกระตุ้นให้มีการซ่อมสร้างของเนื้อเยื่อ ไม่ใช่เพียงการแก้อาการเท่านั้น
ข้อควรระวัง/ข้อแนะนำหลังการรักษา
  1. กล้ามเนื้อมีโอกาสระบมหรือเป็นตะคริวได้ 2-3 วันหลังรับการรักษา
  2. มีโอกาสเกิดความร้อนได้หากไม่ระมัดระวัง โดยเฉพาะความร้อนที่เกิดกับตัวโลหะที่วางอยู่ภายนอกร่างกาย เช่น หัวเข็มขัด หัวคอยล์เหรียญที่อยู่บนกางเกงยีนส์ เป็นต้น

โปรแกรมและแพ็คเกจ

การดูแล เด็กที่มีไข้และไข้ชัก

การดูแล เด็กที่มีไข้และไข้ชัก

ไข้ชักคืออะไร
โรคไข้ชัก (Febrile seizure หรือ Febrile convulsion) หมายถึง การชักที่พบกับไข้สูง เกิดในเด็กที่มีความผิดปกติทางระบบประสาท ความผิดปกติของ
เกลือแร่ในร่างกาย และไม่เคยมีประวัติชัก โดยไม่มีไข้ร่วมด้วยมาก่อน พบได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี ในเด็กที่อายุมากกว่า 7 ปีแล้ว พบได้น้อยมาก
โดยส่วนใหญ่โรคไข้ชัก มักมีอาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัวภายใน 24 ชั่วโมงหลังมีไข้สูง ส่วนน้อยที่มีอาการชักก่อนการมีไข้ หรือหลังจากมีไข้แล้ว 24 ชั่วโมง การชักแต่ละครั้งมักเป็นอยู่ไม่กี่วินาที และชักเพียงครั้งเดียวในการเป็นไข้แต่ละครั้ง นอกจากนั้นหลังชักจะมีแขนขาอ่อนแรงตามมา
ใครมีความด้วยเป็นโรคไข้ชักบ้าง
  1. อายุที่พบบ่อย คือระหว่าง 6 เดือน – 5 ปี
  2. มีไข้สูง 38.5 ขึ้นไป (โดยเฉพาะใน 1-2 วันแรกของการมีไข้)
  3. มีประวัติไข้ชักในครอบครัว (ถ่ายทอดทางพันธุกรรม)
การรักษา
ภาวะไข้ชักส่วนใหญ่สามารถหยุดชักเองได้ และป้องกันไม่ให้ชักซ้ำโดยลดไข้ ถ้าการชักไม่หยุดเองใน 3-5 นาทีแพทย์จะพิจารณาให้ยาไดอะซีแปม (Diaizepam) เพื่อหยุดชักในเบื้องต้น โดยอาจใช้การฉีดหรือสวนทางทวารหนัก
ในระยะยาวเนื่องจากไม่พบความผิดปกติทางสมองจากไข้ชักจึงไม่จำเป็นต้องใช้ยากันชักในระยะยาว เว้นแต่เป็นผู้ป่วยที่ชักซ้ำหลายครั้งรวมถึงมีความผิดปกติทางสมอง แพทย์อาจพิจารณาให้ยากันชักช่วงที่มีไข้
อันตราย
  • โรคไข้ชักมีภาวะแทรกซ้อนน้อยมาก ส่วนใหญ่ที่ควรระวังจะเป็นเรื่องการหายใจ การสำลัก และอุบัติเหตุ เช่น การตกเตียง ไม่พบการเสียชีวิตจากโรคไข้ชัก และไม่พบความพิการเกิดขึ้นจากโรคไข้ชัก
  • ถ้าเป็นไข้ชักไม่เกิน 15 นาที ไม่มีการชักซ้ำและไม่มีความผิดปกติทางระบบประสาทหลังชักพบว่า ไม่มีผลกับสมอง ระดับสติปัญญา พัฒนาการและพฤติกรรมในอนาคต
  • โอกาสเป็นโรคลมชักเท่าเด็กทั่วไป
  • ยกเว้น ถ้ามีไข้ชักหลายครั้ง ร่วมกับเป็นอายุ 12 เดือนและมีประวัติครอบครัวเป็นโรคลมชัก จะมีโอกาสเป็นโรคลมชักก่อนอายุ 25 ปี ควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของไข้และรับการรักษาเพื่อช่วยลดระยะเวลาของไข้
เกิดไข้ชักซ้ำได้หรือไม่
  • ไข้ชักครั้งแรกอายุน้อยกว่า 1 ปี มีโอกาสชักซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ได้ร้อยละ 50
  • ไข้ชักครั้งแรกอายุมากกว่า 1 ปี มีโอกาสชักซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ได้ร้อยละ 30
  • ไข้ชักมาแล้ว 2 ครั้งมีโอกาสชักครั้งที่ 3 ร้อยละ 50
การป้องกันการชักซ้ำ
คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครอง สามารถป้องกันการเกิดไข้ชักได้โดยรีบลดอุณหภูมิร่างกายของเด็ก ซึ่งต้องทำลายวิธีร่วมกัน ดังนี้
  • ให้ยาลดไข้ (พาราเซตามอล) ให้ขนาดที่พอเหมาะกับน้ำหนักตัวเด็กทันทีที่ทราบว่าไข้ขึ้น และสามารถให้ซ้ำได้ทุก 4-6 ชม.
  • ให้เด็กดื่มน้ำบ่อยๆ
  • เช็ดตัวลดไข้อย่างถูกวิธี โดยใช้น้ำอุณหภูมิห้องหรือน้ำอุ่น
  • ควรระมัดระวังการให้ยาลดไข้สูง ในกลุ่มไอบูโพรเฟนหรือยาแอสไพริน ในกรณีที่สงสัยโรคไข้เลือดออกและไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
วิธีปฏิบัติเมื่อผู้ป่วยชัก
แม้จะรับประทานยาลดไข้และเช็ดตัว บางครั้งยังเกิดอาการชัก ถ้าเด็กมีอาการชัก เกร็ง หรือกระตุก ให้ปฏิบัติดังนี้
  • พ่อแม่และผู้ปกครองที่พบต้องตั้งสติ อย่าตกใจ
  • ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น
  • ควรจับเด็กให้นอนตะแคงบนเตียงหรือพื้น เพื่อเปิดทางเดินหายใจป้องกันการสำลักและระมัดระวังไม่ให้ตกเตียง ไม่ต้องพยายามจับหรือกอดรัดเด็กให้หยุดชัก เพราะอาจทำให้เด็ก แขนหักหรือหัวไหล่หลุด
  • ถ้ามีลูกยางแดงให้ดูดน้ำลาย เสมหะออกจากปาก หลังจากทำให้ทางเดินหายใจโล่งแล้ว เอาปากประกบปากเด็กแล้วเป่าลมช่วยหายใจ
  • ถ้ามีเศษอาหารในปาก ให้ล้วงเศษอาหารออกจากช่องปากเพื่อป้องกันภาวะอุดตันในทางเดินหายใจ ระหว่างมีอาการชัก
  • หากเด็กกัดฟัน ไม่ควรพยายามเอาช้อน นิ้วมือของแข็งงัดปากเด็ก เพราะอาจทำให้เยื่อบุช่องปากฉีกขาด ฟันหักขากรรไกรหัก และอุดกั้นทางเดินหายใจ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โอกาสที่เด็กจะกัดลิ้นตัวเองมีน้อย
  • เด็กมักหยุดชักได้เอง
  • เช็ดตัวลดไข้
  • ให้ยาลดไข้ทันที ที่รู้สึกตัว
  • รีบนำส่งโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุ

โปรแกรมและแพ็คเกจ

โปรแกรมตรวจสุขภาพสำหรับเด็ก

โปรแกรมตรวจสุขภาพสำห […]

วัคซีนปัองกันโรคมือ เท้า ปาก (EV71)

วัคซีนป้องกันโรคมือเ […]

มะเร็งปอด รู้เร็ว รักษาได้

มะเร็งปอด รู้เร็ว….รักษาได้

มะเร็งปอดเป็นโรคที่พบได้มากในประเทศไทย และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของทั้งเพศชายและเพศหญิง อย่างไรก็ดี มะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายได้หากตรวจพบตั้งแต่ในระยะต้น
ชนิดของมะเร็งปอด

มะเร็งปอด เกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติอย่างรวดเร็วและ ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนของเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งจะตรวจพบได้เมื่อมีขนาดใหญ่ มีจำนวนมาก และแพร่ไปตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย มะเร็งปอดจะทำลายชีวิตของผู้ป่วยได้รวดเร็วแค่ไหน ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง
มะเร็งปอด แบ่งออกเป็น 2 ชนิด

จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิดตามขนาดของเซลล์ ซึ่งความแตกต่างของขนาด เซลล์นี้มีความสำคัญ เนื่องจากวิธีการรักษาจะแตกต่างกัน
  1. มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (small cell lung cancer) พบได้ประมาณ 10-15% เซลล์จะเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่ามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว การรักษาจะไม่ใช้วิธีการผ่าตัด ส่วนมากจะรักษาด้วยการใช้ยาหรือฉายรังสี
  2. มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (non-small cell lung cancer) พบได้บ่อยกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (พบได้ประมาณ 85-90%) แต่จะแพร่กระจายได้ช้ากว่า และสามารถรักษาให้หายได้โดยการผ่าตัดหากพบตั้งแต่เนิ่นๆ
สาเหตุของการเกิดมะเร็งปอด

ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ แต่มีปัจจัยบางประการที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด เช่น
  1. บุหรี่ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดมากที่สุด ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10-30 เท่า เนื่องจากสารในบุหรี่สามารถทำลายเซลล์ปอด ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ โดย ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนมวนและจำนวนปีที่สูบบุหรี่
  2. การได้รับสารพิษและมลภาวะในสิ่งแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่ แอสเบสตอส (asbestos) ก๊าซเรดอน (radon) สารหนู รังสี และสารเคมีอื่นๆ รวมถึงฝุ่นและไอระเหยจากนิกเกิล โครเมียม และโลหะอื่นๆ
  3. อายุ ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นตามอายุโดยทั่วไปความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหลังอายุ 40 ปี แต่ก็สามารถพบได้ในคนอายุน้อยกว่า 40 ปี
  4. มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด ผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคมะเร็งปอด มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดแม้จะไม่ได้สูบบุหรี่
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดควรพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการลดปัจจัยเสี่ยง และวางแผนการตรวจสุขภาพ ส่วนผู้ที่เคยได้รับการรักษามะเร็งปอดมาแล้ว ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพหลังการรักษา เนื่องจากอาจมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปอดได้อีก
การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด

การตรวจคัดกรองจะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบและรักษามะเร็งได้ตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจสอบมะเร็งปอดแบบง่ายหรือด้วยตนเองดังเช่น มะเร็งเต้านม อย่างไรก็ตามมีการตรวจสอบใหม่ที่เป็น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (low-dose helical computerized tomography) ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยได้

อาการของโรคมะเร็งปอด

โดยทั่วไปแล้วมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นมักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อโรคลุกลามแล้ว อาจพบอาการดังต่อไปนี้
  • ไอเรื้อรัง(ไอแห้งหรือไอมีเสมหะ) มีปัญหาการหายใจ เช่น หายใจสั้น
  • หายใจมีเสียงหวีด เจ็บบริเวณหน้าอกตลอดเวลา
  • ไอมีเลือดปน เสียงแหบ
  • ติดเชื้อในปอดบ่อย ๆ เช่น ปอดบวม เหนื่อยง่าย หรือรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • การตรวจวินิจฉัยด้วยรังสี
การตรวจวินิจฉัยด้วยรังสี

  • การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(CT scan)
  • การตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า(MRI) เป็นวิธีที่ช่วยให้แพทย์หาตำแหน่งและขนาดของก้อนเนื้อที่ผิดปกติในบริเวณปอดได้
  • การตรวจด้วยเครื่อง PET Scan (Positron Emission Tomography Scan) เป็นการฉีดโมเลกุลของสารกัมมันตภาพรังสีที่รวมกับน้ำตาลเข้าทางเส้นเลือด เซลล์มะเร็งปอดจะดูดซึมเอาน้ำตาลชนิดนี้ไว้อย่างรวดเร็วและมากกว่าเซลล์ปกติ ทำให้เกิดความแตกต่างของการเรืองแสงเฉพาะเซลล์มะเร็ง

บทบาทของญาติ / ผู้ดูแล ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

บทบาทของญาติ / ผู้ดูแล ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมองมี 2 ประเภทคือ

  1. โรคหลอดเลือด สมองหลักตีบ
  2. อุดตัน และโรคหลอดเลือดสมองปริแตกหรือฉีกขาด
ปัจจัยเสี่ยง ของโรคหลอดเลือดสมอง

ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความอ้วน โรคหัวใจ อายุที่มากขึ้น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ บุหรี่ แอลกอฮอล์ โคเคน แอมเฟตามีน การดำเนินชีวิต ที่ไม่ค่อยมีการเคลื่อนที่ หรือออกกำลังกาย
อาการของโรคหลอดเลือดสมองระยะเฉียบพลัน

  1. แขนขา ชา อ่อนแรงหรือชาครึ่งซีกข้างใดข้างหนึ่งทันทีทันใด
  2. พูดตะกุดตะกัก พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ นึกคำพูดไม่ออก หรือฟังไม่เข้าใจทันทีทันใด
  3. ตามัว มองเห็นภาพซ้อน หรือมองไม่เห็นข้างใดข้างหนึ่งทันทีทันใด
  4. ปวดศีรษะรุนแรงเฉียบพลันชนิดไม่เคยเป็นมาก่อน
  5. เวียนศีรษะบ้านหมุน เดินเซ เสียการทรงตัว
กรณีพบผู้ป่วยมีอาการข้อใดข้อหนึ่ง ให้รีบพบแพทย์โดยด่วน ถึงแม้อาการจะดีขึ้นได้เอง แต่การไปพบแพทย์ก็มีความจำเป็นเพื่อจะได้ รับการรักษาทันท่วงที และจะได้ฟื้นฟูสภาพร่างกายรวดเร็วยิ่งขึ้น
การรักษา

ขึ้นอยู่กับชนิด ความรุนแรง และระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการ โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยมารับการรักษาเร็วเท่าใดก็จะมีโอกาสรอดชีวิต และฟื้นฟูจนสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติได้มากเท่านั้น หลักการรักษาประกอบด้วย
  1. การรักษาทางยาสำหรับผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ หรืออุดตัน แพทย์จะให้ยาในกลุ่มยาละลายลิ่มเลือดยาต้าน เกร็ดเลือด โดยทั่วไปผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลานาน เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ และ จะต้องมาตรวจ สม่ำเสมอ เพื่อปรับขนาดของยา ตามแผนการรักษา
  2. การรักษาโดยการผ่าตัดในบางราย โดยเฉพาะ ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองจากการปริแตกหรือฉีกขาด ของหลอดเลือดสมอง
  3. การรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู
  4. การรักษาโดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อน
การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองโรคหลอดเลือดสมอง

เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ โดยการลดปัจจัยเสี่ยง ดังนี้
  1. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสมอย่าให้อ้วน
  2. งดสูบบุหรี่
  3. งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  4. ตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง
  5. ในกรณีที่มีปัจจัยเสี่ยงอยู่แล้วหรือเป็นโรคหลอดเลือดสมอง อยู่แล้วต้องรักษาและพบแพทย์ อย่างสม่ำเสมอ ห้ามหยุดยาหรือปรับยาเองโดยเด็ดขาด
  6. รับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 / Fish Oil สามารถลดความ เสี่ยงต่อการเกิด thrombosis stroke ได้
บทบาทของญาติ / ผู้ดูแล ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

  1. กระตุ้นให้ผู้ป่วยปฏิบัติกิจวัตรประจำวันให้มากที่สุด เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน ขับถ่าย ทานอาหาร แต่งตัว และให้ความช่วยเหลือถ้า จำเป็น
  2. กระตุ้นให้ผู้ป่วยใช้ร่างกายข้างที่อ่อนแรง เท่าที่สามารถจะทำได้
  3. ช่วยเหลือกิจกรรมที่ผู้ป่วยไม่สามารถทำได้
  4. ให้กำลังใจและส่งเสริมให้ผู้ป่วยเกิดความมั่นใจในตนเอง
  5. ช่วยทำกายภาพบำบัดให้ผู้ป่วย
  6. ดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง
  7. ช่วยควบคุมปัจจัยเสี่ยงอย่างเคร่งครัด ห้ามขาดยา และมาพบตามแพทย์นัด
  8. ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับน้ำและสารอาหารอย่างเพียงพอ ในรายที่ผู้ป่วยรับประทานอาหารทางปากไม่ได้สามารถให้อาหาร ทางสายยางได้อย่างถูกวิธี ในรายที่รับประทานอาหารเองได้ ให้ระวังการสูดสำลัก

โปรแกรมและแพ็คเกจ

ตรวจเช็คโรคระบบประสาทและสมอง
คัดกรองความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
Promotion ชุดตรวจสุขภาพ ลด 20%

กรดไหลย้อน

กรดไหลย้อน gastroesophageal reflux disease: GERD

โรคกรดไหลย้อนขึ้นคอและกล่องเสียง หรือเรียกสั้นๆว่า โรคกรดไหลย้อน เกิดจากการไหลย้อนกลับของกรดหรือน้ำย่อยในกระเพะอาหารขึ้นมาเหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดอาการระคายเคืองของกรดต่อเยื่อบุหลอดอาหาร ลำคอ และกล่องเสียง
การวินิจฉัย

จากประวัติ อาการ และการตรวจร่างกายทาง หู คอ จมูก แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาลดกรดและสังเกตการตอบสนองของโรคต่อยาใน ผู้ป่วยบางราย แพทย์จะพิจารณาส่องกล้องทางจมูกถึงกล่องเสียงเพื่อดูว่ามีความผิดปกติบริเวณกล่องเสียงและลำคอหรือไม่
อาการของโรคกรดไหลย้อน

  1. อาการทางคอหอยและหลอดอาหาร
    • รู้สึกคล้ายว่ามีก้อนอยู่ในคอ หรือแน่นคอ
    • มีเสมหะอยู่ในลำคอ หรือระคายคอตลอดเวลา
    • เจ็บคอ แสบคอ แสบปาก แสบลิ้นเรื้อรัง โดยเฉพาะในตอนเช้า
    • รู้สึกเหมือนมีรสขมของน้ำดี รสเปรี้ยวของกรดในคอ หรือปาก
    • เรอบ่อย คลื่นไส้ คล้ายมีอาหาร หรือน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาในอก หรือ คอ
    • อาการปวดแสบร้อนที่หน้าอกและลิ้นปี่
    • รู้สึกจุกแน่นในหน้าอก คล้ายอาหารไม่ย่อย มีน้ำลายไหลมากผิดปกติ มีกลิ่นปาก เสียวฟัน หรือมีฟันผุได้
  2. อาการทางกล่องเสียงและหลอดลม
    • เสียงแหบเรื้อรัง หรือแหบเฉพาะตอนเช้า หรือมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม
    • ไอเรื้อรัง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารหรือขณะนอน
    • ไอ สำลักน้ำลาย หรือ หายใจไม่ออกในเวลากลางคืน กระแอมไอบ่อย
การรักษา

  1. การปรับเปลี่ยนนิสัย และการดำเนินชีวิตประจำวัน
    • วิธีนี้สำคัญที่สุดในการทำให้ผู้ป่วยมีอาการน้อยลงป้องกันไม่ให้เกิดอาการ และลดการกลับมาเป็นซ้ำ โดยลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหารและป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นไปที่คอ และกล่องเสียงมากขึ้น การรักษาโดยวิธีนี้ควรปฏิบัติไปตลอดชีวิต เพราะเป็นการรักษาที่ต้นเหตุ แม้ว่าจะมีอาการดีขึ้นแล้ว หรือหายดีแล้ว โดยไม่ต้องรับประทานยา
  2. การรับประทานยา
    • เพื่อลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหารและหรือเพื่อการเคลื่อนตัวของระบบทางเดินอาหารในการกำจัดกรดปัจจุบันยาลดกรดกลุ่ม ()เป็นยาที่สามารถยับยั้งการหลั่งกรดได้ดี เห็นผลการรักษาเร็ว การรักษาโรคกรดไหลย้อน ควรรับประทานยาให้สม่ำเสมอตามแพทย์สั่งไม่ควรลดขนาดของยา หรือหยุดยาเอง นอกจากแพทย์แนะนำและควรไปตามที่แพทย์นัดสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ในบางรายอาจใช้เวลานานประมาณ 1–3 เดือนอาการต่างๆจึงจะดีขึ้น สามารถปรับเปลี่ยนนิสัยและการดำเนินชีวิตประจำวันได้รับประทานยาตอเนื่อง 2–3 เดือน แพทย์จะปรับขนาดยาลงทีละน้อย พบว่าประมาณ 90 % สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา
  3. การผ่าตัด
  4. ส่วนน้อยที่รักษาด้วยวิธีนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นที่คอและกล่องเสียง การรักษาวิธีนี้จะทำในกรณี
    • อาการรุนแรง ซึ่งให้การรักษาโดยยาอย่างเต็มที่แร้วไม่ดีขึ้น
    • ไม่สามารถรับประทานยาที่ใช้ในการรักษาภาวะนี้ได้
    • ในรายที่ดีขึ้นหลังจากการใช้ยาแต่ไม่ต้องการที่รับประทานยาต่อ
    • รายที่มีอาการกลับเป็นซ้ำบ่อยๆหลังหยุดยา
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารก่อนนอน ภายในเวลา 3 ช.ม. การนอนราบหรือการออกกำลังกายหลังจากทานอาหารทันที
  • รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารมัน ทอด อาหารย่อยยาก พืชผักบางชนิด เช่น หัวหอม มะเขือเทศ ช็อกโกแลต ถั่ว หรืออาหารที่มีรสจัด เช่น เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด เครื่องดื่มบางประเภท เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง แอลกอฮอล์
  • พยายามหลีกเลี่ยงความเครียด
  • เลิกสูบบุหรี่
  • ถ้าน้ำหนักเกินควรลดน้ำหนัก
  • หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่แน่นเกินไปโดยเฉพาะบริเวณรอบเอว
  • เวลานอน ควรหมุนหัวเตียงให้สูงขึ้น ประมาณ 6 นิ้ว จากพื้นราบโดยใช้วัสดุรองขาเตียง เช่น ไม้ อิฐอย่ายกศีรษะโดยการใช้หมอนรองศีรษะ เพราะจะทำให้ความดันช่องท้องเพิ่มขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเองเวลาป่วยเนื่องจากยาบางชนิดจะทำให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดเพิ่มมากขึ้น หรือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนลางคลายตัวมากขึ้น
  • ไม่ควรรับประทานอาหารจนอิ่มเกินไปในแต่ละมื้อ

อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์

อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์

อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์
โรคเก๊าท์ มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของการสะสมกรดยูริค(Uric acid)ในร่างกาย กรดยูริคได้จากการเผาผลาญสารพิวรีนซึ่ง เป็นธาตุอาหารที่ร่างกายสังเคราะห์เองได้และพบได้ทั่วไปในอาหารหลายชนิดโดยปกติเมื่อสารพิวรีนที่ร่างกายได้รับ จะถูกย่อยจนกลายเป็นกรดยูริค ในคนปกติกรดยูริคจะถูกสร้างขึ้นในอัตราช้าพอที่ไตจะขับออกได้หมดทันกับการสร้างขึ้นพอดี และจะขับออกมาพร้อมกับปัสสาวะสำหรับบางรายที่กรดยูริคถูกสร้างขึ้น แต่ไตทำหน้าที่ขับถ่ายออกมาได้ช้า หรือเร็วก็ตามจะทำให้เกิดการสะสมของกรดยูริคมากขึ้นในร่างกาย เป็นสาเหตุให้เกิดการเจ็บปวดอย่างรุนแรงในข้อกระดูกหรือรอบ ๆ ข้อกระดูกในเพศชายไม่ควรมีกรดยูริคในเลือดมากกว่า 8 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร สำหรับเพศหญิง ไม่ควรมีกรดยูริคในเลือดมากกว่า 6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร โรคนี้สามารถถ่ายทอดกันได้ทางกรรมพันธุ์
การดูแลตนเอง และการควบคุมอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์
การควบคุมอาหาร โดยงดอาหารที่เป็นสาเหตุ และการรับประทานอาหารอย่างถูกต้อง จะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ลดอาการ และทำให้มีชีวิติอยู่อย่างมีความสุข
อาหารที่ควรงดได้แก่
  1. งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เด็ดขาด เช่น เหล้า เบียร์ เพราะแอลกอฮอล์ทำให้ยูริคสูงขึ้น
  2. งดอาหารที่มีพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์ เป็ด ไก่ กะปิ หน่อไม้ สะเดา ยอดกระถิน และรับประทานไขมันมากทำให้การขับถ่ายกรดยูริค เป็นไปได้ยาก
การดูแลตนเอง และการควบคุมอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์
การควบคุมอาหาร โดยงดอาหารที่เป็นสาเหตุ และการรับประทานอาหารอย่างถูกต้อง จะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ลดอาการ และทำให้มีชีวิติอยู่อย่างมีความสุข
  • ไม่รับประทานอาหารมันมาก เช่น อาหารที่ทอดอมน้ำมันมาก เนื้อสัตว์ติดมัน เพราะไขมันทำให้ร่างกายขับยูริคได้น้อยลง
  • ถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วแดง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว มีสารพิวรีน สูง หากกินไม่มาก ก็ไม่เป็นไร แต่หากดื่มนมถั่วเหลืองชนิดเข้มข้นวันละ 1 ลิตร หรือมากกว่านับว่าปริมาณมากเกิน ทำให้ได้รับพิวรีนมากประกอบกับโปรตีนก็สูง ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นการสร้างกรดยูริกภายในร่างกายได้ ควรลดปริมาณการดื่มนมถั่วเหลืองลงให้เหลือวันละ 2 แก้ว
  • ควรละเว้นไม่รับประทานส่วนยอดผัก ต้นอ่อนของผัก เช่น ยอดคะน้า ยอดผักหวาน ยอดผักบุ้งจีนหน่อไม้ หน่อไม้ฝรั่ง ดอกกะหล่ำ สะตอ กระถิน ชะอม ผักขม
  • งด อาหารหมัก ที่ใช้ ยีสต์ เป็นตัวเร่งหรือส่วนประกอบ เช่น เต้าเจี้ยว
  • เมล็ดพืชทุกชนิดที่งอกได้จะมียูริกค่อนข้างมาก แม้จะทำให้สุกแล้วก็ตาม ควรงดโดยเฉพาะขณะมีอาการ
กลุ่ม ปริมาณพิวรีน/อาหาร 100 ก. อาหาร
อาหารที่มีพิวรีนสูง มากกว่า  150 มก.
  • เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ, ตับอ่อน, ไส้, ม้าม, หัวใจ, สมอง, กึ๋น, เซ่งจี๊
  • สัตว์ปีก เช่น เป็ด, ไก่, ห่าน
  • ปลาดุก, กุ้ง,กุ้งซีแฮ้ หอย, ปลาอินทรีย์, ปลาไส้ตัน, ปลาขนาดเล็ก, ปลาซาร์ดีน, ไข่ปลา
  • ชะอม, กระถิน, เห็ด
  • ถั่วแดง, ถั่วเขียว, ถั่วเหลือง, ถั่วดำ
  • น้ำเกรวี, กะปิ, ยีสต์
  • น้ำสะกัดเนื้อ, ซุปก้อน, น้ำต้มกระดูกปลาดุก, น้ำซุปต่างๆ น้ำสกัดเนื้อ
อาหารที่มีพิวรีนปานกลาง 50-150 มก.
  • เนื้อสัตว์ เช่น หมู, วัว
  • ปลาทุกชนิด และอาหารทะเล เช่น ปลาหมึก, ปู
  • ถั่วลิสง, ถั่วลันเตา
  • ผักบางชนิด เช่น หน่อไม้, หน่อไม้ฝรั่ง, ดอกกะหล่ำ, ผักโขม, สะตอ, ใบขี้เหล็ก
  • ข้าวโอ๊ต
  • เบียร์ เหล้าชนิดต่างๆ เหล้าองุ่น ไวน์ (ทำให้การขับถ่ายกรดยูริกทางปัสสาวะลดลง ทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว)
อาหารที่มีพิวรีนน้อย 0-50 มก.
  • ข้าวชนิดต่างๆ 
  • ถั่วงอก, คะน้า
  • ผลไม้ชนิดต่างๆ
  • ไข่
  • นมสด, เนย และเนยเทียม
  • ขนมปัง ขนมหวาน หรือน้ำตาล
  • ไขมันจากพืช และสัตว์
ข้อควรปฏิบัติด้านอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์
  • รับประทานผลไม้และผักให้มาก โดย รับประทานผักส่วนที่โตเต็มวัย
  • รับประทานอาหาร ให้ครบ 5 หมู่
  • ดื่มน้ำสะอาด มากๆ วันละ 3 ลิตร เพื่อช่วยการขับถ่ายยูริคออกมาทางปัสสาวะ

โปรแกรมและแพ็คเกจ

โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergic skin disease)

โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergic skin disease)

โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง(Allergic skin disease)

โดยผู้ป่วยที่เป็นลมพิษจะเริ่มด้วยอาการคัน หลังจากนั้นจะมีอาการบวม เป็นได้ทั้งตัวโดยเฉพาะที่ถูกเกาหรือกดรัด มักเป็นๆหายๆ อาการบวมอาจจะเป็นแบบตุ่มนูนที่มีขนาดแตกต่างกัน ส่วนใหญ่อาจดูคล้ายตุ่มยุงกัด แต่บางแห่งจะดูคล้ายแผนที่ โดยตรงกลางผื่นสีจะจางและไม่นูน ผื่นลมพิษนี้ อาจมีลักษณะแตกต่างไป ในบางครั้งจะรวมกันเป็นปื้นหนา หรือ อาจมีจุดขาวซีดๆ ตรงกลาง ขณะที่ขอบโดยรอบจะหนานูนแดง ผื่นลมพิษจะเห่อเร็วและผื่นนั้นมักจะหายภายใน 4-6 ชั่วโมงโดยไม่มีร่องรอยหลงเหลือ แล้วก็จะย้ายไปขึ้นบริเวณอื่นได้อีก โดยมากผื่นจะหายไปใน 24 ชั่วโมง ถ้าเป็นนานเกิน 24 ชั่วโมงให้นึกว่าอาจจะเป็นโรคอื่น ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการบวมของหนังตา ริมฝีปาก อวัยวะเพศ และทางเดินหายใจ ร่วมด้วย
ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ มักเริ่มมีอาการตั้งแต่อายุขวบปีแรก โดยประ มาณ 80-90% ของเด็กที่เป็นโรคนี้ มักมีอาการก่อนอายุ 7 ปี โดยผู้ป่วยจะมีอาการผื่นคันตามลำ ตัวและหน้า เป็นๆหายๆ ผิวแห้ง อักเสบ และมีอาการกำเริบเป็นระยะๆเมื่อได้รับสารกระตุ้น ผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ จะมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคหืดเมื่อเด็กโตขึ้น
สาเหตุที่สำคัญของโรคภูมิแพ้ทางผิวหนังในเด็ก ได้แก่ แพ้อาหาร โดยอาหารที่พบว่าแพ้ได้บ่อยในเด็กไทยคือ ไข่ นมวัวอาหารทะเล และแป้งสาลี
โรคภูมิแพ้ทางดวงตา(Eye allergy)

เป็นการอักเสบที่เยื่อตาขาว และใต้หนังตา ผู้ ป่วยจะมีอาการ คันตา ตาแดง น้ำตาไหล แสบตาและมีขี้ตา โดยมักมีอาการช่วงได้รับสารกระตุ้น เช่น ฝุ่น ละอองเกสรหญ้า หรือขนสัตว์ ผู้ป่วยที่มีอาการภูมิแพ้ทางดวงตามักพบร่วมกับอาการโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรงที่มีอาการหลายระบบ(Anaphylaxis)

เป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อาการแพ้จะเกิดขึ้นรุนแรง รวดเร็วและมีอาการหลายระบบ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการคัน ลมพิษ บวมที่หน้า ปาก แน่นในลำคอ จาม น้ำมูกไหล หายใจลำบาก บางรายอาจมีอาการปวดท้อง อาเจียนท้องเสีย ความดันโลหิตลดต่ำลง หมดความรู้สึก และอาจถึงแก่ชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ในรายที่เป็นโรคหืดอยู่เดิมอาจไปกระตุ้นให้โรคหืดกำเริบได้
สาเหตุที่สำคัญของโรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรงคือ ภาวะแพ้ อาหาร ยา แมลงต่อย (ผึ้ง ต่อ มด กัดต่อย: การปฐมพยาบาล การรักษาและการป้องกัน) ซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะแพ้ชนิดนี้ควรหลีก เลี่ยงสารที่แพ้ และในรายที่เคยเกิดอาการแพ้ที่รุนแรง เช่นช็อก ผู้ป่วยควรมียาฉีด Adrenaline/ Epinephrine (ยารักษาโรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง ที่ช่วยกระตุ้นการเต้นของหัวใจ และช่วยเพิ่มความดันโลหิต) พกติดตัวไว้ด้วยเพื่อป้องกันการเสียชีวิตก่อนที่จะพบแพทย์
การวินิจฉัย

แพทย์วินิจฉัยโรคภูมิแพ้ โดยสังเกตจากอาการที่เข้ากันได้กับโรคนี้ ดังได้กล่าวแล้วในหัว ข้อ ชนิดของโรคภูมิแพ้ การมีอาการเรื้อรังเป็นๆหายๆ การมักมีประวัติครอบครัวร่วมด้วย และอาจทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง หรือเจาะเลือดเพื่อหาสาเหตุของอาการที่แพ้ หรือกรณีที่เป็นโรคหืดก็ทำการทดสอบสมรรถภาพปอด เป็นต้น
การรักษา

หลักการดูแลผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มีหลักการทั่วไปคือ
  • ควบคุมสิ่งแวดล้อมและสารก่อภูมิแพ้
  • ให้การรักษาด้วยยา
การควบคุมสิ่งแวดล้อมและสารก่อภูมิแพ้ ได้มีการสำรวจผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในประเทศไทยพบว่า มักจะแพ้ไรฝุ่น ฝุ่นบ้าน เป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาได้แก่ แมลงสาบ ละอองเกสรพืช และขนสัตว์ ถ้าทำได้ แนะนำให้ทำการทดสอบผิวหนังในผู้เป็นโรคภูมิแพ้ทุกคน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าแพ้อะไร จะได้หลีกเลี่ยงได้ถูกต้อง และยังใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาทำการรักษาด้วยการฉีดวัคซีนอีกด้วย ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ที่ไม่ได้รับการทดสอบผิว หนัง หรือไม่สามารถทำการทดสอบได้ก็ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งที่พบบ่อย คือ
  1. ไรฝุ่น
    • จัดห้องนอนให้โล่ง ไม่ควรมี พรม ตุ๊กตา และผ้าม่าน
    • ซัก ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และผ้าห่มด้วยน้ำร้อนอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
    • คลุมที่นอน หมอน หมอนข้างด้วยผ้าใยสังเคราะห์ชนิดพิเศษซึ่งสามารถกันไม่ให้ตัวไรฝุ่นลอดผ่านขึ้นมาได้
  2. แมลงสาบ
    • ขจัดแหล่งอาหารของแมลงสาบ โดยทิ้งขยะและเศษอาหารในถุงหรือถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด
    • ใช้ยาฆ่าแมลงสาบและกับดักแมลงสาบ
  3. สัตว์เลี้ยง
    • ไม่ควรเลี้ยงสัตว์มีขน เช่น สุนัข แมว นก กระต่าย
    • ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ควรให้สัตว์เลี้ยงอยู่นอกบ้าน และอาบน้ำให้ทุกสัปดาห์
    • ใช้เครื่องดูดฝุ่น และเครื่องกรองอากาศ
  4. เกสรหญ้า
    • ควรตัดหญ้าและวัชพืชบริเวณบ้านบ่อยๆ เพื่อลดจำนวนเกสร
    • ไม่ควรนำต้นไม้ ดอกไม้สด หรือแห้ง ไว้ในบ้าน
    • ในช่วงที่มีละอองเกสรมาก ควรปิดประตู หน้าต่าง และใช้เครื่องปรับอากาศ หรือเครื่องฟออากาศ
    • ทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเช้า เพราะละอองเกสรจะปลิวมากช่วงตอนเย็น
นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงสารระคายเคืองต่างๆ ที่อาจทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบ ได้แก่ ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสีย กลิ่นฉุน น้ำหอม ควันธูป และฝุ่นละอองจากแหล่งต่างๆ การออกกำลังกายสม่ำเสมอและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก็มีความสำคัญ โดยพบว่าผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ มักมีอา การแย่ลงเมื่อมีภาวะเครียด และอดนอน ดังนั้นควรดูแลสุขภาพตัวเองไม่ให้เครียดมากและควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ในกรณีมีอาการโรคหืดกำเริบจากการออกกำลังกาย การพ่นยาขยายหลอดลมก่อนการออกกำลังกาย 15-30 นาทีจะช่วยป้องกันการหอบระหว่างออกกำลังกายได้
การให้การรักษาด้วยยา

เราอาจแบ่งการรักษาโรคภูมิแพ้ออกได้เป็น 3 ระดับเพื่อความเข้าใจง่ายๆดังนี้
  1. ยาบรรเทาอาการต่างๆ เช่นยาแก้แพ้ หรือยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) และยาขยายหลอดลม
  2. ยาต้านการอักเสบเช่น ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก หรือสูดทางปาก
  3. การใช้วัคซีนภูมิแพ้เป็นการรักษาโดยการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกายเริ่มจากปริมาณน้อยๆ และเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆจนร่างกายเกิดความชินต่อสารก่อภูมิแพ้นั้น ซึ่งผู้ป่วยที่ควรรับการรักษาโดยวิธีฉีดวัคซีนภูมิแพ้คือ ผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีผลข้างเคียงจากยา โดยก่อนจะเลือกรักษาด้วยการฉีดวัคซีน จำเป็นต้องทราบก่อนว่าแพ้อะไร เพื่อจะได้นำสารที่แพ้มาฉีดเป็นวัคซีน ซึ่งการรักษาโดยวิธีนี้ควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และผู้ป่วยต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่องตามแพทย์แนะนำอย่างน้อย 3-5 ปี

ตรวจสมรรถภาพปอดด้วยวิธีสไปโรเมตรีย์

ตรวจสมรรถภาพปอดด้วยวิธีสไปโรเมตรีย์

ตรวจสมรรถภาพปอดด้วยวิธีสไปโรเมตรีย์ (Spirometry)

เป็นการตรวจวัดปริมาตรและอัตราการไหลของอากาศที่หายใจเข้าและออกจากปอด โดยให้ผู้ป่วยใช้แรงหายใจเข้าและออกให้สุดลมหายใจผ่านเครื่องสไปโรมิเตอร์ (Spirometer) ในบางรายต้องมีการตรวจหลังการสูดยาขยายหลอดลมซ้ำอีกรอบ เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของหลอดลม การตรวจสไปโรเมตรีย์นี้ ช่วยในการวินิจฉัยโรคหอบหืด,ถุงลมโป่งพองรวมถึงช่วยบอกความรุนแรงของโรคปอดบางชนิดได้

ผู้ป่วยที่ควรได้รับการตรวจสมรรถภาพปอดด้วยวิธีสไปโรเมตรีย์ (Spirometry)
  1. ผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติของระบบทางเดินหายใจบางอย่าง เช่น ไอเรื้อรัง หายใจเสียงดังหวีด เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก
  2. ผู้ป่วยที่แพทย์ตรวจร่างกายพบความผิดปกติบางอย่าง เช่น เสียงหายใจผิดปกติ ทรวงอกผิดรูป
  3. ผู้ป่วยที่มีผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการผิดปกติ เช่น ภาพรังสีทรวงอกผิดปกติ ออกซิเจนในเลือดแดงต่ำ คาร์บอนไดออกไซด์สูง
  4. ผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น สูบบุหรี่ อาชีพที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดจากการประกอบอาชีพ เช่น ผู้ที่ทำงานในเหมืองแร่ ในสถานที่อับอากาศ ทำงานในที่มีไอระเหยของโลหะ หรือทำงานในสถานที่ที่มีฝุ่นละออง เช่น โรงงานทอผ้า เป็นต้น
  5. ประเมินความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยที่มีโรคบางอย่าง เช่น ปอดเป็นผังผืด กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  6. ประเมินความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนด้านระบบหายใจในผู้ป่วยก่อนการผ่าตัดช่องอก
  7. ประเมินสุขภาพก่อนที่จะเริ่มโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย
เพื่อติดตามการรักษาหรือการดำเนินโรค
  • ติดตามผลการรักษาได้แก่ ผลของยาขยายหลอดลมในผู้ป่วยที่มีการอุดกั้นของหลอดลม ประเมินผลของยาสเตียรอยด์ในผู้ป่วยหืด การพยากรณ์โรคปอดบางชนิด (เช่น COPD ปอดอุดกั้นเรื้อรัง)
  • ติดตามผู้ป่วยที่มีอาชีพเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบหายใจจากการประกอบอาชีพติดตามผลข้างเคียงของยาที่มีผลต่อระบบการหายใจ เช่น ยาต้านมะเร็ง ยากดภูมิคุ้มกันบางชนิด
  • ติดตามผลข้างเคียงของยาที่มีผลต่อระบบการหายใจ เช่น ยาต้านมะเร็ง ยากดภูมิคุ้มกันบางชนิด
ข้อห้ามในการตรวจ Spirometry
  • ไอเป็นเลือด ภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น วัณโรคปอดระยะติดต่อที่ยังไม่ได้รับการรักษา
  • โรคความดันโลหิตสูง ที่ยังไม่ได้รับการรักษาหรือควบคุมไม่ได้,ความดันโลหิตตํ่า,เส้นเลือดแดงโป่ง (aneurysm)ในทรวงอก,ช่องท้องหรือสมอง
  • เพิ่งได้รับการผ่าตัด เช่น ผ่าตัดลอกต้อกระจก ทรวงอก หรือช่องท้อง
  • สตรีมีครรภ์ (ยกเว้นในบางรายที่จำเป็น)
การเตรียมตัวก่อนตรวจ
  • ควรงดชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อย่างน้อย 2 ชั่วโมง , งดสูบบุหรี่อย่างน้อย 1 ชั่วโมง
  • หลีกเลี่ยงการตรวจหลังรับประทานอาหารทันที ควรให้นั่งพักประมาณ 1 ชั่วโมง
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายก่อนมาตรวจ อย่างน้อย 30 นาที
  • หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่รัดหน้าอกและท้อง
วิธีการตรวจ Spirometry
  • นั่งตัวตรง หนีบจมูกด้วย Nose Clip
  • เจ้าหน้าทีสาธิต การหายใจเข้าออกพร้อมคำอธิบายการหายใจขณะทำการตรวจได้ถูกต้อง
  • มกระบอกเครื่องเป่า ปิดปากให้แน่นรอบกระบอกเป่าไม่ให้มีลมรั่วรอจังหวะสัญญาณการหายใจจากเจ้าหน้าที่
  • สูดหายใจเข้าเต็มที่และเป่าพุ่งอย่างรวดเร็ว และแรง จนกว่าอากาศที่เป่าจากปอดจะหมด ให้นิ่งไว้ประมาณ 3-6 วินาที และสูดลมกลับเต็มที่ ให้ทำตามจังหวะ
สูดลึกเต็มที่....เป่าพุ่งเร็วและแรง.......ดันให้สุด......สูดลมกลับ

โปรแกรมและแพ็คเกจ

การผ่าตัดโพรงจมูกและไซนัสด้วยกล้องเอ็นโดสโคป

การผ่าตัดโพรงจมูกและไซนัสด้วยกล้องเอ็นโดสโคป

การผ่าตัดโพรงจมูกและไซนัสด้วยกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscopic Sinus Surgery: ESS)

คือ การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคต่างๆในโพรงจมูกและไซนัส ได้แก่โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง (chronic rhinosinusitis), โรคริดสีดวงจมูก (nasal polyp), โรคผนังกั้นจมูกคด (deviated nasal septum), โรคเนื้องอกของโพรงจมูกและไซนัส (tumor of nose and paranasal sinus)  รวมทั้งยังสามารถรักษาโรคของอวัยวะใกล้เคียง เช่น ภาวะน้ำในสมองรั่วเข้ามาในโพรงจมูก (cerebrospinal fluid rhinorrhea), ถุงน้ำตาอักเสบเรื้อรัง (chronic dacryocystitis), โรคที่ต้องผ่าตัด เพื่อลดความดันในกระบอกตา เช่นโรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ (thyroid orbitopathy) และโรคเนื้องอกของต่อมใต้สมอง (pituitary adenoma) ด้วยกล้องเอ็นโดสโคป ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพได้โดยตรง และชัดเจน  โดยเฉพาะในบริเวณที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทำให้การประเมินพยาธิสภาพ และการรักษาโดยการผ่าตัดภายในโพรงจมูกและไซนัสเป็นไปได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น
ในปัจจุบันการผ่าตัดโดยวิธีนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าได้ผลดีสำหรับโรคดังกล่าว ทั้งนี้ขึ้นกับประสบการณ์ และความชำนาญของแพทย์ผู้ผ่าตัด รวมทั้งการดูแลหลังผ่าตัดที่ดี การผ่าตัดโดยวิธีนี้ใช้กล้องเอนโดสโคป ซึ่งเป็นกล้องขยายที่มีขนาดเล็ก ดูบริเวณรอยโรคในโพรงจมูกและไซนัส และใช้เครื่องมือผ่าตัดที่ถูกออกแบบมาเฉพาะเพื่อการผ่าตัดนี้  แพทย์ผู้ผ่าตัดจึงเห็นบริเวณผ่าตัดได้ชัดเจนกว่าการผ่าตัดด้วยตาเปล่า เนื่องจากเป็นการผ่าตัดผ่านรูจมูก โดยทั่วไป จึงไม่มีแผลผ่าตัดที่ผิวหนัง แต่หากแพทย์ต้องดัดแปลงการผ่าตัดเพื่อผู้ป่วยเฉพาะราย อาจมีแผลผ่าตัดที่ผิวหนังร่วมด้วย ซึ่งแพทย์จะแจ้งให้ผู้ป่วยทราบเป็นรายๆ
ขั้นตอนการผ่าตัดโพรงจมูกและไซนัสด้วยกล้องเอ็นโดสโคป

เมื่อแพทย์พิจารณาว่าผู้ป่วยสมควรได้รับการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ แพทย์จะปรึกษากับผู้ป่วยว่าจะทำผ่าตัดโดยวิธีดมยาสลบ หรือฉีดยาชาเฉพาะที่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และความสมัครใจของผู้ป่วย   ในกรณีที่ดมยาสลบ ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเพิ่มเติม เช่น การเจาะเลือดตรวจ, ตรวจปัสสาวะ, ถ่ายภาพรังสีทรวงอก, ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ  เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยมีโอกาสเสี่ยงต่อการดมยาสลบน้อยที่สุด  แพทย์จะนัดให้ผู้ป่วยมาอยู่โรงพยาบาลอย่างน้อย 1 วันก่อนผ่าตัด เพื่อเตรียมความพร้อม  โดยทั่วไปการผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 1 – 3 ชั่วโมงซึ่งขึ้นกับชนิด และความรุนแรงของโรค  หลังจากผ่าตัดเสร็จ แพทย์จะใส่วัสดุห้ามเลือดไว้ในโพรงจมูก ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยต้องหายใจทางปาก     หลังผ่าตัด 24-48 ชั่วโมง แพทย์จะเอาวัสดุห้ามเลือดออก ซึ่งถ้าเอาออกได้หมด ไม่มีเลือดออกมากและผู้ป่วยแข็งแรงดีแล้ว ผู้ป่วยอาจกลับบ้านได้ในวันนั้น   แต่หากผู้ป่วยยังไม่แข็งแรงดี  มีปัญหาเลือดออกมาก แพทย์อาจให้ผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาล เพื่อเฝ้าดูอาการต่ออีก 1 วัน  โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะต้องนอนอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 4 วัน (3 คืน)  บางกรณีหากเลือดออกมาก ผู้ป่วยอาจได้รับการให้เลือด หรือใส่วัสดุห้ามเลือดเข้าไปในโพรงจมูกเพิ่มอีก หรือหากมีภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด อาจทำให้ผู้ป่วยต้องอยู่โรงพยาบาลนานขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัด

เนื่องจากโพรงจมูกและไซนัสอยู่ใกล้กับอวัยวะสำคัญเช่น ตา สมอง การผ่าตัดจึงอาจเกิดอันตรายกับอวัยวะใกล้เคียงได้ ทั้งนี้ขึ้นกับประสบการณ์และความชำนาญของแพทย์ ผู้ป่วยจึงควรทราบภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการรับการผ่าตัด หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์ผู้ทำผ่าตัดให้เข้าใจก่อนรับการผ่าตัด  ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่
  1. การมีเลือดออกใน หรือรอบดวงตา (intraorbital hematoma or periorbital ecchymosis) จะทำให้รอบดวงตาเขียว เหมือนถูกกระแทกที่กระบอกตา  ส่วนใหญ่มักจะค่อย ๆ หายไปเองภายใน 1-2 เดือน  แต่หากเลือดออกมาก จนเป็นก้อนเลือดในกระบอกหรือลูกตา อาจกระทบกระเทือนต่อประสาทตา ทำให้การมองเห็นลดลง แพทย์อาจต้องรีบผ่าตัด เพื่อระบายเอาก้อนเลือดนั้นออก โดยจะมีแผลที่หัวตา
  2. ท่อน้ำตาอุดตัน  (nasolacrimal duct obstruction) เนื่องจากท่อน้ำตาซึ่งช่วยระบายน้ำตาลงสู่โพรงจมูกอยู่ใกล้กับบริเวณที่ทำผ่าตัด จึงอาจเกิดการกระทบกระเทือน หรือบาดเจ็บจนมีการอุดตันได้  ทำให้น้ำตาไหลท้นจากตาอยู่ตลอดเวลา  การอุดตันนี้อาจเป็นเพียงชั่วคราว แล้วค่อย ๆ หายไปเองภายใน 1 – 2 เดือน หรืออาจเป็นถาวร หากมีการกระทบกระเทือน หรือบาดเจ็บมาก  ซึ่งสามารถทำการผ่าตัดเพื่อแก้ไขภายหลังได้
  3. ภาวะน้ำในสมองรั่วเข้ามาในโพรงจมูก(cerebrospinal fluid rhinorrhea) เกิดจากการกระทบกระเทือน หรือบาดเจ็บต่อเพดานจมูก ซึ่งเป็นพื้นของช่องกะโหลกศีรษะส่วนหน้า (skull base) หากเกิดรอยรั่ว จะทำให้น้ำในสมองรั่วลงมาในโพรงจมูก มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อในช่องกระโหลกศีรษะ หากทราบว่าเกิดรอยรั่วขึ้น แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมทันทีในห้องผ่าตัด  แต่หากทราบภายหลัง อาจจะต้องดมยาสลบใหม่ เพื่อผ่าตัดซ่อมแซมอีกครั้ง
ในผู้ป่วยบางราย อาจจะต้องทำการผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะผนังกั้นช่องจมูกคด (septoplasty) ร่วมด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน คืออาการชาที่ริมฝีปากบนบริเวณฟัน 4 ซี่หน้า หากเกิดขึ้น อาการดังกล่าวอาจเป็นเพียงชั่วคราว แล้วค่อย ๆ หายไปเองภายใน 1 – 2 เดือน หรืออาจเป็นถาวร หากมีการกระทบกระเทือน หรือบาดเจ็บมาก  นอกจากนี้อาจเกิดรูทะลุของผนังกั้นช่องจมูก (septal perforation) ซึ่งมองไม่เห็นจากภายนอก และส่วนใหญ่ไม่มีอาการใด ๆ  ส่วนน้อย ผู้ป่วยอาจมีน้ำมูกแห้ง ๆ เกาะบริเวณรูที่ทะลุบ่อย ๆ  อาจมีเลือดกำเดาออกเป็นครั้งคราว และในบางรายอาจได้ยินเสียงลมวิ่งผ่านรูทะลุเวลาหายใจ  หากมีอาการ ก็สามารถทำผ่าตัดเพื่อปิดรูทะลุดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย โดยขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่นประสบการณ์และความชำนาญของแพทย์, ความรุนแรงของโรค
การปฏิบัติตนหลังผ่าตัด

  1. ผู้ป่วยจะมีแผลในโพรงจมูกและไซนัส และ มีวัสดุห้ามเลือดในช่องจมูกหลังรับการรักษา  อาจมีอาการเจ็บจมูกจากแผลผ่าตัดเล็กน้อย  อาจมีน้ำมูก หรือน้ำลายปนเลือดออกมาได้บ้างเล็กน้อย ในช่วงหลังผ่าตัดเสร็จใหม่ ๆ  ในรายที่มีวัสดุห้ามเลือดในโพรงจมูก อาจทำให้ผู้ป่วยต้องหายใจทางปาก  อาจทำให้มีอาการเจ็บคอ  คอแห้งได้  ควรจิบหรือดื่มน้ำบ่อยๆ และกลั้วคอ ทำความสะอาดบ่อยๆ และแปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร  ห้ามดึงวัสดุห้ามเลือดในโพรงจมูกออกเอง เพราะอาจทำให้มีเลือดออกมากได้
  2. ผู้ป่วยอาจจะมีไข้ หรือมีอาการบวม หรือรู้สึกติดๆ ขัดๆ ตึงๆคล้ายมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในโพรงจมูก หรือมีเสียงเปลี่ยนได้ ซึ่งอาการดังกล่าวมักจะหายไปภายใน 1 สัปดาห์
  3. หลังการผ่าตัด 24-48 ชั่วโมงแรก เยื่อบุจมูกอาจบวมมากขึ้น ทำให้มีอาการคัดจมูกมากขึ้นได้  ดังนั้นจึงควรนอนศีรษะสูง โดยใช้หมอนหนุน หรือนอนบนที่นอนที่สามารถปรับความเอียงได้  อมและประคบน้ำแข็งบ่อยๆบริเวณหน้าผากหรือลำคอ ในช่วงสัปดาห์แรก  เพื่อลดอาการบวม และเลือดออกบริเวณที่ทำผ่าตัด
  4. ผู้ป่วยจะได้รับยาต้านจุลชีพ  ยาแก้ปวด ยาลดบวม ยาลดอาการคัน จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล ซึ่งผู้ป่วยควรจะรับประทานยาดังกล่าวให้หมด ไม่ว่าอาการจะดีขึ้นหรือไม่ก็ตาม  ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล  เมื่อจำเป็นได้
  5. แพทย์จะให้ผู้ป่วยพักรักษาตัวที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์  ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ  แต่ควรหลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรงๆ  การแคะจมูก หรือการกระทบกระเทือนบริเวณจมูก  การออกแรงมาก  การเล่นกีฬาที่หักโหม หรือยกของหนัก หลังผ่าตัด ภายใน 24-48 ชั่วโมงแรก  เพราะอาจทำให้มีเลือดออกจากแผลในโพรงจมูกและไซนัสได้ ถ้ามีเลือดออกจากจมูก หรือไหลลงคอ ควรนอนพัก ยกศีรษะสูง  หยอด หรือพ่นยาหยอดจมูกเพื่อห้ามเลือดที่แพทย์สั่งไว้ให้ 3-4 หยด หรือ 3-4 puffs ในโพรงจมูกแต่ละข้าง  นำน้ำแข็งหรือ cold pack มาประคบบริเวณหน้าผากหรือคอ อมน้ำแข็งเพื่อให้เลือดหยุด  การประคบหรืออมน้ำแข็ง  ควรประคบ หรืออมประมาณ 10 นาที แล้วจึงเอาออกประมาณ 10 นาที แล้วค่อยประคบ หรืออมใหม่เป็นเวลา 10 นาที  ทำเช่นนี้สลับกันไปเรื่อยๆ  ถ้าเลือดออกไม่หยุด หรือออกมากผิดปกติ เช่น เป็นถ้วยแก้ว  ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาแพทย์ทันที
  6. ประมาณ 2 วัน  หลังจากที่แพทย์เอาวัสดุห้ามเลือดออกจากโพรงจมูกแล้ว และไม่มีเลือดออกที่ผิดปกติ ผู้ป่วยควรล้างทำความสะอาดโพรงจมูกและแผลผ่าตัดด้วยน้ำเกลือ เพื่อป้องกันการเกิดสะเก็ดแผล ซึ่งเกิดจากน้ำมูกไปเกาะที่แผลบนเยื่อบุจมูกและไซนัส  เพราะสะเก็ดแผลดังกล่าว จะทำให้แผลหายช้า  ควรล้างจมูกวันละ 2 ครั้งอย่างน้อย  ในวันหยุด ควรล้างจมูกเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 3-4 ครั้ง ถ้าล้างจมูก แล้วมีเลือดออกมาก ควรหยุดล้างและปฏิบัติตามข้อ 5
  7. หลังกลับบ้านแล้ว แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาทำความสะอาดในโพรงจมูกที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ประมาณ 3 – 4 ครั้ง และห่างออกเป็นระยะเช่น ทุก 2 สัปดาห์, 1 เดือน, 3 เดือน, 6 เดือน จนกว่าแผลจะหายดี การดูแลหลังผ่าตัดนี้เป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งสำหรับความสำเร็จในการรักษาโดยวิธีผ่าตัดนี้โดยปกติหลังผ่าตัดประมาณ 4 สัปดาห์แผลในโพรงจมูกและไซนัสจะหายเป็นปกติ อาการคัดจมูก คัน จาม น้ำมูกไหล เสมหะลงคอจะดีขึ้นหลังการทำผ่าตัด ประมาณ 2-4 สัปดาห์
เงื่อนไขการเข้ารับบริการ
  1. ผู้เข้ารับบริการสามารถใช้แพ็กเกจได้หลังจากตรวจวินิจฉัยเรียบร้อยแล้ว โดยค่าใช้จ่ายในการวินิจฉัยจัดเป็นค่าใช้จ่ายนอกแพ็กเกจ
  2. แพ็กเกจดังกล่าวไม่สามารถใช้ร่วมกับสิทธิ์และส่วนลดอื่นๆ ได้ เช่น ผู้ถือหุ้น บริษัทคู่สัญญา และบริษัทประกัน
  3. ผู้เข้ารับบริการชำระค่าใช้จ่าย ณ โรงพยาบาล ในวันที่เข้ารับบริการ
  4. โรงพยาบาลขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข โดยมิต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

อาหารที่เป็นเชื้อรา กับโรคภูมิแพ้

อาหารที่เป็นเชื้อรา กับโรคภูมิแพ้

อาหารที่เป็นเชื้อรา กับโรคภูมิแพ้

เชื้อราส่วนใหญ่จะมีปนเปื้อนในอาหารจำพวกหมักดองและมักจะพบเชื้อราในที่อับชื้นซึ้งผู้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยง อาหารที่มีเชื้อรา เช่น
  1. เนยทุกชนิด รวมทั้งนมเปรี้ยว ครีม ชาดำ
  2. เบียร์ ไวน์ เหล้าทุกชนิด
  3. น้ำซีอิ้ว เต้าเจี้ยว กะปิ เต้าหู้ยี้
  4. เห็ดทุกชนิด
  5. น้ำมะเขือเขือเทศกระป๋อง น้ำผลไม้กระป๋อง (ยกเว้นที่คั้นเอง)
  6. ไส้กรอก
  7. น้ำส้มสายชูและอาหารที่เคล้าน้ำส้มสายชู เช่น ซอสมะเขือเทศ น้ำสลัด
  8. ขนมปัง ขนมเค้ก คุกกี้
  9. แตง มะเขือเทศ
  10. ผลไม้แห้ง
  11. ของหมักดองทุกชนิด
ท่านที่ได้รับการทดสอบภูมิแพ้อยู่ในขณะนี้ สิ่งที่เราทำการทดสอบให้ท่านคือ สิ่งที่ปะปนอยู่ในอากาศ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ เชื้อรา ขนของสัตว์เลี้ยง เช่น แมว นก เป็ด ไก่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ยากต่อการหลีกเลี่ยง ทำให้ท่านเข้าใจว่า "แพ้อากาศ"
อาการของผู้ป่วยภูมิแพ้

การหลีกเลี่ยงต่อสิ่งที่ทำให้แพ้ ตามปกติแล้วการหลีกเลี่ยงต่อสิ่งที่ทำให้ท่านแพ้ที่ผ่านระบบหายใจ เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก มักจะทำได้ไม่สมบูรณ์เด็ดขาดเหมือนกรณีที่แพ้อาหาร การหลีกเลี่ยงอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้เป็นสิ่งที่จำเป็น ถ้าท่านสามารถปฏิบัติได้ อาการต่างๆ เกี่ยวกับโรคที่ท่านเป็นอยู่จะดีขึ้น ซึ่งเป็นผลดีกับตัวท่านเอง ในแง่นี้อาจจะไม่ต้องมารักษาเลย ทั้งเป็นการทุ่นเวลาและทรัพย์ของท่านเองด้วย ในบางครั้งท่านหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้แล้วยังมีอาการเป็นครั้งคราว หรือบางฤดูกาลท่านอาจจะต้องรับประทานยาช่วยเป็นครั้งคราว อย่าลืมว่าการหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้เป็นวิธีที่ดีที่สุด ท่านอาจจะปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเต็มที่ตามคำแนะนำไม่ได้ เพราะว่าสิ่งที่ท่านทำนั้นเกี่ยวกับอาชีพของท่านหรือเป็นสิ่งที่ท่านรัก ชอบ อาการเหล่านี้ยังคงรบกวนท่านอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ท่านจึงควรมารับการทดสอบภูมิแพ้ เพื่อที่จะให้ท่านได้รับการฉีดยาเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน การฉีดยาจำเป็นอาจจะทำให้ร่างกายหายขาดไม่เป็นอีกเลย เพราะว่าท่านไม่เป็นโรคภูมิแพ้ของอย่างหนึ่งอย่างใดเพียงอย่างเดียวแต่ท่านจะแพ้หลายๆ อย่าง ยาที่ฉีดให้ท่านนั้น แพทย์ได้เลือกเฉพาะสิ่งที่ท่านไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยตนเอง ท่านที่เป็นโรคนี้จำเป็นต้องหมั่นสังเกตอาการของท่าน บางท่านที่แพ้อาจแฝงมาอยู่ในรูปของเครื่องใช้ประจำวันหรืออาหาร โดยไม่มีโอกาสจะทราบได้ ท่านคนเดียวเท่านั้นที่จะช่วยวินิจฉัยการรักษาว่าจะไปในรูปใด
คำแนะนำสำหรับพวกที่แพ้สิ่งที่ปะปนเข้าไปกับลมหายใจ

เช่น ฝุ่น เชื้อรา เกสรดอกไม้
  1. ฝุ่นที่ทำให้ท่านมีอาการ เป็นฝุ่นละอองเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านของท่านเป็นส่วนใหญ่ ฝุ่นที่เกิดจากที่นอน หมอนที่ทำจากนุ่น มุ้ง กองเสื้อผ้า กองหนังสือทิ้งไว้นานๆ พรม ผ้าม่าน ของเหล่านี้เป็นตัวที่ทำให้เกิดฝุ่นอย่างดี
  2. ห้องนอนเป็นห้องที่ท่านได้อยู่ประจำ สมควรที่ท่านจะกำจัดฝุ่นหรือสิ่งที่ท่านแพ้ออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ห้องนอนควรเป็นห้องสำหรับพักผ่อนจริงๆ ควรจะให้ห้องนั้นโล่งสะดวกแก่การทำความสะอาด การทำความสะอาดควรใช้ผ้าเปียกเช็ด หรือใช้เครื่องดูดฝุ่นบริเวณหลังตู้ ใต้เตียงเป็นที่เก็บฝุ่นอย่างดี ควรจะได้รับการดูแลทำความสะอาดบ่อยๆ
  3. ฝุ่นจากที่นอน หมอน ผ้าห่ม เก้าอี้นวมที่ทำด้วยนุ่น หลังจากใช้ไประยะหนึ่งจะสลายตัวออกเป็นฝุ่นละอองเล็กซึ่งทำให้ท่านแพ้ได้ ถ้าหากสามารถเปลี่ยนเป็นยางได้จะสะดวกแก่การทำความสะอาด หรือจะใช้พลาสติกคลุมไว้จะช่วยไม่ให้ฝุ่นละอองฟุ้งออกมาภายนอก
  4. หลังจากทำความสะอาดให้ห้องนอนแล้ว ควรปิดไม่ให้ฝุ่นจากภายนอกมาสะสมใหม่ การใช้เครื่องปรับอากาศหรือพัดลมดูดอากาศจะช่วยให้อากาศถ่ายเทดีขึ้น ช่วยกำจัดฝุ่น
  5. พยายามทำความสะอาดห้องอื่นๆ ในบ้านท่านด้วย โดยเฉพาะห้องที่ใช้บ่อย ๆ ก็ควรทำความสะอาดเช่นเดียวกับห้องนอน
  6. ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ ไม่ควรทำความสะอาดห้องเอง ไม่ควรอยู่ในบริเวณที่กำลังทำความสะอาดและไม่รื้อของเองเพราะในขณะนั้นฝุ่นมีมากกว่าธรรมดา ถ้าจำเป็นต้องทำควรใช้ผ้าเปียกปิดปากและจมูก เพื่อช่วยกันฝุ่น
  7. ไม่ควรอนุญาตให้สัตว์เลี้ยงทุกชนิดเข้ามาอยู่ในบ้าน เพราะขนสัตว์เลี้ยง เช่น แมว สุนัขจะสะสมเพิ่มปริมาณทำให้เกิดฝุ่น ซึ้งทำให้เกิดภาวะมากขึ้น
ท่านเท่านั้นที่ทราบว่าท่านแพ้อาหารชนิดใด ต้องเป็นตนช่างสังเกตว่ารับประทานอาหารชนิดใดแล้วเกิดอาการแพ้ และท่านต้องไม่ลืมว่าการหลีกเลี่ยงว่าการหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้เป็นการรักษาที่ดีที่สุด

โปรแกรมและแพ็คเกจ

แพคเกจ ทดสอบภูมิแพ้ บนผิวหนัง

รู้และหลีกเลี่ยงสิ่ง […]

โรคหืด

โรคหืด (Asthma)

Asthma
อาการของผู้ป่วยขณะที่จับหืดคือ มีอาการแน่นหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย หายใจดังหวีด มักมีอาการเป็นๆหายๆ หรือในกรณีที่มีอาการมากอาจมีอาการทุกคืน อาการอาจบรรเทาได้ด้วยยาขยายหลอดลม แต่ก็มักควบคุมอาการได้เฉพาะช่วงแรกๆ ต่อมามักต้องใช้ยาบ่อยขึ้นและมากขึ้น บางครั้งโรคหืดอาจแสดงอาการเพียงแต่อาการไอกลางคืน หรือไอเรื้อรังโดยไม่มีเสียงหวีด หรืออาการแน่นหน้าอกก็ได้ ทำให้การวินิจฉัยยากขึ้น บางครั้งก็มีอาการแน่นหน้าอกเฉพาะช่วงออกกำลังกาย แต่ที่มักถูกมองข้ามเกือบเสมอๆ คือ ไม่ได้นึกถึงโรคภูมิแพ้ทางจมูก ซึ่งสามารถพบร่วมกันได้มากกว่า 70-80% ซึ่งการให้การรักษาอาการของโรคหืดอย่างเดียวโดยไม่รักษาโรคภูมิแพ้ทางจมูกด้วยจะทำให้ควบคุมอาการไม่ดีเท่าที่ควร
การวินิจฉัยที่แน่นอนคือ การตรวจวัดสมรรถภาพปอด ซึ่งนอกจากจะช่วยในการวินิจฉัยโรคแล้ว ยังช่วยประเมินความรุนแรงของโรคอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามการตรวจโดยวิธีนี้ทำได้ค่อนข้างยากในผู้ป่วยเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 7 ปี กรณีที่ไม่มีเครื่องทดสอบสมรรถภาพปอด ชนิด Spirometer อาจใช้เครื่องมือชนิดที่เรียกว่า Peak flow meter ซึ่งมีราคาถูกกว่าและมีประโยชน์ในการประเมินอาการของโรคกรณีที่ไม่สามารถตรวจด้วย Spirometer ได้
โรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคแพ้อากาศ (Allergic rhinitis)
อาการของโรคภูมิแพ้ทางจมูกอาจแบ่งได้เป็น 4 ชนิดคือ
  • ชนิดแรกเป็นชนิดที่มีอาการเด่นทางน้ำมูก คือจะมีน้ำมูกใสไหล จาม คันจมูก
  • ชนิดที่สองมีอาการเด่นทางอาการคัดจมูกเป็นหลัก มักไม่มีน้ำมูก หรืออาการจาม
  • ชนิดที่สามจะมีอาการของ 2 ชนิดแรกรวมกัน คือมีทั้งน้ำมูกใส และอาการคัดจมูก
  • ส่วนชนิดสุดท้ายจะมีอาการที่วินิจฉัยยากถ้าผู้ตรวจไม่มีความชำนาญ อาจวินิจฉัยผิดได้ กลุ่มนี้อาจมีอาการ ไอเรื้อรังหรือกระแอม ซึ่งเกิดจากเสมหะไหลหรือซึมลงคอ อาจรู้สึกมีเสมหะติดคอเวลาเช้าได้ บางคนมีอาการปวดหัว/ปวดศีรษะเรื้อรัง นอนกรน หรือถอนหายใจบ่อยๆ ปากแห้ง บางคนมีอาการคันหัวตา โดยไม่มีอาการตาแดง อธิบายว่าเกิดจากการที่มีเยื่อจมูกบวมมากทำให้ท่อน้ำตาที่อยู่ติดๆกันอักเสบ เกิดอาการคันที่หัวตาอย่างมาก
การวินิจฉัยโรคนี้สามารถทำได้จากการซักประวัติทางการแพทย์อย่างละเอียด โดยเฉพาะประวัติโรค หรือมีอาการภูมิแพ้ภายในครอบครัว การสังเกตตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ รวมทั้งสภาพลักษณะการทำงาน สภาพแวดล้อมภายในบ้าน ที่ทำงาน การตรวจร่างกายบางอย่างถ้าพบก็จะมีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรค เช่น การมีขอบตาล่างบวมคล้ำ การตรวจภายในโพรงจมูกจะช่วยบอกถึงความรุนแรงของการอักเสบ และอาจบอกถึงโรคในโพรงจมูกที่มีผลต่อการรักษาโรคภูมิแพ้ได้ เช่น อาจพบการซีด หรือมีสีแดงจัดจากการอักเสบ

โปรแกรมและแพ็คเกจ

นอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

นอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

Sleep Apnea Syndrome


คุณมีอาการแบบนี้ หรือไม่?
  1. ขับรถหรือเข้าประชุมนานๆ แล้วเผลอหลับ
  2. คนที่บ้านบอกว่านอนกรนเสียงดัง ปวดหัวเหมือนนอนไม่พอ
  3. ตรวจร่างกายแล้ว ความดันโลหิตสูงขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
ถ้ามีอาการดังกล่าวคุณอาจเป็น โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับโดยไม่รู้ตัว
เรามักเข้าใจผิดกันมานานแล้วว่า คนนอนหลับสนิทต้องมีอาการกรนร่วมด้วย ยิ่งกรนดังก็หมายถึงคนๆ นั้นกำลังนอนหลับฝันดีทีเดียว และคนที่กรนก็มักจะมีรูปร่างที่อ้วนใหญ่ ผู้ที่จมูกอักเสบ โครงหน้าผิดรูป เช่น คางสั้น ลิ้นโต คนที่ทำงานหักโหม นักกีฬา ผู้สูงอายุ ผู้ที่ทานยานอนหลับ ดื่มแอลกอฮอล์ประจำ สูบบุหรี่จัด เป็นต้น และพบมากในเพศชายมากกว่า เพศหญิง ซึ่งคนเหล่านี้มักมีอาการง่วงนอนทุกสถานที่ หลับได้ทุกสถานการณ์ไม่ว่าจะเป็นขณะขับรถติดไฟแดงนานๆ ซึ่งอาจประสบอุบัติเหตุได้ หรือขณะ นั่งประชุม นั่งเรียน นั่งอ่านหนังสือ ตื่นเช้าทำให้รู้ไม่สดชื่นเหมือนนอนหลับไม่เต็มอิ่ม ทั้งๆที่นอนเพียงพอแล้ว เวลากลางวันจึงง่วงนอนมากผิดปกติ อาการนอนกรนเป็นอาการที่บ่งบอกถึงการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบน มีความสัมพันธ์โดยตรงกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งเป็นภาวะที่มีการอุดกั้นในทางเดินหายใจมาก จนกระทั่งทำให้เกิดการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ ขณะนอนหลับ ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับพบได้ประมาณร้อยละ 25 ในเพศชาย และร้อยละ 15 ในเพศหญิง ทางการแพทย์เรียกว่า “Sleep Apnea Syndrome”
ความผิดปกติในการนอนกรนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1. อาการนอนกรนธรรมดา
ไม่มีอันตรายเพราะไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย มีผลกระทบต่อสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้อื่น โดยเฉพาะกับคู่นอน บุคคลอื่นๆ ในครอบครัว เพื่อนบ้าน หรือเพื่อนร่วมงาน เช่น ทำให้ผู้อื่นนอนหลับยากหรืออาจมากจนกระทั่งมีผลกระทบต่อสัมพันธ์ระหว่างบุคคลดังกล่าวได้ เช่น อาจทำให้เกิดการหย่าร้างของคู่สามีภรรยา
2. การกรนแบบก่อโรค
มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย ทางการแพทย์เรียกว่า “Sleep Apnea Syndrome” ผลกระทบที่สำคัญต่อสุขภาพ คือผู้ที่มีภาวะนี้จะมีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน มีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุในท้องถนน และในโรงงานอุตสาหกรรมได้ง่ายมีอัตราเสี่ยงสูงจะเป็นโรคร้ายแรงอื่นๆ ตามมาหลายโรค ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง, กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน, ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ, โรคของหลอดเลือดในสมอง ตลอดจนการมีสมรรถภาพทางเพศที่เสื่อมลง !!!
การตรวจสุขภาพการนอนกรน (Sleep test)
เป็นการตรวจสุขภาพที่สำคัญเพื่อวิเคราะห์การทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกายที่เกิดขึ้นระหว่างการนอนหลับ เช่น ระบบการหายใจ ระดับออกซิเจนในเลือด การทำงานของคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ รวมถึงศึกษาพฤติกรรมบางอย่างที่เกิดขึ้นขณะนอนหลับด้วย ปัจจุบันจัดว่าเป็นการตรวจสุขภาพมาตรฐานสากล เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคพบบ่อย เช่น ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ หรือที่นิยมเรียกสั้นๆ ว่าโรคหยุดหายใจขณะหลับเป็นต้น ซึ่งแพทย์จะประมวลประวัติ ผลการตรวจร่างกายทาง หู คอ จมูก และตรวจร่างกายโดยรวมแล้วแนะนำให้ตรวจการนอนหลับ หรือ Sleep Test เพื่อหาระดับความรุนแรงและอาการของโรคจากระดับความลึกของการนอนหลับ โดยเฉพาะในกรณีที่สงสัยว่าจะมีภาวะการณ์หยุดหายใจร่วมด้วยว่าสมองมีการขาดออกซิเจนมากน้อยเพียงใด ซึ่งในขณะนอนหลับจะมีการบันทึกข้อมูลเหล่านี้อย่างละเอียดเพื่อที่แพทย์จะทำการวิเคราะห์ผล และแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมเป็นลำดับต่อไป
แนวทางการรักษา
  • นอนตะแคง
  • ลดน้ำหนัก
  • การผ่าตัดตกแต่งทางเดินหายใจส่วนบน
  • เครื่องซีแพพ CPAP (Continuous positive airway pressure) เพื่อช่วยหายใจขณะนอนหลับ
เครื่องซีแพพ CPAP
(Continuous Positive Airway Pressure)
เป็นเครื่องผลิตแรงดันอากาศให้เพียงพอในการเปิดทางเดินหายใจในขณะหายใจเข้า เครื่อง CPAP มีประสิทธิภาพเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ในการรักษาปัญหาการขาดลมหายใจ โดยส่งอากาศเข้าสู่ทางเดินหายใจ ผ่านทางหน้ากากครอบจมูกหรือปาก ประโยชน์ของเครื่อง CPAP นอกจากขจัดปัญหาการขาดลมหายใจทำให้ร่างกายไม่ขาดออกซิเจน และมีคุณภาพการนอนดีขึ้นยังช่วยลดปัญหาความง่วงนอนช่วงกลางวัน ลดอุบัติเหตุ และทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นในทุกด้าน นอกจากนั้นการใช้เครื่อง CPAP ยังลดปัญหาสืบเนื่องในระยะยาวจากการขาดอากาศเป็นระยะ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง
โรคเส้นเลือดตีบในสมอง และโรคหัวใจ รวมทั้งโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

โปรแกรมและแพ็คเกจ

ปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับ "การนอนกรน"