วิธีลดความเสี่ยงและรับมือ "ภาวะซึมเศร้า"

Depression
             โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นทุกเพศทุกวัย ทำให้ส่งผลเสียกับการดำเนินชีวิตของตนเองและบุคคลรอบข้าง หากมีอาการ นอนหลับๆ ตื่นๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก หมดความสนใจต่อโลกภายนอก ไม่คิดอยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป อาจเข้าข่ายของโรคซึมเศร้าแล้ว ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาจเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นเดือนๆ หรือเป็นเร็วภายใน 1-2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับปัจจัย เช่น มีเหตุการณ์มากระทบรุนแรงมากน้อยเพียงใด บุคลิกเดิมของเจ้าตัวเป็นอย่างไร มีการช่วยเหลือจากคนรอบข้างมากน้อยเพียงใด เป็นต้น
              การเปลี่ยนแปลงหลักๆ จะเป็นในด้านอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรม เช่น รู้สึกเบื่อเศร้า ท้อแท้ รู้สึกตนเองไร้ค่า ร่วมกับอาการทางร่างกายต่างๆ เช่น นอนหลับไม่ดี เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก นอกจากมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงแล้ว การทำงานหรือการประกอบกิจวัตรประจำวันก็บกพร่อง เช่น คนที่เป็นแม่บ้านก็ทำงานบ้านน้อยลงหรืองานคั่งค้าง คนทำงานนอกบ้านก็อาจขาดงานบ่อยๆ การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ใช่ เป็นคนอ่อนแอ คิดมาก หรือเป็นคนไม่สู้ปัญหา เอาแต่ท้อแท้ ซึมเซา อาการเหล่านี้เป็นเพราะตัวโรค หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม ก็จะทุเลาลง กลับมาเป็นปกติ
ลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ
1. อารมณ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
กลายเป็นคนเศร้าสร้อย หดหู่ สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย เรื่องเล็กๆน้อยๆ ก็ดูเหมือนจะอ่อนไหวไปหมด บางคนอาจไม่มีอารมณ์เศร้าชัดเจนแต่จะบอกว่าจิตใจหม่นหมอง ไม่แจ่มใส ไม่สดชื่นเหมือนเดิม บางคนอาจมีความรู้สึกเบื่อหน่ายไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งที่เดิมตนเคยทำแล้วเพลินใจหรือสบายใจ เช่น ฟังเพลง พบปะเพื่อนฝูง เข้าวัด ก็ไม่อยากทำหรือทำแล้วก็ไม่ทำให้สบายใจขึ้น บ้างก็รู้สึกเบื่อไปหมดตั้งแต่ตื่นเช้ามา บางคนอาจมีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย อะไรก็ดูขวางหูขวางตาไปหมด กลายเป็นคนอารมณ์ร้าย ไม่ใจเย็นเหมือนก่อน
2. ความคิดเปลี่ยนไป
มองอะไรก็รู้สึกว่าแย่ไปหมด มองชีวิตที่ผ่านมาในอดีตก็เห็นแต่ความผิดพลาดความล้มเหลวของตนเอง ชีวิตตอนนี้ก็รู้สึกว่าอะไรๆ ก็ดูแย่ไปหมด ไม่มีใครช่วยอะไรได้ ไม่เห็นทางออก มองอนาคตไม่เห็น รู้สึกท้อแท้หมดหวังกับชีวิต บางคนกลายเป็นคนไม่มั่นใจตนเองไป จะตัดสินใจอะไรก็ลังเลไปหมด รู้สึกว่าตนเองไร้ความสามารถ ไร้คุณค่า เป็นภาระแก่คนอื่น ทั้งๆ ที่ญาติหรือเพื่อนๆ ก็ยืนยันว่ายินดีช่วยเหลือ เขาไม่เป็นภาระอะไรแต่ก็ยังคงคิดเช่นนั้นอยู่ ความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ความคับข้องใจ ทรมานจิตใจ เหล่านี้อาจทำให้เจ้าตัวคิดถึงเรื่องการตายอยู่บ่อยๆ แรกๆ ก็อาจคิดเพียงแค่อยากไปให้พ้นๆ จากสภาพตอนนี้ ต่อมาเริ่มคิดอยากตายแต่ก็ไม่ได้คิดถึงแผนการณ์อะไรที่แน่นอน เมื่ออารมณ์เศร้าหรือความรู้สึกหมดหวังมีมากขึ้น ก็จะเริ่มคิดเป็นเรื่องเป็นราวว่าจะทำอย่างไร ในช่วงนี้หากมีเหตุการณ์มากระทบกระเทือนจิตใจก็อาจเกิดการทำร้ายตนเองขึ้นได้จากอารมณ์ชั่ววูบ
3. สมาธิความจำแย่ลง
จะหลงลืมง่าย โดยเฉพาะกับเรื่องใหม่ๆ วางของไว้ที่ไหนก็นึกไม่ออก ญาติเพิ่งพูดด้วยเมื่อเช้าก็นึกไม่ออกว่าเขาสั่งว่าอะไร จิตใจเหม่อลอยบ่อย ทำอะไรไม่ได้นานเนื่องจากสมาธิไม่มี ดูโทรทัศน์นานๆ จะไม่รู้เรื่อง อ่านหนังสือก็ได้ไม่ถึงหน้า ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทำงานผิดๆ ถูกๆ
4. มีอาการทางร่างกายต่างๆ
ที่พบบ่อยคือจะรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง มีปัญหาด้านการนอน เช่น หลับยาก นอนไม่เต็มอิ่ม หลับๆตื่นๆ บางคนตื่นแต่เช้ามืดแล้วนอนต่อไม่ได้ รู้สึกเบื่ออาหาร ไม่เจริญอาหารเหมือนเดิม น้ำหนักลดลงหลายกิโลกรัมภายใน 1 เดือน อาจมีอาการท้องผูก อืดแน่นท้อง ปากคอแห้ง ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว
5. ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเปลี่ยนไป
ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะซึมลง ไม่ร่าเริงแจ่มใส เหมือนก่อน จะเก็บตัวมากขึ้น ไม่ค่อยพูดจากับใคร บางคนอาจกลายเป็นคนใจน้อย อ่อนไหวง่าย ซึ่งคนรอบข้างก็มักจะไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงเปลี่ยนไป บางคนอาจหงุดหงิดบ่อยกว่าเดิม แม่บ้านอาจทนที่ลูกๆ ซนไม่ได้ หรือมีปากเสียงกับคู่ครองบ่อยๆ
6. การงานแย่ลงความรับผิดชอบต่อการงานลดลง
งานไม่ได้ทำ หรือทำแบบลวกๆ เพียงให้ผ่านๆ ไป ความละเอียดลดลงเพราะไม่มีสมาธิ รู้สึกหมดพลังที่จะต่อสู้ เริ่มลางานขาดงานบ่อยๆ ซึ่งหากไม่มีผู้เข้าใจหรือให้การช่วยเหลือก็มักจะถูกให้ออกจากงาน
7. อาการโรคจิต 
มักพบในรายที่เป็นรุนแรง นอกจากผู้ที่เป็นจะมีอาการซึมเศร้าแล้ว ยังพบอาการของโรคจิตได้แก่ อาการหลงผิดหรือประสาทหลอนร่วมด้วย ที่พบบ่อยคือ จะเชื่อว่ามีคนคอยกลั่นแกล้ง หรือประสงค์ร้ายต่อตนเอง อาจมีหูแว่วเสียงคนมาพูดคุยด้วย อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้มักจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อได้รับการรักษา อารมณ์เศร้าดีขึ้น อาการโรคจิตก็มักทุเลาตาม
วิธีลดความเสี่ยง ในการเกิด "ภาวะซึมเศร้า"
1. สังเกต
หมั่นสำรวจอารมณ์ของตัวเอง เพื่อเป็นการสังเกตว่า สิ่งใดช่วยทำให้อารมณ์เศร้าหมองหรือสดชื่น แจ่มใส และพยายามรักษาจิตใจให้สดชื่นแจ่มใสอยู่เสมอ
2. ไม่กระตุ้น
ไม่นำตนไปอยู่ในสถานการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดความซึมเศร้า รวมถึงการใช้สารเสพติด
3. ทำกิจกรรม
เลือกกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิต เช่น การออกกำลังกาย กิจกรรมสันทนาการ พบปะ เพื่อนฝูง เข้าสังคม
หากพบว่าตนเองซึมเศร้า เบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร ไร้เรี่ยวแรง ขาดสมาธิ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือนอนมากและมีความคิด อยากตาย รู้สึกตัวไร้คุณค่าเป็นภาระ โดยมีอาการติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและให้การดูแลรักษาต่อไป

แนะนำแแพทย์

แพคเกจ

รศ.พญ.วันเพ็ญ ธุรกิตต์วัณณการ
อายุรแพทย์ / จิตแพทย์
พญ.ชุติมา สายเพ็ชร์
อายุรแพทย์ระบบประสาทและสมอง
กระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (TMS)
Transcranial Magnetic Stimulation