การตรวจไฟฟ้าวินิจฉัย (NCV and needle EMG)

การตรวจไฟฟ้าวินิจฉัย (NCV and needle EMG)

คือ การตรวจเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า เพื่อการวินิจฉัยโรคทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ประกอบด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (เรียกย่อว่า EMG หรือ Electromyography) และการตรวจความเร็วการนำสัญญาณประสาท (เรียกย่อว่า NCV หรือ Nerve conduction velocity)
ใช้ตรวจเพื่อการวินิจฉัยและบอกความรุนแรงในผู้ป่วยที่มีอาการสงสัย
  • โรคของไขสันหลังส่วนที่เรียกว่า Anterior horn cell เช่นโรค ALS
  • โรคของรอยต่อระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ (์Neuromuscular junction) เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี (Myasthenia Gravis : MG)
  • โรคของรากประสาทเช่น รากประสารทถูกกดทับ (Nerve root compression) จากกระดูกคอหรือหลังเสื่อม หมอนรองกระดูกเคลื่อน
  • โรคของเส้นประสาทส่วนปลาย เช่น โรคเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบเรื้อรังหรือฉับพลัน ทำให้มีอาการชามือชาเท้า, โรคเส้นประสาทพิการแต่กำเนิด
  • โรคของกล้ามเนื้อ เช่น โรคกล้ามเนื้ออักเสบ โรคกล้ามเนื้อฝ่อ เป็นต้น
  • โรคเส้นประสาทคู่ที่ 7 อักเสบ (Bell’s palsy)
นอกจากนี้การตรวจ EMG, NCV ยังสามารถใช้ติดตามผลการรักษา และการฟื้นตัวของเส้นประสาทได้ด้วย
ข้อห้ามในการทำ EMG, NCV
โดยทั่วไปไม่มีข้อห้าม ไม่มีอันตราย มีผลข้างเคียงจากการตรวจน้อยมาก ตรวจได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่มีข้อจำกัดคือ
  • ผู้ป่วยที่แขน ขาบวม จะทำให้เข็มที่สอดเข้าไปไม่ถึงตำแหน่งชั้นกล้ามเนื้อ แต่จะไปอยู่ในเนื้อเยื่อที่บวมแทน จึงส่งผลให้ผลการตรวจผิดพลาด
  • ผู้ป่วยมีปัญหาเลือดออกง่าย เพราะอาจมีเลือดออกมากจากรอยที่สอดใส่เข็มตรวจ
  • มีการติดเชื้อบริเวณที่ตรวจ เพราะการสอดใส่เข็มตรวจ อาจทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้
  • มีแผล หรือ ก้อนเนื้อบริเวณที่ตรวจ เพราะจะทำให้การแปลผลตรวจผิดพลาดได้
  • ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือ หรือ ไม่รู้สึกตัว จะตรวจไม่ได้ และ/หรือจะทำให้แปลผลตรวจผิดพลาดได้สูง
การเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนตรวจ
โดยทั่วไปไม่ต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ ไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร หรือหยุดยาที่ทาน ยกเว้นกรณีทานยาละลายลิ่มเลือด และ/หรือ มีภาวะเลือดหยุดยาก และ/หรือ ทานยารักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง Myasthenia Gravis เช่นเดียวกับการตรวจในโรคอื่นๆคือ ผู้ป่วยต้องแจ้งแพทย์ พยาบาล ถึงโรคประจำตัว และยาที่ใช้อยู่ ผู้ป่วยควรแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ถอด ใส่ ได้ง่าย รวมทั้งรองเท้าด้วย และไม่ควรใส่เครื่องประดับต่างๆมาในวันตรวจ
หลังตรวจต้องดูแลตัวเองอย่างไร
หลังตรวจ ไม่จำเป็นต้องดูแลอะไรเป็นพิเศษ ไม่มีผลข้างเคียง กลับบ้านได้เลย ใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ถ้ามีอาการผิดปกติ ซึ่งพบน้อยมากๆเช่น บริเวณที่ตรวจ บวม แดง หรือเลือดออกไม่หยุด ควรกลับมาพบแพทย์

โปรแกรมและแพ็คเกจ

โปรแกรมลดปวดด้วย Shockwave

การรักษาอาการปวดด้วย […]

โปรแกรม Office Syndrome ออฟฟิศ ซินโดรม

เลือกโปรแกรมที่เหมาะ […]

ฝังเข็มรักษาโรค

การฝังเข็ม (Acupunct […]

เตรียมสูงวัย..อย่างมีสุขภาพดี

เตรียมสูงวัย..อย่างมีสุขภาพดี

Older Good Health
1 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุสากล (International Day of Older Persons) โดยองค์การสหประชาชาติ กำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1991 หรือ พ.ศ. 2534 จัดขึ้นเพื่อแสดงให้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ ที่ได้สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ให้กับสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน "บุคลากรสำคัญผู้สร้างคุณงามความดี และคุณประโยชน์ไว้ให้คนรุ่นหลัง “ผู้สูงอายุ” มีความหมายว่า คือบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปทั้งชายและหญิง แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ
  1. ผู้สูงอายุตอนต้น (Young old) คือ บุคคลที่มีอายุ 60-69 ปี
  2. ผู้สูงอายุตอนกลาง (Middle old) คือ บุคคลที่มีอายุ 70-80 ปี
  3. ผู้สูงอายุตอนปลาย (Very old) คือ บุคคลที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป
ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2567 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า กรมกิจการผู้สูงอายุ เปิดเผยสถิติผู้สูงอายุ สัญชาติไทย และ มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน มกราคม 2565 โดยมีประชากรผู้สูงอายุในปี 2565 จำนวน 12,116,199 คน แบ่งเป็นเพศชาย 5,339,610 คน เพศหญิง 6,776,589 คน
  1. ระหว่างอายุ 60-69 ปี จำนวน จำนวน 6,843,300 คน คิดเป็น 56.5% ของผู้สูงอายุทั้งหมด
  2. ระหว่างอายุ 70-79 ปี มีจำนวน 3,522,778 คน คิดเป็น 29.1% ของผู้สูงอายุทั้งหมด
  3. ระหว่างอายุ 80 ปีขึ้นไป จำนวน 1,750,121 คน คิดเป็น 14.4% ของผู้สูงอายุทั้งหมด
ผู้สูงอายุที่คิดว่าตัวเองเป็นภาระให้กับผู้อื่นอาจจะรู้สึกว่าชีวิตของตนเองนั้นด้อยค่าตามไปด้วย อาจส่งผลให้เผชิญความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและแยกตัวจากสังคม ผู้สูงอายุที่มีทัศนคติต่อความชราภาพไปในเชิงลบจะมีอายุยืนยาวน้อยกว่าผู้สูงอายุที่มีทัศนคติต่อความชราภาพไปในเชิงบวกถึง 7.5 ปี การเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสทำงาน ช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองยังมีค่า สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข ผู้สูงอายุแต่ละคนมีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ไม่เท่ากัน ปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่าง คือ ประสบการณ์ที่ผ่านมาตลอดชีวิต หากได้รับการฝึกอบรมทักษะต่างๆ การศึกษาเรียนรู้หรือทำงานมาหลากหลายรูปแบบ คนเหล่านี้เป็นผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์ ซึ่งจะช่วยให้อยู่ได้อย่างมีคุณค่า
ผู้สูงอายุ เป็นวัยที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจ อาจมีโรคเรื้อรังที่ต้องดูแลและรักษา เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคกระดูกพรุน โรคเกาต์ โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคจอประสาทตา เป็นต้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ อารมณ์ สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งผู้สูงอายุบางรายอาจไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ และอาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย ดังนั้นการดูแลผู้สูงอายุ คือการทำให้ผู้สูงอายุดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข มีอิสระ และมีคุณภาพ สามารถพึ่งพาตนเองได้โดยพึ่งพาผู้อื่นน้อยที่สุด
การเตรียมความพร้อมสู่ความสูงวัย
  • ทางร่างกายการมีสภาพร่างกายที่ดีอวัยวะต่างๆอยู่ในสภาพที่ดีมีความแข็งแรง สมบูรณ์ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ร่างกายสามารถทำงานได้ตามปกติมีความสัมพันธ์กับทุกส่วน และมีประสิทธิภาพที่ดีในการทำงาน
    1. การรับประทานอาหาร
      - เลือกรับประทานอาหารอย่างถูกต้องรับประทานอาหารครบ 3 มื้อ ครบทั้ง 5 หมู่ เป็นอาหารที่เหมาะกับวัย
      - รับประทานผักผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกแป้ง หวาน อาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่มีรสจัด อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ
      - ดื่มน้ำสะอาดอย ่างน้อยวันละ 10 แก้วดื่มนำ้หลังจากตื่นนอนวันละ 3-5 แก้ว ดื่มน้ำก่อนหรือหลังอาหารอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อให้น้ำย่อยย่อยอาหารได้เต็มที่
        การออกกำลังกาย
        - ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3 วัน วันละอย่างน้อย 20 - 30 นาที ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัย
        - เลือกวิธีการบริหารร ่างกายที่เหมาะสมกับวัยให้อวัยวะทุกส่วนได้เคลื่อนไหว
        - ออกกำลังกายในที่ที่ปลอดภัย
          การตรวจสุขภาพ
          - การรักษาสุขภาพในช่องปาก พบทันตแพทย์อย่างน้อยทุก 6 เดือน
          - การตรวจวัดสายตาปีละครั้ง
          - การตรวจวัดมวลกระดูก ดัชนีมวลกายเพื่อทราบสุขภาวะตามวัย
          - การตรวจสุขภาพตามช่วงวัย การวัดสายตา การฉีดวัคซีน
          - การตรวจสุขภาพประจำ ปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งหรือทุก 6 เดือน
          - ตรวจสุขภาพกับแพทย์ประจำตัวเพื่อสร้างความคุ้นเคยและสะดวกในการติดตามสุขภาพ
      1. ทางจิตใจปรับตัวเข้ากับสังคม สิ่งแวดล้อม มีความสุข มีอารมณ์แจ่มใส รู้จักควบคุมอารมณ์
      2. ทางปัญญารู้เท่าทันสังคม เรียนรู้ นำความรู้มาปรับใช้ในชีวิต
      3. ทางสังคมมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวและสังคมได้
      การดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดี
      การดูแลผู้สูงอายุ มีความจำเป็นและสำคัญมาก เราควรเอาใจใส่ในด้านสุขภาพและสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ผู้สูงอายุหลายคนมักรู้สึกเหนื่อยง่ายและเคลื่อนไหวได้ช้าลง บางคนอาจรู้สึกอ่อนเพลียและทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันลำบากขึ้น อาการเหล่านี้เป็นปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น เรียกว่า ภาวะแบบนี้ว่า ภาวะเปราะบางในผู้สูงอายุ หรือเฟรลตี้ (Frailty) ผู้สูงอายุที่ประสบภาวะนี้จะรู้สึกอ่อนแรง เหนื่อย ไม่มีแรง รวมทั้งน้ำหนักลดลงเอง บุคคลในครอบครัวต้องหมั่นสังเกตว่าญาติผู้ใหญ่ของเราเกิดอาการภาวะเปราะบางหรือไม่ หากเกิดอาการ 3 อย่างขึ้นไป อาจหมายถึง ผุ้สูงอายนั้นๆ กำลังประสบภาวะดังกล่าวอยู่ ควรให้ความสำคัญเพื่อจะได้มีสุขภาพดีขึ้น
      1. รูปร่างผอมลง น้ำหนักตัวลดลงประมาณ 5 กิโลกรัมหรือมากกว่านั้น
      2. เกิดอาการอ่อนเพลีย ยืนเองไม่ค่อยได้หรือไม่มีแรงที่จะถือสิ่งของ
      3. รู้สึกเหนื่อยง่ายมาก ทำสิ่งต่าง ๆ ไม่ค่อยได้ ทำเพียงนิดหน่อยก็จะมีอาการเหนื่อย
      4. สมรรถภาพในการทำกิจกรรมลดลง อาทิ ออกกำลังกาย ทำงานบ้าน หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่เคยชอบ แต่ทำไม่ได้เหมือนแต่ก่อน
      5. เดินช้าลง โดยใช้เวลาเดินในระยะทาง 5 เมตร มากกว่า 6-7 วินาที
      ดังนั้น ลูกหลานควรเอาใจใส่ดูแลผู้สูงอายุ ด้วยความรักและความเข้าใจ จะช่วยให้ผู้สูงอายุดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข มีอิสระ และมีคุณภาพ สามารถพึ่งพาตนเองได้ พึ่งพาผู้อื่นน้อยที่สุด การดูแลเรื่องสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ ควรได้รับตรวจสุขภาพเป็นประจำทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี และพบแพทย์หากมีโรคประจำตัว เพื่อเป็นการประเมินภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด

      โปรแกรมและแพ็คเกจ

      DM Care ตรวจคัดกรองเบาหวานโปรแกรมตรวจสุขภาพ ”สมองและระบบประสาท"
      Promotion ชุดตรวจสุขภาพ ลด 20%

      อาหารบำรุงสายตา

      อาหารบำรุงสายตา

      ดวงตาเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่รับความรู้สึกด้านการมองเห็น เราใช้ดวงตาตั้งแต่เกิด อาจละเลยไม่ใส่ใจสุขภาพดวงตาเท่าที่ควร เราใช้ดวงตาวันละ 16 ชั่วงโมง ประมาณปีละ 5,760 ชั่วโมง ดังนั้นอาการเสื่อมสุขภาพตาจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สามารถชะลอได้ หากเรารู้วิธีการป้องกัน และรู้จักสารอาหารที่จะเข้าไปฟื้นฟูสภาพหรือบำรุงเซลล์ต่างๆ ภายในดวงตา ความผิดปกติทางสายตาสามารถป้องกันและรักษาได้ หากเรารู้วิธีการป้องกันความเสื่อมและรับประทานสารอาหารที่สามารถชะลอการเสื่อมของดวงตาให้มากขึ้น อาจเป็นไปได้ที่จำนวนผู้ป่วยหรือพิการทางสายตาจะลดลง
      การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และหลากหลายก็เพียงพอกับสุขภาพที่ดีของตา การขาดวิตามินเอจะทำให้มีปัญหาตามัวตอนกลางคืนและตาแห้งได้ แต่มักจะพบในผู้ที่ขาดอาหารอย่างมาก ซึ่งก็จะขาดสารอาหารประเภทอื่นด้วย เช่น โปรตีน วิตามิน เกลือแร่อื่นๆ ไม่ใช่พบในผู้ที่รับประทานอาหารในชีวิตตามปกติ
      ดังนั้น เราควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่และหลากหลาย โดยเฉพาะพวกพืชผักผลไม้และปลา งดสูบบุหรี่ รักษาตัวไม่ให้อ้วน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยลดโอกาสเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุและช่วยบำรุงสุขภาพตาของเรา โดยไม่จำเป็นต้องหาอาหารเสริมอื่นๆ ควรสังเกคสภาพดวงตาและตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอ

      โปรแกรมและแพ็คเกจ

      แค่โรคกระเพาะ หรีอ มะเร็ง

      แค่โรคกระเพาะ หรือ มะเร็ง

      stomach cancer
      จุกแน่น ท้องอืด ปวดหรือแสบร้อนบริเวณลิ้นปี
      เป็นอาการที่พบบ่อยในประชากร จากการสำรวจในประชากรไทยพบว่ามีมากกว่าร้อยละ 50 หรือมากกว่าครึ่งที่เคยประสบปัญหานี้ โดยประชากรกลุ่มนี้แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วจะตรวจไม่พบโรคร้าย แต่ก็มีผู้ป่วยอีกถึง 14% ที่่จะตรวจพบความผิดปกติในกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร ได้แก่ แผลในกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อนชนิดรุนแรง รวมทั้งโรคที่อันตรายอย่างมะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งหลอดอาหาร นอกจากนั้นอาการเหล่านี้ก็อาจจะเป็นอาการของอวัยวะอื่นๆได้ เช่น มะเร็งที่ตับ นิ่วในถุงน้ำดี ดังนั้นคงไม่ถูกซะทีเดียวหากเราจะเหมารวมผู้ป่วยที่มีอาการจุกแน่นหรือแสบบริเวณลิ้นปีเป็นโรคจุกแน่นแบบธรรมดาหรือที่มักเรียกกันว่า "โรคกระเพาะ"ทั้งหมด ดั้งนั้นผู้ที่มีอาการเหล่านี้ควรที่จะมาพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการซักประวัติและการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง ไม่ควรที่จะซื้อยามารับประทานเอง เพราะถึงแม้ว่าหลังรับประทานยาแล้วอาการตีขึ้นก็ไม่ได้บ่งบอกว่าผู้ป่วยไม่เป็นโรคร้าย เนื่องจากในความเป็นจริงแล้วผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารก็สามารถมีอาการที่ดีขึ้นได้จากการกินยาลดกรดในกระเพาะอาหารเช่นเดียวกัน
      มะเร็งกระเพาะอาหารเป็นมะเร็งที่ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิตมากเป็นอันดับที่สองของโลก สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคคือมีการติดเชื้อโรคที่ชื่อ "เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter py(ori)" โดยหากมีเชื้อโรคชนิดนี้อยู่ในกระเพาะอาหารจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารถึง 13 เท่าเลยทีเดียว ในส่วนของอาการนั้นหากมะเร็งยังอยู่ในระยะเริ่มแรกก็จะไม่สามารถแยกโรคกับโรคกระเพาะอาหารแบบธรรมดาได้เลยการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ต้องใช้การส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนบนเท่านั้น แต่หากมะเร็งอยู่ในระยะหลังก็จะมีอาการอื่นร่วมด้วย ได้แก่ อาเจียนเรื้อรัง อาเจียนเป็นเลือดหรือสีดำ อุจจาระเป็นสีดำ กลืนติดหรือกลืนลำบาก ซีด โลหิตจาง อ่อนเพลีย น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ซึ่งหากมะเร็งเข้าสู่ระยะหลังแล้วมักจะมีการดำเนินโรคที่รุนแรงอัตราการหายขาดจากโรคจะลดลงจาก 71 % เหลือเพียง 44 เท่านั้น ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงจึงควรที่จะได้รับการตรวจด้วยวิธีการที่เหมาะสมเพื่อวินิจฉัยและรักษาเชื้อโรคเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ที่อาจเป็นเหตุให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร และเพื่อที่จะได้ค้นพบมะเร็งกระเพาะอาหารตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งการกำจัดเชื้อโรคเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรนี้นอกจากจะลดโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารแล้ว ยังช่วยลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย
      เมื่อไรควรพบแพาย์
      ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา ผู้ป่วยที่มีอาการจุกแน่น ท้องอืด ปวดหรือแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ ควรที่จะมาปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนบนเพื่อป้องกันและรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหารตั้งแต่ระยะแรก โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงดังต่อไปนี้
      1. มีอาการเตือนที่ทำให้สงสัยมะเร็ง คือ เริ่มมีอาการหลังอายุ 50 ปี รักษาแล้วไม่ดีขึ้นหรือมีการกลับเป็นซ้ำของอาการ อาเจียนเรื้อรัง อาเจียนเป็นเลือดหรือสีดำ อุจจาระเป็นสีดำ กลืนติดหรือกลืนลำบาก ซีด โลหิตจางอ่อนเพลีย น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ไข้
      2. มีความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดมะเร็งในอนาคต ได้แก่ มีญาติป่วยเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
      3. มีความเสี่ยงของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ได้แก่ มีความจำเป็นต้องกินยาละลายลิ่มเลือดหรือแอสไพรินในระยะยาว มีความจำเป็นต้องกินยาแก้ปวดหรือยาแก้อักเสบอย่างเรื้อรัง
      การป้องกัน ย่อมดีกว่าการรักษา ดังนั้นการคัดกรองมะเร็ง อาจทำให้พบมะเร็งได้ในระยะเริ่มต้น

      โปรแกรมและแพ็คเกจ

      Promotion ตรวจเช็คโรคระบบประสาทและสมอง
      คัดกรองความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
      Promotion ชุดตรวจสุขภาพ ลด 20%

      กินเจ เมนูสุขภาพ วิถีใหม่ ไร้พุง

      กินเจ เมนูสุขภาพ วิถีใหม่ ไร้พุง

      เทศกาลกินเจ คำว่า “เจ” หรือ “ไจ” บนธงอักษรแดง บนพื้นเหลือง มีความหมายว่า “ของไม่มีคาว” สีแดงเป็นตัวแทนของความเป็นสิริมงคลในชีวิต ส่วนสีเหลืองเป็นสีของพุทธศาสนา หรือผู้ทรงศีล ธงเจนอกจากเป็นสัญลักษณ์ของอาหารเจแล้ว ยังเตือนพุทธศาส นิกชนที่ปฏิบัติตน “ถือศีล-กินเจ” ตระหนักถึงการไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ และการตั้งอยู่ในศีลตลอดช่วงระยะเวลา 9 วัน 9 เทศกาลกินเจ เป็นโอกาสดีในการดูแลสุขภาพ ได้ฝึกวินัย ทั้งทางกาย จิต ปัญญา แต่อาหารเจส่วนมากมักจะมีรสหวาน มัน และเค็มจัด ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คำแนะนำว่าให้ลดการบริโภคโซเดียมลงให้น้อยกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดูแลสุขภาพด้วยการกินเจวิถีใหม่ เน้นรับประทานผักให้มากขึ้น ลดแป้งและของทอด บริโภคอาหารสุก สะอาด ล้างมือก่อนและหลังปรุงอาหาร งดน้ำมัน ลดแป้ง กินโปรตีน
      1. ทานอาหารที่มีกากใยสูง ผัก ผลไม้ต่าง ๆ เช่น ข้าวกล้อง แอปเปิ้ลเขียว ผักใบเขียว ช่วยระบบขับถ่ายและระบบลำไส้ทำงานได้ดี
      2. เลือกอาหารประเภท ต้ม ตุ๋น นึ่งและย่าง หลีกเลี่ยงเมนูผัดและทอด เช่น เต้าหู้ทอด เผือกทอด มันทอด เห็ดผัดน้ำมัน
      3. ทานข้าวแป้งแต่พอดี หลีกเลี่ยงเมนูอาหารแปรรูปและเมนูแป้ง เช่น เนื้อเทียมจากแป้ง โปรตีนเกษตร ต่าง ๆ
      4. เลือกรับประทานโปรตีนคุณภาพดี ทดแทนจากเนื้อสัตว์ เช่น นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ธัญพืช ข้าวโพด
      5. หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสหวาน เช่น ขนมหวาน ขนมขบเคี้ยว น้ำอัดลม เพราะอาจเพิ่มน้ำหนักตัวและก่อโรคต่าง ๆ ได้
      6. ทานอาหารให้หลากหลาย ครบ 5 หมู่ ไม่ควรเลือกทานอาหารเมนูชนิดเดิมซ้ำทุกวัน
      7. ดื่มน้ำสะอาด 6-8 แก้วต่อวัน หากดื่มน้ำไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดอาการท้องผูกได้
      แนะนำเมนูสุขภาพ 3 เมนู ทำได้ง่ายๆ ดีต่อสุขภาพ แคลลอรี่ต่ำ

      Credit Picture : Mai Yom Auon 

      เห็ดอบวุ้นเส้น = 198 kcal
      ส่วนผสม
      1. วุ้นเส้น ไม่ขัดสี
      2. เห็ดชนิดต่างๆ ตามชอบ
      3. ขิงอ่อน
      4. พริกไทย
      5. ซีอิ้วขาว ผสมน้ำอุ่น
      6. น้ำมันรำข้าว
      วิธีทำ
      1. ตั้งกระทะให้ร้อน ใส่น้ำมันรำข้าว นำขิงอ่อนผัดให้เข้ากัน ตามด้วยเห็ดต่างๆที่เราชอบ และเต้าหู้แข็ง ผัดรวมกัน ให้สุกนิ่ม
      2. ใส่วุ้นเส้นไม่ขัดสี ตามด้วย ซีอิ๋วขาวผสมน้ำ เติมพริกไทย เติมน้ำเปล่า คลุกเคล้าให้เข้ากัน ปิดฝารอวุ้นเส้นสุกดี ตักใส่จานนำเสิร์ฟ

      Credit Picture : Booky HealthyWorld

      ลาบเต้าหู้เส้นบุกใส่เห็ด = 190 Kcal
      ส่วนผสม
      1. เต้าหู้ขาวชนิดแข็ง
      2. เห็ดหูหนูและเห็ดนางฟ้า
      3. ผักชีฝรั่งและใบสาระแหน่
      4. วุ้นเส้นแบน
      5. พริกป่น
      6. ซีอิ๋วขาว
      7. น้ำมะนาว
      8. น้ำตาล
      9. ข้าวคั่ว
      วิธีทำ
      1. ตั้งน้ำให้เดือด นำเต้าหู้ขาวแข็ง มาหั่นเป็นชิ้น และนำไปลวกในน้ำ ตามด้วยลวกเห็ดละวุ้นเส้นต่อ
      2. นำของที่ลวกสุกมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน ตามด้วยปรุงรสใส่ซีอิ๋วขาว น้ำมะนาว น้ำตาล พริกป่น ข้าวคั่ว ผสมให้เข้ากัน โรยผักชีฝรั่งและสาระแหน่ พร้อมเสิร์ฟ

      Credit Picture : Mai Yom Auon 

      หมี่กล้องพันเจ = 193 Kcal
      ส่วนผสม
      1. หมี่กล้อง
      2. เต้าหู้ขาวชนิดแข็ง
      3. เห็ดเข็มทอง
      4. ต้นทานตะวันอ่อน
      5. งาคั่ว
      วิธีทำ
      1. ตั้งน้ำให้เดือด นำเส้นหมี่กล้องไปลวกให้สุก ตามด้วยย่างเต้าหู้และเห็ดให้สุกพอดี
      2. นำเส้นหมี่กล้อง มาพันกับเต้าหู้และเห็ดที่ย่าง วางด้วยต้นอ่อนตะวัน เพิ่มความหอมด้วยงาคั่ว พร้อมเสิร์ฟ
      การรับประทานเจที่ถูกหลักและได้รับสารอาหารที่มีคุณค่ามีคุณประโยชน์ต่อร่างกายอย่างครบ ควรรับประทานอาหารเจให้หลากหลาย ไม่ควรรับประทานอาหารเจชนิดเดียวเป็นเวลานานๆ รับประทานเจจะช่วยปรับสมดุลของร่างกาย ล้างพิษ รวมถึงช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น/div>

      โปรแกรมและแพ็คเกจ

      วัคซีนป้องกันไวรัส RSV

      วัคซีนป้องกันไวรัส R […]

      โปรแกรมตรวจสุขภาพ ใส่ใจ

      โปรแกรมตรวจสุขภาพ ใส […]

      เมื่อไรควรผ่าตัดต่อมทอนซิล Tonsillectomy

      Tonsillectomy

      การผ่าตัดต่อมทอนซิล
      ต่อมทอนซิลอักเสบ
      เป็นภาวะติดเชื้อในช่องคอทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอ กลืนเจ็บ กลืนลำบาก มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย สร้างความรำคาญและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ บางคนที่มีต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรังก็จำเป็นต้องผ่าตัดออก เด็กมีแนวโน้มที่จะต้องผ่าตัดต่อมทอนซิลมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของทอนซิลทำงานมากที่สุดในช่วงก่อนเข้าวัยวัยเจริญพันธุ์ การผ่าตัดต่อมทอนซิลอาจทำไปพร้อมกับการตัดต่อมอะดินอยด์ในผู้ป่วยเด็ก แต่ทั้งนี้ผู้ใหญ่ที่มีการอักเสบเรื้อรังอยู่บ่อยครั้งก็จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเช่นกัน
      เมื่อไหร่ที่มีอาการตามนี้ การผ่าตัดทอนซิล คือ ทางออกที่ดีที่สุด
      • ต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรังเป็นๆหายๆ
      • ต่อมทอนซิลอักเสบรุนแรง เกิดฝีรอบ ๆ ต่อมทอนซิล
      • สงสัยเนื้องอกที่ต่อมทอนซิล
      • ต่อมทอนซิลมีขนาดโตมาก จนอุดกั้นทางเดินหายใจ มีอาการนอนกรน
      • มีก้อนนิ่วที่ต่อมทอนซิล ทำให้มีกลิ่นปาก
      การผ่าตัดทอนซิล (Tonsillectomy)
      การผ่าตัดทอนซิล ทำโดยศัลยแพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก โดยทำการผ่าตัดภายใต้การดมยาสลบ แพทย์ผ่าตัดจะทำการใส่เครื่องมือเล็ก ๆ เพื่ออ้าปากออก และใช้เครื่องจี้ไฟฟ้า หรือใช้วิธีคว้านเอาต่อมทอนซิลออกทั้งหมด โดยจะไม่มีแผล
      • การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 30 นาที
      • ผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล 1 คืน เพื่อดูอาการ
      • หลังผ่าตัดแนะนำให้ทานอาหารอ่อน ๆ เป็นเวลา 2-3 วันแรก
      • ในช่องคอจะพบมีรอยแผลสีขาว ๆ บริเวณต่อมทอนซิลที่ตัดออกไป ซึ่งเป็นภาวะปกติ รอยนี้จะหายไปได้เองภายในระยะเวลา 5-10 วัน
      • ระยะฟื้นตัวประมาณ 1-2 สัปดาห์

      โปรแกรมและแพ็คเกจ

      อันตรายจากต่อมทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis)

      อันตรายจากต่อมทอนซิลอักเสบ

      Tonsillitis
      ต่อมทอนซิลคือเนื้อเยื่อในลำคอ 2 ข้างบริเวณโคนลิ้น ทำหน้าที่ดักจับและกรองเชื้อโรค เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามไปในร่างกายมากขึ้น นอกจากต่อมทอนซิลแล้วบริเวณผนังลำคอด้านหลังเนื้อเยื่อที่โคนลิ้นและต่อมอะดินอยด์ (Adenoid) ซึ่งอยู่บริเวณคอหลังจมูกก็เป็นตัวช่วยกรองเชื้อโรคเช่นกัน สาเหตุของต่อมทอนซิลอักเสบเกิดจากภาวะที่ร่างกายอ่อนแอหรือติดเชื้อจากผู้อื่นที่เจ็บป่วย เชื้อโรคในช่องปากและคอจะมีปริมาณมากขึ้น ต่อมทอนซิลจะทำงานมากขึ้นเพื่อกำจัดเชื้อโรคเหล่านี้ ทำให้ทอนซิลแดง บวม และโตขึ้น ซึ่งเรียกว่า ต่อมทอนซิลอักเสบ
      อาการต่อมทอนซิลอักเสบ
      คล้ายโรคคออักเสบทั่วไป คือเจ็บคอร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ไข้ ไอ เสมหะหรือมีน้ำมูก โดยอาการเจ็บคอจะเจ็บมากบริเวณด้านข้างของช่องปากทั้งสองข้าง เมื่ออ้าปากจะพบว่า ทอนซิลมีลักษณะบวมแดงและโตกว่าปกติ ในกรณีที่เป็นเชื้อรุนแรงอาจมีจุดหนองที่ทอนซิลและต่อมน้ำเหลืองข้างลำคอโตด้วย
      อันตรายจากต่อมทอนซิลอักเสบ
      เชื้อที่เป็นสาเหตุของทอนซิลอักเสบบางชนิดเป็นเชื้อที่รุนแรงอาจทำให้เกิดหนองรอบๆ ทอนซิลถ้าโรคลุกลาม อาจเกิดการอุดตันของทางเดินหายใจได้ บางชนิดการอักเสบจะมีผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและทำให้ไต หรือหัวใจผิดปกติได้ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียชนิดสเตรปโตคอคคัส (Streptococcal Tonsillitis)
      ผู้ป่วยที่มีทอนซิลอักเสบบ่อย ๆ ขนาดของทอนซิลจะโต ซึ่งอาจทำให้ทางเดินหายใจแคบลง เกิดภาวะทางเดินหายใจอุดตันได้ สังเกตได้จากขณะนอนหลับผู้ป่วยมักจะกรนดังหรือสะดุ้งตื่นบ่อย ๆ โดยเฉพาะในเด็ก
      การรักษาต่อมทอนซิลอักเสบ
      ถ้าอาการอักเสบไม่มาก เจ็บคอเล็กน้อย ไม่มีไข้ ผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยา โดยให้พักผ่อนมากขึ้น ดื่มน้ำ รับประทานอาหารให้เพียงพอ ถ้าร่างกายสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ภายใน 2-3 วัน อาการจะดีขึ้น แต่ถ้ามีอาการมาก เช่น มีไข้สูง เจ็บคอมาก ทานอาหารได้น้อย ควรมาพบแพทย์ หากตรวจพบอาการอักเสบค่อนข้างรุนแรง มักจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับยาอื่น ๆ ซึ่งอาการมักจะดีขึ้นในช่วง 3-7 วัน
      จำเป็นต้องตัดทอนซิลออกหรือไม่
      ต่อมทอนซิลมีหน้าที่กรองเชื้อโรคไม่ให้ลุกลามเข้าไปในร่างกายดังที่กล่าวแล้ว โดยทั่วไปจะไม่แนะนำให้ตัดทิ้ง แต่หากในกรณีที่มีการอักเสบรุนแรงหรืออันตรายจากทอนซิลอักเสบ ผู้ป่วยที่ควรได้รับการตัดต่อมทอนซิลออก ได้แก่
      • ต่อมทอนซิลที่มีขนาดใหญ่ทำให้เกิดทางเดินหายใจอุดตัน นอนกรน
      • เคยมีภาวะหนองข้างทอนซิล (Peritonsillar abscess) ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา
      • ต่อมทอนซิลโตกว่าปกติสงสัยว่าอาจเป็นเนื้องอกมะเร็ง
      พิจารณาให้ผ่าตัดทอนซิลออกในกรณีนี้ เช่น มีอาการอักเสบบ่อยมากกว่า 6 ครั้งใน 1 ปีหรือ 3-5 ครั้งใน 2 ปีติดต่อกัน, มีกลิ่นปากจากทอนซิลอักเสบเรื้อรังหรือมีเศษอาหารอุดตันเข้าไปในทอนซิล, ทอนซิลอักเสบชนิดสเตรปโตคอคคัสและทอนซิลที่โตข้างเดียวที่อาจเป็นมะเร็งได้
      อายุเท่าไรที่สามารถตัดต่อมทอนซิลได้
      โดยทั่วไปไม่จำกัดอายุในการผ่าตัดรวมถึงเด็กเล็ก ถ้ามีข้อบ่งชี้ชัดเจน และไม่มีข้อห้ามในการผ่าตัด เช่น มีปัญหาเลือดหยุดยาก โลหิตจาง ไม่สามารถใช้ยาสลบได้หรือมีโรคประจำตัวที่รุนแรง
      การผ่าตัดทอนซิลมีวิธีการอย่างไร
      การผ่าตัดทอนซิลต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางโสต ศอ นาสิก โดยใช้เครื่องมือพิเศษตัดทอนซิลออกทางปาก ไม่มีแผลผ่าตัดให้เห็นด้านนอก และมักผ่าตัดโดยการดมยาสลบ
      การผ่าตัดจะใช้กรรไกร มีด และเครื่องจี้ให้เลือดหยุดไหล ในปัจจุบันมีวิทยาการใหม่ ๆ ที่อาจลดความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดลงได้กว่าวิธีการเดิม เช่น ใช้คลื่นวิทยุหรือเลเซอร์ช่วยในการผ่าตัด

      อันตรายจากการผ่าตัดทอนซิล
      การผ่าตัดทอนซิลเป็นการผ่าตัดที่มีความปลอดภัยสูง ผู้ป่วยอาจมีปัญหาเลือดออกหลังการผ่าตัด ปวดบริเวณแผลทำให้กลืนลำบากหรืออาจเกิดอาการข้างเคียงจากการดมยาสลบ ดังนั้นจึงต้องสังเกตอาการผู้ป่วยในโรงพยาบาล 1 วันหลังจากการผ่าตัด จนแน่ใจว่าปลอดภัยแพทย์จึงอนุญาตให้กลับไปพักผ่อนที่บ้านได้
      ผลข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ไข้ ภาวะขาดน้ำ น้ำหนักลด เสียงเปลี่ยน ส่วนอันตรายถึงแก่ชีวิต จากภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ มีโอกาสเกิดน้อยมาก
      หลังผ่าตัดทอนซิลออก ทำให้เกิดคออักเสบบ่อยขึ้นหรือไม่
      ถึงแม้ทอนซิลจะถูกตัดออก และตัวกรองเชื้อโรคลดลง แต่เนื้อเยื่อที่โคนลิ้นและผนังลำคอยังสามารถกรองเชื้อโรคแทนต่อมทอนซิลได้เพียงพอ ดังนั้นหลังการผ่าตัด ถ้าผู้ป่วยดูแลสุขภาพได้ดี ความถี่ของคออักเสบจะเกิดไม่บ่อยขึ้น และมีแนวโน้มที่จะน้อยลง
      การดูแลหลังการผ่าตัดทอนซิล
      ในวันแรกหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารอ่อนและเย็น เช่น น้ำหวาน ไอศกรีม โยเกิร์ต เยลลี่ เพื่อป้องกันไม่ให้แผลบวมและมีเลือดออก ในวันถัดไปจะปรับอาหารให้นุ่ม แข็งขึ้น อุ่นขึ้น ประมาณ 2-5 วันขึ้นอยู่กับอาการปวดของผู้ป่วย การรับประทานอาหารปกติและร้อนควรแน่ใจว่าแผลไม่มีปัญหาแล้วจึงจะเริ่มรับประทานได้ ซึ่งมักใช้เวลา 5-7 วัน หลังออกจากโรงพยาบาล 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจซ้ำอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าแผลหายดีและไม่มีเลือดออกอีก
      วิธีป้องกันไม่ให้เกิดต่อมทอนซิลอักเสบ
      เช่นเดียวกับหลักการดูแลสุขภาพทั่วๆไป และป้องกันการเกิดหวัด โดยควรพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดื่มน้ำมากๆ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

      โปรแกรมและแพ็คเกจ

      ภาวะสมองเสื่อม

      ภาวะสมองเสื่อม

      (DEMENTIA)
      ภาวะสมองเสื่อมเป็นภาวะที่สมองทำงานผิดปกติ เป็นผลให้มีอาการหลงลืม ความจำเสื่อม บุคลิกเปลี่ยนแปลง ขาดความสามารถในการเรียนรู้และการสื่อสาร ไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้
      ภาวะสมองเสื่อม เกิดจากการเสื่อมของเซลล์สมอง มีแนวโน้มว่าจะเกิดภาวะสมองเสื่อมมากขึ้นตามอายุ โรคอัลไซเมอร์จัดเป็นภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด อาจพบภาวะสมองเสื่อมในโรคหลอดเลือดสมอง โรคติดเชื้อทางสมอง เนื้องอกในสมอง อุบัติเหตุทางสมอง หรือเป็นผลจากการขาดวิตามินบีเป็นเวลานาน หรือเกิดจากโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือเกิดจากการกินยานอนหลับหรือยากล่อมประสาทเป็นเวลานาน
      อาการ
      1. ความจำเสื่อม นับเป็นอาการแรกๆของภาวะสมองเสื่อม จำชื่อคนใกล้ชิดไม่ได้ ไม่สามารถจำหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ วางของแล้วจำไม่ได้ ถามคำถามซ้ำซาก ลืมว่าเคยถามและได้คำตอบแล้ว
      2. ไม่สามารถทำงานที่เคยทำได้ เช่น เคยขับรถได้แต่ขับไม่ได้ เคยหุงข้าวได้กลับหุงไม่เป็น
      3. มีปัญหาด้านภาษา เรียกชื่อญาติหรือคนใกล้ชิดไม่ถูก เรียกสิ่งของผิดไป นึกคำพูดไม่ออก พูดซ้ำซาก สื่อสารกับผู้อื่นไม่รู้เรื่อง
      4. สับสนเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ จำเส้นทางเดินทางไปบ้านตัวเองไม่ถูก จำสถานที่ เวลา หรือเหตุการณ์ปัจจุบันไม่ได้ บอกไม่ได้ว่าตัวเองอยู่ไหน
      5. มีความผิดปกติในการตัดสินใจ ตัดสินใจช้าและตัดสินใจไม่ถูก ไม่เหมาะสมกับกาลเทศะ ตัดสินใจผิดพลาด
      6. สติปัญญาด้อยลง ขาดความสามารถในการวางแผน บวกนับเลขไม่ถูก ทอนเงินไม่ถูก
      7. วางสิ่งของผิดที่ไม่เหมาะสม เช่น วางแว่นตาในอ่างน้ำ วางถังขยะบนโต๊ะอาหาร และมักหาสิ่งของไม่พบ
      8. อารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าว หรือซึมเศร้า อาจนั่งร้องไห้โดยไม่สามารถอธิบายสาเหตุ เพราะการสื่อสารไม่เข้าใจ
      9. บุคลิกภาพและพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เช่น หนีสังคม เก็บตัว ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมและเหตุการณ์รอบตัว ในรายที่เป็นรุนแรง จะมีปัญหาการช่วยเหลือตัวเองในกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำเองไม่เป็น ใส่เสื้อผ้าเองไม่เป็น ติดกระดุมเสื้อเองไม่ได้ตักข้าวกินเองไม่ได้
      หากมีอาการความจำเสื่อมร่วมกับอาการอื่นๆ ดังกล่าวข้างต้นอีก 3 อย่างขึ้นไป และต้องพึ่งพาผู้อื่นในการทำกิจวัตรประจำวัน จึงจะวินิจฉัยว่ามีภาวะสมองเสื่อม
      การวินิจฉัยโรค
      แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกาย ประวัติจะได้จากญาติใกล้ชิด เพราะผู้ป่วยเองจะหลงลืมให้ประวัติไม่ได้ จะมีแบบทดสอบความจำ สติปัญญา แบบทดสอบภาวะทางจิตใจ นอกจากนี้แพทย์จะตรวจเลือดและเอ็กซเรย์สมอง เช่น การทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อหาสาเหตุของโรคที่จะรักษาได้
      การรักษา
      ปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาด แต่อาจช่วยชะลออาการผู้ป่วยได้ ยกเว้นสภาวะสมองเสื่อมที่มีสาเหตุที่รักษาได้ เช่น เป็นเนื้องอกในสมองก็ผ่าตัดเอาเนื้องอกออก ผ่าตัดแก้ไขโพรงน้ำในสมองขยายตัว งดสารเสพติด รักษาโรคพิษสุราเรื้อรัง เป็นต้น
      นอกจากนี้ต้องรักษาโรคที่เป็นความเสี่ยงให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นต้น แพทย์อาจใช้ยาที่ช่วยชะลอความจำเสื่อมและยาที่ช่วยระงับพฤติกรรมที่ผิดปกติ เช่น เอะอะก้าวร้าว เห็นภาพหลอน
      การรักษาจะสมบูรณ์ได้ต้องมีการให้ความรู้แก่ผู้ดูแลผู้ป่วย ให้เข้าใจการดำเนินของโรค เข้าใจลักษณะของผู้ป่วย ให้ผู้ดูแลสามารถติดต่อสื่อสารกับทีมรักษาเพื่อปรึกษาปัญหาให้แก่ผู้ป่วย ผู้ดูแลควรเป็นผู้มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ ควรให้ผู้ดูแลมีช่วงเวลาพักเพื่อคลายเครียด เพื่อไม่ให้ความเครียดหรือภาระในการดูแลผู้ป่วย ส่งผลให้การดูแลผู้ป่วยไม่ดีและยังมีผลเสียต่อสุขภาพของผู้ดูแลอีกด้วย
      การป้องกัน
      1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ อย่างสมดุล หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง รสเค็มหรือหวานจัด
      2. งดเสพสุรา และสารเสพติด งดสูบบุหรี่
      3. ฝึกบริหารสมอง เช่น การฝึกใช้มือซ้ายทำงานแทนมือขวาที่ถนัด ฝึกเปลี่ยนเส้นทางเดินที่ใช้ประจำ ฝึกเล่นเกม หัดคิดเลข อ่านหนังสือบ่อยๆ
      4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรหักโหมจนเกินไป สัปดาห์ละ 3 - 5 วัน
      5. ระวังอุบัติเหตุต่างๆ โดยเฉพาะอุบัติเหตุทางสมอง ใส่หมวกกันน็อค คาดเข็มขัดนิรภัยเวลานั่งรถ
      6. เข้าสังคมผู้สูงอายุ พบปะผู้อื่นบ่อยๆ มีกิจกรรมทำร่วมกับผู้อื่น
      7. รักษาโรคประจำตัวอย่างสม่ำเสมอ เช่น รักษาเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และตรวจสุขภาพประจำปี
      8. ทำจิตใจให้ผ่องใส ไม่เครียด มองโลกในแง่ดี ฝึกสมาธิ
      หากท่านสงสัยว่าจะมีภาวะสมองเสื่อม ให้รีบมาพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรับการรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการในระยะแรกๆ จะช่วยให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น

      >

      โปรแกรมและแพ็คเกจ

      Promotion ตรวจเช็คโรคระบบประสาทและสมอง
      คัดกรองความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
      Promotion ชุดตรวจสุขภาพ ลด 20%

      Q&A “รู้เรา เอาชนะภูมิแพ้”

      Q&A “รู้เรา เอาชนะภูมิแพ้”

      allergry-test-skin
      อาการจามบ่อยๆ น้ำมูกไหล ไอเรื้อรัง คันคอ เจ็บคอ คันๆ เกาๆ มีผื่นแดงขึ้นตามตัวหรือบริเวณต่างๆ เรื่องใกล้ตัวที่ควรใส่ใจ หากปล่อยให้เรื้อรังและอาการรุนแรงขึ้น อาจทำให้เสียบุคลิกภาพ เสียสุขภาพจิต เสียสมาธิ และส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันได้ไม่มากก็น้อย รู้และเข้าใจโรคภูมิแพ้ เพื่อการรักษาและดูแลอย่างถูกต้อง
      ถาม ที่เรียกว่าโรคภูมิแพ้คืออย่างไร เกิดจากสาเหตุอะไร
      ตอบ โรคภูมิแพ้เป็นภาวะผิดปรกติที่เกิดจากร่างกายมีความไวต่อสารบางอย่างในสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่นในบ้าน เชื้อรา ละอองเกสรดอกไม้ เกสรหญ้า ซึ่งปะปนอยู่ในอากาศ ทำให้มีอาการหลังจากสัมผัสสารที่ก่อภูมิแพ้เหล่านั้น มักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ไม่ขาด และถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
      ถาม โรคภูมิแพ้จะทำให้เกิดอาการกับอวัยวะส่วนใดของร่างกายบ้าง
      ตอบ เกิดอาการได้ทุกระบบ ถ้าเกิดกับระบบหายใจส่วนบนจะทำให้เกิดมีอาการที่ชาวบ้านเรียกว่าหวัดเรื้อรัง ถ้าเกิดกับระบบหายใจส่วนล่าง จะทำให้เกิดโรคที่เรียกว่า โรคหอบหืด ถ้าเกิดกับผิวหนังจะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่าลมพิษ นอกจากนั้นโรคภูมิแพ้ยังเกิดขึ้นยังเกิดขึ้นกับส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้อีก เช่น ที่ตา อาจทำให้เกิดตาแดง ตามัว น้ำตาไหล หรือในระบบทางเดินอาหาร ทำให้ท้องเดิน ท้องเสียบ่อย ท้องอืด
      ถาม สถิติการเกิดโรคภูมิแพ้ มีคนเป็นโรคภูมิแพ้กันมากน้อยเพียงใด
      ตอบ โรคภูมิแพ้ใดแต่ละส่วนของโลกมีอุบัติการณ์ที่เกิดแตกต่างกันมากน้อยแล้วแต่สิ่งแวดล้อมและกรรมพันธุ์สำหรับคนไทยนั้นจากการสำรวจขององค์การอนามัยโลกเมื่อปี พ.ศ. 2525 พบว่า คนไทยมีอุบัติการณ์เป็นโรคภูมิแพ้ประมาณ 15-20%
      ถาม อาการของโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยจะจะเกิดกับส่วนใดของร่างกาย
      ตอบ ที่จมูก พบประมาณ 42% ของโรคภูมิแพ้ทั้งหมด รองลงมาคือ ระบบหายใจส่วนล่าง (โรคหอบหืด) พบประมาณ 29 % นอกจากนั้นเป็นโรคภูมิแพ้ที่เกิดในส่วนอื่นๆ
      ถาม โรคภูมิแพ้ทางจมูกแบ่งได้เป็นกี่ชนิด ได้แก่อะไรบ้าง ส่วนใหญ่ที่พบเป็นประเภทใด
      ตอบ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดที่เป็นตลอดปี กับชนิดที่เป็นตามฤดู สำหรับในบ้านเราพบผู้ป่วย ส่วนใหญ่มีอาการหวัดเรื้อรังตลอดทั้งปี พบได้ประมาณ 67% ของผู้ป่วยภูมิแพ้ทางจมูก
      ถาม สาเหตุของอาการแพ้ทางหู คอ จมูก เกิดจากอะไร
      ตอบ เกิดจากการที่เราหายใจเอาสารก่อภูมิแพ้เข้าไป ได้แก่ ฝุ่น เชื้อรา เกสรดอกไม้ เกสรหญ้า ซึ่งปะปนอยู่ในอากาศ สิ่งเหล่านี้เมื่อไปสัมผัสกับเยื่อบุจมูกทำให้เกิดมีอาการคลั่งของสารต่างๆ ออกมา ที่สำคัญคือ ฮึสตามีน ซึ่งทำให้เกิดอาการน้ำมูกไหลและแน่นจมูก เนื่องจากมีอาการบวมของเยื่อบุจมูก
      ถาม สภาพแวดล้อมมีความสำคัญอย่างไรที่จะทำให้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ทางหู คอ จมูก มีอาการมากขึ้น
      ตอบ การเปลี่ยนแปลงลักษณะของอากาศ เช่น อากาศเย็นและอับชื้นจะทำให้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้บางกลุ่มมีอาการมากขึ้น นอกจากนั้น ผู้ป่วยที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีควันบุหรี่และควันจากท่อไอเสียรถยนต์ จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการของโรคภูมิแพ้มากขึ้น
      ถาม อาการเฉพาะของโรคภูมิแพ้ทางจมูกมีอะไรบ้าง
      ตอบ นอกจากจะทำให้มีอาการทางจมูก เช่น จามบ่อย ๆ น้ำมูกไหล ยังทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง คันคอ เจ็บคอ และหูอื้อได้อีกด้วย
      ถาม โรคพวกนี้จะถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์หรือไม่
      ตอบ ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ จากการศึกษาพบว่า ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคภูมิแพ้ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ 50 % ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้ลูกที่เกิดมาจะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ 75 %
      ถาม อาการที่คล้ายกับหวัดจะติดต่อไปยังผู้อื่นได้หรือไม่
      ตอบ โรคภูมิแพ้นี้มีคนให้คำจำกัดความไว้ว่าเป็นโรคส่วนตัว ที่เรียกว่าเป็นโรคส่วนตัว หมายถึง ไม่ติดต่อโดยการอยู่ร่วมกัน ไม่ถ่ายทอดจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคลหนึ่งได้
      ถาม โรคแทรกซ้อนที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยภูมิแพ้ทางหู คอ จมูก ได้แก่ โรคอะไรบ้าง
      ตอบ ที่พบบ่อย คือ เนื้องอกในจมูกที่เรียกว่า ริดสีดวงจมูกอาจมีอาการอักเสบของไซนัสต่างๆ ร่วมด้วยถ้ามีการอุดตันของท่อระบายอากาศของหูชั้นกลางจะทำให้มีอาการหูอื้อได้
      ถาม รักษาให้หายขาดได้หรือไม่
      ตอบ โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ไม่สามารถจะรักษาให้หายขาดได้ จุดประสงค์ในการรักษาก็เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและป้องกันโรคหรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จากโรงภูมิแพ้
      ถาม หลักในการรักษาเป็นอย่างไร
      ตอบ มี 4 ขั้นตอนคือ

      1. แนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้
      2. การรักษาทางยา เช่น ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก
      3. การฉีดยาสร้างภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้
      4. ทำการผ่าตัด ในกรณีที่มีโรคหรือภาวะต่างๆ ที่ร่วมก่ออาการด้วยกัน เช่น ริดสีดวงจมูก เป็นต้น
      ถาม ข้อแนะนำเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้มีอะไรบ้าง
      ตอบ ปัจจุบันการแพทย์ได้เจริญก้าวหน้าอย่างมาก ความทุกทรมานและอันตรายจากโรคภูมิแพ้จะถูกขจัดออกไปได้ถ้าผู้ป่วยและแพทย์ทำความเข้าใจและร่วมมือกันในการรักษา ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาหารือเป็นรายๆไป น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด
      หากสงสัยว่ามีอาการทางร่างกาย เช่น จามบ่อยๆ น้ำมูกไหล อาการไอเรื้อรัง คันคอ เจ็บคอ และหูอื้อ ตาแดง ตามัว น้ำตาไหล ผื่นแดง คัน หรือในระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเดิน ท้องเสียบ่อย ท้องอืด ควรมาปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง โรคภูมิแพ้เป็นโรคเรื้อรังอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว การรักษาอย่างถูกวิธีสามารถยกระดับคุณภาพชีวิต และทำให้ผู้ป่วยเข้าร่วมสังคมได้อย่างปกติ

      โปรแกรมและแพ็คเกจ

      แพคเกจ ทดสอบภูมิแพ้ บนผิวหนัง

      รู้และหลีกเลี่ยงสิ่ง […]

      โรคมือเท้าปาก…ไวรัสร้ายในวัยอนุบาล

      โรคมือเท้าปาก…ไวรัสร้ายในวัยอนุบาล

      Hand-Foot-and-Mouth Disease
                   โรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot Mouth Disease) เป็นโรคที่มักพบการติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็กและในที่อยู่รวมกันอย่างแออัดจะมีโอกาสที่เกิดการระบาดได้ มักระบาดในฤดูฝน แต่บางรายจะมีอาการรุนแรงขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัสที่มีการติดเชื้อ โรคนี้ติดต่อโดยการสัมผัสน้ำลาย น้ำมูก เสมหะ ตุ่มหรือผื่นที่ผิวหนัง ทั้งสัมผัสโดยตรงและสัมผัสเชื้อทางอ้อม
                   โรคมือ เท้า ปากเกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Enteroviruses ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ โรคมือเท้าปาก ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า coxsackie A16 มักไม่รุนแรง เด็กจะหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน ส่วนที่เกิดจาก Enterovirus 71 อาจพบโรครุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น
      การแพร่ระบาด และการติดต่อ
      การติดต่อส่วนใหญ่เกิดจากได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง โรคแพร่ติดต่อง่ายใน ช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย โดยเชื้อไวรัสติดมากับมือหรือของเล่น ที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผล หรืออุจจาระของผู้ป่วยและเกิดจากการ ไอจามรดกันโดยหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายจากละอองฝอยของผู้ป่วย และการติดเชื้อจากอุจจาระ
      อาการของโรค
      อาการมักจะเริ่มด้วยไข้ เบื่ออาหาร ครั่นเนื้อครั่นตัวเจ็บคอ เจ็บในปากกลืนน้ำลายไม่ได้ ทำให้ไม่กินอาหาร  หลังจากไข้ 1-2 วันจะเห็นแผลแดงเล็กๆ ที่ปากโดยเป็นตุ่มน้ำใส ส่วนใหญ่พบที่เพดานอ่อนลิ้น กระพุ้งแก้ม เป็นสาเหตุให้เด็กไม่ดูดนม ไม่กินอาหารเพราะเจ็บในระยะแรกและแตกเป็นแผล ตำแหน่งของแผลมักจะอยู่ที่เพดานปาก หลังจากนั้นอีก 1-2 วันจะเกิดผื่นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ส้นเท้า แขนขา และก้น ผื่นที่มือและเท้า แต่ก็อาจจะเกิดที่แขน ขาและก้น
      อาการที่ต้องเฝ้าระวังซึ่งเป็นสัญญาณอันตราย
      1. มีไข้สูงนานเกิน 2 วัน
      2. อาเจียนมาก
      3. ซึม
      4. มือกระตุกคล้ายผวา
      5. เดินเซ ตากระตุก
      6. เจ็บแผลในปาก จนกินอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ มีภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ปัสสาวะออกน้อย ผิวแห้ง ปัสสาวะสีเข็ม
      7. หายใจหอบเหนื่อย
      ควรรีบไปพบแพทย์เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ หากมีอาการดังที่กล่าวมา ให้รีบพาบุตรหลานพบแพทย์ทันที
      การรักษา
      โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาทาแก้ปวด ในรายมีแผลที่ลิ้น หรือกระพุ้งแก้มผู้ปกครองหรือผู้เลี้ยงดูเด็ก ควรเช็ดตัวเด็กเพื่อลดไข้เป็นระยะ และให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนๆรสไม่จัด ดื่มน้ำและน้ำผลไม้ และนอนพักผ่อนมากๆ

      ปัจจุบันมีวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสเชื้อเอนเตอร์โรไวรัส 71 หรือเรียกสั้นๆ ว่าเชื้อ อีวี 71 ซึ่งเป็นชนิดที่ก่อโรคมือ เท้า ปากรุนแรง โดยสามารถ

      1. ฉีดได้ในช่วงอายุ 6 เดือน - 5 ปี 11 เดือน
      2. ควรได้รับวัคซีน 2 เข็ม โดยเว้นระยะห่างจากเข็มแรก 1 เดือน
      3. เด็กที่หายจากโรคมือ เท้า ปาก ประมาณ 1 เดือน
      4. เด็กที่ได้รับวัคซีนอื่นๆ ต้องเว้นระยะห่าง 2 สัปดาห์ ก่อนเริ่มวัคซีนชนิดใหม่
      การป้องกัน / การควบคุมโรค
      โรคมือเท้าปากจะติดต่อจากคนสู่คนโดยการสัมผัส น้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วย รวมทั้งน้ำจากตุ่ม และอุจจาระ การลดความเสี่ยงของการติดต่อทำได้โดย
      • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับเด็กที่ป่วย
      • ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังเตรียมอาหาร แยกของใช้ส่วนตัว
      • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย ระมัดระวังการไอจามรดกันให้ใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก
      • หลีกเลี่ยงที่มีคนมากและแออัด ไม่ควรนำเด็กเล็กไปในที่ชุมชนสาธารณที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมากๆ เช่น สนามเด็กเล่นและห้างสรรพสินค้า ตลาด สระว่ายน้ำ
      • ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่มีการจับบ่อย เช่น ลูกบิด โทรศัพท์
      • ไม่เล่นของเล่นร่วมกับผู้ป่วย คือ ต้องแยกผู้ป่วย เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และคอยทำความสะอาดพื้น ห้องน้ำ สุขา เครื่องใช้ ของเล่น สนามเด็กเล่น ตลอดจนเสื้อผ้าที่อาจปนเปื้อนเชื้อด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้ทั่วไปภายในบ้าน
      หากมีเด็กป่วยจำนวนมาก ผู้บริหารโรงเรียนหรือผู้จัดการสถานรับเลี้ยงเด็กต้องดำเนินการ ดังนี้
      1. ปิดห้องเรียนที่มีเด็กป่วยหรือปิดทั้งโรงเรียนชั่วคราว (ประมาณ 5 – 7 วัน)
      2. ทำความสะอาดสถานที่เพื่อฆ่าเชื้อโรคบริเวณห้องนํ้า ห้องส้วม สระว่ายนํ้า ครัว โรงอาหารบริเวณที่เล่นของเด็ก สนามเด็กเล่น โดยใช้ผงซักฟอก หรือสบู่ทำความสะอาดก่อน แล้ว ตามด้วยน้ำยาฟอกขาว 1 ส่วนผสมกับน้ำ 30 ส่วน ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วล้าง เช็ด/แช่ ด้วยน้ำสะอาด เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง
      3. ทำความสะอาดของเล่น เครื่องใช้ของเด็กด้วยการซักล้างแล้วผึ่งแดดให้แห้ง
      4. หยุดใช้เครื่องปรับอากาศ เปิดม่านให้แสงแดดส่องให้ทั่วถึง

      โปรแกรมและแพ็คเกจ

      โปรแกรมตรวจสุขภาพสำหรับเด็ก

      โปรแกรมตรวจสุขภาพสำห […]

      วัคซีนปัองกันโรคมือ เท้า ปาก (EV71)

      วัคซีนป้องกันโรคมือเ […]

      รักษานิ่วในถุงน้ำดี ด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง (Laparoscopic Cholecystectomy)

      รักษานิ่วในถุงน้ำดี ด้วยการส่องกล้อง

      Laparoscopic Cholecystectomy
                 ในปัจจุบันการส่องกล้องเพื่อรักษานิ่วในถุงน้ำดี (Gallstone) มีข้อดีหลายอย่าง ได้แก่ ลดความเสี่ยงทางวิสัญญีในการดมยาสลบ แผลผ่าตัดเล็ก ระยะเวลาการพักและฟื้นตัวสั้นสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เร็ว ลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล และ ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
                  นิ่วในถุงน้ำดีเป็นโรคที่สามารถพบและเกิดขึ้นได้ มีอันตรายถึงแก่ชีวิตถ้าไม่รีบรักษา อาการที่พบ ได้แก่ อาหารไม่ย่อย หลังทานอาหารมีอืดแน่นท้อง ปวดใต้ลิ่นปี่หรือชายโครงขวา ถ้าพบว่ามีตัวเหลืองตาเหลืองร่วมด้วย จะเป็นอาการของนิ่วในถุงน้ำดีไหลไปอุดตันที่ท่อน้ำดี และเกิดภาวะท่อน้ำดีอุดตัน
      อาการและความรุนแรงของโรค
      อาการและความรุนแรงของโรคนิ่วในถุงน้ำดีนั้น ในระยะเริ่มต้นอาจจะไม่ค่อยแสดงอาการมากนัก ผู้ป่วยมักจะมาด้วยอาการปวดอืด แน่นท้อง ปวดใต้ลิ้นปี่ หรือปวดชายโครงด้านขวา แต่หากมีถุงน้ำดีอักเสบติดเชื้อ (Acute cholecystitis) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องใต้ชายโครงขวา คลื่นไส้อาเจียน และมีไข้ ร่วมด้วย ถ้าก้อนนิ่วตกลงไปที่ท่อน้ำดีแล้วเกิดภาวะท่อน้ำดีอุดตัน จะพบว่ามีอาการตัวเหลืองตาเหลือง หากมีการอักเสบติดเชื้อขึ้นบริเวณท่อน้ำดีที่อุดตันนั้น อาจเกิดภาวะท่อน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน (Acute cholangitis) หรือ ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (Acute pancreatitis)ได้ อาการปวดท้องจะทุเลาลงถ้านิ่วที่อุดตันนั้น ไหลกลับไปที่ถุงน้ำดี หรือไหลออกไปทางลำไส้เล็ก ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดท้องลักษณะนี้หลายครั้ง จะเป็นอาการเตือนของการมีนิ่วในถุงน้ำดี อาจเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน (Acute cholecystitis) หรือ ภาวะถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง (Chronic cholecystitis) ได้ ซึ่งถ้ามีการอักเสบและติดเชื้อรุนแรงอาจเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดที่อันตรายถึงแก่ชีวิต
      สาเหตุของโรคถุงน้ำดีอักเสบนั้นส่วนมากจะเกิดจากนิ่วในถุงน้ำดี (Gallstone) หรือตะกอนในถุงน้ำดี (Bile sludge) ไหลไปอุดตันทางออกถุงน้ำดี (Cystic duct) จนทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อ
      การรักษา
      การรักษานิ่วในถุงน้ำดีในปัจจุบัน ใช้การผ่าตัดผ่านกล้องที่มีความคมชัดสูง หลังผ่าตัดแผลมีขนาดเล็ก เจ็บแผลน้อย ลดโอกาสการติดเชื้อ และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวไว
      หลังการผ่าตัดถุงน้ำดีนั้นผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เนื่องจากถุงน้ำดีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบน้ำดีที่ทำหน้าที่กักเก็บน้ำดีเท่านั้น โดยน้ำดีจะถูกผลิตจากตับ ดังนั้นเมื่อตัดถุงน้ำดีออกไปผู้ป่วยเพียงแค่ไม่มีที่กักเก็บน้ำดี แต่ยังสามารถย่อยอาหารได้ปกติ ในระยะแรกจะยังไม่สามารถย่อยอาหารพวกไขมันได้ดีเท่าที่ควร ปริมาณไขมันที่ทานต่อมื้อจึงมีผล ถ้าปริมาณไขมันน้อยกว่าจะย่อยได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะช่วงเดือนแรกๆหลังการผ่าตัด ควรรับประทานอาหารที่เหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์ เพิ่มจำนวนมื้ออาหารแต่ละปริมาณในแต่ละมื้อลง จะช่วยให้การย่อยอาหารสมบูรณ์ขึ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป ร่างกายจะปรับตัวให้เข้ากับการไม่มีถุงน้ำดีได้ และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
      หากพบอาการเหล่านี้ เช่น อาหารไม่ย่อย หลังทานอาหารมีอืดแน่นท้อง ปวดใต้ลิ่นปี่หรือชายโครงขวา และพบว่ามีตัวเหลืองตาเหลือง อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน และมีไข้ ร่วมด้วย จะเป็นอาการของนิ่วในถุงน้ำดีไหลไปอุดตันที่ท่อน้ำดี ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรักษาก่อนเกิดโรคร้ายแรง

      โปรแกรมและแพ็คเกจ

      แพ็กเกจผ่าตัดก้อนที่เต้านม (Excision)

      แพ็กเกจผ่าตัดก้อนเนื […]

      “ตับแข็ง และมะเร็งตับ” รู้ก่อน ป้องกันก่อน

      เฝ้าระวังโรคตับตั้งแต่วันนี้…..ป้องกันตับแข็ง และมะเร็งตับ

      Liver Cancer
      ตับเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของร่างกายรองจากผิวหนัง  และมีหน้าที่หลายประการในร่างกาย ได้แก่  การสร้างน้ำดีเพื่อช่วยในกระบวนการย่อยไขมัน การสังเคราะห์โปรตีนไข่ขาวและปัจจัยการแข็งตัวของเลือดในร่างกาย และช่วยกำจัดสารพิษต่างๆ  อย่างไรก็ตามแม้ตับจะเป็นอวัยวะที่จำเป็นต่อร่างกาย  แต่ตับกลับมีเพียงข้างเดียวเช่นเดียวกับหัวใจ  ดังนั้นความเสียหายต่อตับย่อมสร้างความเสียหายต่อร่างกายได้อย่างมาก
      สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะการบาดเจ็บต่อตับหรือตับอักเสบนั้นมีดังนี้คือ
      1. เกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบ โดยเฉพาะชนิดบี และซี
      2. แอลกอฮอล์ ซึ่งมาจากการดื่มสุรา เบียร์
      3. ภูมิต้านทานต่อตับมากผิดปกติ
      4. สารพิษต่างๆ
      5. ไขมันเกาะตับ
      6. พันธุกรรม
      7. ภาวะธาตุเหล็กเกิน
      8. เส้นเลือดที่เกี่ยวข้องกับตับผิดปกติ
      ในส่วนของอาการนั้นหากการบาดเจ็บของตับยังมีไม่มากผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการอะไรหรือมีเพียงอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร  หรือคันโดยเฉพาะปลายมือปลายเท้าเท่านั้น และจะวินิจฉัยได้เมื่อพบความผิดปกติจากการตรวจเลือดเท่านั้น  แต่หากการบาดเจ็บของตับทวีความรุนแรงมากขึ้นผู้ป่วยถึงจะเริ่มมีภาวะแทรกซ้อนของโรคตับ  คือ ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องบวมโต  ขาบวม อาเจียนเป็นเลือด  อาการสับสนจากการมีสารพิษคั่งในร่างกาย  ผู้ป่วยในระยะนี้มักจะมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี  บางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการเปลี่ยนตับ
      การวินิจฉัยโรคตับ
      การวินิจฉัยโรคตับตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นเป็นสิ่งที่จำเป็น  เพื่อป้องกันไม่ให้มีการทำลายของตับอย่างเรื้อรังหรือรุนแรง จนเกิดภาวะตับแข็ง ตับวาย รวมทั้งมะเร็งตับตามมา ซึ่งเป็นระยะที่รักษาให้หายขาดได้ยาก และก่อให้เกิดทุพพลภาพเป็นอย่างมาก  ดังนั้นหากเป็นไปได้บุคคลทุกคนควรได้รับการตรวจสุขภาพตับเป็นระยะ โดยเฉพาะผู้ที่มีความอาการหรือเสี่ยงดังต่อไปนี้
      1. มีอาการที่บ่งชี้ถึงโรคตับ ได้แก่ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องบวมโต ขาบวม อาเจียนเป็นเลือด อาการสับสน
      2. มีพฤติกรรมหรือประวัติเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นโรคตับ ได้แก่ ดื่มเหล้า สุรา มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันหรือมีเพศสัมพันธ์กับหลายบุคคล ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น  เคยสัก  เคยได้รับเลือดมาก่อน  รับประทานยาที่อาจก่อให้เกิดพิษต่อตับ เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ ยาสมุนไพร
      3. มีภาวะหรือโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคตับ ได้แก่ ภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง
      4. มีประวัติครอบครัวเป็นโรคตับอักเสบ ตับแข็ง หรือมะเร็งตับ

      โรคตับเป็นโรคที่รักษาได้หากวินิจฉัยตั้งแต่ระยะเริ่มต้น  ซึ่งการรักษาก็จะช่วยป้องกันไม่ให้ตับที่ดีกลายเป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับในอนาคต  ดังนั้นอย่ารอช้าที่จะมาดูแลสุขภาพของตับกันนะครับ

      โปรแกรมและแพ็คเกจ

      โปรแกรมคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งตับ
      Promotion ชุดตรวจสุขภาพ ลด 20%