จอประสาทตาหลุดลอก

จอประสาทตาหลุดลอก

Retinal Detachment
เป็นอาการที่รุนแรงและส่งผลต่อการมองเห็น โดยเกิดขึ้นเมื่อจอประสาทตาแยกออกจากเนื้อเยื่อที่ยึดอยู่ภายใต้จอประสาทตา เมื่อเนื้อเยื่อเหล่านี้แยกออกจากจอประสาทตา จะทำให้จอประสาทตาไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ และหากปล่อยไว้โดยไม่มีการรักษาก็จะส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นในที่สุด
โรคจอประสาทตาหลุดลอกชนิดที่พบได้มากที่สุด เกิดขึ้นเมื่อมีรอยแยกในเนื้อเยื่อชั้นที่รับความรู้สึกของจอประสาทตา ทำให้ของเหลวไหลซึมออกมา ส่งผลให้ชั้นเนื้อเยื่อของจอประสาทตาหลุดออกจากกัน สำหรับผู้ที่มีสายตาสั้นมาก และเคยได้รับการผ่าตัดตา หรือเคยได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงที่ดวงตา มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นโรคจอประสาทตาหลุดลอก ผู้ที่มีสายตาสั้นมีโอกาสเป็นโรคจอประสาทตาหลุดลอกได้มากกว่า เนื่องจากผู้ที่มีสายตาสั้นจะมีความยาวของลูกตามากกว่าปกติ ทำให้จอประสาทตาบางและเปราะกว่าปกติ โรคจอประสาทตาหลุดลอกอีกชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อเส้นของวุ้นในตา หรือเนื้อเยื่อแผลเป็นทำให้เกิดการดึงรั้งบนจอประสาทตา ทำให้เกิดการหลุดลอก ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคจอประสาทตาชนิดนี้ได้
อาการของโรคจอประสาทตาหลุดลอก
  1. มองเห็นแสงฟ้าแล่บคล้ายไฟแฟลชกล้องถ่ายรูป
  2. มีสิ่งบดบังในการมองเห็น
  3. มองเห็นเหมือนมีอะไรลอยไปมา มีลักษณะเป็นจุดหรือใยแมงมุม
  4. การมองเห็นเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว
การตรวจพบในระยะเริ่มต้น เป็นวิธีการรักษาการหลุดลอก และการฉีกขาดของจอประสาทตาได้ดีที่สุด การทราบถึงคุณภาพของการมองเห็นของท่านเองเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด โดยเฉพาะหากท่านอยู่ในกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงสูง เช่น มีสายตาสั้น หรือเป็นโรคเบาหวาน หากท่านสังเกตพบอาการเหล่านี้ ควรไปพบจักษุแพทย์โดยทันที

โปรแกรมและแพ็คเกจ

Promotion ชุดตรวจสุขภาพ ลด 20%

ท่อระบายน้ำตาอุดตันหรือน้ำตาไหล

ท่อระบายน้ำตาอุดตันหรือน้ำตาไหล

ปกติแล้วน้ำตาจะถูกสร้างมาจากต่อมน้ำตาหลักที่อยู่ในเบ้าตาด้านบน และต่อมน้ำตาย่อยที่กระจายอยู่บริเวณเยื่อตาขาว น้ำตามีประโยชน์ต่อดวงตาเป็นอย่างมาก โดยในภาวะปกติดวงตาของเราจะมีน้ำตามาเคลือบไว้อยู่ระดับหนึ่งตลอดเวลาอยู่แล้ว ไว้คอยให้ความชุ่มชื้นต่อดวงตา หล่อลื่นเวลากระพริบตา และช่วยให้การหักเหของแสงเป็นไปอย่างราบรื่นแม่นยำ ทำให้เรามองเห็นภาพชัดเจนตลอดเวลา
น้ำตาที่ถูกสร้างออกมานี้จะถูกระบายออกไปทางท่อน้ำตาที่อยู่บริเวณหัวตา ซึ่งท่อระบายนี้จะไปเปิดในโพรงจมูกข้างเดียวกัน จะเห็นได้ว่าในภาวะที่มีการสร้างน้ำตามากเช่นเวลาเราร้องไห้ จะมีน้ำมูกไหลลงคอด้วย ซึ่งความจริงเป็นน้ำตาที่ถูกระบายผ่านทางท่อน้ำตาเข้าสู่โพรงจมูกนั่นเอง
นอกจากความโศกเศร้าเสียใจที่ทำให้เราต้องเสียน้ำตาแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เรามีปัญหาเกี่ยวกับน้ำตาเอ่อ น้ำตาคลอ น้ำตาไหล จนเป็นที่น่ารำคาญและเสียบุคลิกภาพในการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก
โดยสาเหตุหลักจะจะแบ่งได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆคือ
1.น้ำตาถูกสร้างออกมามากกว่าปกติ
คือภาวะที่มีการกระตุ้นเส้นประสาทรับรู้ความรู้สึกบริเวณดวงตาหรือรอบๆดวงตา หรือภาวะที่ทำให้มีการระคายเคืองต่อดวงตา เช่น ผงฝุ่นละอองเข้าตา ต้อลม ต้อเนื้อ ขนตาเก หรืออยู่ในที่ที่มีสภาวะอากาศแห้ง ลมแรง ก็ทำให้กระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำตาออกมามากกว่าปกติได้
2.น้ำตาถูกระบายออกไม่ได้
คือภาวะที่มีการตีบตันของท่อระบายน้ำตา เป็นได้ตั้งแต่รูเปิดของท่อน้ำตาบริเวณหัวตาไปจนถึงท่อน้ำตาที่อยู่ในโพรงจมูก สาเหตุของการตีบหรืออุดตันของทางเดินน้ำตาอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อของทางระบายน้ำตา การใช้ยาหยอดบางอย่างเป็นระยะเวลานาน อายุที่มากขึ้น หรืออาจจะเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ การที่ท่อทางเดินระบายน้ำตาอุดตัน เหมือนกับท่อระบายน้ำอุดตัน ทำให้น้ำขังในบ้าน ถ้ามีขยะของเสียก็จะส่งกลิ่นเหม็นฟุ้งเต็มบ้าน ดวงตาเราก็เหมือนกัน เมื่อท่อน้ำตาอุดตัน อาจจะทำให้มีการติดเชื้อที่จะทำให้เกิดเยื่อตาอักเสบหรือถุงน้ำตาอักเสบเป็นภาวะแทรกซ้อนขึ้นมาได้
การรักษา
จักษุแพทย์ก็จะทำการตรวจสุขภาพของดวงตาว่ามีระดับน้ำตามากผิดปกติจริงหรือไม่ ถ้ามีมากกว่าปกติจริง ก็จะทำการตรวจหาสาเหตุว่ามีอะไรกระตุ้นเส้นประสาทรับความรู้สึกที่จะทำให้มีการหลั่งน้ำตาออกมามาก ถ้ามีสาเหตุเหล่านี้ก็รักษาไปตามต้นเหตุ เช่นมีเศษฝุ่นผงหรือขนตาติดอยู่ในเยื่อตา ก็จัดการเอาออก หรือพบว่าเป็นต้อลมต้อเนื้อ รักษาโดยยาหยอดตาและแนะนำให้หลีกเลี่ยงฝุ่น ลม แสงแดดเป็นต้น
แต่ถ้าไม่พบสาเหตุใดๆที่จะกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำตาออกมามากกว่าปกติ จักษุแพทย์ก็จะทำการตรวจดูระบบการระบายน้ำตาว่าสามารถระบายน้ำตาออกสู่โพรงจมูกได้ตามปกติหรือไม่ เช่นการล้างท่อน้ำตา(irrigation)และการแยงท่อน้ำตา(probing)ดูว่าระบายน้ำเกลือที่ฉีดเข้าไปในทางเดินน้ำตาลงไปยังโพรงจมูกได้ปกติดีหรือไม่ เมื่อพบว่ามีการอุดตันตำแหน่งไหนในระบบทางระบายน้ำตา ก็ทำการผ่าตัดรักษาไปตามตำแหน่งที่อุดตันนั้นๆต่อไป

โปรแกรมและแพ็คเกจ

Q & A สารพันคำถามเกี่ยวกับโรคต้อกระจก

สารพันคำถามเกี่ยวกับโรคต้อกระจก

Q & A Cataract
เลนส์แก้วตา (Lens) เป็นเลนส์นูนใสอยู่หลังม่านตา มีลักษณะเหมือนเลนส์นูนทั่วไปทั้งด้านหน้า และด้านหลัง โดยด้านหน้าแบนกว่าด้านหลัง มีความหนาประมาณ 5 ม.ม. เส้นผ่าศูนย์ กลาง 9 ม.ม. ทำหน้าที่ร่วมกับกระจกตาในการหักเหแสงจากวัตถุให้ตกโฟกัสที่จอประสาทตา จึงทำให้เกิดการมองเห็น  เมื่อเลนส์แก้วตาเสื่อม แทนที่จะใสกลับขุ่น แก้วตาที่ขุ่นลงนี้ ส่งผลให้กำลังหักเหของแสงผิดไป ตลอดจนขัดขวางไม่ให้แสงเข้าตา ผู้นั้นจึงมองเห็นภาพไม่ชัด นั่นคือโรคที่เรียกกันว่า “ต้อกระจก”
ถาม โรคต้อกระจกเกิดกับช่วงอายุใดบ้าง
ตอบ โรคต้อกระจกเกิดได้ทุกวัยตั้งแต่แรกเกิด เพราะมีสาเหตุการเกิดได้หลายอย่างเช่น เด็กแรกเกิดในแม้ที่เป็นหัดเยอรมัน อุบัติเหตุ โรคเบาหวาน แต่โดยทั่วไปที่พบเป็นปกติคือการเสื่อมของเลนส์แก้วตาในผู้ป่วยสูงอายุ หากไม่แน่ใจว่าอาการตามัวเกิดจากโรคต้อกระจกหรือไม่ แนะนำตรวจกับจักษุแพทย์จะได้รับการวินิจฉัยที่แน่นอนที่สุด
ถาม ต้อกระจกถ้าทิ้งไว้นานจะทำให้ตาบอดได้หรือไม่
ตอบ ต้อกระจกถือเป็นปัญหาทางสาธารณสุขอันดับหนึ่งของประเทศไทยที่สูญเสียการมองเห็นระดับรุนแรง ผู้ป่วยจะตามัวลงเรื่อยๆจนเกิดอาการต้อหินแทรกซ้อนได้ จึงไม่ควรทิ้งไว้จนต้อกระจกแข็งหรือ สุก หากปล่อยต้อกระจกสุกจะทำให้เกิดการอักเสบรุนแรงในตา นำไปสู่โรคต้อหินแทรกซ้อนซึ่งจะทำให้ปวดตา และมองไม่เห็นในที่สุด
ถาม โรคต้อกระจกสามารถใช้ยาหยอดรักษาให้หายได้จริงหรือไม่
ตอบ ปัจจุบันการใช้ยาหยอดเพื่อชะลอหรือทำให้ต้อกระจกหายไปนั้น ไม่ได้รับการยอมรับแล้ว ยาดังกล่าวไม่ได้ชะลอหรือทำให้หายได้ ถ้าได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นต้อกระจก ในกรณีที่ต้อกระจกยังไม่มากและผู้ป่วยยังไม่พร้อมทำ ก็สามารถรอได้ แต่ถ้าต้อกระจกเป็นมาก สมควรทำแล้วก็แนะนำให้ทำเนื่องจากการทิ้งไว้นานทำให้ต้อกระจกแข็งมากขึ้นและยากต่อการสลายต้อกระจก
ถาม การผ่าตัดต้อกระจก (ECCE) และสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียง (Phacoemulsification) ต่างกันอย่างไร
ตอบ การผ่าตัดต้อกระจก ECCE เป็นวิธีที่มีมาก่อนการใช้คลื่นเสียงสลายต้อกระจก ต้องฉีดยาชา แผลใหญ่เพราะเอาเลนส์แก้วตาขุ่นออกมาทั้งหมดทางแผล ขนาด 8-10 มม. ต้องเย็บแผลด้วยไหมขนาดเล็กมาก ทำให้เกิดสายตาเอียง เหมาะสำหรับประเทศที่ไม่มีเครื่องสลายต้อกระจก หรือ ต้อกระจกทิ้งไว้นานจนเครื่องสลายไม่สามารถสลายได้ ค่าใช้จ่ายถูกกว่า ส่วนการสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงเป็นวิธีรักษาที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ใช้เพียงยาชาหยอดตา ยกเว้นในรายที่ผู้ป่วยกลัวมาก หรือมี โรคแทรกซ้อนการฉีดยาชา อาจจำเป็นเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างทำได้ แผลเล็กมากตั้งแต่ 1.8 - 3.0 มม. ขึ้นอยู่กับเครื่องมือและทักษะของแพทย์ผู้รักษา ส่วนใหญ่แผลไม่ต้องเย็บเพราะเล็กมากใช้เวลาการรักษา 5 – 25 นาทีขึ้นกับทักษะของแพทย์ผู้รักษา สามารถฟื้นกลับมาเห็นได้ดีภายใน 6 ชั่วโมง ข้อด้อยคือถ้าทิ้งต้อกระจกไว้นานจนเลนส์แข็งจนเป็นสีดำ หรือสุก เครื่องไม่สามารถสลายได้ ต้องการทักษะของผู้ทำการรักษาสูง และค่าใช้จ่ายมากกว่าการผ่าตัด ECCE เล็กน้อย
ถาม เลนส์แก้วตาเทียมมีกี่ชนิด และแต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไร
ตอบ ชนิดของเลนส์แก้วตาเทียม ชนิดแข็ง 5.25 – 7 มม. วัสดุ PMMA เหมาะสำหรับการผ่าตัด ECCE หรือการฝังเลนส์แบบไม่ใส่ในถุงหุ้มเลนส์แก้วตาเทียม เลนส์ชนิดนิ่มพับได้ ผ่านแผลเล็กขนาด 1.8 – 3.0 มม. เหมาะสำหรับการสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียง เลนส์ชนิดแก้สายตาเอียง(Toric IOL) เหมาะสำหรับผู้ที่มีสายตาเอียงมากเช่น 2.0 D ขึ้นไป เลนส์สำหรับมองไกลและอ่านหนังสือ (Multifocal IOL) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องการมองไกลและมองใกล้โดยไม่ต้องใช้แว่นอ่านหนังสือ แต่ทั้งนี้การเลือกชนิดของเลนส์แก้วตาเทียมควรขึ้นอยู่กับการปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเป็นรายๆไปว่าผู้ป่วยเหมาะสมหรือไม่ต่อเลนส์ชนิดนั้น
ถาม การผ่าตัดต้อกระจกจะทำให้สายตาสั้น ยาว เอียงหายไปได้หรือไม่
ตอบ การผ่าตัดหรือการสลายต้อกระจก เพื่อเอาเลนส์แก้วตาที่ขุ่นมัวออก และใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าทดแทนตำแหน่งเลนส์ธรรมชาติ ซึ่งเลนส์แก้วตาเทียมจะแก้ไขภาวะสายตา สั้น ยาว เอียงได้
ถาม ถ้าเป็นโรคต้อกระจกและโรคต้อหินจะสามารถผ่าตัดโรคต้อหินได้หรือไม่
ตอบ สามารถผ่าตัดต้อกระจกได้ โดยอาจทำให้โรคต้อหินชนิดมุมม่านตาปิด ดีขึ้นด้วย และเนื่องด้วยการผ่าตัดที่ทันสมัยมากขึ้นบางกรณีสามารถที่จะทำผ่าตัดทั้งโรคต้อกระจกและโรคต้อหิน ในการผ่าตัดครั้งเดียวกันได้โดยช่วยให้ผู้ป่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้และปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้ก่อนการผ่าตัดจักษุแพทย์ผู้รักษาจะให้คำแนะนำที่ชัดเจนได้
ถาม โรคต้อกระจกป้องกันได้หรือไม่
ตอบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคต้อกระจก คือผู้สูงวัย อายุเกิน 50 ปีขึ้นไป สาเหตุเกิดจากความเสื่อมของเลนส์แก้วตา จึงไม่มีตัวยากิน หรือ ยาหยอดตา เพื่อชะลอหรือทำให้ต้อกระจกหายไปได้ แม้ว่าสมัยก่อนจะเชื่อว่ายาหยอดตาเพื่อช่วยชะลอต้อกระจก แต่ปัจจุบันจักษุแพทย์ส่วนใหญ่ไม่ยอมรับกันแล้ว
อย่างไรก็ตาม ดวงตาเป็นสิ่งสำคัญที่เราทุกคนไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออายุเริ่มมากขึ้น โอกาสที่ดวงตาจะถูกคุกคามก็ยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หากเราไม่ต้องการให้บั้นปลายชีวิตต้องจมอยู่กับความเลือนลางในการมองเห็น การหันมาใส่ใจดูแลดวงตา และพบจักษุแพทย์ทุกๆ 1-2 ปี เพื่อตรวจสุขภาพตา ก็คือสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม

โปรแกรมและแพ็คเกจ

ต้อกระจกเป็นโรคความเสื่อมทางธรรมชาติ

โรคต้อกระจกเป็นโรคความเสื่อมทางธรรมชาติ

cataract surgery
มองไม่ชัด❗️ ตาขุ่นมัว❗️เป็นเบาหวาน❗️ หากมีอาการเหล่านี้ คุณอาจเสี่ยงเป็นโรคต้อกระจก
หากคุณมีอาการหรือพบสัญญาณเตือน อย่านิ่งนอนใจ
โรคต้อกระจกเป็นโรคความเสื่อมทางธรรมชาติจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง คนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปก็สามารถเป็นโรคต้อกระจกได้ แต่วัยที่เราพบมากสุด คือ 60 - 70 ปีขึ้นไป

โปรแกรมและแพ็คเกจ

โปรแกรมลดปวดด้วย Shockwave

การรักษาอาการปวดด้วย […]

โปรแกรม Office Syndrome ออฟฟิศ ซินโดรม

เลือกโปรแกรมที่เหมาะ […]

ฝังเข็มรักษาโรค

การฝังเข็ม (Acupunct […]

คำแนะนำการสลายต้อกระจก

คำแนะนำการสลายต้อกระจก

PHACOEMULSIFICATION
คือภาวะเลนส์แก้วตาขุ่น มีสายตาฝ้ามัว ทำให้แสงผ่านเข้าไปยังจอประสาทตาได้น้อยลง สายตาจึงเริ่มมีอาการมัว ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นไม่ชัดเจน พบมากในผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไปและผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจะมีภาวะเสี่ยงที่จะเกิดต้อกระจกได้เร็วขึ้นกว่าคนทั่วไป
อาการ
  • สายตามัวเหมือนมีฝ้าหรือหมอกมัว
  • เห็นภาพซ้อน สายตาพร่า สู้แสงไม้ได้
  • อ่านหนังสือไม่ชัด แม้จะใส่แว่นตาช่วย
  • หากทิ้งไว้นาน อาจเกิดโรคต้อหินแทรกซ้อน ทำให้ปวดตา และตาบอดได้
การรักษาต้อกระจก
เมื่อสายตามัวลงไม่สะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติแล้ว ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยดวงตาจากจักษุแพทย์โดยละเอียดเพื่อให้ทราบแน่ชัดว่าต้อกระจกเป็นสาเหตุเดียว ที่ทำให้สายตาขุ่นมัวหรือมีโรคอื่นแทรกด้วย
สำหรับการสลายต้อกระจก ด้วยคลื่นความถี่สูง จักษุแพทย์จะใช้เวลาในการรักษา 20 – 30 นาทีแพทย์จะเปิดช่องเล็กประมาณ 2.75 – 3.0 ม.ม. ที่ขอบกระจกตาเพื่อสอดเครื่องมือสลายต้อเข้าไปไว้ที่ตัวต้อกระจก แล้วปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อสลายต้อกระจกเป็นอณูเล็กๆ แล้วดูดออกมา เหลือไว้แต่เปลือกหลังของเลนส์แก้วตา เพื่อเป็นถุงใส่เลนส์แก้วตาเทียมแทน แผลที่เกิดจากการรักษาวิธีนี้มีขนาดเล็กมาก จึงสมานตัวได้เป็นปกติอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเย็บ ผู้ป่วยสามารถมองเห็นได้ชัดขึ้นทันทีในวันรุ่งขึ้น
เลนส์แก้วตาเทียม
คืออวัยวะเทียมที่สามารถทำให้ผู้ป่วยมองเห็นได้ มีให้เลือกหลายชนิด
  1. ชนิดโฟกัสระยะเดียว (Monofocal) จะช่วยให้มองเห็นระยะไกลชัดเจนแต่มองใกล้ต้องใช้แว่นอ่านหนังสือ
  2. ชนิดโฟกัสหลายระยะ (Multifocal) อาศัยเทคโนโลยีที่ใหม่เรียกว่า Apodized diffractive จะช่วยให้มองเห็นได้ทั้งไกล กลาง ใกล้ โดยไม่ต้องใช้แว่น
  3. ชนิดแก้สายตาเอียง (Toric) ออกแบบให้มีความโค้งด้านหลังเลนส์ไม่เท่ากันในแนวตั้งและแนวนอน เพื่อชดเชยความโค้งของกระจกตาที่ไม่เท่ากันของผู้ที่มีภาวะสายตาเอียงที่กระจกตา จะช่วยให้มองเห็นในระยะไกลโดยไม่ต้องใช้แว่น
ข้อควรปฏิบัติก่อนสลายต้อกระจก
  1. ฝึกหัดนอนราบ ไม่หนุนหมอนคลุมโปง เพื่อให้เคยชินจะได้ไม่รู้สึกอึดอัด
  2. พักผ่อนเต็มที่ เพื่อความแข็งแรงของร่างกาย
  3. ควรชำระร่างกายและสระผมให้สะอาดสุภาพสตรีไม่ควรแต่งหน้า สุภาพบุรุษไม่ใส่น้ำมันใส่ผมสวมเสื้อผ้าที่ใส่สบายไม่ใส่เครื่องประดับ
  4. รับประทานอาหารที่ย่อยง่ายจะได้ไม่อึดอัดหลังรับประทานอาหารควรแปรงฟัน หรือ บ้วนปากให้สะอาด
  5. ยาที่รับประทานหรือใช้เป็นประจำ ควรปรึกษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พร้อมแจ้งชนิดยาที่แพ้ให้เจ้าหน้าที่ทราบ
  6. นำญาติที่ต้องดูแลผู้ป่วยมาด้วย 1 ท่าน
หมายเหตุ : กรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถมาได้ตามวันเวลาที่นัดไว้ โปรดโทรศัพท์ติดต่อเจ้าหน้าที่ให้ทราบอย่างน้อย 3 วัน
การปฏิบัติตัวขณะสลายต้อกระจก
  1. ระหว่างทำควรนอนนิ่งๆ ไม่ส่ายหน้าหรือสั่นศีรษะ นอนปล่อยตัวตามสบายไม่นอนเกร็ง
  2. ถ้ารู้สึกว่าต้องการไอหรือจามควรบอกให้แพทย์ทราบทันที เพื่อจะนำเครื่องมือออกจากตาก่อน
  3. บางรายที่ได้รับยาระงับความรู้สึกด้วยการหยอดยาชาเฉพาะที่ ควรให้ความร่วมมือกลอกตาไปซ้ายหรือขวาตามที่แพทย์บอก
อาการผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์ทันที หลังการสลายต้อกระจก
  • มีอาการปวดตามมาก ตามัวลง ตาแดง ขี้ตามากผิดปกติ หนังตาบวมแดง
  • มีเลือดออกที่บริเวณตาขาว หรือ ตาดำ
  • มีอาการเคืองตาผิดปกติ น้ำตาไหลมาก
การปฏิบัติตัวหลังการสลายต้อกระจก
  • เดินนั่ง พูดคุย ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ และทำกิจวัตรประจำวันที่ไม่ต้องออกแรงมากได้ตามปกติ
  • ไม่ให้น้ำเข้าตา 3 สัปดาห์ โดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดหน้าแทนการล้างหน้า บริเวณรอบตาใช้สำลี และน้ำเกลือเช็ดแทนการล้างหน้าอย่างน้อยวันละครั้ง
  • หยอดตา และรับประทานยาตามแพทย์สั่ง วิธีหยอดตาควรล้างมือให้สะอาด เงยหน้าขึ้น ลืมตามองข้างบน ดึงเปลือกตาล่างลง ทำให้ เกิดแอ่งระหว่างเปลือกตาและลูกตาหยอดยาลงไป 1 หยด แล้วหลับตาสักครู่ ( กรณีที่มียาหยอดยาตามากกว่า 1 ชนิด ให้เว้นช่วงห่างกันอย่างน้อย 10 นาที )
  • ใส่แว่นกันแดดเวลาออกกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงฝุ่นและลม
  • พบจักษุแพทย์ตามนัด ในครั้งต่อไปเพื่อติดตามผล

โปรแกรมและแพ็คเกจ

อาหารบำรุงสายตา

อาหารบำรุงสายตา

ดวงตาเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่รับความรู้สึกด้านการมองเห็น เราใช้ดวงตาตั้งแต่เกิด อาจละเลยไม่ใส่ใจสุขภาพดวงตาเท่าที่ควร เราใช้ดวงตาวันละ 16 ชั่วงโมง ประมาณปีละ 5,760 ชั่วโมง ดังนั้นอาการเสื่อมสุขภาพตาจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สามารถชะลอได้ หากเรารู้วิธีการป้องกัน และรู้จักสารอาหารที่จะเข้าไปฟื้นฟูสภาพหรือบำรุงเซลล์ต่างๆ ภายในดวงตา ความผิดปกติทางสายตาสามารถป้องกันและรักษาได้ หากเรารู้วิธีการป้องกันความเสื่อมและรับประทานสารอาหารที่สามารถชะลอการเสื่อมของดวงตาให้มากขึ้น อาจเป็นไปได้ที่จำนวนผู้ป่วยหรือพิการทางสายตาจะลดลง
การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และหลากหลายก็เพียงพอกับสุขภาพที่ดีของตา การขาดวิตามินเอจะทำให้มีปัญหาตามัวตอนกลางคืนและตาแห้งได้ แต่มักจะพบในผู้ที่ขาดอาหารอย่างมาก ซึ่งก็จะขาดสารอาหารประเภทอื่นด้วย เช่น โปรตีน วิตามิน เกลือแร่อื่นๆ ไม่ใช่พบในผู้ที่รับประทานอาหารในชีวิตตามปกติ
ดังนั้น เราควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่และหลากหลาย โดยเฉพาะพวกพืชผักผลไม้และปลา งดสูบบุหรี่ รักษาตัวไม่ให้อ้วน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยลดโอกาสเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุและช่วยบำรุงสุขภาพตาของเรา โดยไม่จำเป็นต้องหาอาหารเสริมอื่นๆ ควรสังเกคสภาพดวงตาและตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอ

โปรแกรมและแพ็คเกจ

การรักษาต้อหิน

ต้อหิน

Glaucoma
โรคต้อหินเป็นโรคของดวงตาชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากความเสื่อมของประสาทตา เป็นประสาทที่เชื่อมระหว่างตากับสมอง (Optic Nerve) หรือการที่เส้นประสาทตาถูกทำลาย สาเหตุมักเกิดจากความดันในลูกตาสูง ทำให้สูญเสียการมองเห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเริ่มจากบริเวณรอบนอกก่อน แต่ยังสามารถเห็นวัตถุที่วางอยู่ตรงหน้าได้ชัดเจน แต่จะมองไม่เห็นวัตถุที่อยู่ด้านข้าง เมื่อมีอาการมากขึ้น การมองเห็นก็จะค่อยๆแคบลงและตาบอดในที่สุด สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
ต้อหินแบ่งได้เป็น 2  ประเภทคือ
  1. ต้อหินแบบมุมเปิด พบได้บ่อย เกิดจากลักษณะการอุดตันที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้นอย่างช้าๆ จึงไม่มีอาการเจ็บปวดแต่ประสาทตาจะถูกทำลายไปทีละน้อย การสูญเสียการมองเห็นจะเกิดขึ้นเมื่อเป็นโรคนี้ในระยะเวลานาน และมักเป็นกับตา 2 ข้าง
  2. ต้อหินแบบมุมปิด ทำให้ของเหลวในลูกตาไหลออกจากตาไม่ได้  ความดันลูกตาจึงสูงขึ้น อาจมีอาการแบบเฉียบพลัน โดยมีอาการปวดตารุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะในข้างที่มีต้อหินเฉียบพลัน ตามัวลง มองเห็นสีรุ้งรอบดวงไฟ ตาแดง และต้อหินชนิดมุมปิดนี้อาจมีอาการเรื้อรังได้ ไม่ปวดตาแต่ตรวจพบความดันลูกตาสูงและการมองเห็นแคบลง ต้อหินมุมปิดมักพบในชาวเอเชีย
ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นต้อหิน
  • มีกรรมพันธุ์ในครอบครัวเป็นโรคต้อหินมุมเปิด
  • ผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง  โรคหลอดเลือดอักเสบ
  • ผู้ที่มีสายตาสั้นมากๆ
  • ผู้ที่เคยผ่าตัดหรือได้รับอุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตา
  • การใช้ยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์มาเป็นเวลานาน
การวินิจฉัย
  1. Tonometry เป็นการวินิจฉัยที่ไม่เจ็บเพื่อวัดความดันในลูกตา
  2. Opthalmoscopy เป็นการใช้เครื่องมือเพื่อช่วยให้มองเห็นเส้นประสาทตาในลูกตา
  3. Visual Field Testing เป็นการวัดประสิทธิภาพของงานสายตาซึ่งสัมพันธ์กับความเสื่อมของประสาทตา
  4. Gonioscopy เป็นการตรวจช่องทางการไหลของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา
การรักษาโรคต้อหิน
  1. การใช้ยาหยอดตาและกินยาลดความดันลูกตา สำหรับผู้ที่เป็นต้อหินระยะเริ่มแรกที่ความดันลูกตายังไม่สูงมาก
  2. การรักษาด้วยการยิงเลเซอร์ขึ้นอยู่กับชนิดต้อหินที่เป็น หลักการเพื่อช่วยทำให้มุมม่านตาระบายน้ำออกจากลูกตาได้ดีขึ้น ความดันตาจะได้ลดลง
  3. การผ่าตัดจะเป็นการช่วยลดความดันในลูกตา โดยทำช่องทางระบายน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาไหลออกกว้างขึ้น หรือทำช่องทางเดินระบายน้ำใหม่ให้น้ำหล่อเลี้ยงลูกตาไหลออกได้  ปัจจุบันการใช้ยารักษาต้อหินด้วยยาหยอดตาเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด และนิยมมากที่สุด
การมีส่วนร่วมในการรักษาต้อหิน
  1. ใช้ยาหยอดยาหรือรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
  2. ไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อวัดความดันลูกตาเป็นระยะๆ เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของโรค
  3. ปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อพบผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยา
การป้องกัน
  1. หลีกเลี่ยงการโดนลมบ่อยๆ ฝุ่นละออง แสงแดด  ความร้อน ควรสวมแว่นตากันแดดที่ป้องกันแสง UV เมื่อออกกลางแจ้ง ที่ที่ต้องเจอลมบ่อยๆ หรือ ที่แสงแดดจัดๆ
  2. สวมหน้ากากป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเลตขณะทำงานเชื่อมโลหะ

โปรแกรมและแพ็คเกจ

เบาหวานขึ้นตา

เบาหวานขึ้นตา

Diabetic Retinopathy
คือ ภาวะที่น้ำตาลในเลือดสูงในผู้ป่วยเบาหวาน ทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ไต หัวใจ เส้นประสาทและเส้นเลือดทั่วร่างกาย เบาหวานในจอประสาทตาเกิดจากการทำลายเส้นเลือดฝอยที่จอประสาทตา ซึ่งเป็นตัวรับข้อมูลภาพที่เรามองเห็นเพื่อส่งต่อไปยังสมอง ทำให้เกิดตามัวและตาบอดตามมา
ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของจอประสาทตา
  • ระยะที่ 1 เส้นเลือดฝอยในจอประสาทตามีการโป่งพอง มีเลือด มีน้ำเหลือง ไขมันซึมออกจากเส้นเลือดและมีเส้นเลือดอุดตัน ทำให้จอประสาทตาขาดเลือด ขาดสารอาหาร และออกซิเจนในบางแห่ง
  • ระยะที่ 2 หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงจากระยะที่ 1 แล้ว บริเวณที่ขาดเลือดไปเลี้ยงจะส่งสัญญาณให้ร่างกายสร้างหลอดเลือดฝอยใหม่เพื่อลำเลียงสารอาหารไปเลี้ยงเส้นเลือดให้ที่เกิดใหม่นี้เปราะบาง และผิดปกติทำให้เลือดออกในจอประสาทตาและเข้าไปในน้ำวุ้นลูกตาทำให้สายตาเสียจนในที่สุดเกิดเยื่อพังผืดคลุมประสาทตา เป็นเหตุให้ตาบอดในที่สุด
อาการของเบาหวานขึ้นจอประสาทตา
เบาหวานในจอประสาทตาอาจดำเนินโรคไปจนถึงขั้นรุนแรงโดยไม่แสดงอาการใดๆ เลยก็ได้ หรืออาจมีอาการ เช่น ตามัว มองเห็นภาพตรงบิดเบี้ยว เห็นเป็นจุดดำ หรือเป็นเส้นผมลอยไปมาอยู่ในสายตา มองเห็นไม่ชัดในเวลากลางคืน ในรายที่เป็นต้อหินจากเบาหวานอาจจะที่อาการปวดร่วมด้วย
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดเบาหวานในจอประสาทตา
ผู้ป่วยเบาหวานทุกคน มีโอกาสเกิดโรคเบาหวานในจอประสาทตา โอกาสเกิดและความรุนแรงจะมากขึ้น ถ้ามีปัจจัยดังนี้

  • ระยะเวลาการเป็นเบาหวาน ยิ่งเป็นมานาน ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงมาก
  • ความดันโลหิตสูง
  • ระดับน้ำตาลในเฮโมโกลบินของเม็ดเลือดแดงสูง
  • ไขมันในเลือดสูง
  • การตั้งครรภ
  • การรักษาเบาหวานในจอประสาทตา
    1. รักษาโดยทั่วไป โดยการควบคุมระดับน้ำตาล ความดันโลหิต ระดับไขมันในเลือด เป็นการยืดเวลาและลดความรุนแรงของเบาหวานในจอประสาทได้บ้าง
    2. การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ ซึ่งสามารถนำมารักษาเบาหวานขึ้นจอประสาทตาในทุกๆระยะ ดังนี้
      • ระยะที่ 1 เมื่อจุดศูนย์กลางของจอรับภาพบวม การใช้แสงเลเซอร์ต่อจอประสาทตาที่ขาดเลือดมาเลี้ยง จะช่วยการยับยั้งการสร้างเส้นเลือดฝอยที่ผิดปกติ
      • ระยะที่ 2 ใช้แสงเลเซอร์ต่อเส้นเลือดฝอยที่เกิดใหม่ ลดปริมาณเส้นเลือดฝอยที่เกิดใหม่ ป้องกันการแตก และการเจริญของเส้นเลือดฝอยผิดปกติเข้าไปในน้ำวุ้นลูกตา เป็นการลดโอกาสการเกิดตาบอด
    3. การรักษาด้วยการผ่าตัด
    ปัจจุบันมีการใช้อุปกรณ์ผ่าตัดสมัยใหม่เพื่อใช้ผ่าตัด ในรายที่มีเลือดออกมากในน้ำวุ้นลูกตา หรือในรายที่มีเยื่อพังผืดที่อาจดึงรั้งให้จอประสาทตาหลุด สามารถรักษาสายตาไว้ได้ ถึงแม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดีกว่าปล่อยให้บอดไป
    ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานทุกคน ควรได้รับการตรวจตาโดยจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง อย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ก็ตาม และถ้ามีอาการผิดปกติใดๆ ควรรีบมาพบจักษุแพทย์ทันที โรคเบาหวานในจอประสาทตา หากพบและรักษาตั้งแต่ในระยะแรก จะสามารถป้องกันการดำเนินโรคไม่ให้ตาบอดได้ ดังนั้นการตรวจตาสม่ำเสมออย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

    โปรแกรมและแพ็คเกจ

    Promotion ชุดตรวจสุขภาพ ลด 20%

    โรคจอประสาทตาเสื่อม

    จอประสาทตาเสื่อม

    โรคจอประสาทตาเสื่อมเนื่องจากอายุ หรือ โรคเอเอ็มดี เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป และเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการตาบอดได้ อาการนั้นเมื่อคนปกติมองไปยังสิ่งต่างๆรอบตัว จะเห็นภาพชัดเจนไม่มีเงาดำมาบดบังส่วนใดส่วนหนึ่งของภาพ แต่ผู้ป่วยโรคเอเอ็มดี เมื่อมองไปยังสิ่งใดๆก็ตามจะพบว่ามีเงาดำบังบริเวณกึ่งกลางของภาพเสมอ ผู้ป่วยบางคนอาจจะมีอาการ เห็นภาพบิดเบี้ยวก่อน แล้วจึงมีอาการเห็นเงาดำบดบังภาพทีหลัง ส่วนสาเหตุของโรคนี้เกิดจากจุดรับภาพชัด( Macula) ของจอประสาทตาซึ่งมีหน้าที่ช่วยในการมองเห็นบริเวณกึ่งกลางภาพเกิดความผิดปกติขึ้น
    แบ่งความผิดปกติ เป็น 2 ชนิด คือ
    1. ชนิดแห้ง (Dry AMD) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยจอประสาทตาจะเสื่อมและบางลง มีผลทำให้การมองเห็นแย่ลงอย่างช้าๆ โดยมากไม่จำเป็นต้องรับการรักษา ซึ่งโรคเอเอ็มดีชนิดนี้สามารถพัฒนาไปเป็นชนิดเปียกได้
    2. ชนิดเปียก (Wet AMD) พบได้น้อยกว่าชนิดแห้งแต่เป็นชนิดที่มีอาการรุนแรงกว่าสามารถทำให้การมองเห็นแย่มากจนอยู่ในขั้นระดับเลือนรางหรือตาบอดได้ ซึ่งเอเอ็มดีชนิดเปียกนี้จะมีเส้นเลือดงอกผิดปกติที่ใต้จอประสาทตา ทำให้เลือดออกหรือเป็นแผลที่จอประสาทตา ส่งผลให้ผู้ป่วยเห็นเป็นเงาดำบริเวณกึ่งกลางของภาพที่มองเห็น
    แม้โรคเอเอ็มดีชนิดเปียกจะมีการดำเนินโรคที่รวดเร็ว แต่ถ้าตรวจพบในช่วงแรกๆ ส่วนใหญ่จะสามารถควบคุมไม่ให้โรคลุกลามได้ โดยสามารถรักษาระดับการมองเห็น และผู้ป่วยบางส่วนอาจมีการมองเห็นที่ดีขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถรักษาผู้ป่วยในด้านการมองเห็นจากโรคเอเอ็มดีขั้นรุนแรงให้กลับมามองเห็นได้ชัดเท่าคนปกติ ซึ่งต่างจากต้อกระจก ที่สามรถผ่าตัดสลายต้อและใส่เลนส์เทียมได้ ซึ่งสามารถทำให้ผู้ป่วยกลับมามองเห็นได้ชัดเป็นปกติอีกครั้ง นอกจากนี้โรคเอเอ็มดียงสามารถเกิดได้กับตาทั้ง 2 ข้าง อาจจะเกิดข้างใดข้างหนึ่งก่อนก็ได้โดยที่ผู้ป่วยยังไม่ทันสังเกตเพราะยังมีตาอีกข้างที่ช่วยทดแทนการมองเห็นอยู่ และส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์เมื่อโรคเกิดในตาข้างที่ 2 แล้ว จึงช้าเกินไปในการรักษาตาข้างแรก
    การทดสอบจอประสาทตาเสื่อมเบื้องต้น
    การทดสอบจอประสาทตาเสื่อมเบื้องต้น(AMD) ด้วยตนเอง สามารถตรวจได้โดยใช้ตารางแอมสเลอร์ (Amsler Grid) ที่เห็นตามตารางข้างล่างนี้
    1. ใช้มือปิดตาข้างซ้าย ถือตารางแอมสเลอร์ในระยะอ่านหนังสือ ห่างจากตาประมาณ หนึ่งฟุต (ให้สวมแว่นสายตา แว่นอ่านหนังสือ หรือคอนแทคเลนส์ได้ตาปกติ)
    2. ใช้ตาข้างขวามองที่จุดดำเล็กๆกลางภาพพยายามแพ่งที่จุดนี้ตลอดเวลา
    3. สังเกตุดูว่ามีตารางส่วนใดที่บิดเบี้ยว หรือมีเงาดำบัง หรือไม่ ถ้ามี....แสดงว่าคุณอาจจะเริ่มมีอาการของโรคเอเอ็มดี ควรรีบไปพบจักษุแพทย์โดยเร็ว
    4. ทดสอบตาข้างซ้ายโดยเอามือข้างขวาปิด และปฏิบัติตามขั้นตอนข้างต้นอีกครั้ง

    ***การทดสอบนี้เป็นการทดสอบความผิดปกติเบื้องต้น ไม่สามารถนำมาใช้ทดแทน ควรไปตรวจตาเป็นประจำทุกปีโดยจักษุแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 50 ขึ้นไป

    วิธีการรักษา
    การรักษาโรคเอเอ็มดีชนิดเปียกที่มีในปัจจุบัน ได้แก่ การฉายแสงเลเซอร์ การรักษาโดยโฟโต้ไดนามิก และการฉีกยา Amti- VEGF เข้าน้ำวุ้นลูกตา เป็นต้น โดยจักษุแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาและแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
    การป้องกัน
    การทดสอบจอประสาทตาเสื่อมเบื้องต้น(AMD) ด้วยตนเอง สามารถตรวจได้โดยใช้ตารางแอมสเลอร์ (Amsler Grid) ที่เห็นตามตารางข้างล่างนี้
    1. ควรสวมแว่นกันแดดเมื่ออยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน
    2. ควรรับประทานอาหารจำพวกผักใบเขียว ผลไม้สด อาหารจำพวกปลา โดยหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกไขมัน
    3. ควรงดสูบบุหรี่
    4. ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก และ ความดันโลหิต

    โปรแกรมและแพ็คเกจ

    การบาดเจ็บที่เกิดจากการเล่นกีฬา

    การเล่นกีฬาต่างๆ ถือเป็นกิจกรรมยอดฮิตในปัจจุบัน โดยเฉพาะการวิ่งมาราธอน การเล่นกีฬาเป็นการออกกำลังกายที่เป็นประโยชน์กับสุขภาพค่ะ แต่เราควรรู้และดูแลป้องกันตัวเองไม่ให้เกิดการบาดเจ็บกับร่างกายนะคะ

    การบาดเจ็บที่เกิดจากการเล่นกีฬา เกิดจากอะไร?
    และการดูแลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาเบื้องต้นทำอย่างไร?

    พลโท นพ.ดุษฏี ทัตตานนท์
    ศัลยแพทย์โรคกระดูกและข้อ
    เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์และการกีฬา โรงพยาบาลบางโพ

    #Bangpohospital #แบ่งกันฟัง