จอประสาทตาเสื่อม

โรคจอประสาทตาเสื่อมเนื่องจากอายุ หรือ โรคเอเอ็มดี เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป และเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการตาบอดได้ อาการนั้นเมื่อคนปกติมองไปยังสิ่งต่างๆรอบตัว จะเห็นภาพชัดเจนไม่มีเงาดำมาบดบังส่วนใดส่วนหนึ่งของภาพ แต่ผู้ป่วยโรคเอเอ็มดี เมื่อมองไปยังสิ่งใดๆก็ตามจะพบว่ามีเงาดำบังบริเวณกึ่งกลางของภาพเสมอ ผู้ป่วยบางคนอาจจะมีอาการ เห็นภาพบิดเบี้ยวก่อน แล้วจึงมีอาการเห็นเงาดำบดบังภาพทีหลัง ส่วนสาเหตุของโรคนี้เกิดจากจุดรับภาพชัด( Macula) ของจอประสาทตาซึ่งมีหน้าที่ช่วยในการมองเห็นบริเวณกึ่งกลางภาพเกิดความผิดปกติขึ้น
แบ่งความผิดปกติ เป็น 2 ชนิด คือ
  1. ชนิดแห้ง (Dry AMD) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยจอประสาทตาจะเสื่อมและบางลง มีผลทำให้การมองเห็นแย่ลงอย่างช้าๆ โดยมากไม่จำเป็นต้องรับการรักษา ซึ่งโรคเอเอ็มดีชนิดนี้สามารถพัฒนาไปเป็นชนิดเปียกได้
  2. ชนิดเปียก (Wet AMD) พบได้น้อยกว่าชนิดแห้งแต่เป็นชนิดที่มีอาการรุนแรงกว่าสามารถทำให้การมองเห็นแย่มากจนอยู่ในขั้นระดับเลือนรางหรือตาบอดได้ ซึ่งเอเอ็มดีชนิดเปียกนี้จะมีเส้นเลือดงอกผิดปกติที่ใต้จอประสาทตา ทำให้เลือดออกหรือเป็นแผลที่จอประสาทตา ส่งผลให้ผู้ป่วยเห็นเป็นเงาดำบริเวณกึ่งกลางของภาพที่มองเห็น
แม้โรคเอเอ็มดีชนิดเปียกจะมีการดำเนินโรคที่รวดเร็ว แต่ถ้าตรวจพบในช่วงแรกๆ ส่วนใหญ่จะสามารถควบคุมไม่ให้โรคลุกลามได้ โดยสามารถรักษาระดับการมองเห็น และผู้ป่วยบางส่วนอาจมีการมองเห็นที่ดีขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถรักษาผู้ป่วยในด้านการมองเห็นจากโรคเอเอ็มดีขั้นรุนแรงให้กลับมามองเห็นได้ชัดเท่าคนปกติ ซึ่งต่างจากต้อกระจก ที่สามรถผ่าตัดสลายต้อและใส่เลนส์เทียมได้ ซึ่งสามารถทำให้ผู้ป่วยกลับมามองเห็นได้ชัดเป็นปกติอีกครั้ง นอกจากนี้โรคเอเอ็มดียงสามารถเกิดได้กับตาทั้ง 2 ข้าง อาจจะเกิดข้างใดข้างหนึ่งก่อนก็ได้โดยที่ผู้ป่วยยังไม่ทันสังเกตเพราะยังมีตาอีกข้างที่ช่วยทดแทนการมองเห็นอยู่ และส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์เมื่อโรคเกิดในตาข้างที่ 2 แล้ว จึงช้าเกินไปในการรักษาตาข้างแรก
การทดสอบจอประสาทตาเสื่อมเบื้องต้น
การทดสอบจอประสาทตาเสื่อมเบื้องต้น(AMD) ด้วยตนเอง สามารถตรวจได้โดยใช้ตารางแอมสเลอร์ (Amsler Grid) ที่เห็นตามตารางข้างล่างนี้
  1. ใช้มือปิดตาข้างซ้าย ถือตารางแอมสเลอร์ในระยะอ่านหนังสือ ห่างจากตาประมาณ หนึ่งฟุต (ให้สวมแว่นสายตา แว่นอ่านหนังสือ หรือคอนแทคเลนส์ได้ตาปกติ)
  2. ใช้ตาข้างขวามองที่จุดดำเล็กๆกลางภาพพยายามแพ่งที่จุดนี้ตลอดเวลา
  3. สังเกตุดูว่ามีตารางส่วนใดที่บิดเบี้ยว หรือมีเงาดำบัง หรือไม่ ถ้ามี....แสดงว่าคุณอาจจะเริ่มมีอาการของโรคเอเอ็มดี ควรรีบไปพบจักษุแพทย์โดยเร็ว
  4. ทดสอบตาข้างซ้ายโดยเอามือข้างขวาปิด และปฏิบัติตามขั้นตอนข้างต้นอีกครั้ง

***การทดสอบนี้เป็นการทดสอบความผิดปกติเบื้องต้น ไม่สามารถนำมาใช้ทดแทน ควรไปตรวจตาเป็นประจำทุกปีโดยจักษุแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 50 ขึ้นไป

วิธีการรักษา
การรักษาโรคเอเอ็มดีชนิดเปียกที่มีในปัจจุบัน ได้แก่ การฉายแสงเลเซอร์ การรักษาโดยโฟโต้ไดนามิก และการฉีกยา Amti- VEGF เข้าน้ำวุ้นลูกตา เป็นต้น โดยจักษุแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาและแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
การป้องกัน
การทดสอบจอประสาทตาเสื่อมเบื้องต้น(AMD) ด้วยตนเอง สามารถตรวจได้โดยใช้ตารางแอมสเลอร์ (Amsler Grid) ที่เห็นตามตารางข้างล่างนี้
  1. ควรสวมแว่นกันแดดเมื่ออยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน
  2. ควรรับประทานอาหารจำพวกผักใบเขียว ผลไม้สด อาหารจำพวกปลา โดยหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกไขมัน
  3. ควรงดสูบบุหรี่
  4. ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก และ ความดันโลหิต

โปรแกรมและแพ็คเกจ