RSV ไวรัส วายร้าย ในผู้สูงวัย ป้องกันด้วยวัคซีน
RSV ไวรัส วายร้าย ในผู้สูงวัย ป้องกันด้วยวัคซีน
RSV Vaccine
การติดเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus)
RSV เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของโรคหลอดลมอักเสบ (Bronchiolitis) และปอดบวม (Pneumonia) โดยเฉพาะในเด็กเล็ก, ผู้สูงอายุ, ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ที่มีโรคหัวใจหรือปอด โดยสามารถแพร่กระจายได้ง่ายผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูก น้ำลาย และผ่านละอองฝอยที่เกิดจากการไอหรือจาม
โดยอาการจะคล้ายไข้หวัด เช่น ไอ มีไข้ น้ำมูกไหล เจ็บคอ คัดจมูก อาจมีอาการ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ในผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง อาจเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม ปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถฆ่าไวรัส RSV ได้ การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ ถ้ามีอาการรุนแรงอาจด้วยการใช้ยาขยายหลอดลมหรือให้ออกซิเจน รวมถึงเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
การป้องกันการติดเชื้อ โดยการปฏิบัติเหมือนการป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น การล้างมือบ่อยๆ การสวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการหวัด การฉีดวัคซีน RSV สำหรับกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ
วัคซีน RSV
ในอดีต RSV เป็นไวรัสที่ไม่มีวัคซีนในการป้องกัน แต่ในปัจจุบัน มีการวิจัยพัฒนาวัคซีน RSV ขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี ค.ศ.2023 องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้อนุมัติวัคซีน RSV ตัวแรกสำหรับผู้สูงอายุและสตรีมีครรภ์ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาวัคซีนเพิ่มเติมและการศึกษาทางคลินิกที่กำลังดำเนินการเพื่อสร้างวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับกลุ่มประชากรที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ RSV
ปัจจุบันในโรงพยาบาลบางโพมีวัคซีนที่เป็น Adjuvanted monovalent RSV vaccine (Arexvy) เป็นทางเลือกสำหรับผู้ต้องการรับวัคซีน RSV โดยข้อมูลในปัจจุบันแนะนำให้ฉีดเข้ากล้าม 1 เข็ม โดยไม่ต้องมีการฉีดกระตุ้น
ข้อบ่งชี้
- ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
- ผู้มีอายุ 50-59 ปี แต่มีโรคร่วมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง เช่น โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง
ประสิทธิภาพ
- ลดอัตราการติดเชื้อ RSV ที่มีอาการได้ 82.6%
- ลดอัตราการเกิดโรคหลอดลมอักเสบและปอดบวมได้ 94.6%
- ลดความรุนแรงของอาการในผู้ที่ติดเชื้อ และลดการรักษาในโรงพยาบาล
- ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง
ผลข้างเคียง
ผลข้างเคียงทั่วไปที่พบได้บ่อยหลังจากการฉีดวัคซีน ได้แก่ ปวดบริเวณที่ฉีด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และมีไข้เล็กน้อย โดยส่วนใหญ่เป็นอาการที่ไม่รุนแรงและมักจะหายไปภายในไม่กี่วัน
ข้อห้ามและข้อควรระวัง
ผู้ที่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงและประโยชน์ของการรับวัคซีน
- ผู้ที่มีประวัติการแพ้ยาหรือวัคซีนอื่น ๆ หรืออย่างรุนแรงต่อส่วนประกอบใด ๆ ของวัคซีน
- ผู้ที่ป่วยหนักหรือมีไข้สูงควรเลื่อนการรับวัคซีนจนกว่าจะหายดี
- ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้รับการรักษาด้วยยาที่กดระบบภูมิคุ้มกัน
- หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร
การดูแลหลังการรับวัคซีน
- ควรติดตามอาการของตัวเอง หากมีอาการแพ้อย่างรุนแรง เช่น หายใจลำบาก บวมที่หน้าและคอ หรือลมพิษ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- ควรพักผ่อนและดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวเร็วขึ้น
สรุป
วัคซีนมีข้อห้ามและข้อควรระวังบางประการที่ผู้รับวัคซีนควรทราบ การปรึกษาแพทย์หรือผู้ให้บริการสุขภาพก่อนการรับวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้แน่ใจว่าการรับวัคซีนเป็นไปอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV
นพ.ณัฐพงศ์ วิบูลย์ศิริชัย
อายุรแพทย์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ
คลินิกอายุรกรรม
โทร. 02-587-0144 ต่อ 2300