วัณโรคระยะแฝง

Latent TB
วัณโรคคืออะไร
วัณโรค คือ การติดเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis ซึ่งก่อให้เกิดอาการผิดปกติได้หลายระบบของร่างกายขึ้นกับอวัยวะที่ติดเชื้อ แต่พบบ่อยที่สุดคือ การติดเชื้อในปอด
ผู้ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง คืออะไร
ผู้ที่ได้รับเชื้อและติดเชื้อวัณโรคแฝงอยู่ในร่างกาย แต่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อวัณโรคได้ ไม่มีอาการผิดปกติ และไม่สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้
ทำไมเราถึงต้องให้ความสนใจผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง
ผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงประมาณร้อยละ 10-20 จะเกิดการดำเนินโรคต่อจนเข้าสู่ระยะเป็นวัณโรค นั่นคือ มีเอกซเรย์ปอดผิดปกติ และอาจมีอาการ รวมทั้งสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ ยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยเด็กอายุไม่เกิน 5 ปี ยิ่งมีโอกาสเป็นวัณโรคมากขึ้น และเป็นรุนแรง
ผู้ที่ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยวัณโรคระยะแฝง คือใคร
1. ผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค แบ่งเป็น
  1. ผู้สัมผัสร่วมบ้าน คือ บุคคลที่อาศัยอยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยวัณโรค
  2. ผู้สัมผัสใกล้ชิด คือ บุคคลที่ไม่ใช่ผู้อาศัยร่วมบ้าน แต่อยู่ร่วมกันในพื้นที่เฉพาะ โดยนับเวลาเฉลี่ย 8 ชั่วโมง/วัน หรือ 120 ชั่วโมง/เดือน ในช่วง 3 เดือนก่อนผู้ป่วยมีอาการหรือก่อนการวินิจฉัย
2 ผู้ติดเชื้อ HIV รวมถึงโรคเรื้อรังกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เช่น ได้รับยากดภูมิ
การวินิจฉัยวัณโรคระยะแฝง ทำได้อย่างไร
  1. การทดสอบทางผิวหนังด้วยทูเบอร์คูลิน โดยการฉีดโปรตีนสกัดจากเชื้อวัณโรค เรียกว่า PPD (purified protein derivative) เข้าในชั้นใต้ผิวหนังบริเวณท้องแขน หลังจากนั้น 48-72 ชั่วโมงจะทำการวัดรอยนูนบริเวณที่ฉีดยา
  2. การทดสอบ Interferon-gamma release assays (IGRA) เป็นวิธีการทดสอบที่ใช้วิธีการวัดปริมาณ interferon-gamma เมื่อมีการติดเชื้อวัณโรคขึ้นในร่างกาย
โดยที่ความไวและความจำเพาะของ IGRA จะเท่ากับหรือดีกว่าการทดสอบทูเบอร์คูลิน รวมถึงลดการเกิดผลบวกลวงได้
ถ้าตรวจพบว่ามีการติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อ
  1. แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยการกินยาต้านวัณโรคตามสูตรการรักษาวัณโรคระยะแฝง ประกอบด้วยยา 1-2 ชนิด ระยะเวลา 3-9 เดือน ขึ้นกับสูตรยาที่แพทย์เลือก พบว่าการกินยาต้านวัณโรคสามารถลดการดำเนินโรคจากระยะแฝงไปสู่ระยะเป็นวัณโรคได้ประมาณร้อยละ 70
  2. แพทย์อาจพิจารณาไม่ให้ยาต้านวัณโรค แต่ใช้การติดตามอาการ และเอกซเรย์ปอดทุก 6 เดือน จนครบ 2 ปี เนื่องจากพบว่า ผู้สัมผัสโรคส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดการดำเนินโรคจนเป็นวัณโรค
การจะพิจารณาให้การรักษาต่อด้วยวิธีใด ขึ้นอยู่กับการประเมินประโยชน์ในการลดโอกาสป่วยเป็นวัณโรค ควบคู่ไปกับความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงจากยา อธิบายข้อดีข้อเสีย และให้ผู้ป่วยตัดสินใจร่วมกับแพทย์
อ้างอิง : แนวทางเวชปฏิบัติวัณโรคระยะแฝง พ.ศ.2566

โปรแกรมและแพ็คเกจ