พิษจากสารแคดเมียม

พิษจากสารแคดเมียม
แคดเมียมมีสูตรทางเคมีคือ Cd เป็นโลหะหนักชนิดหนึ่งที่มักพบตามธรรมชาติ มีสีเงินขาว แวววาวเป็นสีน้ำเงินจางๆ ไม่มีกลิ่น มีลักษณะเนื้ออ่อน สามารถบิดโค้งงอได้และถูกตัดได้ง่ายด้วยมีด มักอยู่ในรูปแท่ง แผ่น เส้น ลวด หรือเป็นผงเม็ดเล็กๆ สามารถทำปฏิกิริยาเคมีอย่างรุนแรงกว่าสารที่ให้ออกซิเจน เนื่องจากแคดเมียมทนทานต่อการสึกกร่อนได้เป็นอย่างดี จึงนำไปฉาบผิวโลหะต่างๆ ในทางอุตสาหกรรม หรือเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น ในการทำ อุตสาหกรรมเหมือง แร่ เชื่อมโลหะ โซล่าเซลล์ รวมถึงยังใช้เป็นขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ชนิดที่เติมประจุใหม่ได้อีกด้วย
การปนเปื้อนจากโลหะหนักรวมถึงแคดเมียมนับเป็นปัญหาสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม และอาจมีการถ่ายทอดไปสู่ห่วงโซ่อาหาร สะสมอยู่ในสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพืชและสัตว์ ซึ่งจะนำมาสู่คนและเกิดอันตรายต่อผู้ที่ได้รับขึ้นได้ แคดเมียมเป็นโลหะหนักที่ไม่ละลายนํ้า ทั้งยังมีจุดเดือด (765 องศาเซลเซียส) และจุดละลาย (321 องศาเซลเซียส) สูงมาก หากได้รับเข้าสู่ร่างกายเกิดอันตรายต่ออวัยวะเป้าหมาย คือ ตา ผิวหนังและเยื่อบุสัมผัส ระบบทางเดินหายใจ/ทางเดินอาหาร/ทางเดินปัสสาวะ ไตและกระดูก
อาการ
อาการของการเกิดพิษขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับ ทางที่ได้รับ และระยะเวลาที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย แบ่งเป็น
  1. อาการพิษเฉียบพลัน
    • ได้รับโดยการสูดดมไอของแคดเมียมออกไซด์: ทำให้เกิดมีอาการไข้ ไอ หนาวสั่น หายใจเสียงวี๊ด เจ็บหน้าอก ปวดเมื่อยตามตัว เจ็บคอ มักเกิดภายใน 4-24 ชั่วโมง หลังการสูดดมไอแคดเมียม ในรายที่รุนแรงอาจมีภาวะปอดอักเสบและระบบทางเดินหายใจล้มเหลว
    • ได้รับโดยการกินเกลือแคดเมียม: ทำให้มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายอุจจาระเหลว ในรายที่กินปริมาณมาก อาจมีเลือดออกจากทางเดินอาหาร ช็อค ไตวายได้
    • การสัมผัสเกลือแคดเมียมทางผิวหนัง ตา และเยื่อบุ: ทำให้มีอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง ตา และเยื่อบุที่สัมผัส หากสัมผัสไอร้อนหรือแคดเมียมเหลว ทำให้เกิดการไหม้บริเวณที่สัมผัสได้
  2. อาการพิษระยะยาว - เมื่อได้รับแคดเมียมติดต่อเป็นระยะยาวนาน
    • ได้รับทางการหายใจ: อาจทำ ให้มีพังผืดในปอด ถุงลมโป่งพอง และสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปอด
    • ได้รับทั้งการกินและการหายใจ: อาจทำให้เกิดความผิดปกติที่ไต ได้แก่ มีการรั่วของโปรตีน นํ้าตาล แคลเซียมและฟอสเฟตทางปัสสาวะ มีนิ่วในทางเดินปัสสาวะ และไตวายเรื้อรัง
นอกจากนี้ยังทำให้เกิดกระดูกคดงอ หักง่าย และมีอาการปวดรุนแรง ที่รู้จักในชื่อ "โรคอิไต-อิไต" ซึ่งพบในผู้ป่วยที่บริโภคอาหารและนํ้าที่ปนเปื้อนเป็นเวลานาน โดยเฉพาะข้าวที่ปลูกในบริเวณที่มีการปนเปื้อนแคดเมียม ปริมาณมากในนํ้า และดิน สำหรับการก่อมะเร็งนั้น แคดเมียมเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอด มะเร็งไตและมะเร็งต่อมลูกหมาก
การรักษา
เน้นการรักษาตามอาการและการรักษาแบบประคับประคอง ยังไม่มีการรักษาหรือยาต้านพิษจำเพาะ
ยาที่ใช้ขับโลหะหนักที่มีในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษายืนยันว่ามีประโยชน์ในการรักษาพิษจากแคดเมียม
ดังนั้นการป้องกันและลดการสัมผัส จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
การตรวจหาสารแคดเมียมในร่างกาย 2 วิธี ทั้งนี้มีความแตกต่างในเรื่องระยะเวลาการสัมผัส
1. การตรวจแคดเมียมในเลือด (Cadmium in Blood) สามารถใช้ตรวจเพื่อประเมินการสัมผัสระยะสั้น (Short Term Exposure) ได้ดีกว่า
2. การตรวจแคคเมียมในปัสสาวะ (Cadmium in Urine) เหมาะสำหรับตรวจประเมินผู้ที่สัมผัสอย่างต่อเนื่องในระยะยาว (Long Term Exposure)
ทั้งนี้ทั้ง 2 แบบยังคงต้องมีการประเมินควบคู่กับผลพยาธิสภาพทั่วไปประกอบด้วยทั้งการประเมินโดยแพทย์
บริการตรวจหาสารแคคเมี่ยมในร่างกาย

  • รอผล 10 วัน 600 บาท
  • รอผล 3 วัน 800 บาท
  • ไม่รวมค่าแพทย์และค่าบริการ
ศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

พิษจากสารแคดเมี่ยม.pdf

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.

รู้จักแคดเมียม โลหะพิษอันตราย สาเหตุ “โรคอิไตอิไต” และโรคมะเร็ง

โปรแกรมและแพ็คเกจ