บุหรี่ไฟฟ้า

บุหรี่ไฟฟ้า

31 พฤษภาคม วันงดสูบบุหรี่โลก
บุหรี่ไฟฟ้า
เป็นอุปกรณ์ที่ประชาชนทั่วโลกรู้จักมากขึ้นและมีการใช้มากในปัจจุบันรวมถึงในประเทศไทย ซึ่งนับวันบุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงาน เยาวชน และกลุ่มนักเรียน เนื่องจากมีการหาชื้อได้ง่าย ประกอบกับสื่อ Social ในปัจจุบันที่รวดเร็ว ง่ายต่อการเข้าถึง ซึ่งแม้ว่าจะมีผลกระทบต่อสุขภาพ และผิดกฎหมายแล้วก็ตาม
บุหรี่ไฟฟ้า (Electric cigarette) เป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใหม่ สูบด้วยการใช้อุปกรณ์ที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ สารนิโคตินเหลว ที่สกัดจากใบยาสูบในบุหรี่ไฟฟ้าจะระเหยด้วยความร้อนจากไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกาย โดยไม่มีควันจากกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรี่ทั่วไป เมื่อสูบน้ำยาในบุหรี่ไฟฟ้าจะถูกทำให้สารเคมีกลายเป็นละอองไอ เป็นอันตรายต่อผู้สูบและคนรอบข้าง ซึ่งน้ำยาในบุหรี่ไฟฟ้าประกอบไปด้วย
  • สารนิโคติน ซึ่งเป็นสารเสพติดที่มีผลเสียต่อสุขภาพ หลายระบบ
  • สารประกอบอันตราย นิกเกิล ดีบุก ตะกั่ว สารหนู ฟอร์มัลดีไฮด์ เบนซีน ซึ่งอาจก่อมะเร็ง
  • โพรพิลีนไกลคอล ระคายเคืองตา ทางเดินหายใจ ทำให้ไอ ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน
  • กลีเซอรีน เมื่อผสมกับโพรพิลีนไกลคอล ยิ่งทำให้ไอ หลอดลมตีบ หอบเหนื่อย
  • สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย
  • สารปรุงแต่งกลิ่น รส และอื่น ๆ บางตัวอาจทำให้ปอดอักเสบรุนแรง อาทิ วิตามินอี อะซิเตท
โทษของบุหรี่ไฟฟ้า มีปริมาณนิโคตินเท่ากับบุหรี่ทั่วไป จำนวน 20 มวน และสารนิโคตินที่ก่อให้เกิดโทษต่อร่างกาย อนุภาคขนาดเล็กกว่า pm 2.5 คือประมาณ 1.0 ไมครอน ไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้ามีขนาดเล็กกว่าบุหรี่ธรรมดาจึงถูกสูดเข้าไปในปอดได้ลึกกว่า จับเนื้อเยื่อปอดและดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้เร็ว ยากที่ร่างกายจะขับออกมาได้หมด
  • ระบบการหายใจ เกิดการระคายเคือง ไอ เหนื่อยง่าย ทำให้โรคหืดและภูมิแพ้กำเริบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หลอดลมอักเสบ โรคมะเร็งปอด
  • ระบบหลอดเลือดและหัวใจ ภาวะหลอดเลือดแข็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ทำให้หยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิต
  • ระบบประสาทและสมอง เซลล์สมองถูกทำลาย อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ส่งผลถึงการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง ส่งผลต่อการเรียนรู้ สมาธิ ทำให้ความจำ การคิดวิเคราะห์ เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง การควบคุมอารมณ์ และเสี่ยงมีภาวะโรคซึมเศร้า ซึ่งปกติสมองจะพัฒนา เต็มที่ประมาณอายุ 25 ปี เพิ่มความเสี่ยงการติดยาเสพติดอื่น ๆ
  • ระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดแผลในกระเพาะ คลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย กรดไหลย้อนและอาจนำไปสู่โรคมะเร็ง
  • ผู้ที่สัมผัสสารพิษที่ตกค้างจากควันบุหรี่ไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า “บุหรี่มือสาม” อาจเกิดอาการผิวหนังอักเสบ
บุหรี่ไฟฟ้ากับอาการที่ควรไปพบแพทย์
  • อาการไข้ หนาวสั่น
  • ไอ เหนื่อยง่าย
  • หายใจลำบาก หายใจสั้น หายใจไม่อิ่ม หายใจไม่สะดวก
  • แน่นหน้าอก
  • ปวดเมื่อยตามตัว
  • อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
  • หากเกิดอาการเหล่านี้ขึ้น ผู้ที่มีโรคที่เกี่ยวกับปอดอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคหืด หรือปอดอุดกั้นเรื้อรัง
เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2566 องค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่เอกสารแนวทางใหม่ 2 ฉบับ ได้แก่ “คู่มือสำหรับโรงเรียนปลอดนิโคตินและยาสูบ” และ “ชุดเครื่องมือสำหรับโรงเรียนปลอดนิโคตินและยาสูบ” เพื่อช่วยปกป้องสุขภาพของเด็กนักเรียนก่อนจะเปิดเทอมในหลายประเทศ
4 วิธีในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ปราศจากนิโคตินและยาสูบสำหรับเยาวชน
  • ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์นิโคตินและยาสูบในบริเวณโรงเรียน
  • ห้ามขายผลิตภัณฑ์นิโคตินและยาสูบใกล้โรงเรียน
  • ห้ามโฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อมและห้ามส่งเสริมผลิตภัณฑ์นิโคตินและยาสูบใกล้โรงเรียน
  • ปฏิเสธการสนับสนุนหรือการมีส่วนร่วมกับอุตสาหกรรมยาสูบและนิโคติน
ปัจจุบัน “บุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเป้าไปที่เด็กผ่านสื่อโซเชียลมีเดียและผู้ที่มีผู้ติดตามจำนวนมากบนสื่อเหล่านั้น บุหรี่ไฟฟ้ามีรสชาติอย่างน้อยกว่า 16,000 รสชาติ บุหรี่ไฟฟ้าบางส่วนใช้ตัวการ์ตูนและมีดีไซน์เก๋ไก๋ดึงดูดใจคนรุ่นใหม่ สถิติการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนนั้นเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยพบว่าอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กนั้นสูงเกินกว่าผู้ใหญ่ในหลายประเทศ” ดังนั้น ผู้ปกครองและโรงเรียน ควรหมั่นสอดส่องดูแล ควรเฝ้าระวังพฤติกรรมของเด็กอย่างใกล้ชิด พูดคุย เปิดใจรับฟัง รวมถึงเตือนถึงโทษภัยจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า สร้างความผูกพันและเป็นตัวอย่างที่ดี สร้างพื้นที่ปลอดบุหรี่ภายในบ้านและไปในสถานที่ปลอดบุหรี่
ที่มา:

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก - บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายพิษร้ายต่อสุขภาพ
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ - อันตรายจากบุหรี่
กรมประชาสัมพันธ์ - “สูบบุหรี่ไฟฟ้า” อันตราย เสี่ยงเป็นโรคปอดอักเสบรุนแรง
โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ - บุหรี่ไฟฟ้า อันตราย..แม้ไร้ควัน

โปรแกรมและแพ็คเกจ

โรคสุดฮิตคุกคามชีวิตคนทำงาน ที่ควรระวัง

โรคสุดฮิตคุกคามชีวิตคนทำงาน ที่ควรระวัง

วัยทำงาน
วัยทำงาน คือ ช่วงอายุ 18-59 ปี กลุ่มคนเหล่านี้จะให้เวลากับการทำงาน 1 ใน 3 ของแต่ละวันคือ ประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน วัยนี้หลายคนทำงานหนัก เนื่องจากภาระงานติดพันหรือด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ ทำให้ต้องทำงานเกินเวลา ส่งผลให้ไม่มีเวลาที่จะดูแลสุขภาพของตนเองอย่างเหมาะสม พักผ่อนน้อย กินอาหารไม่มีประโยชน์ และขาดการออกกำลังกาย ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ดังนั้นการดูแลสร้างเสริมสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ
โรควัยทำงาน หมายถึง สภาวะที่เกิดขึ้นจากการทำงานอย่างต่อเนื่องนานๆ โดยเฉพาะงานที่ต้องนั่งหรือยืนอยู่เป็นเวลานานๆ หรือทำงานที่ต้องใช้แรงงานหนัก ซึ่งหลายประเภท โดยอาการและผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจขึ้นอยู่กับลักษณะของงานและวิถีชีวิตของแต่ละบุคคล ดังนี้
  1. อาการปวดเรื้อรัง
    ออฟฟิศซินโดรม โรคที่เกิดจากการนั่งทำงานท่าเดิมๆ เป็นเวลานาน ทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ในร่างกาย เช่น ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดคอ รวมถึงอาการเจ็บปวดจากการใช้กล้ามเนื้อมากเกินไป เช่น อ่อนเพลีย อ่อนแรง คลื่นไส้ หรือหมดแรงงาน
  2. อาการสำหรับสุขภาพจิต
    ความเครียดสะสม วิตกแห่งอารมณ์ ภาวะซึมเศร้า สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการทำงาน อาจเกิดจากความเครียดในการทำงาน รวมถึงความกดดันในเรื่องต่างๆ ด้านจิตใจหรือความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่มีผลต่อจิตใจอย่างรุนแรง ก็ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการซึมเศร้าได้ง่าย
  3. อาการที่เกิดกับสายตาและการมองเห็น
    หรือใช้สายตามองจอคอมพิวเตอร์นานๆ ทำให้มีผลต่อดวงตา แสบตา ไม่สบายตา เกิดอาการระคายเคืองตา เจ็บตา ตาพร่าจากการจ้องมองที่ไม่ค่อยกระพริบตา เป็นผลให้มีอาการตาแห้ง
  4. อาการทางสมอง
    ไมเกรน บ้านหมุน สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ เป็นโรคใกล้ตัวคนวัยทำงาน มีความเครียดเป็นสาเหตุหลัก เนื่องจากสมองเป็นศูนย์กลางที่ควบคุมการทำงานของร่างกายทุกส่วน เมื่อระบบประสาทและสมองมีปัญหา ก็จะส่งผลต่อระบบอื่น ๆ ในร่างกายด้วยเช่นกัน มักมีอาการตาพร่า กล้ามเนื้ออ่อนแรง การคิด การทำ การพูด การทรงตัวผิดปกติ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็จะทำให้พิการได้
  5. อาการเกี่ยวกับทางเดินอาหาร
    กรดไหลย้อน กระเพาะอาหารอักเสบ
    โรคที่เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา หรือเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด ผลระยะยาวของโรคนี้ อาจนำพาไปสู่การเกิดมะเร็งได้
  6. อาการเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ
    กระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคที่เกิดจากการอั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน เนื่องจากการนั่งทำงานเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่เกิดในผู้หญิง
จากรายงานสุขภาพคนไทย 2566 พบว่าคนไทยวัยทำงานมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพดังนี้
  1. การสูบบุหรี่
    • 1 ใน 5 คนวัยทำงาน สูบบุหรี่ทุกวัน
    • กลุ่มลูกจ้างเอกชน และผู้ทำงานส่วนตัว มีอัตราการสูบบุหรี่ทุกวันสูงที่สุด
    • การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรค NCDs เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งปอด โรคถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  2. การบริโภคแอลกอฮอล์
    • 1 ใน 4 คนวัยทำงาน ดื่มแอลกอฮอล์ทุกสัปดาห์
    • กลุ่มนายจ้าง ดื่มแอลกอฮอล์ทุกวันสูงที่สุด
    • การดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงต่อโรค NCDs เช่น โรคตับ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง
  3. การบริโภคอาหาร
    • คนวัยทำงาน กินอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม สูง
    • แหล่งอาหารหลักมาจากแป้งขัดขาว น้ำตาล และไขมันอิ่มตัว
    • การกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เพิ่มความเสี่ยงต่อโรค NCDs เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
  4. กิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ
    • คนวัยทำงาน กว่า 80% มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ
    • ขาดการออกกำลังกายเป็นประจำ
    • การไม่ออกกำลังกาย เพิ่มความเสี่ยงต่อโรค NCDs เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคกระดูกพรุน
การรักษาและการป้องกัน
การรักษาโรควัยทำงานมักเน้นการป้องกันและการบริหารจัดการอาการ รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานและการพักผ่อน การออกกำลังกายและการดูแลสุขภาพที่ดี เช่น การฝึกหัดการทำงานโดยไม่กดดันตัวเองมากเกินไป การนั่งหรือยืนในท่าที่ถูกต้อง เพื่อลดการกดทับบริเวณต่างๆ ของร่างกาย การควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์สมส่วน และการดูแลสุขภาพจิตอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรควัยทำงานและเพื่อรักษาสุขภาพที่ดีในระยะยาว
การปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรควัยทำงานและการบริหารจัดการอาการอาจประกอบด้วยวิธีต่อไปนี้
  1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน
    • ให้ความสำคัญกับการใช้ท่าทางที่ถูกต้องในการทำงาน เช่น การนั่งหรือยืนในท่าที่สมบูรณ์แบบ เพื่อลดการกดทับบริเวณต่างๆ ของร่างกาย
    • มีการพักผ่อนที่เพียงพอระหว่างการทำงาน เพื่อให้ร่างกายมีโอกาสในการฟื้นตัว
    • ป้องกันการทำงานนานเกินไปโดยการแบ่งงานหรือการใช้ช่วงเวลาพักที่เหมาะสม กรณีใช้คอมพิวเตอร์ให้หลับตาทุก 10 นาทีต่อการทำงาน 1 ชั่วโมง หรือพักทุก 15 นาทีต่อการทำงานต่อเนื่อง 2 ชั่วโมง
  2. การออกกำลังกายและการดูแลสุขภาพ
    • มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อและรักษาสุขภาพของร่างกาย
    • ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
    • รักษาการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าโภชนาการเพียงพอ และหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น อาหารไม่สุขภาพ อาหารเสริมที่ไม่จำเป็น
  3. การบริหารจัดการสุขภาพจิต
    • ให้ตัวเองเวลาในการพักผ่อนและทำกิจกรรมที่ช่วยในการผ่อนคลาย เช่น การทำโยคะ การฝึกสติ หรือการอ่านหนังสือ
    • พูดคุยกับคนที่ไว้วางใจหรือคนที่สามารถให้การสนับสนุนที่ดีต่อสุขภาพจิต
    • หากมีปัญหาทางจิตใจที่รุนแรง ควรพบประสบการณ์อาจารย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อคำปรึกษาและการรักษา
  4. การใช้เครื่องมือช่วย
    • ใช้เครื่องมือที่ช่วยลดการบริโภคแรงงาน และลดการทำงานที่ต้องใช้แรงมาก เช่น รถเข็นของหนัก เก้าอี้ที่สามารถปรับระดับได้ เป็นต้น
    • ใช้เครื่องมือที่ช่วยในการป้องกันอันตรายในการทำงาน เช่น หูฟังป้องกันเสียงดัง หรือหน้ากากป้องกันฝุ่น
    • ไม่ควรใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ ควรจัดสถานที่ตั้งคอมพิวเตอร์ในที่ที่มีแสงสว่างพอเหมาะ โดยเฉพาะจอภาพ แป้นพิมพ์ และที่วางเอกสาร เป็นต้น จะช่วยให้สบายตา หรืออาจใช้หลอดไฟโซเดียมเพื่อให้แสงสว่าง ใช้แผ่นกรองแสงเพื่อลดแสงจ้าและแสงสะท้อน จะช่วยลดความล้าของสายตาลงได้
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการใช้เครื่องมือช่วยนี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรควัยทำงานและช่วยให้ร่างกายและจิตใจมีสุขภาพดีในระยะยาว

โปรแกรมและแพ็คเกจ

พิษจากสารแคดเมียม

พิษจากสารแคดเมียม

พิษจากสารแคดเมียม
แคดเมียมมีสูตรทางเคมีคือ Cd เป็นโลหะหนักชนิดหนึ่งที่มักพบตามธรรมชาติ มีสีเงินขาว แวววาวเป็นสีน้ำเงินจางๆ ไม่มีกลิ่น มีลักษณะเนื้ออ่อน สามารถบิดโค้งงอได้และถูกตัดได้ง่ายด้วยมีด มักอยู่ในรูปแท่ง แผ่น เส้น ลวด หรือเป็นผงเม็ดเล็กๆ สามารถทำปฏิกิริยาเคมีอย่างรุนแรงกว่าสารที่ให้ออกซิเจน เนื่องจากแคดเมียมทนทานต่อการสึกกร่อนได้เป็นอย่างดี จึงนำไปฉาบผิวโลหะต่างๆ ในทางอุตสาหกรรม หรือเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น ในการทำ อุตสาหกรรมเหมือง แร่ เชื่อมโลหะ โซล่าเซลล์ รวมถึงยังใช้เป็นขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ชนิดที่เติมประจุใหม่ได้อีกด้วย
การปนเปื้อนจากโลหะหนักรวมถึงแคดเมียมนับเป็นปัญหาสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม และอาจมีการถ่ายทอดไปสู่ห่วงโซ่อาหาร สะสมอยู่ในสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพืชและสัตว์ ซึ่งจะนำมาสู่คนและเกิดอันตรายต่อผู้ที่ได้รับขึ้นได้ แคดเมียมเป็นโลหะหนักที่ไม่ละลายนํ้า ทั้งยังมีจุดเดือด (765 องศาเซลเซียส) และจุดละลาย (321 องศาเซลเซียส) สูงมาก หากได้รับเข้าสู่ร่างกายเกิดอันตรายต่ออวัยวะเป้าหมาย คือ ตา ผิวหนังและเยื่อบุสัมผัส ระบบทางเดินหายใจ/ทางเดินอาหาร/ทางเดินปัสสาวะ ไตและกระดูก
อาการ
อาการของการเกิดพิษขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับ ทางที่ได้รับ และระยะเวลาที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย แบ่งเป็น
  1. อาการพิษเฉียบพลัน
    • ได้รับโดยการสูดดมไอของแคดเมียมออกไซด์: ทำให้เกิดมีอาการไข้ ไอ หนาวสั่น หายใจเสียงวี๊ด เจ็บหน้าอก ปวดเมื่อยตามตัว เจ็บคอ มักเกิดภายใน 4-24 ชั่วโมง หลังการสูดดมไอแคดเมียม ในรายที่รุนแรงอาจมีภาวะปอดอักเสบและระบบทางเดินหายใจล้มเหลว
    • ได้รับโดยการกินเกลือแคดเมียม: ทำให้มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายอุจจาระเหลว ในรายที่กินปริมาณมาก อาจมีเลือดออกจากทางเดินอาหาร ช็อค ไตวายได้
    • การสัมผัสเกลือแคดเมียมทางผิวหนัง ตา และเยื่อบุ: ทำให้มีอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง ตา และเยื่อบุที่สัมผัส หากสัมผัสไอร้อนหรือแคดเมียมเหลว ทำให้เกิดการไหม้บริเวณที่สัมผัสได้
  2. อาการพิษระยะยาว - เมื่อได้รับแคดเมียมติดต่อเป็นระยะยาวนาน
    • ได้รับทางการหายใจ: อาจทำ ให้มีพังผืดในปอด ถุงลมโป่งพอง และสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปอด
    • ได้รับทั้งการกินและการหายใจ: อาจทำให้เกิดความผิดปกติที่ไต ได้แก่ มีการรั่วของโปรตีน นํ้าตาล แคลเซียมและฟอสเฟตทางปัสสาวะ มีนิ่วในทางเดินปัสสาวะ และไตวายเรื้อรัง
นอกจากนี้ยังทำให้เกิดกระดูกคดงอ หักง่าย และมีอาการปวดรุนแรง ที่รู้จักในชื่อ "โรคอิไต-อิไต" ซึ่งพบในผู้ป่วยที่บริโภคอาหารและนํ้าที่ปนเปื้อนเป็นเวลานาน โดยเฉพาะข้าวที่ปลูกในบริเวณที่มีการปนเปื้อนแคดเมียม ปริมาณมากในนํ้า และดิน สำหรับการก่อมะเร็งนั้น แคดเมียมเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอด มะเร็งไตและมะเร็งต่อมลูกหมาก
การรักษา
เน้นการรักษาตามอาการและการรักษาแบบประคับประคอง ยังไม่มีการรักษาหรือยาต้านพิษจำเพาะ
ยาที่ใช้ขับโลหะหนักที่มีในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษายืนยันว่ามีประโยชน์ในการรักษาพิษจากแคดเมียม
ดังนั้นการป้องกันและลดการสัมผัส จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
การตรวจหาสารแคดเมียมในร่างกาย 2 วิธี ทั้งนี้มีความแตกต่างในเรื่องระยะเวลาการสัมผัส
1. การตรวจแคดเมียมในเลือด (Cadmium in Blood) สามารถใช้ตรวจเพื่อประเมินการสัมผัสระยะสั้น (Short Term Exposure) ได้ดีกว่า
2. การตรวจแคคเมียมในปัสสาวะ (Cadmium in Urine) เหมาะสำหรับตรวจประเมินผู้ที่สัมผัสอย่างต่อเนื่องในระยะยาว (Long Term Exposure)
ทั้งนี้ทั้ง 2 แบบยังคงต้องมีการประเมินควบคู่กับผลพยาธิสภาพทั่วไปประกอบด้วยทั้งการประเมินโดยแพทย์
บริการตรวจหาสารแคคเมี่ยมในร่างกาย

  • รอผล 10 วัน 600 บาท
  • รอผล 3 วัน 800 บาท
  • ไม่รวมค่าแพทย์และค่าบริการ
ศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

พิษจากสารแคดเมี่ยม.pdf

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.

รู้จักแคดเมียม โลหะพิษอันตราย สาเหตุ “โรคอิไตอิไต” และโรคมะเร็ง

โปรแกรมและแพ็คเกจ

5 ขั้นตอน ในการเลือกทานอาหารต้านทานหวัด

กินอาหารอย่างไร ช่วยต้านหวัด

เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝน อากาศเปลี่ยนแปลงภูมิต้านทานต่ำ อาจนำมาสู่โรคหวัดได้ ดังนั้นการเลือกรับประทานอาหารที่ดี จะช่วยสริมสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันหวัดได้ หากเริ่มมีอาการเจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจไม่ออก อาจมีอาการคันคอร่วมด้วย อาการเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะบอกเราว่าร่างกายกำลังปรับตัวเข้าสู่สภาพอากาศใหม่ ทำให้มีผลข้างเคียงดังกล่าว ซึ่งสามารถป้องกันได้ ด้วยการเตรียมร่างกายให้พร้อม โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง
ง่ายๆ 5 ขั้นตอน ในการเลือกทานอาหารต้านทานหวัด
1. รับประทานผัก ผลไม้หลากสี
ผักต่างๆ เช่น มันเทศ แครอท ผักโขม และบีทรูทนั้นอุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีนซึ่งจำเป็นต่อร่างกายของเรา วิตามินเอช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน ลดความเจ็บป่วย ป้องกันการติดเชื้อได้
2. เพิ่มกระเทียมหรือหัวหอมในมื้ออาหาร
ผักตระกูลนี้ มีสารอะลิซิน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญกับร่างกาย ช่วยป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ยังช่วยสุขภาพทางเดินอาหารที่ดีในมีพรีไบโอติก โดยเสริมการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ดีต่อสุขภาพ
3. ทานวิตามินซีให้เพียงพอ
วิตามินซีที่เข้มข้นเป็นพิเศษได้การยอมรับว่าเป็นยาป้องกันไข้หวัดทั่วไปมาเป็นเวลานาน การรับประทานผักและผลไม้ปริมาณมากทุกวันควรให้วิตามินซีเพียงพอแก่การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ได้แก่ ผักใบเขียวเข้ม เช่น ผักโขม บรอกโคลี ถั่วลันเตา กีวี มะระกอ ฝรั่ง และผลไม้รสเปรี้ยว
4. การทานข้าวโอ้ตและธัญพืชต่าง ๆ
ธัญพืชต่างๆ เช่น ข้าวโอ๊ตและข้าวบาร์เลย์อุดมไปด้วยไฟเบอร์ที่ละลายน้ำได้ที่เรียกว่าเบต้ากลูแคน ซึ่งนอกจากจะทำให้เราอิ่มแล้ว ยังมีผลช่วยปรับภูมิคุ้มกัน - เพิ่มจำนวนและการทำงานของเซลล์เสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย
5. การรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีแร่ธาตุสังกะสี (Zinc, Zn)
อาหารที่มีกลุ่มโปรตีนสูงๆ เช่น หอยนางรม เนื้อไก่ ไข่แดง เนื้อหมู อาหารทะเล เช่น กุ้ง ปู หอย โดยเฉพาะหอยนางรม จะพบสังกะสีมากที่สุด แร่ธาตุสังกะสีช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน และช่วยลดการอักเสบ ลดระยะการเจ็บป่วยได้

โปรแกรมและแพ็คเกจ

“วันผู้บริจาคโลหิตโลก”(World Blood Donor Day)

“วันผู้บริจาคโลหิตโลก”(World Blood Donor Day)

World Blood Donor Day

“วันผู้บริจาคโลหิตโลก” (World Blood Donor Day) จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2547 ตรงกับวันที่ 14 มิถุนายน ซึ่งวันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.คาร์ล แลนด์สไตเนอร์ (Karl Landsteiner) แพทย์ชาวออสเตรีย-อเมริกัน ผู้ค้นพบการจำแนกหมู่โลหิต A, B และ O ถือว่าเป็นการค้นพบที่มีความสำคัญยิ่งต่องานบริการโลหิตทั่วโลก จนได้รับรางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยา หรือแพทยศาสตร์ ในปี ค.ศ. 1930 อีกทั้งยังพบว่าการถ่ายเลือดให้กับผู้ที่มีหมู่เลือดเดียวกันไม่ทำให้เซลล์เม็ดเลือดถูกทำลาย การค้นพบเหล่านี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการต่อยอดในวงการแพทย์มาจนถึงทุกวันนี้ ขณะเดียวกันก็ยังสามารถช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ได้อีกเป็นจำนวนมาก
องค์การอนามัยโลก (WHO), สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ(IFRC), สหพันธ์ผู้บริจาคโลหิตระหว่างประเทศ (FIODS) และสมาคมบริการโลหิตระหว่างประเทศ (ISBT) จึงได้ขอความร่วมมือให้สภากาชาดทั่วโลก จัดกิจกรรมเพื่อให้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการบริจาคโลหิต รวมถึงเพื่อแสดงความขอบคุณต่อผู้บริจาคโลหิต และส่งเสริมงานบริการโลหิตให้เป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก

เพราะ “เลือด” ทุกหมู่มีความสำคัญ จะหมู่เลือดไหน ก็สำคัญต่อชีวิตของผู้ป่วย
ร่วมแบ่งปัน “เลือด?” ที่เป็นเสมือน “ยาวิเศษ” ให้กับผู้ป่วย

โปรแกรมและแพ็คเกจ

5 ไอเดียการเลือกของขวัญให้คุณและคนที่คุณรัก

5 ไอเดียการเลือกของขวัญให้คุณและคนที่คุณรัก

Gift for Health
เริ่มเข้าสู่เทศกาลปีใหม่ ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข  หลายคนคงมองหาของขวัญให้กับตัวเอง หรือเพื่อมอบให้คนที่เรารัก แต่ของขวัญเหล่านั้นจะได้ประโยชน์ทางด้านไหนกันนะ วันนี้จึงมานำเสนอไอเดียการเลือกของขวัญที่ดีต่อสุขภาพ แต่จะเป็นด้านไหนมาลองดูกันค่ะ
1. ของขวัญที่ดีต่อ สมอง
ของขวัญที่ดีและมีประโยชน์ต่อสมอง ก็คือ ความรู้หรือทักษะใหม่ๆ  การให้ของขวัญเป็นพวกหนังสือต่างๆ หรือ เกมส์เสริมความรู้ หรือคอร์สเรียนเสริม จะช่วยกระตุ้นสมองให้เกิดความคิด ความรู้ และสร้างสรรค์   เพื่อให้ทันกับโลกยุดปัจจุบันด 4.0  ดังนั้นทุกอย่างจะรวดเร็ว การพัฒนาตนเองให้ทันต่อโลกจึงเป็นสิ่งจำเป็นนะคะ
2. ของขวัญที่ดี ต่อ ร่างกาย
ของขวัญสำหรับร่างกาย ก็คงไม่พ้นเรื่องเครื่องประทินผิวต่างๆ ที่ผลิตด้วยสารสกัดจากธรรมชาติ  รวมถึงอุปกรณ์กีฬา ที่จะส่งเสริมให้ร่างกาย ดู ฟิตแอนด์เฟริ์ม ดูดีจากภายนอก
3. ของขวัญที่ดี ต่อ ใจ
หลังจากที่ดูดีจากภายนอกแล้ว ของขวัญที่ดีสำหรับภายใน  คือการ ‘ให้โอกาส’ กับตัวเอง ทำในสิ่งที่อยากทำ ซึ่งอาจทำได้หลายอย่าง เช่น การไปท่องเที่ยวในที่ใหม่ๆ  ทานอาหารที่ชื่นชอบหรือเมนูใหม่  แม้แต่การเปิดโอกาสรับสิ่งใหม่ๆ เพื่อนใหม่  เทคโนโลยีใหม่  บางคนอาจจะเลือกการฟังธรรม เพื่อจรรโลงจิตใจก็ได้ค่ะ
4. ของขวัญที่ดี ต่อ สิ่งแวดล้อม
ของขวัญชิคๆ สุดฮิตในขณะนี้  คือ กระเป๋ารักโลก หรือถุงผ้าแบบ  DIY  รวมถึงการให้ หรือการร่วมโครงการปลูกต้นไม้  การให้ของขวัญที่ดี ต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการให้ที่สามารถมอบให้กับคนจำนวนมาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นของขวัญที่ยิ่งใหญ่
5. ของขวัญที่ดี ต่อ สุขภาพ
ของขวัญชิ้นนี้ คือ การรักษาสุขภาพ เช่น กินอาหารที่มีประโยชน์  ผักผลไม้ที่เป็นออร์แกนิค หรือออกกำลังกาย  รวมถึงการตรวจสุขภาพ  ตามปกติแล้วเราทุกคนควรได้รับการตรวจสุขภาพทุกปี เพื่อคัดกรองโรคในผู้ที่ยังไม่มีอาการ และให้เจอโรคในระยะแรกเริ่มต้น  ซึ่งจะทำให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เป็นอย่างไรกันบ้าง คิดออกหรือยังคะว่าเลือกชนิดไหน แต่ของขวัญเหล่านี้ที่จริงแล้ว เราควรให้กับตัวเองให้ครบทุกชิ้น เพราะแต่ละชิ้นนั้นสร้างคุณค่าต่างๆ กัน ซึ่งอาจจะไม่ต้องเป็นให้ตามเทศกาลเสมอไป แต่เราควรให้กันทุกวันค่ะ โดยเฉพาะของขวัญเพื่อสุขภาพชนิดสุดท้ายที่ควรมอบให้กันทุกๆ ปี เพราะในแต่ละปีเราต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่อยูรอบๆ ตัวและอายุที่มากขึ้นทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป ดูแล ป้องกันตั้งแต่วันนี้นะคะ

โปรแกรมและแพ็คเกจ

มะเร็งเต้านม รู้ก่อน รักษาได้

มะเร็งเต้านม รู้ก่อน รักษาได้

Breast Cancer
มะเร็งเต้านมปัจจุบันพบมากเป็นอันดับหนึ่งในสตรีไทยการตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกๆ และได้รับการรักษาอย่างถูกต้องสามารถมีโอกาสหายขาดได้สูง มะเร็งเต้านมอาจมีอาการได้หลายแบบแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน  ดังนั้นสตรีทั่วไปจึงควรหมั่นคอยสังเกตอาการและตรวจเต้านมตนเองเป็นประจำ เพื่อที่จะได้ตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะต้นๆ และได้รับการรักษาก่อนที่จะมีการลุกลามหรือกระจายไปยังอวัยวะอื่นแล้วมักมีผลการรักษาที่ไม่ดี
ผู้หญิงที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม

  • ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
  • ผู้หญิงที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม
  • ผู้หญิงที่ไม่มีบุตรหรือมีบุตรคนแรกเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี
  • ผู้หญิงที่ประจำเดือนมาเร็ว และหมดช้า หรือใช้ฮอร์โมนทดแทนเป็นเวลานานกว่า 10 ปี
  • ตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะต้นๆ และได้รับการรักษาก่อนที่จะมีการลุกลามหรือกระจายไปยังอวัยวะอื่น
    การรักษาอย่างถูกต้องสามารถมีโอกาสหายขาดได้สูง

อาการผิดปกติของเต้านมที่อาจเกิดจากมะเร็งเต้านม
  • เต้านมโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
    ขนาดของเต้านมที่โตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะโตขึ้นข้างเดียว อาจเกิดจากการที่มีก้อนเนื้องอกหรือมะเร็งเต้านมที่โตขึ้นอย่างรวดเร็วในเต้านมข้างนั้น ทำให้เต้านมข้างนั้นมีขนาดโตมากกว่าอีกข้างหนึ่ง
  • รูปร่างของเต้านมเปลี่ยนไป
    รูปร่างของเต้านมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยไม่เคยได้รับการผ่าตัดมาก่อน อาจเกิดจากการที่เคยมีการอักเสบของเต้านมมาก่อนแล้วเกิดการดึงรั้ง เต้านมผิดรูป นอกจากนี้อาจเกิดจากก้อนมะเร็งที่เต้านมทำให้รูปร่างของเต้านมเปลี่ยนแปลงได้
  • มีก้อนที่เต้านม
    การคลำเจอก้อนที่เต้านมเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ดังนั้นจึงแนะนำสตรีทั่วไปหมั่นตรวจเต้านมด้วยตัวเองเสมอ
  • มีรอยบุ๋มที่เต้านม
    การมีรอยบุ๋มที่ผิวหนังเต้านมในผู้ที่ไม่เคยได้รับการผ่าตัดที่เต้านมมาก่อน อาจเกิดจากมะเร็งเต้านมทำให้เกิดการดึงรั้งของเอ็นภายในเต้านมที่ยึดระหว่างผิวหนังกับทรวงอก เกิดเป็นรอยบุ๋มขึ้นที่ผิว
  • การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังเต้านม
    การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังบริเวณเต้านม เช่น อาการบวมแดง มีแผล อาจพบว่าเกิดจากการมีมะเร็งที่เต้านมลุกลามมาที่ผิวหนังทำให้เกิดการบวมแดงหรือบางครั้งอาจมีแผลร่วมด้วยและเป็นแผลที่รักษาไม่หาย  อาการบวมแดงของเต้านมยังอาจเป็นการแสดงของมะเร็งเต้านมชนิดลุกลามเฉพาะที่ซึ่งจะมีการบวมแดงของผิวหนังเต้านมเป็นบริเวณกว้างหรืออาจมีแผลร่วมด้วยก็ได้
  • มีแผลที่บริเวณหัวนม
    แผลที่เกิดที่บริเวณเต้านมหรือฐานหัวนมหรือฐานหัวนมนั้นอาจมีสาเหตุจากมะเร็งเต้านมชนิดหนึ่งเรียกว่า Paget disease of the nipple โดยจะเป็นแผลสีแดงที่บริเวณหัวนม
  • หัวนมบุ๋มเข้าไปในเต้านม
    การมีหัวนมที่บุ๋มเข้าไปในเต้านมโดยที่ไม่ได้เป็นมาตั้งแต่กำเนิดและไม่เคยได้รับการผ่าตัดที่เต้านมมาก่อน อาจมีสาเหตุมาจากมะเร็งเต้านมที่ลุกลามไปยังหัวนมและทำให้เกิดการดึงรั้งจนหัวนมบุ๋มลงไปได้ ซึ่งมักเกิดจากมะเร็งบริเวณใกล้กับหัวนม
  • การมีน้ำออกทางหัวนม
    อาการมีน้ำหรือน้ำนมออกทางหัวนมในผู้ที่ไม่ได้ให้นมบุตร อาจเป็นอาการหนึ่งของมะเร็งเต้านม ซึ่งมักสัมพันธ์กับความผิดปกติของท่อน้ำนมร่วมด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการเรื้อรังเป็นๆ หายๆ ลักษณะน้ำอาจเป็นสีเหลืองใสหรือเป็นน้ำปนเลือด
  • คลำพบก้อนที่บริเวณที่รักแร้
    นอกจากอาการที่เต้านมแล้ว ในบางครั้งมะเร็งเต้านมอาจตรวจไม่พบก้อนที่เต้านม แต่มีต่อมน้ำเหลืองโตที่รักแร้และคลำพบได้ ซึ่งเกิดจากมะเร็งเต้านมกระจายไป
  • อาการเจ็บเต้านม
    อาการเจ็บเต้านมในบางครั้งอาจสัมพันธ์หรือไม่สัมพันธ์กับรอบเดือน ในช่วงใกล้มีประจำเดือนหรืออาจเกิดจากการอักเสบติดเชื้อที่เต้านม แต่ในบางกรณีอาจพบว่าเป็นอาการของมะเร็งเต้านมและอาจพบก้อนที่เต้านมร่วมด้วย โดยมักเจ็บที่บริเวณก้อนที่พบ
ผู้ที่มีอาการต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม จึงแนะนำว่าควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม

โปรแกรมและแพ็คเกจ

โปรแกรมตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

รู้ทัน ป้องกัน โรคกระดูกพรุน

รู้ทัน ป้องกัน โรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน
คือ โรคที่กระดูกบางมาก หรือผุพรุนจากการเสื่อมสลายของ มวลกระดูกทำให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลง เสี่ยงต่อการหักหรือพิการได้ง่าย ตำแหน่งที่พบกระดูกหักได้บ่อย คือ กระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือและกระดูกสะโพก อาจเกิดผลแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น หลังค่อม การหายใจไม่เต็มที่ เหนื่อยหอบ เอ็นอักเสบและข้อกระดูกเสื่อม เดินไม่ได้เป็นภาระต่อคนรอบข้าง การผ่าตัดต้องใช้อุปกรณ์ราคาแพง และมีอัตราการเสียชีวิตสูง
โดยปกติในวัยเด็กร่างกายจะมีขบวนการสร้างกระดูกมากกว่าการสลายจนมีการสะสมมวลกระดูกได้สูงสุด เมื่ออายุ 30 ปี หลังจากนั้นจะมีการเสื่อมสลายของกระดูกอย่างต่อเนื่องมากกว่าการสร้าง โดยเฉพาะในสตรีที่เข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนจะมีการสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็วมากกว่าเพศชายถึง 2-3 เท่า
ดังนั้นจึงควรมีการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน พบแพทย์เพื่อประเมิน ป้องกันหรือรักษาให้กระดูกมีสุขภาพที่ดีต่อไป
อาการแสดง
โรคกระดูกพรุนเป็น “ภัยเงียบ” ที่เกิดได้กับทุกคน โดยไม่มี อาการใดๆ จะทราบว่ามีกระดูกพรุนก็เมื่อมีการหักทรุดของกระดูก แล้ว เช่น อาการปวดหลัง หลังค่อม ตัวเตี้ยลง กระดูกสะโพกหัก เพียงแค่ล้มแล้วลุกเดินไม่ได้ เป็นต้น
ใครมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน
  1. สตรีวัยหมดประจำเดือน หรือได้รับการผ่าตัดรังไข่ทั้ง 2 ข้าง
  2. ผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี
  3. มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุนหรือกระดูกสะโพกหัก
  4. เคยมีประวัติกระดูกหัก เมื่ออายุมากกว่า 50 ปี และจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักซ้ำ
  5. รูปร่างผอมบาง น้ำหนักตัวน้อย
  6. ขาดสารอาหารแคลเซียมและวิตามินดี
  7. ไม่ออกกำลังกายหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานาน เช่น นอนรักษาตัวนานหรือใส่เฝือกนานๆ
  8. สูบบุหรี่
  9. ชอบดื่มสุรา น้ำอัดลม ชา กาแฟ ยาชูกำลัง
  10. ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นประจำ ยารักษาโรคเบาหวาน โรคต่อมไธรอยด์ ยายับยั้งการตกไข่ในโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ เป็นต้น
การป้องกันตัวเองให้ลดความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกพรุน
  1. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง หรือรับประทานแคลเซี่ยม เสริมและวิตามินดี เช่น นม เนยแข็ง โยเกิร์ต ผักใบเขียว ปลาเล็กๆที่รับประทานทั้งตัว กุ้งแห้ง งาดำ เห็ดหอม เต้าหู้ เป็นต้น
  2. เสริมวิตามิน K2 ในผู้สูงอายุ
  3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอแบบลงน้ำหนักอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที เช่น การวิ่งเหยาะๆ การเดินเร็ว เต้นรำ หรือ ออกกำลังกายแบบแรงต้านโดยใช้การดึงยางยืดหรือยกน้ำหนัก และการรำมวยจีน เพื่อฝึกการทรงตัว ป้องกันการหกล้มลดอุบัติการณ์ ของกระดูกหักได้
  4. รับแสงแดด นาน 20 นาที สัปดาห์ละ 3 วัน
  5. งดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการดื่มสุรา ชา กาแฟ น้ำอัดลม
  6. ตระหนักถึงภัยของโรคกระดูกพรุน ปรึกษาแพทย์เมื่อมีปัจจัยเสี่ยง
  7. ตรวจประเมินภาวะโรคกระดูกพรุน เพื่อป้องกันและรักษาตั้งแต่ ระยะแรกเริ่ม
การตรวจประเมินภาวะโรคกระดูกพรุน
  1. การตรวจมวลกระดูก หรือความหนาแน่นของกระดูก ด้วยเครื่อง DEXA (Dual Energy X-rays Absorptiometry) ที่บริเวณข้อสะโพก กระดูกสันหลังช่วงเอว เพื่อการวินิจฉัย
  2. การเจาะเลือด (Bone Turnover Markers) ใข้ดูอัตราการสลาย และการสร้างมวลกระดูก เพื่อประเมินและ ติดตามผลการรักษา
การรักษาโรคกระดูกพรุน
  1. ป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่หลีกเลี่ยงได้
  2. การใช้ยา
    • แคลเซียมเสริมและวิตามินดี
    • ยาต้านการสลายกระดูก
    • ยาเพิ่มการสร้างมวลกระดูก

    การใช้ยาจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพราะต้องมีการเลือกใช้และปรับขนาดยาให้เหมาะสมเฉพาะผู้ป่วยแต่ละราย และควรมีการติดตามการรรักษาเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง

  3. ควบคุมและรักษาโรคประจำตัวต่างๆ เช่น เบาหวาน ไธรอยด์
  4. ป้องกันการหกล้มเพราะเสี่ยงต่อกระดูกหักง่าย
    • การปรับสภาพแวดล้อม ไม่ให้พื้นลื่นหรือเปียกน้ำ และควรมียางกันลื่นเวลาอาบน้ำ ไม่วางของเกะกะทางเดินและ ขั้นบันได ไม่ใส่ถุงเท้าเดินจะลื่นง่าย ถ้าบ้านมีพรมควรให้พรมตึงเรียบ ใช้ไม้เท้าหรืออุปกรณ์ช่วยเดิน ใส่รองเท้าที่พื้นไม่ลื่น หลีกเลี่ยง การเดินบนพื้นที่ไม่เรียบและลื่น
    • พบจักษุแพทย์ ตรวจรักษาโรคทางสายตาที่ผิดปกติ เพื่อการมองเห็นชัดเจน
    • ยาเพิ่มการสร้างมวลกระดูก

โปรแกรมและแพ็คเกจ

กินเจ เมนูสุขภาพ วิถีใหม่ ไร้พุง

กินเจ เมนูสุขภาพ วิถีใหม่ ไร้พุง

เทศกาลกินเจ คำว่า “เจ” หรือ “ไจ” บนธงอักษรแดง บนพื้นเหลือง มีความหมายว่า “ของไม่มีคาว” สีแดงเป็นตัวแทนของความเป็นสิริมงคลในชีวิต ส่วนสีเหลืองเป็นสีของพุทธศาสนา หรือผู้ทรงศีล ธงเจนอกจากเป็นสัญลักษณ์ของอาหารเจแล้ว ยังเตือนพุทธศาส นิกชนที่ปฏิบัติตน “ถือศีล-กินเจ” ตระหนักถึงการไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ และการตั้งอยู่ในศีลตลอดช่วงระยะเวลา 9 วัน 9 เทศกาลกินเจ เป็นโอกาสดีในการดูแลสุขภาพ ได้ฝึกวินัย ทั้งทางกาย จิต ปัญญา แต่อาหารเจส่วนมากมักจะมีรสหวาน มัน และเค็มจัด ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คำแนะนำว่าให้ลดการบริโภคโซเดียมลงให้น้อยกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดูแลสุขภาพด้วยการกินเจวิถีใหม่ เน้นรับประทานผักให้มากขึ้น ลดแป้งและของทอด บริโภคอาหารสุก สะอาด ล้างมือก่อนและหลังปรุงอาหาร งดน้ำมัน ลดแป้ง กินโปรตีน
  1. ทานอาหารที่มีกากใยสูง ผัก ผลไม้ต่าง ๆ เช่น ข้าวกล้อง แอปเปิ้ลเขียว ผักใบเขียว ช่วยระบบขับถ่ายและระบบลำไส้ทำงานได้ดี
  2. เลือกอาหารประเภท ต้ม ตุ๋น นึ่งและย่าง หลีกเลี่ยงเมนูผัดและทอด เช่น เต้าหู้ทอด เผือกทอด มันทอด เห็ดผัดน้ำมัน
  3. ทานข้าวแป้งแต่พอดี หลีกเลี่ยงเมนูอาหารแปรรูปและเมนูแป้ง เช่น เนื้อเทียมจากแป้ง โปรตีนเกษตร ต่าง ๆ
  4. เลือกรับประทานโปรตีนคุณภาพดี ทดแทนจากเนื้อสัตว์ เช่น นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ธัญพืช ข้าวโพด
  5. หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสหวาน เช่น ขนมหวาน ขนมขบเคี้ยว น้ำอัดลม เพราะอาจเพิ่มน้ำหนักตัวและก่อโรคต่าง ๆ ได้
  6. ทานอาหารให้หลากหลาย ครบ 5 หมู่ ไม่ควรเลือกทานอาหารเมนูชนิดเดิมซ้ำทุกวัน
  7. ดื่มน้ำสะอาด 6-8 แก้วต่อวัน หากดื่มน้ำไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดอาการท้องผูกได้
แนะนำเมนูสุขภาพ 3 เมนู ทำได้ง่ายๆ ดีต่อสุขภาพ แคลลอรี่ต่ำ

Credit Picture : Mai Yom Auon 

เห็ดอบวุ้นเส้น = 198 kcal
ส่วนผสม
  1. วุ้นเส้น ไม่ขัดสี
  2. เห็ดชนิดต่างๆ ตามชอบ
  3. ขิงอ่อน
  4. พริกไทย
  5. ซีอิ้วขาว ผสมน้ำอุ่น
  6. น้ำมันรำข้าว
วิธีทำ
  1. ตั้งกระทะให้ร้อน ใส่น้ำมันรำข้าว นำขิงอ่อนผัดให้เข้ากัน ตามด้วยเห็ดต่างๆที่เราชอบ และเต้าหู้แข็ง ผัดรวมกัน ให้สุกนิ่ม
  2. ใส่วุ้นเส้นไม่ขัดสี ตามด้วย ซีอิ๋วขาวผสมน้ำ เติมพริกไทย เติมน้ำเปล่า คลุกเคล้าให้เข้ากัน ปิดฝารอวุ้นเส้นสุกดี ตักใส่จานนำเสิร์ฟ

Credit Picture : Booky HealthyWorld

ลาบเต้าหู้เส้นบุกใส่เห็ด = 190 Kcal
ส่วนผสม
  1. เต้าหู้ขาวชนิดแข็ง
  2. เห็ดหูหนูและเห็ดนางฟ้า
  3. ผักชีฝรั่งและใบสาระแหน่
  4. วุ้นเส้นแบน
  5. พริกป่น
  6. ซีอิ๋วขาว
  7. น้ำมะนาว
  8. น้ำตาล
  9. ข้าวคั่ว
วิธีทำ
  1. ตั้งน้ำให้เดือด นำเต้าหู้ขาวแข็ง มาหั่นเป็นชิ้น และนำไปลวกในน้ำ ตามด้วยลวกเห็ดละวุ้นเส้นต่อ
  2. นำของที่ลวกสุกมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน ตามด้วยปรุงรสใส่ซีอิ๋วขาว น้ำมะนาว น้ำตาล พริกป่น ข้าวคั่ว ผสมให้เข้ากัน โรยผักชีฝรั่งและสาระแหน่ พร้อมเสิร์ฟ

Credit Picture : Mai Yom Auon 

หมี่กล้องพันเจ = 193 Kcal
ส่วนผสม
  1. หมี่กล้อง
  2. เต้าหู้ขาวชนิดแข็ง
  3. เห็ดเข็มทอง
  4. ต้นทานตะวันอ่อน
  5. งาคั่ว
วิธีทำ
  1. ตั้งน้ำให้เดือด นำเส้นหมี่กล้องไปลวกให้สุก ตามด้วยย่างเต้าหู้และเห็ดให้สุกพอดี
  2. นำเส้นหมี่กล้อง มาพันกับเต้าหู้และเห็ดที่ย่าง วางด้วยต้นอ่อนตะวัน เพิ่มความหอมด้วยงาคั่ว พร้อมเสิร์ฟ
การรับประทานเจที่ถูกหลักและได้รับสารอาหารที่มีคุณค่ามีคุณประโยชน์ต่อร่างกายอย่างครบ ควรรับประทานอาหารเจให้หลากหลาย ไม่ควรรับประทานอาหารเจชนิดเดียวเป็นเวลานานๆ รับประทานเจจะช่วยปรับสมดุลของร่างกาย ล้างพิษ รวมถึงช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น/div>

โปรแกรมและแพ็คเกจ

เตรียมตัวอย่างไร ก่อนฉีดวัคซีนโควิด – 19

เตรียมตัวอย่างไรก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19


เตรียมตัวอย่างไร ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19

  1. ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือมียาประจำที่ต้องรับประทานทุกวัน ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อน
  2. ก่อนฉีดวัคซีนโควิด 2 วัน ควรงดการออกกำลังกายหนักๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ
  3. หากมีอาการป่วย มีไข้ ไม่สบาย ให้เลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน ประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะหายดี
  4. ก่อนฉีดวัคซีนควรดื่มน้ำเปล่าเยอะๆ และงดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  5. รับประทานอาหาร และยารักษาโรคประจำตัวให้เรียบร้อย ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน
    ผู้ที่มีโรคประจำตัว ดังนี้
    • โรคเบาหวาน
    • ความดันโลหิตสูง
    • หัวใจ
    • อัมพฤกษ์ และอัมพาต
    ไม่ควรหยุดยา เพื่อฉีดวัคซีน ยกเว้นกรณีที่แพทย์แนะนำให้หยุดยาชั่วคราว เพื่อให้ผลลัพธ์ของวัคซีนมีความแม่นยำ
  6. การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดควรห่างกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ อย่างน้อย 1 เดือน แนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิดให้ครบโดสก่อน
  7. ผู้ที่เป็นโรคเลือดออกได้ง่าย ควรแจ้งแพทย์และเจ้าหน้าที่ทราบก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน เพราะอาจต้องใช้เวลากดแผลบริเวณที่ฉีดนานขึ้น
  8. ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว หากมีอาการของโรคกำเริบ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนหรือไม่ก็ตาม ให้รีบปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อน
ฉีดวัคซีน COVID-19
  • กรุณานำบัตรประชาชนมา ณ สถานที่ให้บริการ
  • สวมเสื้อแขนสั้น สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ รักษาระยะห่าง
จุดให้บริการฉีดวัคซีน : ชั้น 2 โซนใหม่ ติดกับแผนกศัลยกรรม โรงพยาบาลบางโพ โปรดมาในช่วงเวลานัด เพื่อลดความแออัด ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
จุดรับส่ง (drop-off) : จุดส่งผู้มาฉีดวัคซีนโควิดใกล้ที่สุด คือ ทางขึ้นชั้น 2 อาคาร 1 หน้าแผนกฉุกเฉิน
ที่จอดรถ : จอดรถที่อาคารจอดรถของโรงพยาบาล และอาคารจอดรถ เกตเวย์ แอท บางซื่อ ชั้น 1C, 2C โดยแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนครั้งต่อไป ที่จุดประชาสัมพันธ์

ขั้นตอนการเข้ารับบริการ

ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ร่วมกับวัคซีนป้องกันโควิด-19

คำแนะนำในการฉีด
“วัคซีนไข้หวัดใหญ่”
ร่วมกับ
“วัคซีนป้องกันโควิด-19”


ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้ทั้ง ก่อน ระหว่าง หรือหลัง การฉีดวัคซีน โควิด-19 (COVID-19) ได้โดยการเว้นระยะการฉีดวัคซีนดังนี้

การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ร่วมกับวัคซีนป้องกันโควิด-19
ตามที่กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค และ สปสช. แนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เพื่อลดการป่วยรุนแรงและสร้างภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่ ในช่วงต้นฤดูฝน เนื่องจากเป็นฤดูกาลระบาดในประเทศไทยซึ่งมี 2 ช่วง คือ ช่วงปลายฝน (เดือนกรกฎาคม-กันยายน) และปลายหนาว (เดือนมกราคม-มีนาคม) นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ก่อนที่ จะติดเชื้อโควิด-19 ยังช่วยลดการนอนโรงพยาบาล หรือเข้ารักษาในโรงพยาบาลสั้นกว่าคนที่ไม่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อนการติดเชื้อโควิด-19
ในสถานการณ์ปัจจุบัน เกิดโรคระบาดอีกชนิดหนึ่ง คือ โควิด-19 และวัคซีนป้องกันโรคโควิดได้พัฒนาจนสามารถฉีดได้แล้ว แต่อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังมีความสำคัญ เพื่อแยกอาการป่วยระหว่างไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ที่มีอาการคล้ายกันมาก เช่น ไข้สูง ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ถ่ายเหลว (ยกเว้นจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสที่จำเพาะกับโควิด-19 มากกว่า) และมีความรุนแรงเหมือนกัน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ได้แก่ กลุ่มเสี่ยง ดังนี้
7 กลุ่มเสี่ยงได้แก่
  1. หญิงมีครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
  2. ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจ หืด ไตวาย หลอดเลือดสมอง เบาหวาน ผู้ป่วยมะเร็ง ที่อยู่ในระหว่างการได้รับยา เคมีบำบัด
  3. ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
  4. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
  5. ผู้พิการทางสมอง ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
  6. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ
  7. ผู้ที่มีน้ำหนัก ตั้งแต่ 100 กก. หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กก./ตรม.
การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ร่วมกับวัคซีนป้องกันโควิด-19
สามารถทำได้ทั้ง ก่อน ระหว่าง หรือหลัง การฉีดวัคซีน โควิด-19 (COVID-19) ได้โดยการเว้นระยะการฉีดวัคซีนดังนี้
ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ก่อน ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด - 19
ผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ โดยให้เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เดือน จึงค่อยฉีดวัคซีนโควิด-19

ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หลัง วัคซีนป้องกันโควิด-19 ซิโนแวค (Sinovac)
ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค (Sinovac) เข็มที่ 1 แล้ว ให้ฉีดจนครบทั้ง 2 เข็มก่อนโดยระยะการฉีดห่างกัน 2-4 สัปดาห์ จึงรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลได้ โดยให้ห่างจากวัคซีนเข็มที่ 2 อย่างน้อย 1 เดือน

ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ระหว่าง วัคซีนป้องกันโควิด-19 แอสตราเซเนกา (AstraZeneca)
ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) เข็มที่ 1 และอยู่ระหว่างรอกำหนดฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 สามารถรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ โดยให้ห่างจากวัคซีนเข็มที่ 1 อย่างน้อย 1 เดือน และหลังจากนั้นให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ตามกำหนดนัด โดยให้มีระยะห่างจากการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างน้อย 1 เดือน
วัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) เข็มที่ 2 จะมีกำหนดฉีดหลังจากฉีดเข็มที่แรก 10 - 12 สัปดาห์

ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หลัง วัคซีนป้องกันโควิด-19 แอสตราเซเนกา (AstraZeneca)
ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ครบทั้ง 2 เข็มแล้ว โดยระยะการฉีดระหว่างเข็มที่ 1 และ 2 ห่างกันประมาณ 10-12 สัปดาห์ สามารถเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้หลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แล้วอย่างน้อย 1 เดือน

PM 2.5 ฝุ่นละอองเล็ก ที่ไม่ควรมองข้าม

PM 2.5 ฝุ่นละอองเล็ก ที่ไม่ควรมองข้าม

PM 2.5 ฝุ่นละอองเล็ก ที่ไม่ควรมองข้าม

จากการที่กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศ พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ตรวจพบค่าระหว่าง 51-75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มก./ลบ.ม.) โดยค่ามาตรฐานอยู่ที่ไม่เกิน 50 มก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ คุณภาพปานกลางถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งพื้นที่ ที่ตรวจพบค่าเกินมาตรฐาน จะเห็นได้ว่ามีพบการเพิ่มขึ้นของมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะพื้นที่ในเมืองและแหล่งอุตสาหกรรม  มลพิษทางอากาศมักจะพบในรูปของฝุ่นละอองเป็นส่วนใหญ่ เป็นภัยเงียบที่สะสมในร่างกายไปเรื่อยๆหากได้รับการสัมผัสเป็นเวลานานๆ

ฝุ่นละออง หรือ อนุภาค หรือ PM (Particulate Matter) จะล่องลอยอยู่ในอากาศ มักอยู่ในรูปฝุ่นควัน เขม่าควัน ละอองของเหลว และสามารถลอยอยู่ในอากาศเป็นเวลานาน บางอนุภาคที่มีขนาดใหญ่ก็จะสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเช่น ควันจากการสูบบุหรี่ บางอนุภาคมีขนาดเล็กไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าต้องส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ถึงจะมองเห็นได้  โดยพบว่าหากขนาดของฝุ่นหรืออนุภาคเล็กลงจะมีผลทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพได้ทั้งในระยะเฉียบพลันและระยะยาว ซึ่งอนุภาคฝุ่นที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 10 ไมครอนลงมา (PM10) จะก่อให้เกิดการสะสมภายในระบบทางเดินหายใจ และอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนลง (PM2.5) ตัวอนุภาคจะสามารถลงเข้าไปสะสมที่บริเวณทางเดินหายใจส่วนล่างได้ เมื่อมีการสูดดมเข้าไปก็จะเพิ่มความเสี่ยงในโรคทางเดินหายใจได้สูง นอกจากนี้ยังพบว่าสามารถแทรกซึมเข้าไปในกระบวนการทำงานในอวัยวะต่างๆ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรัง  ข้อมูลจากสมาคมโรคหัวใจของสหรัฐอเมริกากล่าวว่า หากคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดในสมอง หากได้รับสูดดมฝุ่นควัน PM2.5 เข้าไปเพียงเวลาไม่นาน ตัวฝุ่นจะไปกระตุ้นให้เกิดอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หัวใจวาย เส้นเลือดในสมองตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เพิ่มอัตราการเสียชีวิตได้ องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงกำหนดให้ PM 2.5 เป็น 1 ในสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอด ตั้งแต่ปี 2556 อีกทั้งยังเป็นสาเหตุให้ 1 ใน 8 ของประชากรโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

แหล่งกำเนิดของฝุ่นควัน PM2.5 เกิดขึ้นได้จาก 2 แหล่งหลักคือ แหล่งกำเนิดโดยตรง ได้แก่

  1. การเผาในที่โล่งซึ่งพบว่าสามารถปล่อย PM2.5 ได้มากที่สุดถึง 209,937 ตันต่อปี พบจากการเผาในพื้นที่เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว
  2. การคมนาคมซึ่งสามารถปล่อย PM2.5 ประมาณ 50,240 ตันต่อปี โดยมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงทั้งดีเซลและแก็สโซฮอล์เป็นหลัก อีกทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดของออกไซด์ของไนโตรเจนและซัลเฟอร์ไดออกไซด์
  3. การผลิตไฟฟ้าซึ่งปล่อย PM2.5 ประมาณ 31,793 ตันต่อปี อุตสาหกรรมการผลิตซึ่งปล่อย PM2.5 ประมาณ 65,140 ตันต่อปี เกิดจากสารอินทรีย์ระเหยง่ายจากสารเคมี  และเกิดจากการรวมตัวของก๊าซอื่นๆในบรรยากาศ โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และออกไซด์ของไนโตรเจน รวมทั้งมีสารปรอท แคดเมียม อาร์เซนิก หรือโพลีไซคลิกอะโรมาติกคาร์บอน ที่ล้วนแล้วแต่เป็นสารพิษเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์

ในส่วนวิธีการป้องกันมีวิธีตั้งแต่การควบคุมแหล่งกำเนิดของฝุ่นควัน ได้แก่ การควบคุมจากแหล่งกำเนิดโดยติดตั้งเครื่องดักฝุ่นประสิทธิภาพสูงร้อยละ 99-99.8 และติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศรอบโรงไฟฟ้าและชุมชน การปลูกต้นไม้ดักจับฝุ่นควัน การตรวจเช็คระบบเผาไหม้เครื่องยนต์ การควบคุมไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย เช่น การฉีดน้ำล้างถนน การหลีกเลี่ยง กิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะในวันที่มีค่า PM2.5  สูงเกินมาตรฐาน  และการป้องกันส่วนบุคคลนั่นคือการใส่หน้ากาก ซึ่งสถานการณ์การระบาดของ Covid-19 ทำให้ทุกคนต้องใส่  “หน้ากากอนามัย” หรือ "หน้ากากผ้า" ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว  โดยหน้ากากที่หาซื้อได้ถตามท้องตลาด มีประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่น PM2.5 ต่างกันดังนี้

  • หน้ากากชนิด N95  เป็นหน้ากากที่ได้มาตรฐานและได้รับการยอมรับว่าสามารถป้องกันเชื้อโรคได้ดีที่สุด เพราะป้องกันได้ทั้งฝุ่นละอองและเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กถึง 3 ไมครอน เหมาะสำหรับป้องกันมลพิษ ฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างที่พบเห็นกันทุกวันนี้ ควันพิษ ไอเสียรถยนต์ และไอระเหยของสารเคมีต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

  • หน้ากากอนามัยแบบเยื่อกระดาษ 3 ชั้น หน้ากากชนิดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เป็นแบบที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย เป็นหน้ากากที่เหมาะสำหรับป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคจากการไอหรือจาป้องกันผู้สวมใส่จากเชื้อโรคจำพวกเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราได้ แต่หากเป็นเชื้อไวรัสซึ่งมีอนุภาคเล็กระดับไมครอนอาจจะไม่สามารถป้องกันได้ จึงไม่เพียงพอหากต้องการป้องกันฝุ่นพิษ

  • หน้ากากผ้า เป็นหน้ากากคล้ายแบบเยื่อกระดาษ เน้นการป้องกันการกระจายของน้ำมูกหรือน้ำลายจากการไอจาม แต่อาจไม่สามารถกรองเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กมากๆ ได้ สามารถป้องกัฝุ่นละอองขนาดใหญ่กว่า 3 ไมครอนขึ้นไป แต่ฝุ่นละอองที่พบในปัจจุบันนี้มีขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอนจึงไม่สามารถป้องกันได้

ในส่วนวิธีการป้องกันมีวิธีตั้งแต่การควบคุมแหล่งกำเนิดของฝุ่นควัน ได้แก่ การควบคุมจากแหล่งกำเนิดโดยติดตั้งเครื่องดักฝุ่นประสิทธิภาพสูงร้อยละ 99-99.8 และติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศรอบโรงไฟฟ้าและชุมชน การปลูกต้นไม้ดักจับฝุ่นควัน การตรวจเช็คระบบเผาไหม้เครื่องยนต์ การควบคุมไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย เช่น การฉีดน้ำล้างถนน การหลีกเลี่ยง กิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะในวันที่มีค่า PM2.5  สูงเกินมาตรฐาน  และการป้องกันส่วนบุคคลนั่นคือการใส่หน้ากาก ซึ่งสถานการณ์การระบาดของ Covid-19 ทำให้ทุกคนต้องใส่  “หน้ากากอนามัย” หรือ "หน้ากากผ้า" ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว  โดยหน้ากากที่หาซื้อได้ถตามท้องตลาด มีประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่น PM2.5 ต่างกันดังนี้

บทความโดย
นายแพทย์ณัฐพงศ์ วิบูลย์ศิริชัย
อายุรแพทย์ โรคระบบทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤต