การผ่าฟันคุด

การผ่าฟันคุด

Impacted Tooth
ฟันคุด (Impacted Tooth) หมายถึง ฟันที่ไม่สามารถขึ้นมาในช่องปากได้ตามปกติ เนื่องจากกระดูกหรือเหงือกที่ปกคลุมหนามาก หรือ ถูกขัดขวางจากฟันข้างเคียง ฟันคุดที่พบได้บ่อย ได้แก่ ฟันเขี้ยวบน ฟันกรามน้อยล่างและฟันกรามใหญ่ซี่ที่สาม ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พบฟันคุดได้บ่อยที่สุด เนื่องจากเป็นฟันที่จะโผล่ขึ้นในช่องปากเป็นลำดับสุดท้าย
เมื่อทันตแพทย์ตรวจและวินิจฉัยพบว่าผู้ป่วยมีฟันคุดควรรีบผ่าฟันคุดออก ทั้งนี้ก็เพราะว่า ขณะที่ผู้ป่วยยังมีอายุน้อย (16-21ปี) ร่างกายจะแข็งแรงไม่มีโรคทางระบบใดๆกระดูกที่ปกคลุมตัวฟันยังไม่แข็งมากนักจึงจะง่ายต่อการกรอกระดูกและตัดฟัน (ในรายที่จำเป็น) มีการซ่อมแซมบาดแผลได้ดีกระดูกสร้างตัวได้เร็วแผลผ่าตัดจึงหายได้เร็ว ภาวะแทรกซ้อนน้อยและผลเสียที่จะเกิดกับเนื้อเยื่อปริทันต์ของฟันกรามซี่ที่อยู่ข้างเคียงน้อย
เหตุใดจึงควรผ่าฟันคุด
  1. เพื่อป้องกันการอักเสบของเหงือกที่ปกคลุมฟัน
  2. เพื่อป้องกันฟันข้างเคียงผุ หรือเกิดโรคปริทันต์
  3. เพื่อป้องกันการเกิดถุงน้ำ และเนื้องอกบริเวณขากรรไกร
  4. เพื่อป้องกันการเกิดฟันซ้อนเกหลังการจัดฟัน
สิ่งที่ควรทราบก่อนการตัดสินใจผ่าฟันคุด
ในการผ่าฟันคุดทุกครั้งจำเป็นต้องมีภาพถ่ายรังสี เพื่อประเมินแนวการวางตัวของฟันและรากฟัน พยาธิสภาพและลักษณะของกระดูกที่รองรับฟัน รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างฟันและเนื้อเยื่อที่สำคัญข้างเคียง เช่น เส้นประสาท เส้นเลือด
ไซนัส ฟันข้างเคียง เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัด
  • เลือดออกผิดปกติ
  • การเกิดอันตรายต่อเส้นประสาทซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการชาบริเวณคาง/ริมฝีปาก/ลิ้น (1-6เดือน) ขึ้นกับความสัมพันธ์ของรากฟันและเส้นประสาทของแต่ละบุคคล
  • แผลอักเสบติดเชื้อ-บวม
  • อ้าปากได้น้อยกว่าปกติ
  • การเกิดการเชื่อมต่อของช่องปากและไซนัส
ข้อปฎิบัติหลังการผ่าตัดฟันคุด
  1. กัดผ้าก๊อซให้แน่นบริเวณที่ถูกผ่าตัด ประมาณ 1-2 ชม. ถ้ามีเลือดหรือน้ำลายซึมออกมาให้กลืน
  2. คายผ้าก๊อซออกหลังจากผ่าตัดไปแล้วอย่างน้อย 1ชม. หากยังพบเลือดซึมออกมาให้กัดผ้าก๊อซใหม่ต่ออีกครั้งละ ประมาณ ½ -1 ชม.
  3. หลีกเลี่ยงการบ้วนน้ำลาย บ้วนน้ำ ตลอดวัน ที่ผ่าตัด
  4. ไม่ดูดแผล และ ใช้ลิ้นดุนบริเวณแผล เพราะจะทำให้เลือดซึมออกมาได้อีกครั้ง
  5. รับประทานยาตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด
  6. ช่วงสัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด ควรรับประทานอาหารอ่อนหรือเหลว และหลีกเลี่ยงอาหารร้อนจัด/เย็นจัด
  7. มาตามนัดตัดไหมประมาณ 7-10 วัน หลังการผ่าตัด
  8. หากมีอาการผิดปกติใดๆ ควรกลับมาปรึกษาทันตแพทย์

โปรแกรมและแพ็คเกจ

จอประสาทตาหลุดลอก

จอประสาทตาหลุดลอก

Retinal Detachment
เป็นอาการที่รุนแรงและส่งผลต่อการมองเห็น โดยเกิดขึ้นเมื่อจอประสาทตาแยกออกจากเนื้อเยื่อที่ยึดอยู่ภายใต้จอประสาทตา เมื่อเนื้อเยื่อเหล่านี้แยกออกจากจอประสาทตา จะทำให้จอประสาทตาไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ และหากปล่อยไว้โดยไม่มีการรักษาก็จะส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นในที่สุด
โรคจอประสาทตาหลุดลอกชนิดที่พบได้มากที่สุด เกิดขึ้นเมื่อมีรอยแยกในเนื้อเยื่อชั้นที่รับความรู้สึกของจอประสาทตา ทำให้ของเหลวไหลซึมออกมา ส่งผลให้ชั้นเนื้อเยื่อของจอประสาทตาหลุดออกจากกัน สำหรับผู้ที่มีสายตาสั้นมาก และเคยได้รับการผ่าตัดตา หรือเคยได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงที่ดวงตา มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นโรคจอประสาทตาหลุดลอก ผู้ที่มีสายตาสั้นมีโอกาสเป็นโรคจอประสาทตาหลุดลอกได้มากกว่า เนื่องจากผู้ที่มีสายตาสั้นจะมีความยาวของลูกตามากกว่าปกติ ทำให้จอประสาทตาบางและเปราะกว่าปกติ โรคจอประสาทตาหลุดลอกอีกชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อเส้นของวุ้นในตา หรือเนื้อเยื่อแผลเป็นทำให้เกิดการดึงรั้งบนจอประสาทตา ทำให้เกิดการหลุดลอก ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคจอประสาทตาชนิดนี้ได้
อาการของโรคจอประสาทตาหลุดลอก
  1. มองเห็นแสงฟ้าแล่บคล้ายไฟแฟลชกล้องถ่ายรูป
  2. มีสิ่งบดบังในการมองเห็น
  3. มองเห็นเหมือนมีอะไรลอยไปมา มีลักษณะเป็นจุดหรือใยแมงมุม
  4. การมองเห็นเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว
การตรวจพบในระยะเริ่มต้น เป็นวิธีการรักษาการหลุดลอก และการฉีกขาดของจอประสาทตาได้ดีที่สุด การทราบถึงคุณภาพของการมองเห็นของท่านเองเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด โดยเฉพาะหากท่านอยู่ในกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงสูง เช่น มีสายตาสั้น หรือเป็นโรคเบาหวาน หากท่านสังเกตพบอาการเหล่านี้ ควรไปพบจักษุแพทย์โดยทันที

โปรแกรมและแพ็คเกจ

Promotion ชุดตรวจสุขภาพ ลด 20%

ท่อระบายน้ำตาอุดตันหรือน้ำตาไหล

ท่อระบายน้ำตาอุดตันหรือน้ำตาไหล

ปกติแล้วน้ำตาจะถูกสร้างมาจากต่อมน้ำตาหลักที่อยู่ในเบ้าตาด้านบน และต่อมน้ำตาย่อยที่กระจายอยู่บริเวณเยื่อตาขาว น้ำตามีประโยชน์ต่อดวงตาเป็นอย่างมาก โดยในภาวะปกติดวงตาของเราจะมีน้ำตามาเคลือบไว้อยู่ระดับหนึ่งตลอดเวลาอยู่แล้ว ไว้คอยให้ความชุ่มชื้นต่อดวงตา หล่อลื่นเวลากระพริบตา และช่วยให้การหักเหของแสงเป็นไปอย่างราบรื่นแม่นยำ ทำให้เรามองเห็นภาพชัดเจนตลอดเวลา
น้ำตาที่ถูกสร้างออกมานี้จะถูกระบายออกไปทางท่อน้ำตาที่อยู่บริเวณหัวตา ซึ่งท่อระบายนี้จะไปเปิดในโพรงจมูกข้างเดียวกัน จะเห็นได้ว่าในภาวะที่มีการสร้างน้ำตามากเช่นเวลาเราร้องไห้ จะมีน้ำมูกไหลลงคอด้วย ซึ่งความจริงเป็นน้ำตาที่ถูกระบายผ่านทางท่อน้ำตาเข้าสู่โพรงจมูกนั่นเอง
นอกจากความโศกเศร้าเสียใจที่ทำให้เราต้องเสียน้ำตาแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เรามีปัญหาเกี่ยวกับน้ำตาเอ่อ น้ำตาคลอ น้ำตาไหล จนเป็นที่น่ารำคาญและเสียบุคลิกภาพในการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก
โดยสาเหตุหลักจะจะแบ่งได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆคือ
1.น้ำตาถูกสร้างออกมามากกว่าปกติ
คือภาวะที่มีการกระตุ้นเส้นประสาทรับรู้ความรู้สึกบริเวณดวงตาหรือรอบๆดวงตา หรือภาวะที่ทำให้มีการระคายเคืองต่อดวงตา เช่น ผงฝุ่นละอองเข้าตา ต้อลม ต้อเนื้อ ขนตาเก หรืออยู่ในที่ที่มีสภาวะอากาศแห้ง ลมแรง ก็ทำให้กระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำตาออกมามากกว่าปกติได้
2.น้ำตาถูกระบายออกไม่ได้
คือภาวะที่มีการตีบตันของท่อระบายน้ำตา เป็นได้ตั้งแต่รูเปิดของท่อน้ำตาบริเวณหัวตาไปจนถึงท่อน้ำตาที่อยู่ในโพรงจมูก สาเหตุของการตีบหรืออุดตันของทางเดินน้ำตาอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อของทางระบายน้ำตา การใช้ยาหยอดบางอย่างเป็นระยะเวลานาน อายุที่มากขึ้น หรืออาจจะเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ การที่ท่อทางเดินระบายน้ำตาอุดตัน เหมือนกับท่อระบายน้ำอุดตัน ทำให้น้ำขังในบ้าน ถ้ามีขยะของเสียก็จะส่งกลิ่นเหม็นฟุ้งเต็มบ้าน ดวงตาเราก็เหมือนกัน เมื่อท่อน้ำตาอุดตัน อาจจะทำให้มีการติดเชื้อที่จะทำให้เกิดเยื่อตาอักเสบหรือถุงน้ำตาอักเสบเป็นภาวะแทรกซ้อนขึ้นมาได้
การรักษา
จักษุแพทย์ก็จะทำการตรวจสุขภาพของดวงตาว่ามีระดับน้ำตามากผิดปกติจริงหรือไม่ ถ้ามีมากกว่าปกติจริง ก็จะทำการตรวจหาสาเหตุว่ามีอะไรกระตุ้นเส้นประสาทรับความรู้สึกที่จะทำให้มีการหลั่งน้ำตาออกมามาก ถ้ามีสาเหตุเหล่านี้ก็รักษาไปตามต้นเหตุ เช่นมีเศษฝุ่นผงหรือขนตาติดอยู่ในเยื่อตา ก็จัดการเอาออก หรือพบว่าเป็นต้อลมต้อเนื้อ รักษาโดยยาหยอดตาและแนะนำให้หลีกเลี่ยงฝุ่น ลม แสงแดดเป็นต้น
แต่ถ้าไม่พบสาเหตุใดๆที่จะกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำตาออกมามากกว่าปกติ จักษุแพทย์ก็จะทำการตรวจดูระบบการระบายน้ำตาว่าสามารถระบายน้ำตาออกสู่โพรงจมูกได้ตามปกติหรือไม่ เช่นการล้างท่อน้ำตา(irrigation)และการแยงท่อน้ำตา(probing)ดูว่าระบายน้ำเกลือที่ฉีดเข้าไปในทางเดินน้ำตาลงไปยังโพรงจมูกได้ปกติดีหรือไม่ เมื่อพบว่ามีการอุดตันตำแหน่งไหนในระบบทางระบายน้ำตา ก็ทำการผ่าตัดรักษาไปตามตำแหน่งที่อุดตันนั้นๆต่อไป

โปรแกรมและแพ็คเกจ

ชุดตรวจสุขภาพ SML Care [Free gift]

ชุดตรวจสุขภาพ SML Ca […]

โปรแกรมตรวจสุขภาพดวงตา

โปรแกรมตรวจสุขภาพดวง […]

คลายข้อสงสัย “วัคซีนมะเร็งปากมดลูก”

คลายข้อสงสัย "วัคซีนมะเร็งปากมดลูก"

ถาม HPV คืออะไร และติดต่อได้อย่างไร
ตอบ HPV (Human papillomavirus) เป็นไวรัสตระกูลหนึ่งซึ่งมีหลายสายพันธุ์ โดยมีสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งที่อวัยวะเพศ ช่องคลอด ทวารหนัก และมะเร็งบริเวณหลอดอาหาร นอกจากนี้ยังมีสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดหูดหงอนไก่ได้ ผู้หญิงและผู้ชายจะติดเชื้อ HPV ชนิดที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ โดยผู้หญิงส่วนใหญ่จะเคยได้รับเชื้อ HPV ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต
ถาม การป้องกันตนเองจากมะเร็งปากมดลูก
ตอบ ผู้หญิงควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่อายุ 21 ปี ซึ่งการตรวจจะทำให้สามารถพบปัญหาที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อ HPV ก่อนที่จะเกิดรอยโรคระยะก่อนมะเร็งได้
การติดเชื้อ HPV เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ 90% หนทางเดียวที่จะสามารถป้องกันจากการติดเชื้อ HPV ได้อย่างแน่นอนคือ การงดมีเพศสัมพันธ์ตลอดชีวิต
นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีวัคซีนมะเร็งปากมดลูก (หรือที่เรียกว่า Human Papillomavirus หรือ HPV วัคซีน) เป็นวัคซีนป้องกันไวรัส HPV ที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก
ถาม วัคซีนมะเร็งปากมดลูกคืออะไร
ตอบ วัคซีนมะเร็งปากมดลูกหรือวัคซีน HPV เป็นวัคซีนที่ช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูก ผลิตจากโปรตีนที่เปลือกหุ้มเชื้อไวรัส ปัจจุบันมีอยู่ 3 ชนิด คือ

  • ชนิด 2 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ที่ 16 และ 18) มีชื่อการค้าว่า Cervarix ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ประมาณ 70%
  • ชนิด 4 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ที่ 6, 11, 16 และ 18) มีชื่อการค้าว่า Gardasil ป้องกันมะเร็งปากมดลูก และหูดที่อวัยวะเพศ
  • ชนิด 9 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ที่ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58) มีชื่อการค้าว่า Gardasil 9 โดยสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกและหูดได้ประมาณ 90% รวมทั้งป้องกันมะเร็งทวารหนักได้ประมาณ 80%
ถาม วัคซีน HPV ต้องฉีดกี่เข็ม ป้องกันได้นานเท่าใด
ตอบ วัคซีนจะฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อต้นแขนหรือกล้ามเนื้อสะโพก โดยต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็มกรณี อายุ

  • สำหรับเด็กอายุ 9 -<15 ปี ฉีด 2 เข็มคือ ที่ 0 เดือนและ 6 เดือน
  • สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15-26 ปี ฉีด 3 เข็มคือ ที่ 0 เดือน 2 เดือนและ 6 เดือน
  • ทั้งนี้วัคซีนจะมีความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อหลังฉีดครบ 3 เข็มไปแล้ว 1 เดือน อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า วัคซีนจะช่วยป้องกันโรคได้นานแค่ไหน แต่จากการศึกษาพบว่าระดับภูมิคุ้มกันยังคงสูงต่อเนื่องหลายปีจึงยังไม่ต้องฉีดกระตุ้นซ้ำ
    สำหรับการให้วัคซีน HPV แบบ 2 เข็ม ข้อมูลในปัจจุบันพบว่า น่าจะเพียงพอในผู้หญิงที่อายุยังน้อย โดยแนะนำให้ใช้ในผู้หญิงอายุ 9-15 ปีเท่านั้น โดยสาหรับบุคคลที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำยังคงต้องได้รับวัคซีน 3 เข็ม

    ถาม ใครควรจะฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกบ้าง
    ตอบ ในทางอุดมคติ ควรเริ่มให้วัคซีนตั้งแต่ก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก อย่างไรก็ตามในผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนการได้รับวัคซีนก็ยังพบว่ามีประโยชน์ ตามแนวทางปฏิบัติแล้วคือ

    • แนะนำให้ฉีดในเด็กหญิงอายุ 11-12 ปีทุกราย หรือสามารถเริ่มให้วัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป
    • การให้วัคซีนแนะนำในเด็กหญิงและผู้หญิงอายุ 13-45 ปีที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน โดยจากการศึกษาในกลุ่มผู้หญิงอายุ 9-45 ปีพบว่าวัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง

    สำหรับผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน ควรมีการคุยระหว่างแพทย์และผู้รับบริการถึงความเสี่ยงที่ผู้รับบริการอาจเคยได้รับเชื้อ HPV มาก่อนและประโยชน์ที่จะได้รับจากวัคซีน ผู้รับวัคซีนต้องทำความเข้าใจว่า วัคซีนไม่สามารถกาจัดเชื้อไวรัส HPV ในกรณีที่มีการติดเชื้อเรื้อรังมาก่อนฉีดได้ นอกจากนี้ในปัจจุบันพบว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจหาเชื้อ HPV ก่อนการฉีดวัคซีน สำหรับประเทศไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ดำเนินโครงการฉีดวัคซีน HPV ฟรีให้กับนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งเป็นวัยเหมาะสมที่สุดในการรับวัคซีนนี้แล้ว โดยเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 2560

    ถาม ทำไมวัคซีนมะเร็งปากมดลูกจึงแนะนำให้ใช้ในเด็ก
    ตอบ เนื่องจากวัคซีนจะมีประสิทธิภาพสูงสุดในเด็กหรือผู้หญิงที่ไม่เคยได้รับการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่วัคซีนครอบคลุมมาก่อน ดังนั้นเด็กหญิงและผู้หญิงที่ไม่เคยติดเชื้อเหล่านี้ก็จะได้ประโยชน์เต็มที่จากการฉีดวัคซีน
    ถาม กลุ่มที่ไม่ควรรับวัคซีน
    ตอบ ไม่ควรฉีดวัคซีนหากยังมีอาการเจ็บป่วยหรือมีประวัติแพ้ยีสต์หรือตั้งครรภ์อยู่
    ถาม ผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วจะได้ประโยชน์จากวัคซีนหรือไม่
    ตอบ ผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วก็ยังคงได้รับประโยชน์จากการฉีดวัคซีนอยู่ แต่อาจจะน้อยกว่า เนื่องจากผู้หญิงเหล่านี้อาจจะเคยได้รับเชื้อ HPV บางสายพันธุ์มาแล้ว
    Gardasil และ Cervarix จะป้องกัน HPV จำเพาะบางสายพันธุ์แต่ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยไม่เคยสัมผัสกับสายพันธุ์เหล่านี้มาก่อน ถ้าหากยิ่งมีจำนวนคู่นอนมากเท่าไหร่โอกาสในการติดเชื้อ HPV หลายสายพันธุ์ก็ยิ่งมีมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญบางคนได้แนะนำให้ผู้หญิงอายุ 18-45 ปีบอกถึงประวัติเพศสัมพันธ์กับแพทย์เพื่อดูว่าประเมินถึงประโยชน์ที่จะได้จากวัคซีน
    ถาม วัคซีนมีความปลอดภัยหรือไม่
    ตอบ มีการศึกษาว่าวัคซีนมีความปลอดภัยค่อนข้างมาก ไม่พบว่ามีไวรัสที่มีชีวิตเหลืออยู่ในวัคซีน ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยหลังฉีดยาคือ มีแดงและเจ็บบริเวณที่ฉีดยา อาการปวดหัว (คล้ายกับจะเป็นไข้หวัด) ก็พบได้บ่อย อาจพบมีไข้ได้ อาการปวดและมีไข้สามารถบรรเทาโดยการให้ยาได้ แต่ก็คล้ายคลึงกับยาทั่วไปก็คือยังคงต้องเฝ้าระวังความปลอดภัยในการใช้วัคซีนต่อไป
    ถาม มีวัคซีนสาหรับเด็กชายหรือผู้ชายหรือไม่
    ตอบ ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา แต่ผู้ชายก็สามารถฉีดวัคซีน HPV ได้ เพราะแม้จะไม่มีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูก แต่หากไปมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงที่มีเชื้อ HPV แล้วได้รับเชื้อมา ก็สามารถแพร่เชื้อต่อไปยังคู่นอนคนอื่นได้เช่นกัน ซึ่งในต่างประเทศมีการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ทั้งในเพศหญิงและเพศชายบ้างแล้ว เช่น องค์กรควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำให้เด็กชายอายุ 11-12 ปี ฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ เพื่อป้องกันโรคหูดหงอนไก่และมะเร็งทวารหนัก
    ถาม หลังฉีดวัคซีนแล้วจะมีเพศสัมพันธ์ได้เลยไหม
    ตอบ สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ แต่ควรคุมกาเนิดด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพ เช่น การใส่ถุงยางอนามัย จนกระทั่งฉีดครบ 3 เข็มไปแล้วอย่างน้อย 1 เดือน เพราะความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อจะเกิดขึ้นภายใน 1 เดือน หลังฉีดวัคซีนครบ 3 เข็ม
    ถาม หลังฉีดวัคซีนแล้วจำเป็นต้องตรวจหามะเร็งปากมดลูก (PAP smear) อีกหรือไม่
    ตอบ ปัจจุบันยังคงแนะนำให้ปฏิบัติตามแนวทางตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามปกติ
    ถาม การป้องกันมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีต่างๆ
    ตอบ HPV แพร่กระจายผ่านการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ HPV ทำได้โดยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ควรจำกัดจานวนคู่นอน การไม่สูบบุหรี่ก็จะช่วยได้เนื่องจากการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกถึงสองเท่า
    ในการค้นหารอยโรคก่อนการเป็นมะเร็ง หรือมะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มต้น ผู้หญิงควรตรวจภายในประจำปีและตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก นอกจากนี้ควรไปพบแพทย์ทันทีที่มีอาการผิดปกติที่อาจเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ เช่น มีเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ ช่วงใกล้วัยหมดประจำเดือนหรือหลังหมดประจำเดือนไปแล้ว มีตกขาวกลิ่นเหม็นหรือมีเลือดปน ปวดท้องน้อย หรือ เจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์
    ถาม ถุงยางอนามัยกับการแพร่เชื้อ HPV
    ตอบ การศึกษาปัจจุบันพบว่าการใช้ถุงยางอนามัยเป็นประจำจะช่วยลดการติดเชื้อ HPV อย่างไรก็ดีเนื่องจากถุงยางอนามัยไม่สามารถปกปิดบริเวณที่เป็นจุดแพร่กระจายของ HPV ได้ทั้งหมด มันจึงไม่อาจให้การป้องกันได้เต็มที่ ดังนั้นการใช้ถุงยางอนามัย ในบางครั้งอาจจะไม่สามารถป้องกัน HPV ได้ ควรตระหนักว่าในการป้องกันการติดเชื้อ HPV นั้นควรจะใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะมั่นใจในความสัมพันธ์ ถุงยางอนามัยจะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เมื่อใช้ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์และใช้อย่างถูกวิธี
    ถาม จะรู้ได้อย่างไรว่ามีการติดเชื้อ HPV
    ตอบ ในคนที่ติดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการผิดปกติ หนทางเดียวที่จะทราบได้ว่าคุณมีเชื้อ HPV ก็คือทดสอบหาไวรัสโดยตรงจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หรือใช้อุปกรณ์สำหรับตรวจด้วยตนเองที่บ้าน การติดเชื้อ HPV ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ปากมดลูกไปเป็นรอยโรคก่อนการเป็นมะเร็งหรือมะเร็งปากมดลูก เชื้อ HPV อาจจะปรากฏในช่วงเวลาเป็นสัปดาห์ เดือน หรือปีหลังจากได้รับเชื้อครั้งแรก ซึ่งก็คือความสำคัญว่าทาไมจึงจำเป็นต้องตรวจอย่างสม่ำเสมอ
    ถาม HPV สามารถรักษาได้หรือไม่
    ตอบ ในปัจจุบันไม่มีการรักษาสำหรับไวรัส แต่มีการรักษาสำหรับการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ปากมดลูกที่เกิดจาก HPV
    สรุป
    คุณผู้หญิงควรตรวจภายในประจาปีและตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่อายุ 21 ปี ซึ่งการตรวจจะทำให้สามารถพบปัญหาก่อนที่จะเกิดโรคในระยะก่อนมะเร็งได้ การติดเชื้อ HPV เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ 90% นอกจากนี้ควรไปพบแพทย์ทันทีที่มีอาการผิดปกติ เช่น มีเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ ช่วงใกล้วัยหมดประจำเดือนหรือหลังหมดประจำเดือนไปแล้ว มีตกขาวกลิ่นเหม็นหรือมีเลือดปน ปวดท้องน้อย หรือ เจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

    โปรแกรมและแพ็คเกจ

    วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV)

    งูสวัด ภัยเงียบ สำหรับผู้สูงอายุ

    งูสวัด ภัยเงียบ สำหรับผู้สูงอายุ

    Herpes Zoster
    สาเหตุ
    เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า "วาริเซลลาซอสเตอร์ (วี-แซด) ไวรัส" ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ครั้งแรกจะแสดงอาการของไข้สุกใส (ซึ่งมักเกิดขึ้นในวัยเด็ก) ดังนั้นผู้ป่วยจึงมักมีประวัติเคยเป็นไข้สุกใสมาก่อน หลังจากหายจากไข้สุกใสแล้ว เชื้อจะหลบซ่อน และแฝงตัวอยู่บริเวณปมประสาทใต้ผิวหนัง ซึ่งอาจนานหลายปี โดยไม่มีอาการผิดปกติใดๆ
    เมื่อร่างกายมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ เช่น อายุมากขึ้น ถูกกระทบกระเทือน มีความเครียด ทำงานหนัก พักผ่อนไม่พอ โรคเอดส์หรือโรคมะเร็งที่ได้รับยากดภูมิต้านทาน เป็นต้น เชื้อที่แฝงตัวอยู่นั้นก็จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวน และกระจายในปมประสาท ทำให้เส้นประสาทอักเสบ เชื้อจะกระจายไปตามเส้นประสาทที่อักเสบ และปล่อยเชื้อไวรัสออกมาที่ผิวหนัง เกิดเป็นตุ่มใสเรียงเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาท คล้ายกับรูปร่างของงู จึงเรียกว่า โรคงูสวัด
    อาการ
    ก่อนมีอาการผื่นขึ้น 1-3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแปล๊บ คล้ายถูกไฟช็อตในบริเวณที่ผื่นจะขึ้น ซึ่งเป็นบริเวณปมประสาทที่มีเชื้อไวรัสแฝงตัวอยู่ อาจมีอาการคันและแสบร้อนร่วมด้วย เป็นพักๆ หรือตลอดเวลา บางรายอาจมีไข้ หนาวสั่น ร่วมด้วย ผื่นมักเริ่มขึ้นตรงบริเวณที่มีอาการ ลักษณะเป็นผื่นแดงอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ต่อมากลายเป็นตุ่มน้ำใสเรียงตามแนวผิวหนังซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย ตามแนวเส้นประสาทที่อักเสบ ตุ่มน้ำมักทยอยขึ้นใน 4 วันแรก แล้วค่อยๆ แห้งตกสะเก็ดใน 7-10 วัน เมื่อตกสะเก็ดและหลุดออกไป อาการปวดจะทุเลาไป ผื่นจะอยู่นาน 10-15 วัน ผู้สูงอายุอาจ มีอาการนานเป็นเดือนกว่าจะหาย
    งูสวัดพันตัวแล้วทำให้ตายหรือไม่ ?
    โรคงูสวัดไม่ทำให้ตาย และสามารถหายได้เองในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานปกติ โดยผื่นในโรคงูสวัดนั้น จะไม่สามารถพันตัวเราจนครบรอบเอวได้เพราะแนวเส้นประสาทของตัวเรา จะมาสิ้นสุดที่บริเวณกึ่งกลางลำตัวเท่านั้น ดังนั้นในคนธรรมดาที่มีภูมิต้านทานปกติ งูสวัดจะไม่ลุกลามเกินแนวกึ่งกลางลำตัวไปอีกซีกหนึ่งของร่างกาย ยกเว้นในกรณีที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น โรคเอดส์ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ได้ยากดภูมิต้านทาน ผื่นอาจปรากฏขึ้นสองข้างพร้อมกัน ทำให้ดูเหมือนงูสวัดพันรอบตัวได้ บางครั้งในรายที่เป็นรุนแรง อาจเกิดผื่นงูสวัดแบบแพร่กระจายผื่นอาจลุกลามเข้าสู่สมองและอวัยวะภายในอื่นๆ เช่น ปอดหรือตับเป็นต้น ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
    งูสวัดเป็นโรคติดต่อหรือไม่ ?
    ในคนที่ภูมิคุ้มกันปกติ การสัมผัสหรือใกล้ชิดไม่ได้ทำให้ติดงูสวัด เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสจากผู้ป่วยงูสวัดนั้นเกิดยาก เพราะงูสวัดจะแพร่เชื้อในระยะที่ตุ่มน้ำแตกและสัมผัสสารคัดหลั่งจากตุ่มน้ำโดยตรง จึงสามารถที่จะสัมผัสใกล้ชิด กินข้าวร่วมกับผู้ป่วยได้ตามปกติ ยกเว้นในคนที่ยังไม่เคยเป็นโรคสุกใสมาก่อน หากสัมผัสคนที่เป็นงูสวัดก็จะได้รับเชื้อและเป็นไข้สุกใสได้ แต่ในผู้ป่วยที่เป็นงูสวัดแบบแพร่กระจายอาจสามารถแพร่เชื้อทางลมหายใจได้ด้วย
    การรักษา
    การรักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด ลดไข้ เป็นต้น เนื่องจากโรคงูสวัดสามารถหายได้เอง เมื่อผู้ป่วยมีภูมิต้านทานดี เช่น พักผ่อนเพียงพอ ในบางครั้งหากผื่นติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เป็นหนอง การใช้ยาปฏิชีวนะแบบทา หรือรับประทานจะมีประโยชน์ สำหรับผู้สูงอายุ หรืออายุมากกว่า 50 ปี ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมาก หรือมีอาการปวดรุนแรงตั้งแต่แรกที่มีผื่นขึ้น การใช้ยาต้านไวรัสแบบรับประทาน ที่ใช้บ่อยคือยา อะไซโคลเวียร์ ครั้งละ 800 มก.วันละ 5 ครั้ง ทุก 4 ชั่วโมง (เว้นมื้อดึก 1 มื้อ) การให้ภายใน 48-72 ชั่วโมงหลังเกิดอาการจะลดความรุนแรงของโรค และช่วยให้หายเร็วขึ้น รวมทั้งลดภาวะแทรกซ้อนในภายหลังได้

    ในรายที่รุนแรง แบบแพร่กระจายหรือเข้าตา แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสในรูปแบบฉีดเข้าเส้นเลือดดำแทน ซึ่งผลการรักษาจะได้ประสิทธิภาพกว่ามาก และลดสภาวะแทรกซ้อนอื่นที่จะตามมา
    ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยคือ อาการปวดตามแนวประสาทหลังเป็นงูสวัด
    โดยเฉลี่ยพบได้ประมาณร้อยละ 10-15 ของผู้ป่วยงูสวัด พบได้ประมาณร้อยละ 50 ในผู้ป่วยที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป และมากกว่าร้อยละ 70 ในผู้ป่วยอายุ 70 ปีขึ้นไป โดยยิ่งอายุมากยิ่งเป็นรุนแรงและนาน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่แรก หรือเกิดขึ้นภายหลังผื่นหายหมดแล้วก็ได้ มีลักษณะปวด ลึกๆ แบบปวดแสบปวดร้อนตลอดเวลา หรือปวดแบบแปลบๆ เสียวๆ (คล้ายถูกมีดแทง) เป็นพักๆ ก็ได้ มักปวดเวลาถูกสัมผัสเพียงเบาๆ ปวดมากตอนกลางคืนหรือเวลาอากาศเปลี่ยนแปลง บางครั้งอาจรุนแรงมากจนทนไม่ได้ อาการปวดมักหายได้เอง (ร้อยละ 50 หายเองภายใน 3 เดือน และร้อยละ 75 จะหายเองภายใน 1 ปี) บางรายอาจปวดนานหลายปี โดยเฉพาะ อย่างยิ่งถ้าขึ้นที่บริเวณใบหน้า
    การปฏิบัติตนเมื่อพบว่าเป็นงูสวัด
    1. รักษาแผลให้สะอาด ในระยะเป็นตุ่มน้ำใสที่มีอาการปวดแสบปวดร้อนให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเกลืออุ่นๆ หรือ กรดบอริก 3% ปิดประคบไว้ประมาณ 5-10 นาที แล้วชุบเปลี่ยนใหม่ ทำวันละ 3-4 ครั้ง ในระยะตุ่มน้ำแตกมีน้ำเหลืองไหลต้องระมัดระวังการติดเชื้อแบคทีเรียที่จะเข้าสู่แผลได้ ควรใช้น้ำเกลือสะอาดชะแผล แล้วปิดด้วยผ้าก๊อซสะอาด
    2. ถ้าปวดแผลมากสามารถรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ได้
    3. ไม่ควรใช้เล็บแกะเกาตุ่มงูสวัดเพราะอาจทำให้ มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน กลายเป็นตุ่มหนอง แผลหายช้า และกลายเป็นแผลเป็น
    4. การรับประทานอาหาร สามารถรับประทานได้ทุกอย่าง โดยไม่มีข้อห้าม
    5. ไม่ควรเป่า หรือพ่นยาลงบนแผล เพราะจะทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน แผลหายช้า และกลายเป็นแผลเป็น
    ผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นงูสวัดแล้วต้องมาพบแพทย์ทันที
    1. ผู้สูงอายุ มากกว่า 50 ปีชึ้นไป
    2. ผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ จากการได้ยากดภูมิต้านทาน ได้แก่ ยาฆ่าเซลล์มะเร็ง หรือจากการได้รับการฉายรังสี ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งของต่อมน้ำเหลือง หรือผู้ป่วยโรคเอดส์ เป็นต้น
    3. มีผื่นงูสวัดที่จมูก หรือใกล้ตา เนื่องจากมีโอกาสสูงที่จะลามเข้าตาได้ ทำให้เกิดกระจกตาอักเสบ แผลกระจกตา ม่านตาอักเสบ ต้อหิน ประสาทตาอักเสบ หรือตาบอดในที่สุด
    4. มีผื่นงูสวัดที่ใบหน้า,บริเวณหูด้านนอกหรือแก้วหู เพราะอาจทำให้เกิดอัมพาตใบหน้าครึ่งซีก บ้านหมุนคลื่นไส้ เวียนศีรษะ หรืออาเจียน ได้
    5. มีผื่นงูสวัดที่เข้าได้กับผื่นแบบแพร่กระจาย
    6. มีอาการปวดรุนแรงซึ่งกระทบต่อชีวิตประจำวัน

    โปรแกรมและแพ็คเกจ

    โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน

    โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน (HNP)

    Herniated Nucleus Pulposus
    อาการปวดหลังบริเวณหลังส่วนล่างเป็นอาการที่พบได้บ่อย สาเหตุอย่างหนึ่งคือ โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ซึ่งเป็นสาเหตุของการผ่าตัดกระดูกสันหลังที่พบได้บ่อยที่สุดทั่วโลก
    อาการของโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนจะแตกต่างกันออกไปตามตำแหน่งของเส้นประสาทที่ถูกกด โดยมีอาการหลักๆ ดังนี้
    • ปวดร้าวตามเส้นประสาท
    • ปวดหลังส่วนล่าง
    • ชาตามเส้นประสาทที่ถูกกดทับ
    • อ่อนแรงตามเส้นประสาทที่ถูกกดทับ
    • งอตัวลำบาก งอหลังได้ไม่สุด
    • ปวดเมื่อทำกิจกรรม เช่น ออกแรง ไอ จาม
    • ปวดมากเวลานั่ง
    85-90% ของผู้ป่วยหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทที่มีอาการอย่างเฉียบพลัน อาการจะทุเลาเองใน 6-12 สัปดาห์โดยไม่ต้องผ่าตัด ในผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องส่งตรวจทางรังสีเพิ่มเติม
    ควรส่งตรวจทางรังสีเพิ่มเติมเมื่อสงสัยว่าอาจมีอื่นโรคร่วม
    อาการที่พึงระวัง ได้แก่
    • มีไข้
    • อายุมากกว่า 50 ปี
    • มีประวัติอุบัติเหตุนำมาก่อน
    • มีอาการปวดตอนกลางคืนหรือขณะพัก
    • น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ
    • ตรวจพบความผิดปกติของระบบประสาทที่เป็นมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
    • มีอาการชารอบทวารหนัก (saddle anesthesia)
    • มีประวัติป่วยด้วยโรคมะเร็งหรือกระดูกพรุน
    • หรืออาการไม่ดีขึ้นหลังจากการรักษาแล้วไม่น้อยกว่า 6 สัปดาห์
    การส่งตรวจเพิ่มเติมจะประกอบไปด้วยภาพเอกซเรย์กระดูกสันหลังบริเวณเอว โดยวิธีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomographic, CT scan) หรือเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging, MRI) แพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย
    ภาพเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของผู้ป่วยหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทข้อที่ 4 ต่อ 5
    การรักษา
    เนื่องจากอาการปวดบริเวณหลังส่วนล่างมักหายได้เองใน 6-8 สัปดาห์ ดังนั้นการรักษาขั้นแรกสุด คือการรักษาแบบไม่ผ่าตัด ยกเว้นในผู้ป่วยบางรายที่ตรวจพบการบกพร่องของระบบประสาทที่มากขึ้น หรือสงสัยภาวะจากโรคกลุ่ม Cauda Equina ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้สำหรับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน
    การรักษาโดยไม่ผ่าตัด
    เป็นการรักษาที่แนะนำเป็นอันดับแรกในผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการของโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยพักการใช้งานหลัง ให้ความรู้เกี่ยวกับตัวโรค สอนวิธีการออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแผ่นหลัง และสั่งยาบรรเทาอาการปวด หรือสั่งการรักษาด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด
    หากอาการปวดยังเป็นอยู่นานมากกว่า 6 สัปดาห์ แม้จะได้รับการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว อาจพิจารณาการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าในช่องไขสันหลัง เพื่อบรรเทาอาการปวดจากเส้นประสาทในระยะสั้น (ช่วยบรรเทาอาการได้เฉลี่ยประมาณ 2-4 สัปดาห์ขึ้นกับบุคคล)
    การรักษาด้วยการผ่าตัด
    การรักษาด้วยการผ่าตัดแนะนำให้ทำในผู้ป่วยที่อาการป่วยรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และไม่ตอบต่อการรักษาโดยไม่ผ่าตัด
    วิธีการผ่าตัดแบ่งออกหลักๆได้ 2 ประเภท ได้แก่
    1. การเปิดแผลแบบมาตรฐาน (Open Approach) โดยการเปิดแผลเข้าไปตัดหมอนรองกระดูก
    2. การเปิดแผลแบบบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อน้อย (Minimal Invasive Approach) เป็นการผ่าตัดผ่านกล้อง (Tube Access) เป็นการผ่าตัดที่ใช้ระยะเวลาผ่าตัดน้อย เสียเลือดน้อย บาดแผลมีขนาดเล็ก แผลหายไว
    สรุป
    ภาวะหมอนรองกระดูกเคลื่อนนั้นพบได้ค่อนข้างบ่อย พบได้ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยกลางคน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมาด้วยอาการปวดหลัง ร้าวลงขา ก่อให้เกิดปัญหาเรื้อรังตามมาอีกมาก ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังเรื้อรังหรือมีอาการที่พึงระวังร่วมด้วย ควรมาพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ แพทย์จะพิจารณาว่าต้องส่งตรวจเพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยต่อไป
    นอกจากเรื่องกระดูกสันหลังแล้ว การดูแลใส่ใจสุขภาพในแง่อื่นให้ครบถ้วนก็เป็นเรื่องที่สำคัญ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีเพื่อคัดกรองโรคที่เกิดขึ้นได้แม้ว่าจะยังไม่มีอาการเจ็บป่วย

    โปรแกรมและแพ็คเกจ

    อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

    อาหาร กับผู้ป่วยเบาหวาน

    โรคเบาหวาน เกิดจากการทำงานของตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิต อินซูลิน(Insulin) ออกมาได้น้อยกว่าปกติ ทำให้ไม่เพียงพอกับการเผาผลาญน้ำตาลในเลือดมาใช้เป็นพลังงาน หากร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และหากผู้ที่เป็นเบาหวานไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ อาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังต่างๆได้
    หมวดข้าวแป้ง
    เป็นอาหารในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานหลักแก่ร่างกาย ผู้ที่เป็นเบาหวานควรให้ความสำคัญในการกำหนดสัดส่วน ปริมาณให้เหมาะสมในการรับประทาน ซึ่งโดยทั่วไปไม่ควรเกินมื้อละ 2-3 ทัพพี ควรเลือกรับประทานข้าวแป้งที่ไม่ขัดสีมากกว่าข้าวขาว เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีท ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่มีใยอาหารสูง ร่างกายจะย่อยและดูดซึมได้อย่างช้าๆระดับน้ำตาลในเลือดจึงไม่ขึ้นสูงเร็วจนเกินไป
    หมวดผักชนิดต่างๆ
    อาหารในกลุ่มนี้มีทั้งวิตามิน เกลือแร่ และใยอาหารสูง ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลไปใช้ได้ดีแล้ว ยังช่วยในเรื่องของระบบขับถ่ายได้ดีด้วย ผู้ที่เป็นเบาหวานจึงควรเน้นรับประทานผักให้ อย่างน้อยวันละ 3-4 ทัพพี เน้นเป็นผักสด ลวก ต้ม จะดีกว่าการนำไปผัดหรือทอด
    หมวดผลไม้
    จัดเป็นกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะนอกจากผลไม้จะมีวิตามิน และใยอาหารสูงแล้วยังมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบอีกด้วย หากทานในปริมาณที่มากกว่าปริมาณที่กำหนด จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ ผู้ที่เป็นเบาหวานสามารถทานผลไม้ได้ 3-4 ครั้งต่อวัน หลังอาหารหรือเป็นอาหารว่าง ไม่ควรเกินครั้งละ1ส่วน เช่น องุ่น 5-8 ผล,ส้ม 1-2 ผล,ฝรั่ง ½ ผล,มะละกอ 6-8 ชิ้นคำ หลีกเลี่ยงผลไม้รสหวานจัด เช่น ทุเรียน ขนุน น้อยหย่า ละมุด ผลไม้ที่ผ่านการแปรรูป เช่น ผลไม้กวน ผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้กระป๋อง เป็นต้น
    หมวดเนื้อสัตว์
    จะให้ทั้งโปรตีนและไขมันต่อร่างกาย โปรตีนเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต ใช้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและเป็นแหล่งพลังงานด้วย ผู้ที่เป็นเบาหวานควรได้รับทุกมื้อ มื้อละ 2-4 ช้อนกินข้าว แต่ในเนื้อสัตว์มักมีไขมันและโคเลสเตอรอลแฝงอยู่ หากรับประทานปริมาณมากอาจมีความเสี่ยงจากการเกิดโรคไขมันในเลือดสูงได้ จึงควรเลือกโปรตีนจากเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อปลา ไข่ และเต้าหู้ เป็นหลัก
    หมวดไขมัน
    เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายเพื่อช่วยในการดูดซึมวิตามินต่างๆผู้ที่เป็นเบาหวานควรเลือกใช้น้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก ในการประกอบอาหาร หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น กะทิ เนื้อสัตว์ติดมัน ครีมเทียม  เนยเทียม เป็นต้น
    สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานควรเลือกดื่มนมพร่องมันเนย ขาดมันเนย หรือโยเกิร์ตรสธรรมชาติ หลีกเลี่ยง นมข้นหวาน นมเปรี้ยว นมปรุงแต่งรสหวาน โยเกิร์ตปรุงแต่งรสชาติ

    โปรแกรมและแพ็คเกจ

    Q & A สารพันคำถามเกี่ยวกับโรคต้อกระจก

    สารพันคำถามเกี่ยวกับโรคต้อกระจก

    Q & A Cataract
    เลนส์แก้วตา (Lens) เป็นเลนส์นูนใสอยู่หลังม่านตา มีลักษณะเหมือนเลนส์นูนทั่วไปทั้งด้านหน้า และด้านหลัง โดยด้านหน้าแบนกว่าด้านหลัง มีความหนาประมาณ 5 ม.ม. เส้นผ่าศูนย์ กลาง 9 ม.ม. ทำหน้าที่ร่วมกับกระจกตาในการหักเหแสงจากวัตถุให้ตกโฟกัสที่จอประสาทตา จึงทำให้เกิดการมองเห็น  เมื่อเลนส์แก้วตาเสื่อม แทนที่จะใสกลับขุ่น แก้วตาที่ขุ่นลงนี้ ส่งผลให้กำลังหักเหของแสงผิดไป ตลอดจนขัดขวางไม่ให้แสงเข้าตา ผู้นั้นจึงมองเห็นภาพไม่ชัด นั่นคือโรคที่เรียกกันว่า “ต้อกระจก”
    ถาม โรคต้อกระจกเกิดกับช่วงอายุใดบ้าง
    ตอบ โรคต้อกระจกเกิดได้ทุกวัยตั้งแต่แรกเกิด เพราะมีสาเหตุการเกิดได้หลายอย่างเช่น เด็กแรกเกิดในแม้ที่เป็นหัดเยอรมัน อุบัติเหตุ โรคเบาหวาน แต่โดยทั่วไปที่พบเป็นปกติคือการเสื่อมของเลนส์แก้วตาในผู้ป่วยสูงอายุ หากไม่แน่ใจว่าอาการตามัวเกิดจากโรคต้อกระจกหรือไม่ แนะนำตรวจกับจักษุแพทย์จะได้รับการวินิจฉัยที่แน่นอนที่สุด
    ถาม ต้อกระจกถ้าทิ้งไว้นานจะทำให้ตาบอดได้หรือไม่
    ตอบ ต้อกระจกถือเป็นปัญหาทางสาธารณสุขอันดับหนึ่งของประเทศไทยที่สูญเสียการมองเห็นระดับรุนแรง ผู้ป่วยจะตามัวลงเรื่อยๆจนเกิดอาการต้อหินแทรกซ้อนได้ จึงไม่ควรทิ้งไว้จนต้อกระจกแข็งหรือ สุก หากปล่อยต้อกระจกสุกจะทำให้เกิดการอักเสบรุนแรงในตา นำไปสู่โรคต้อหินแทรกซ้อนซึ่งจะทำให้ปวดตา และมองไม่เห็นในที่สุด
    ถาม โรคต้อกระจกสามารถใช้ยาหยอดรักษาให้หายได้จริงหรือไม่
    ตอบ ปัจจุบันการใช้ยาหยอดเพื่อชะลอหรือทำให้ต้อกระจกหายไปนั้น ไม่ได้รับการยอมรับแล้ว ยาดังกล่าวไม่ได้ชะลอหรือทำให้หายได้ ถ้าได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นต้อกระจก ในกรณีที่ต้อกระจกยังไม่มากและผู้ป่วยยังไม่พร้อมทำ ก็สามารถรอได้ แต่ถ้าต้อกระจกเป็นมาก สมควรทำแล้วก็แนะนำให้ทำเนื่องจากการทิ้งไว้นานทำให้ต้อกระจกแข็งมากขึ้นและยากต่อการสลายต้อกระจก
    ถาม การผ่าตัดต้อกระจก (ECCE) และสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียง (Phacoemulsification) ต่างกันอย่างไร
    ตอบ การผ่าตัดต้อกระจก ECCE เป็นวิธีที่มีมาก่อนการใช้คลื่นเสียงสลายต้อกระจก ต้องฉีดยาชา แผลใหญ่เพราะเอาเลนส์แก้วตาขุ่นออกมาทั้งหมดทางแผล ขนาด 8-10 มม. ต้องเย็บแผลด้วยไหมขนาดเล็กมาก ทำให้เกิดสายตาเอียง เหมาะสำหรับประเทศที่ไม่มีเครื่องสลายต้อกระจก หรือ ต้อกระจกทิ้งไว้นานจนเครื่องสลายไม่สามารถสลายได้ ค่าใช้จ่ายถูกกว่า ส่วนการสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงเป็นวิธีรักษาที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ใช้เพียงยาชาหยอดตา ยกเว้นในรายที่ผู้ป่วยกลัวมาก หรือมี โรคแทรกซ้อนการฉีดยาชา อาจจำเป็นเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างทำได้ แผลเล็กมากตั้งแต่ 1.8 - 3.0 มม. ขึ้นอยู่กับเครื่องมือและทักษะของแพทย์ผู้รักษา ส่วนใหญ่แผลไม่ต้องเย็บเพราะเล็กมากใช้เวลาการรักษา 5 – 25 นาทีขึ้นกับทักษะของแพทย์ผู้รักษา สามารถฟื้นกลับมาเห็นได้ดีภายใน 6 ชั่วโมง ข้อด้อยคือถ้าทิ้งต้อกระจกไว้นานจนเลนส์แข็งจนเป็นสีดำ หรือสุก เครื่องไม่สามารถสลายได้ ต้องการทักษะของผู้ทำการรักษาสูง และค่าใช้จ่ายมากกว่าการผ่าตัด ECCE เล็กน้อย
    ถาม เลนส์แก้วตาเทียมมีกี่ชนิด และแต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไร
    ตอบ ชนิดของเลนส์แก้วตาเทียม ชนิดแข็ง 5.25 – 7 มม. วัสดุ PMMA เหมาะสำหรับการผ่าตัด ECCE หรือการฝังเลนส์แบบไม่ใส่ในถุงหุ้มเลนส์แก้วตาเทียม เลนส์ชนิดนิ่มพับได้ ผ่านแผลเล็กขนาด 1.8 – 3.0 มม. เหมาะสำหรับการสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียง เลนส์ชนิดแก้สายตาเอียง(Toric IOL) เหมาะสำหรับผู้ที่มีสายตาเอียงมากเช่น 2.0 D ขึ้นไป เลนส์สำหรับมองไกลและอ่านหนังสือ (Multifocal IOL) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องการมองไกลและมองใกล้โดยไม่ต้องใช้แว่นอ่านหนังสือ แต่ทั้งนี้การเลือกชนิดของเลนส์แก้วตาเทียมควรขึ้นอยู่กับการปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเป็นรายๆไปว่าผู้ป่วยเหมาะสมหรือไม่ต่อเลนส์ชนิดนั้น
    ถาม การผ่าตัดต้อกระจกจะทำให้สายตาสั้น ยาว เอียงหายไปได้หรือไม่
    ตอบ การผ่าตัดหรือการสลายต้อกระจก เพื่อเอาเลนส์แก้วตาที่ขุ่นมัวออก และใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าทดแทนตำแหน่งเลนส์ธรรมชาติ ซึ่งเลนส์แก้วตาเทียมจะแก้ไขภาวะสายตา สั้น ยาว เอียงได้
    ถาม ถ้าเป็นโรคต้อกระจกและโรคต้อหินจะสามารถผ่าตัดโรคต้อหินได้หรือไม่
    ตอบ สามารถผ่าตัดต้อกระจกได้ โดยอาจทำให้โรคต้อหินชนิดมุมม่านตาปิด ดีขึ้นด้วย และเนื่องด้วยการผ่าตัดที่ทันสมัยมากขึ้นบางกรณีสามารถที่จะทำผ่าตัดทั้งโรคต้อกระจกและโรคต้อหิน ในการผ่าตัดครั้งเดียวกันได้โดยช่วยให้ผู้ป่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้และปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้ก่อนการผ่าตัดจักษุแพทย์ผู้รักษาจะให้คำแนะนำที่ชัดเจนได้
    ถาม โรคต้อกระจกป้องกันได้หรือไม่
    ตอบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคต้อกระจก คือผู้สูงวัย อายุเกิน 50 ปีขึ้นไป สาเหตุเกิดจากความเสื่อมของเลนส์แก้วตา จึงไม่มีตัวยากิน หรือ ยาหยอดตา เพื่อชะลอหรือทำให้ต้อกระจกหายไปได้ แม้ว่าสมัยก่อนจะเชื่อว่ายาหยอดตาเพื่อช่วยชะลอต้อกระจก แต่ปัจจุบันจักษุแพทย์ส่วนใหญ่ไม่ยอมรับกันแล้ว
    อย่างไรก็ตาม ดวงตาเป็นสิ่งสำคัญที่เราทุกคนไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออายุเริ่มมากขึ้น โอกาสที่ดวงตาจะถูกคุกคามก็ยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หากเราไม่ต้องการให้บั้นปลายชีวิตต้องจมอยู่กับความเลือนลางในการมองเห็น การหันมาใส่ใจดูแลดวงตา และพบจักษุแพทย์ทุกๆ 1-2 ปี เพื่อตรวจสุขภาพตา ก็คือสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม

    โปรแกรมและแพ็คเกจ

    ชุดตรวจสุขภาพ SML Care [Free gift]

    ชุดตรวจสุขภาพ SML Ca […]

    โปรแกรมตรวจสุขภาพดวงตา

    โปรแกรมตรวจสุขภาพดวง […]

    ต้อกระจกเป็นโรคความเสื่อมทางธรรมชาติ

    โรคต้อกระจกเป็นโรคความเสื่อมทางธรรมชาติ

    cataract surgery
    มองไม่ชัด❗️ ตาขุ่นมัว❗️เป็นเบาหวาน❗️ หากมีอาการเหล่านี้ คุณอาจเสี่ยงเป็นโรคต้อกระจก
    หากคุณมีอาการหรือพบสัญญาณเตือน อย่านิ่งนอนใจ
    โรคต้อกระจกเป็นโรคความเสื่อมทางธรรมชาติจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง คนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปก็สามารถเป็นโรคต้อกระจกได้ แต่วัยที่เราพบมากสุด คือ 60 - 70 ปีขึ้นไป

    โปรแกรมและแพ็คเกจ

    รู้ทัน ป้องกัน โรคกระดูกพรุน

    รู้ทัน ป้องกัน โรคกระดูกพรุน

    โรคกระดูกพรุน
    คือ โรคที่กระดูกบางมาก หรือผุพรุนจากการเสื่อมสลายของ มวลกระดูกทำให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลง เสี่ยงต่อการหักหรือพิการได้ง่าย ตำแหน่งที่พบกระดูกหักได้บ่อย คือ กระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือและกระดูกสะโพก อาจเกิดผลแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น หลังค่อม การหายใจไม่เต็มที่ เหนื่อยหอบ เอ็นอักเสบและข้อกระดูกเสื่อม เดินไม่ได้เป็นภาระต่อคนรอบข้าง การผ่าตัดต้องใช้อุปกรณ์ราคาแพง และมีอัตราการเสียชีวิตสูง
    โดยปกติในวัยเด็กร่างกายจะมีขบวนการสร้างกระดูกมากกว่าการสลายจนมีการสะสมมวลกระดูกได้สูงสุด เมื่ออายุ 30 ปี หลังจากนั้นจะมีการเสื่อมสลายของกระดูกอย่างต่อเนื่องมากกว่าการสร้าง โดยเฉพาะในสตรีที่เข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนจะมีการสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็วมากกว่าเพศชายถึง 2-3 เท่า
    ดังนั้นจึงควรมีการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน พบแพทย์เพื่อประเมิน ป้องกันหรือรักษาให้กระดูกมีสุขภาพที่ดีต่อไป
    อาการแสดง
    โรคกระดูกพรุนเป็น “ภัยเงียบ” ที่เกิดได้กับทุกคน โดยไม่มี อาการใดๆ จะทราบว่ามีกระดูกพรุนก็เมื่อมีการหักทรุดของกระดูก แล้ว เช่น อาการปวดหลัง หลังค่อม ตัวเตี้ยลง กระดูกสะโพกหัก เพียงแค่ล้มแล้วลุกเดินไม่ได้ เป็นต้น
    ใครมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน
    1. สตรีวัยหมดประจำเดือน หรือได้รับการผ่าตัดรังไข่ทั้ง 2 ข้าง
    2. ผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี
    3. มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุนหรือกระดูกสะโพกหัก
    4. เคยมีประวัติกระดูกหัก เมื่ออายุมากกว่า 50 ปี และจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักซ้ำ
    5. รูปร่างผอมบาง น้ำหนักตัวน้อย
    6. ขาดสารอาหารแคลเซียมและวิตามินดี
    7. ไม่ออกกำลังกายหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานาน เช่น นอนรักษาตัวนานหรือใส่เฝือกนานๆ
    8. สูบบุหรี่
    9. ชอบดื่มสุรา น้ำอัดลม ชา กาแฟ ยาชูกำลัง
    10. ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นประจำ ยารักษาโรคเบาหวาน โรคต่อมไธรอยด์ ยายับยั้งการตกไข่ในโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ เป็นต้น
    การป้องกันตัวเองให้ลดความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกพรุน
    1. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง หรือรับประทานแคลเซี่ยม เสริมและวิตามินดี เช่น นม เนยแข็ง โยเกิร์ต ผักใบเขียว ปลาเล็กๆที่รับประทานทั้งตัว กุ้งแห้ง งาดำ เห็ดหอม เต้าหู้ เป็นต้น
    2. เสริมวิตามิน K2 ในผู้สูงอายุ
    3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอแบบลงน้ำหนักอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที เช่น การวิ่งเหยาะๆ การเดินเร็ว เต้นรำ หรือ ออกกำลังกายแบบแรงต้านโดยใช้การดึงยางยืดหรือยกน้ำหนัก และการรำมวยจีน เพื่อฝึกการทรงตัว ป้องกันการหกล้มลดอุบัติการณ์ ของกระดูกหักได้
    4. รับแสงแดด นาน 20 นาที สัปดาห์ละ 3 วัน
    5. งดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการดื่มสุรา ชา กาแฟ น้ำอัดลม
    6. ตระหนักถึงภัยของโรคกระดูกพรุน ปรึกษาแพทย์เมื่อมีปัจจัยเสี่ยง
    7. ตรวจประเมินภาวะโรคกระดูกพรุน เพื่อป้องกันและรักษาตั้งแต่ ระยะแรกเริ่ม
    การตรวจประเมินภาวะโรคกระดูกพรุน
    1. การตรวจมวลกระดูก หรือความหนาแน่นของกระดูก ด้วยเครื่อง DEXA (Dual Energy X-rays Absorptiometry) ที่บริเวณข้อสะโพก กระดูกสันหลังช่วงเอว เพื่อการวินิจฉัย
    2. การเจาะเลือด (Bone Turnover Markers) ใข้ดูอัตราการสลาย และการสร้างมวลกระดูก เพื่อประเมินและ ติดตามผลการรักษา
    การรักษาโรคกระดูกพรุน
    1. ป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่หลีกเลี่ยงได้
    2. การใช้ยา
      • แคลเซียมเสริมและวิตามินดี
      • ยาต้านการสลายกระดูก
      • ยาเพิ่มการสร้างมวลกระดูก

      การใช้ยาจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพราะต้องมีการเลือกใช้และปรับขนาดยาให้เหมาะสมเฉพาะผู้ป่วยแต่ละราย และควรมีการติดตามการรรักษาเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง

    3. ควบคุมและรักษาโรคประจำตัวต่างๆ เช่น เบาหวาน ไธรอยด์
    4. ป้องกันการหกล้มเพราะเสี่ยงต่อกระดูกหักง่าย
      • การปรับสภาพแวดล้อม ไม่ให้พื้นลื่นหรือเปียกน้ำ และควรมียางกันลื่นเวลาอาบน้ำ ไม่วางของเกะกะทางเดินและ ขั้นบันได ไม่ใส่ถุงเท้าเดินจะลื่นง่าย ถ้าบ้านมีพรมควรให้พรมตึงเรียบ ใช้ไม้เท้าหรืออุปกรณ์ช่วยเดิน ใส่รองเท้าที่พื้นไม่ลื่น หลีกเลี่ยง การเดินบนพื้นที่ไม่เรียบและลื่น
      • พบจักษุแพทย์ ตรวจรักษาโรคทางสายตาที่ผิดปกติ เพื่อการมองเห็นชัดเจน
      • ยาเพิ่มการสร้างมวลกระดูก

    โปรแกรมและแพ็คเกจ

    รู้ทัน ป้องกัน ข้อเข่าเสื่อม Knee Osteoarthritis

    รู้ทัน ป้องกัน ข้อเข่าเสื่อม Knee Osteoarthritis

    ความรู้ทั่วไปของข้อเข่า
    ข้อเข่าประกอบด้วย 3 ส่วน
    1. ส่วนปลายของกระดูกต้นขา
    2. ส่วนต้นของกระดูกหน้าแข้ง
    3. ลูกสะบ้า
    ข้อเข่ามีลักษณะคล้ายบานพับ ประกอบด้วยกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้งซึ่งเชื่อมต่อกันด้วยเส้นเอ็นที่แข็งแรงทำหน้าที่ค้ำจุนและให้ความแข็งแรงมั่นคงแก่ข้อเข่าทั้งด้านข้างและภายในข้อเข่าอยู่สี่เส้น ขอบบนลูกสะบ้ามีกล้ามเนื้อต้นขาส่วนหน้ามาเกาะและส่วนปลายของลูกสะบ้ามีเอ็นเกาะติดกับส่วนบนของกระดูกหน้าแข้ง
    อาการของข้อเข่าเสื่อม
    1. ปวด อาการปวดเข่าในระยะแรกจะปวดเมื่อย ตึงบริเวณหัวเข่าหรือน่อง โดยจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหว เมื่อพักเข่าจะดีขึ้น อาการเป็นๆหายๆ ในรายที่เป็นมากจะปวดตลอดเวลา
    2. บวม ในรายที่มีการอักเสบจะมีอาการบวม
    3. ข้อเข่าผิดรูป ข้อเข่าผิดรูปโดยเปลี่ยนรูปร่างไปจากเดิมทำให้ขาผิดรูปตามมา ซึ่งหากผิดรูปมากจะทำให้เดินลำบาก รู้สึกขาไม่เท่ากัน ปวดมากเวลาเดิน
    4. ข้อเข่าไม่มั่นคง โดยผู้ป่วยมักรู้สึกว่าข้อหลวมหรือหลุดเวลาลงน้ำหนักหรือมีเสียงข้อเข่าขณะเคลื่อนไหว
    5. ข้อเข่าติด ผู้ป่วยไม่สามารถเหยียดหรืองอเข่าได้สุด
    6. มีเสียงในข้อเข่า เมื่อมีการเคลื่อนไหว จากผิวกระดูกอ่อนที่ไม่เรียบเสียดสีกัน
    ปัจจัยเสี่ยงของโรคข้อเข่าเสื่อม
    1. อายุ พบว่าเมื่อมีอายุเกิน 40 ปีจะเริ่มมีข้อเข่าเสื่อม
    2. เพศ ผู้หญิงมีโอกาสเป็นได้มากกว่าผู้ชาย 2 เท่าโดยเฉพาะเมื่อมีอายุมากกว่า 50 ปี
    3. น้ำหนัก คนที่น้ำหนักมาก เสี่ยงต่อข้อเข่าเสื่อมได้เร็วกว่าปกติ โดยน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น 0.5 กิโลกรัม จะเพิ่มแรงที่กระทำต่อข้อเข่า 1-1.5 กิโลกรัม
    4. พฤติกรรมการใช้ชีวิต ผู้ที่นั่งงอเข่ามาก ๆ เช่นนั่งยอง ๆ นั่งขัดสมาธิ เสี่ยงต่อข้อเสื่อมได้มากกว่าปกติ
    5. การใช้งานข้อเข่าอย่างหนักและต่อเนื่อง เช่น ทำงานยกแบกของหนัก ทำงานที่มีการกระแทกหรือกระโดด ในผู้ป่วยที่มีอาชีพชาวนา,ชาวสวนหรือกรรมกรแบกหามตลอดช่วงวัยทำงานมักมาพบแพทย์ด้วยโรคข้อเข่าเสื่อมและกระดูกสันหลังเสื่อมในวัยสูงอายุ
    6. การได้รับอุบัติเหตุที่ข้อเข่า เช่น มีกระดูกข้อเข่าแตกหรือมีหมอนรองกระดูกข้อเข่ารวมถึงเอ็นภายในหัวเข่าฉีก
    7. ความบกพร่องของส่วนประกอบของข้อ เช่น ข้อเข่าหลวม กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง
    8. ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณหัวเข่า ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกายเสี่ยงต่อข้อเข่าเสื่อมมากกว่าเนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณหัวเข่าไม่แข็งแรง
    9. นักกีฬา เช่นนักกีฬากลุ่มที่ต้องวิ่งหรือกระโดด มักมีปัญหาข้อเข่าเสื่อมเร็วกว่าปกติ
    10. กรรมพันธุ์ ในผู้ป่วยที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม มีโอกาสเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น
    การรักษาข้อเข่าเสื่อม
    1. การรักษาแบบอนุรักษ์นิยม
      • การรักษาแบบไม่ใช้ยา เช่น การทำกายภาพบำบัด การลดน้ำหนัก การปรับการใช้ชีวิตประจำวัน การใช้ที่ช่วยพยุงเข่า การนวด การฝังเข็ม การใช้สมุนไพรประคบนวด การรักษาเหล่านี้เป็นเพียงเพื่อบรรเทาอาการปวดเท่านั้น
      • การรักษาแบบใช้ยา เช่น การให้ยาต้านการอักเสบ ยาในกลุ่ม Glucosamine
    2. การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ โดยใช้ยาชาที่ผสมอยู่ช่วยระงับปวดในระยะแรกและยาสเตียรอยด์ช่วยยับยั้งการอักเสบในระยะยาว ทั้งนี้การตอบสนองต่อการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อเข่ามีความแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นกับสภาพความเสื่อมของข้อเข่า
    3. ยาฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียมเพื่อเพิ่มความหล่อหลื่นภายในข้อเข่าเป็นการรักษาแบบประคับประคองในระดับหนึ่ง
    4. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เป็นวิธีการรักษาภาวะข้อเข่าเสื่อมในระยะปานกลางถึงระยะรุนแรงโดยได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีสากลที่ให้ผลการรักษาดีที่สุด เป็นการผ่าตัดที่ตัดผิวข้อส่วนที่เสื่อมออกแล้วทดแทนด้วยโลหะสังเคราะห์ โดยสามารถช่วยลดอาการปวดและเพิ่มคุณภาพชีวิตได้
    ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
    1. มีอาการปวด บวม ตึงข้อเข่า ซึ่งส่งผลต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ใน ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
    2. แก้ไขความผิดรูปหรือความพิการของข้อเข่า
    3. เพื่อป้องการการเสื่อมของข้ออื่น ๆ ตามมา
    4. รักษาด้วยวิธีอนุรักษ์นิยมมาแล้วไม่ดีขึ้น
    การป้องกันข้อเข่าเสื่อม
    สามารถทำได้โดยลดปัจจัยเสี่ยงตามที่ได้กล่าวมา
      1. การลดน้ำหนัก ในผู้ป่วยที่อ้วนควรลดน้ำหนักให้ได้ร้อยละ 5 ของน้ำหนักตัวในสามเดือน
      2. การปรับการใช้ชีวิต พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนไทยมักอยู่กับพื้น มักมีการพับงอเข่ามากและส่งผลให้เกิดการอักเสบของข้อเข่าได้ เช่น นั่งยอง ๆ คุกเข่า ขัดสมาธิ ควรมีการปรับอิริยาบถให้เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น
        • การนั่งเก้าอี้แทนการนั่งพื้น
        • ในห้องน้ำควรใช้ชักโครกแบบมีโถนั่งเพื่อลดการงอเข่า
        • การซักผ้า ซักทีละไม่มากชิ้น นั่งซักบนม้าเตี้ย ๆ และเหยียดเข่าสองข้าง
        • การรีดผ้า เลี่ยงการนั่งรีดผ้ากับพื้น ควรใช้การนั่งเก้าอี้หรือยืนรีดและควรหาม้าเตี้ย ๆ มารองพักขา
        • เลี่ยงการก้มถูบ้าน ให้ใช้ไม้ม๊อบถูพื้นแทน
        • หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ โดยไม่จำเป็น เพราะเข่าต้องรับน้ำหนัก ประมาณ 3-4 เท่าของน้ำหนักตัวผู้นั้นขณะขึ้นลงบันได ในรายที่จำเป็นต้องขึ้นลงบันไดควรทำการจับราว โดยการขึ้นบันไดควรนำขาข้างที่ดีพยุงตัวขึ้นบันไดและตามด้วยขาข้างที่มีข้อเข่าเสื่อมไปทีละขั้น ในทางกลับกันเมื่อลงบันได ควรทำการจับราวและนำขาข้างที่มีข้อเข่าเสื่อมลงบันไดและตามด้วยขาข้างที่ดีทีละขั้นเพื่อให้ขาข้างที่ดีช่วยพยุงตัวผู้ป่วยระหว่างการก้าวลง
      3. ออกกำลังกาย การออกกำลังกายโดยสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันข้อเข่าเสื่อม เพราะเป็นการเสริมสร้างความแข็งแรงแก่กล้ามเนื้อรอบข้อเข่า ทำให้น้ำหนักลงที่เข่าน้อยลงและช่วยลดแรงที่กระทำต่อข้อเข่า ควรพิจารณาระดับการออกกำลังกายตามความเหมาะสมของสภาพร่างกายของแต่ละคน
        การออกกำลังกายในน้ำเป็นการออกกำลังกายที่ดีต่อข้อเข่ามากที่สุด เพราะน้ำมีแรงพยุงตัวทำให้ข้อเข่ารับน้ำหนักน้อยลงจึงเหมาะกับผู้ที่มีอาการปวดเข่าและมีน้ำหนักตัวมาก แรงหนืดของน้ำทำให้ต้องออกแรงมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าได้ดี
    การเดินก็เป็นการออกกำลังที่ดี สามารถเดินเร็วในรายที่กล้ามเนื้อต้นขามีความแข็งแรงพอแต่ถ้ากล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ควรเดินช้า ๆ หรือเดินเท่าที่จำเป็น
    การขี่จักรยาน ควรปรับอานนั่งของจักรยานให้ขางอเพียงเล็กน้อยเพื่อลดแรงที่กระทำต่อข้อเข่า หลีกเลี่ยงการถีบจักรยานที่ตั้งความฝืดหรือระดับความสูงไม่เหมาะสม ซึ่งจะเพิ่มการบาดเจ็บให้กับข้อเข่าได้
    ท่าออกกำลังกายเพื่อข้อเข่าที่แข็งแรง
    การบริหารกล้ามเนื้อต้นขามีความสำคัญมาก หากกล้ามเนื้อมัดนี้มีความแข็งแรง ก็จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับข้อเข่าจะช่วยชะลอข้อเข่าเสื่อมได้โดยป้องกันแรงที่กระทำต่อข้อในขณะที่ใช้ข้อเข่าในการลุกขึ้น และยังป้องกันแรงกระแทกที่กระทำต่อข้อเข่าในขณะเดิน ควรออกกำลังกายดังกล่าวเป็นประจำทุกวัน โดยเริ่มทำจากน้อยไปมาก ทำประมาณ 10-20 ครั้ง/ชุด วันละ 2-3ชุดเป็นอย่างน้อย การค่อยๆเพิ่มความสามารถของกล้ามเนื้อรอบเข่าจะช่วยเพิ่มทั้งความแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อ การบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่านี้สามารถทำได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอให้ข้อเข่าเสื่อมก่อน

    โปรแกรมและแพ็คเกจ

    การตรวจไฟฟ้าวินิจฉัย (NCV and needle EMG)

    การตรวจไฟฟ้าวินิจฉัย (NCV and needle EMG)

    คือ การตรวจเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า เพื่อการวินิจฉัยโรคทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ประกอบด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (เรียกย่อว่า EMG หรือ Electromyography) และการตรวจความเร็วการนำสัญญาณประสาท (เรียกย่อว่า NCV หรือ Nerve conduction velocity)
    ใช้ตรวจเพื่อการวินิจฉัยและบอกความรุนแรงในผู้ป่วยที่มีอาการสงสัย
    • โรคของไขสันหลังส่วนที่เรียกว่า Anterior horn cell เช่นโรค ALS
    • โรคของรอยต่อระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ (์Neuromuscular junction) เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี (Myasthenia Gravis : MG)
    • โรคของรากประสาทเช่น รากประสารทถูกกดทับ (Nerve root compression) จากกระดูกคอหรือหลังเสื่อม หมอนรองกระดูกเคลื่อน
    • โรคของเส้นประสาทส่วนปลาย เช่น โรคเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบเรื้อรังหรือฉับพลัน ทำให้มีอาการชามือชาเท้า, โรคเส้นประสาทพิการแต่กำเนิด
    • โรคของกล้ามเนื้อ เช่น โรคกล้ามเนื้ออักเสบ โรคกล้ามเนื้อฝ่อ เป็นต้น
    • โรคเส้นประสาทคู่ที่ 7 อักเสบ (Bell’s palsy)
    นอกจากนี้การตรวจ EMG, NCV ยังสามารถใช้ติดตามผลการรักษา และการฟื้นตัวของเส้นประสาทได้ด้วย
    ข้อห้ามในการทำ EMG, NCV
    โดยทั่วไปไม่มีข้อห้าม ไม่มีอันตราย มีผลข้างเคียงจากการตรวจน้อยมาก ตรวจได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่มีข้อจำกัดคือ
    • ผู้ป่วยที่แขน ขาบวม จะทำให้เข็มที่สอดเข้าไปไม่ถึงตำแหน่งชั้นกล้ามเนื้อ แต่จะไปอยู่ในเนื้อเยื่อที่บวมแทน จึงส่งผลให้ผลการตรวจผิดพลาด
    • ผู้ป่วยมีปัญหาเลือดออกง่าย เพราะอาจมีเลือดออกมากจากรอยที่สอดใส่เข็มตรวจ
    • มีการติดเชื้อบริเวณที่ตรวจ เพราะการสอดใส่เข็มตรวจ อาจทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้
    • มีแผล หรือ ก้อนเนื้อบริเวณที่ตรวจ เพราะจะทำให้การแปลผลตรวจผิดพลาดได้
    • ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือ หรือ ไม่รู้สึกตัว จะตรวจไม่ได้ และ/หรือจะทำให้แปลผลตรวจผิดพลาดได้สูง
    การเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนตรวจ
    โดยทั่วไปไม่ต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ ไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร หรือหยุดยาที่ทาน ยกเว้นกรณีทานยาละลายลิ่มเลือด และ/หรือ มีภาวะเลือดหยุดยาก และ/หรือ ทานยารักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง Myasthenia Gravis เช่นเดียวกับการตรวจในโรคอื่นๆคือ ผู้ป่วยต้องแจ้งแพทย์ พยาบาล ถึงโรคประจำตัว และยาที่ใช้อยู่ ผู้ป่วยควรแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ถอด ใส่ ได้ง่าย รวมทั้งรองเท้าด้วย และไม่ควรใส่เครื่องประดับต่างๆมาในวันตรวจ
    หลังตรวจต้องดูแลตัวเองอย่างไร
    หลังตรวจ ไม่จำเป็นต้องดูแลอะไรเป็นพิเศษ ไม่มีผลข้างเคียง กลับบ้านได้เลย ใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ถ้ามีอาการผิดปกติ ซึ่งพบน้อยมากๆเช่น บริเวณที่ตรวจ บวม แดง หรือเลือดออกไม่หยุด ควรกลับมาพบแพทย์

    โปรแกรมและแพ็คเกจ