Q&A “รู้เรา เอาชนะภูมิแพ้”

Q&A “รู้เรา เอาชนะภูมิแพ้”

allergry-test-skin
อาการจามบ่อยๆ น้ำมูกไหล ไอเรื้อรัง คันคอ เจ็บคอ คันๆ เกาๆ มีผื่นแดงขึ้นตามตัวหรือบริเวณต่างๆ เรื่องใกล้ตัวที่ควรใส่ใจ หากปล่อยให้เรื้อรังและอาการรุนแรงขึ้น อาจทำให้เสียบุคลิกภาพ เสียสุขภาพจิต เสียสมาธิ และส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันได้ไม่มากก็น้อย รู้และเข้าใจโรคภูมิแพ้ เพื่อการรักษาและดูแลอย่างถูกต้อง
ถาม ที่เรียกว่าโรคภูมิแพ้คืออย่างไร เกิดจากสาเหตุอะไร
ตอบ โรคภูมิแพ้เป็นภาวะผิดปรกติที่เกิดจากร่างกายมีความไวต่อสารบางอย่างในสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่นในบ้าน เชื้อรา ละอองเกสรดอกไม้ เกสรหญ้า ซึ่งปะปนอยู่ในอากาศ ทำให้มีอาการหลังจากสัมผัสสารที่ก่อภูมิแพ้เหล่านั้น มักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ไม่ขาด และถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
ถาม โรคภูมิแพ้จะทำให้เกิดอาการกับอวัยวะส่วนใดของร่างกายบ้าง
ตอบ เกิดอาการได้ทุกระบบ ถ้าเกิดกับระบบหายใจส่วนบนจะทำให้เกิดมีอาการที่ชาวบ้านเรียกว่าหวัดเรื้อรัง ถ้าเกิดกับระบบหายใจส่วนล่าง จะทำให้เกิดโรคที่เรียกว่า โรคหอบหืด ถ้าเกิดกับผิวหนังจะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่าลมพิษ นอกจากนั้นโรคภูมิแพ้ยังเกิดขึ้นยังเกิดขึ้นกับส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้อีก เช่น ที่ตา อาจทำให้เกิดตาแดง ตามัว น้ำตาไหล หรือในระบบทางเดินอาหาร ทำให้ท้องเดิน ท้องเสียบ่อย ท้องอืด
ถาม สถิติการเกิดโรคภูมิแพ้ มีคนเป็นโรคภูมิแพ้กันมากน้อยเพียงใด
ตอบ โรคภูมิแพ้ใดแต่ละส่วนของโลกมีอุบัติการณ์ที่เกิดแตกต่างกันมากน้อยแล้วแต่สิ่งแวดล้อมและกรรมพันธุ์สำหรับคนไทยนั้นจากการสำรวจขององค์การอนามัยโลกเมื่อปี พ.ศ. 2525 พบว่า คนไทยมีอุบัติการณ์เป็นโรคภูมิแพ้ประมาณ 15-20%
ถาม อาการของโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยจะจะเกิดกับส่วนใดของร่างกาย
ตอบ ที่จมูก พบประมาณ 42% ของโรคภูมิแพ้ทั้งหมด รองลงมาคือ ระบบหายใจส่วนล่าง (โรคหอบหืด) พบประมาณ 29 % นอกจากนั้นเป็นโรคภูมิแพ้ที่เกิดในส่วนอื่นๆ
ถาม โรคภูมิแพ้ทางจมูกแบ่งได้เป็นกี่ชนิด ได้แก่อะไรบ้าง ส่วนใหญ่ที่พบเป็นประเภทใด
ตอบ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดที่เป็นตลอดปี กับชนิดที่เป็นตามฤดู สำหรับในบ้านเราพบผู้ป่วย ส่วนใหญ่มีอาการหวัดเรื้อรังตลอดทั้งปี พบได้ประมาณ 67% ของผู้ป่วยภูมิแพ้ทางจมูก
ถาม สาเหตุของอาการแพ้ทางหู คอ จมูก เกิดจากอะไร
ตอบ เกิดจากการที่เราหายใจเอาสารก่อภูมิแพ้เข้าไป ได้แก่ ฝุ่น เชื้อรา เกสรดอกไม้ เกสรหญ้า ซึ่งปะปนอยู่ในอากาศ สิ่งเหล่านี้เมื่อไปสัมผัสกับเยื่อบุจมูกทำให้เกิดมีอาการคลั่งของสารต่างๆ ออกมา ที่สำคัญคือ ฮึสตามีน ซึ่งทำให้เกิดอาการน้ำมูกไหลและแน่นจมูก เนื่องจากมีอาการบวมของเยื่อบุจมูก
ถาม สภาพแวดล้อมมีความสำคัญอย่างไรที่จะทำให้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ทางหู คอ จมูก มีอาการมากขึ้น
ตอบ การเปลี่ยนแปลงลักษณะของอากาศ เช่น อากาศเย็นและอับชื้นจะทำให้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้บางกลุ่มมีอาการมากขึ้น นอกจากนั้น ผู้ป่วยที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีควันบุหรี่และควันจากท่อไอเสียรถยนต์ จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการของโรคภูมิแพ้มากขึ้น
ถาม อาการเฉพาะของโรคภูมิแพ้ทางจมูกมีอะไรบ้าง
ตอบ นอกจากจะทำให้มีอาการทางจมูก เช่น จามบ่อย ๆ น้ำมูกไหล ยังทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง คันคอ เจ็บคอ และหูอื้อได้อีกด้วย
ถาม โรคพวกนี้จะถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์หรือไม่
ตอบ ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ จากการศึกษาพบว่า ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคภูมิแพ้ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ 50 % ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้ลูกที่เกิดมาจะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ 75 %
ถาม อาการที่คล้ายกับหวัดจะติดต่อไปยังผู้อื่นได้หรือไม่
ตอบ โรคภูมิแพ้นี้มีคนให้คำจำกัดความไว้ว่าเป็นโรคส่วนตัว ที่เรียกว่าเป็นโรคส่วนตัว หมายถึง ไม่ติดต่อโดยการอยู่ร่วมกัน ไม่ถ่ายทอดจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคลหนึ่งได้
ถาม โรคแทรกซ้อนที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยภูมิแพ้ทางหู คอ จมูก ได้แก่ โรคอะไรบ้าง
ตอบ ที่พบบ่อย คือ เนื้องอกในจมูกที่เรียกว่า ริดสีดวงจมูกอาจมีอาการอักเสบของไซนัสต่างๆ ร่วมด้วยถ้ามีการอุดตันของท่อระบายอากาศของหูชั้นกลางจะทำให้มีอาการหูอื้อได้
ถาม รักษาให้หายขาดได้หรือไม่
ตอบ โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ไม่สามารถจะรักษาให้หายขาดได้ จุดประสงค์ในการรักษาก็เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและป้องกันโรคหรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จากโรงภูมิแพ้
ถาม หลักในการรักษาเป็นอย่างไร
ตอบ มี 4 ขั้นตอนคือ

  1. แนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้
  2. การรักษาทางยา เช่น ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก
  3. การฉีดยาสร้างภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้
  4. ทำการผ่าตัด ในกรณีที่มีโรคหรือภาวะต่างๆ ที่ร่วมก่ออาการด้วยกัน เช่น ริดสีดวงจมูก เป็นต้น
ถาม ข้อแนะนำเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้มีอะไรบ้าง
ตอบ ปัจจุบันการแพทย์ได้เจริญก้าวหน้าอย่างมาก ความทุกทรมานและอันตรายจากโรคภูมิแพ้จะถูกขจัดออกไปได้ถ้าผู้ป่วยและแพทย์ทำความเข้าใจและร่วมมือกันในการรักษา ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาหารือเป็นรายๆไป น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด
หากสงสัยว่ามีอาการทางร่างกาย เช่น จามบ่อยๆ น้ำมูกไหล อาการไอเรื้อรัง คันคอ เจ็บคอ และหูอื้อ ตาแดง ตามัว น้ำตาไหล ผื่นแดง คัน หรือในระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเดิน ท้องเสียบ่อย ท้องอืด ควรมาปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง โรคภูมิแพ้เป็นโรคเรื้อรังอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว การรักษาอย่างถูกวิธีสามารถยกระดับคุณภาพชีวิต และทำให้ผู้ป่วยเข้าร่วมสังคมได้อย่างปกติ

โปรแกรมและแพ็คเกจ

แพคเกจ ทดสอบภูมิแพ้ บนผิวหนัง

รู้และหลีกเลี่ยงสิ่ง […]

โรคมือเท้าปาก…ไวรัสร้ายในวัยอนุบาล

โรคมือเท้าปาก…ไวรัสร้ายในวัยอนุบาล

Hand-Foot-and-Mouth Disease
             โรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot Mouth Disease) เป็นโรคที่มักพบการติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็กและในที่อยู่รวมกันอย่างแออัดจะมีโอกาสที่เกิดการระบาดได้ มักระบาดในฤดูฝน แต่บางรายจะมีอาการรุนแรงขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัสที่มีการติดเชื้อ โรคนี้ติดต่อโดยการสัมผัสน้ำลาย น้ำมูก เสมหะ ตุ่มหรือผื่นที่ผิวหนัง ทั้งสัมผัสโดยตรงและสัมผัสเชื้อทางอ้อม
             โรคมือ เท้า ปากเกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Enteroviruses ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ โรคมือเท้าปาก ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า coxsackie A16 มักไม่รุนแรง เด็กจะหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน ส่วนที่เกิดจาก Enterovirus 71 อาจพบโรครุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น
การแพร่ระบาด และการติดต่อ
การติดต่อส่วนใหญ่เกิดจากได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง โรคแพร่ติดต่อง่ายใน ช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย โดยเชื้อไวรัสติดมากับมือหรือของเล่น ที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผล หรืออุจจาระของผู้ป่วยและเกิดจากการ ไอจามรดกันโดยหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายจากละอองฝอยของผู้ป่วย และการติดเชื้อจากอุจจาระ
อาการของโรค
อาการมักจะเริ่มด้วยไข้ เบื่ออาหาร ครั่นเนื้อครั่นตัวเจ็บคอ เจ็บในปากกลืนน้ำลายไม่ได้ ทำให้ไม่กินอาหาร  หลังจากไข้ 1-2 วันจะเห็นแผลแดงเล็กๆ ที่ปากโดยเป็นตุ่มน้ำใส ส่วนใหญ่พบที่เพดานอ่อนลิ้น กระพุ้งแก้ม เป็นสาเหตุให้เด็กไม่ดูดนม ไม่กินอาหารเพราะเจ็บในระยะแรกและแตกเป็นแผล ตำแหน่งของแผลมักจะอยู่ที่เพดานปาก หลังจากนั้นอีก 1-2 วันจะเกิดผื่นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ส้นเท้า แขนขา และก้น ผื่นที่มือและเท้า แต่ก็อาจจะเกิดที่แขน ขาและก้น
อาการที่ต้องเฝ้าระวังซึ่งเป็นสัญญาณอันตราย
  1. มีไข้สูงนานเกิน 2 วัน
  2. อาเจียนมาก
  3. ซึม
  4. มือกระตุกคล้ายผวา
  5. เดินเซ ตากระตุก
  6. เจ็บแผลในปาก จนกินอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ มีภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ปัสสาวะออกน้อย ผิวแห้ง ปัสสาวะสีเข็ม
  7. หายใจหอบเหนื่อย
ควรรีบไปพบแพทย์เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ หากมีอาการดังที่กล่าวมา ให้รีบพาบุตรหลานพบแพทย์ทันที
การรักษา
โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาทาแก้ปวด ในรายมีแผลที่ลิ้น หรือกระพุ้งแก้มผู้ปกครองหรือผู้เลี้ยงดูเด็ก ควรเช็ดตัวเด็กเพื่อลดไข้เป็นระยะ และให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนๆรสไม่จัด ดื่มน้ำและน้ำผลไม้ และนอนพักผ่อนมากๆ

ปัจจุบันมีวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสเชื้อเอนเตอร์โรไวรัส 71 หรือเรียกสั้นๆ ว่าเชื้อ อีวี 71 ซึ่งเป็นชนิดที่ก่อโรคมือ เท้า ปากรุนแรง โดยสามารถ

  1. ฉีดได้ในช่วงอายุ 6 เดือน - 5 ปี 11 เดือน
  2. ควรได้รับวัคซีน 2 เข็ม โดยเว้นระยะห่างจากเข็มแรก 1 เดือน
  3. เด็กที่หายจากโรคมือ เท้า ปาก ประมาณ 1 เดือน
  4. เด็กที่ได้รับวัคซีนอื่นๆ ต้องเว้นระยะห่าง 2 สัปดาห์ ก่อนเริ่มวัคซีนชนิดใหม่
การป้องกัน / การควบคุมโรค
โรคมือเท้าปากจะติดต่อจากคนสู่คนโดยการสัมผัส น้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วย รวมทั้งน้ำจากตุ่ม และอุจจาระ การลดความเสี่ยงของการติดต่อทำได้โดย
  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับเด็กที่ป่วย
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังเตรียมอาหาร แยกของใช้ส่วนตัว
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย ระมัดระวังการไอจามรดกันให้ใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก
  • หลีกเลี่ยงที่มีคนมากและแออัด ไม่ควรนำเด็กเล็กไปในที่ชุมชนสาธารณที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมากๆ เช่น สนามเด็กเล่นและห้างสรรพสินค้า ตลาด สระว่ายน้ำ
  • ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่มีการจับบ่อย เช่น ลูกบิด โทรศัพท์
  • ไม่เล่นของเล่นร่วมกับผู้ป่วย คือ ต้องแยกผู้ป่วย เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และคอยทำความสะอาดพื้น ห้องน้ำ สุขา เครื่องใช้ ของเล่น สนามเด็กเล่น ตลอดจนเสื้อผ้าที่อาจปนเปื้อนเชื้อด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้ทั่วไปภายในบ้าน
หากมีเด็กป่วยจำนวนมาก ผู้บริหารโรงเรียนหรือผู้จัดการสถานรับเลี้ยงเด็กต้องดำเนินการ ดังนี้
  1. ปิดห้องเรียนที่มีเด็กป่วยหรือปิดทั้งโรงเรียนชั่วคราว (ประมาณ 5 – 7 วัน)
  2. ทำความสะอาดสถานที่เพื่อฆ่าเชื้อโรคบริเวณห้องนํ้า ห้องส้วม สระว่ายนํ้า ครัว โรงอาหารบริเวณที่เล่นของเด็ก สนามเด็กเล่น โดยใช้ผงซักฟอก หรือสบู่ทำความสะอาดก่อน แล้ว ตามด้วยน้ำยาฟอกขาว 1 ส่วนผสมกับน้ำ 30 ส่วน ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วล้าง เช็ด/แช่ ด้วยน้ำสะอาด เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง
  3. ทำความสะอาดของเล่น เครื่องใช้ของเด็กด้วยการซักล้างแล้วผึ่งแดดให้แห้ง
  4. หยุดใช้เครื่องปรับอากาศ เปิดม่านให้แสงแดดส่องให้ทั่วถึง

โปรแกรมและแพ็คเกจ

โปรแกรมตรวจสุขภาพสำหรับเด็ก

โปรแกรมตรวจสุขภาพสำห […]

วัคซีนปัองกันโรคมือ เท้า ปาก (EV71)

วัคซีนป้องกันโรคมือเ […]

รักษานิ่วในถุงน้ำดี ด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง (Laparoscopic Cholecystectomy)

รักษานิ่วในถุงน้ำดี ด้วยการส่องกล้อง

Laparoscopic Cholecystectomy
           ในปัจจุบันการส่องกล้องเพื่อรักษานิ่วในถุงน้ำดี (Gallstone) มีข้อดีหลายอย่าง ได้แก่ ลดความเสี่ยงทางวิสัญญีในการดมยาสลบ แผลผ่าตัดเล็ก ระยะเวลาการพักและฟื้นตัวสั้นสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เร็ว ลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล และ ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
            นิ่วในถุงน้ำดีเป็นโรคที่สามารถพบและเกิดขึ้นได้ มีอันตรายถึงแก่ชีวิตถ้าไม่รีบรักษา อาการที่พบ ได้แก่ อาหารไม่ย่อย หลังทานอาหารมีอืดแน่นท้อง ปวดใต้ลิ่นปี่หรือชายโครงขวา ถ้าพบว่ามีตัวเหลืองตาเหลืองร่วมด้วย จะเป็นอาการของนิ่วในถุงน้ำดีไหลไปอุดตันที่ท่อน้ำดี และเกิดภาวะท่อน้ำดีอุดตัน
อาการและความรุนแรงของโรค
อาการและความรุนแรงของโรคนิ่วในถุงน้ำดีนั้น ในระยะเริ่มต้นอาจจะไม่ค่อยแสดงอาการมากนัก ผู้ป่วยมักจะมาด้วยอาการปวดอืด แน่นท้อง ปวดใต้ลิ้นปี่ หรือปวดชายโครงด้านขวา แต่หากมีถุงน้ำดีอักเสบติดเชื้อ (Acute cholecystitis) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องใต้ชายโครงขวา คลื่นไส้อาเจียน และมีไข้ ร่วมด้วย ถ้าก้อนนิ่วตกลงไปที่ท่อน้ำดีแล้วเกิดภาวะท่อน้ำดีอุดตัน จะพบว่ามีอาการตัวเหลืองตาเหลือง หากมีการอักเสบติดเชื้อขึ้นบริเวณท่อน้ำดีที่อุดตันนั้น อาจเกิดภาวะท่อน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน (Acute cholangitis) หรือ ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (Acute pancreatitis)ได้ อาการปวดท้องจะทุเลาลงถ้านิ่วที่อุดตันนั้น ไหลกลับไปที่ถุงน้ำดี หรือไหลออกไปทางลำไส้เล็ก ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดท้องลักษณะนี้หลายครั้ง จะเป็นอาการเตือนของการมีนิ่วในถุงน้ำดี อาจเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน (Acute cholecystitis) หรือ ภาวะถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง (Chronic cholecystitis) ได้ ซึ่งถ้ามีการอักเสบและติดเชื้อรุนแรงอาจเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดที่อันตรายถึงแก่ชีวิต
สาเหตุของโรคถุงน้ำดีอักเสบนั้นส่วนมากจะเกิดจากนิ่วในถุงน้ำดี (Gallstone) หรือตะกอนในถุงน้ำดี (Bile sludge) ไหลไปอุดตันทางออกถุงน้ำดี (Cystic duct) จนทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อ
การรักษา
การรักษานิ่วในถุงน้ำดีในปัจจุบัน ใช้การผ่าตัดผ่านกล้องที่มีความคมชัดสูง หลังผ่าตัดแผลมีขนาดเล็ก เจ็บแผลน้อย ลดโอกาสการติดเชื้อ และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวไว
หลังการผ่าตัดถุงน้ำดีนั้นผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เนื่องจากถุงน้ำดีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบน้ำดีที่ทำหน้าที่กักเก็บน้ำดีเท่านั้น โดยน้ำดีจะถูกผลิตจากตับ ดังนั้นเมื่อตัดถุงน้ำดีออกไปผู้ป่วยเพียงแค่ไม่มีที่กักเก็บน้ำดี แต่ยังสามารถย่อยอาหารได้ปกติ ในระยะแรกจะยังไม่สามารถย่อยอาหารพวกไขมันได้ดีเท่าที่ควร ปริมาณไขมันที่ทานต่อมื้อจึงมีผล ถ้าปริมาณไขมันน้อยกว่าจะย่อยได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะช่วงเดือนแรกๆหลังการผ่าตัด ควรรับประทานอาหารที่เหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์ เพิ่มจำนวนมื้ออาหารแต่ละปริมาณในแต่ละมื้อลง จะช่วยให้การย่อยอาหารสมบูรณ์ขึ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป ร่างกายจะปรับตัวให้เข้ากับการไม่มีถุงน้ำดีได้ และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
หากพบอาการเหล่านี้ เช่น อาหารไม่ย่อย หลังทานอาหารมีอืดแน่นท้อง ปวดใต้ลิ่นปี่หรือชายโครงขวา และพบว่ามีตัวเหลืองตาเหลือง อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน และมีไข้ ร่วมด้วย จะเป็นอาการของนิ่วในถุงน้ำดีไหลไปอุดตันที่ท่อน้ำดี ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรักษาก่อนเกิดโรคร้ายแรง

โปรแกรมและแพ็คเกจ

“ตับแข็ง และมะเร็งตับ” รู้ก่อน ป้องกันก่อน

เฝ้าระวังโรคตับตั้งแต่วันนี้…..ป้องกันตับแข็ง และมะเร็งตับ

Liver Cancer
ตับเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของร่างกายรองจากผิวหนัง  และมีหน้าที่หลายประการในร่างกาย ได้แก่  การสร้างน้ำดีเพื่อช่วยในกระบวนการย่อยไขมัน การสังเคราะห์โปรตีนไข่ขาวและปัจจัยการแข็งตัวของเลือดในร่างกาย และช่วยกำจัดสารพิษต่างๆ  อย่างไรก็ตามแม้ตับจะเป็นอวัยวะที่จำเป็นต่อร่างกาย  แต่ตับกลับมีเพียงข้างเดียวเช่นเดียวกับหัวใจ  ดังนั้นความเสียหายต่อตับย่อมสร้างความเสียหายต่อร่างกายได้อย่างมาก
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะการบาดเจ็บต่อตับหรือตับอักเสบนั้นมีดังนี้คือ
  1. เกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบ โดยเฉพาะชนิดบี และซี
  2. แอลกอฮอล์ ซึ่งมาจากการดื่มสุรา เบียร์
  3. ภูมิต้านทานต่อตับมากผิดปกติ
  4. สารพิษต่างๆ
  5. ไขมันเกาะตับ
  6. พันธุกรรม
  7. ภาวะธาตุเหล็กเกิน
  8. เส้นเลือดที่เกี่ยวข้องกับตับผิดปกติ
ในส่วนของอาการนั้นหากการบาดเจ็บของตับยังมีไม่มากผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการอะไรหรือมีเพียงอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร  หรือคันโดยเฉพาะปลายมือปลายเท้าเท่านั้น และจะวินิจฉัยได้เมื่อพบความผิดปกติจากการตรวจเลือดเท่านั้น  แต่หากการบาดเจ็บของตับทวีความรุนแรงมากขึ้นผู้ป่วยถึงจะเริ่มมีภาวะแทรกซ้อนของโรคตับ  คือ ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องบวมโต  ขาบวม อาเจียนเป็นเลือด  อาการสับสนจากการมีสารพิษคั่งในร่างกาย  ผู้ป่วยในระยะนี้มักจะมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี  บางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการเปลี่ยนตับ
การวินิจฉัยโรคตับ
การวินิจฉัยโรคตับตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นเป็นสิ่งที่จำเป็น  เพื่อป้องกันไม่ให้มีการทำลายของตับอย่างเรื้อรังหรือรุนแรง จนเกิดภาวะตับแข็ง ตับวาย รวมทั้งมะเร็งตับตามมา ซึ่งเป็นระยะที่รักษาให้หายขาดได้ยาก และก่อให้เกิดทุพพลภาพเป็นอย่างมาก  ดังนั้นหากเป็นไปได้บุคคลทุกคนควรได้รับการตรวจสุขภาพตับเป็นระยะ โดยเฉพาะผู้ที่มีความอาการหรือเสี่ยงดังต่อไปนี้
  1. มีอาการที่บ่งชี้ถึงโรคตับ ได้แก่ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องบวมโต ขาบวม อาเจียนเป็นเลือด อาการสับสน
  2. มีพฤติกรรมหรือประวัติเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นโรคตับ ได้แก่ ดื่มเหล้า สุรา มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันหรือมีเพศสัมพันธ์กับหลายบุคคล ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น  เคยสัก  เคยได้รับเลือดมาก่อน  รับประทานยาที่อาจก่อให้เกิดพิษต่อตับ เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ ยาสมุนไพร
  3. มีภาวะหรือโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคตับ ได้แก่ ภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง
  4. มีประวัติครอบครัวเป็นโรคตับอักเสบ ตับแข็ง หรือมะเร็งตับ

โรคตับเป็นโรคที่รักษาได้หากวินิจฉัยตั้งแต่ระยะเริ่มต้น  ซึ่งการรักษาก็จะช่วยป้องกันไม่ให้ตับที่ดีกลายเป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับในอนาคต  ดังนั้นอย่ารอช้าที่จะมาดูแลสุขภาพของตับกันนะครับ

โปรแกรมและแพ็คเกจ

โปรแกรมคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งตับ
Promotion ชุดตรวจสุขภาพ ลด 20%

3 วิธีลดความเสี่ยง “โรคซึมเศร้า”

วิธีลดความเสี่ยงและรับมือ "ภาวะซึมเศร้า"

Depression
             โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นทุกเพศทุกวัย ทำให้ส่งผลเสียกับการดำเนินชีวิตของตนเองและบุคคลรอบข้าง หากมีอาการ นอนหลับๆ ตื่นๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก หมดความสนใจต่อโลกภายนอก ไม่คิดอยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป อาจเข้าข่ายของโรคซึมเศร้าแล้ว ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาจเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นเดือนๆ หรือเป็นเร็วภายใน 1-2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับปัจจัย เช่น มีเหตุการณ์มากระทบรุนแรงมากน้อยเพียงใด บุคลิกเดิมของเจ้าตัวเป็นอย่างไร มีการช่วยเหลือจากคนรอบข้างมากน้อยเพียงใด เป็นต้น
              การเปลี่ยนแปลงหลักๆ จะเป็นในด้านอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรม เช่น รู้สึกเบื่อเศร้า ท้อแท้ รู้สึกตนเองไร้ค่า ร่วมกับอาการทางร่างกายต่างๆ เช่น นอนหลับไม่ดี เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก นอกจากมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงแล้ว การทำงานหรือการประกอบกิจวัตรประจำวันก็บกพร่อง เช่น คนที่เป็นแม่บ้านก็ทำงานบ้านน้อยลงหรืองานคั่งค้าง คนทำงานนอกบ้านก็อาจขาดงานบ่อยๆ การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ใช่ เป็นคนอ่อนแอ คิดมาก หรือเป็นคนไม่สู้ปัญหา เอาแต่ท้อแท้ ซึมเซา อาการเหล่านี้เป็นเพราะตัวโรค หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม ก็จะทุเลาลง กลับมาเป็นปกติ
ลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ
1. อารมณ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
กลายเป็นคนเศร้าสร้อย หดหู่ สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย เรื่องเล็กๆน้อยๆ ก็ดูเหมือนจะอ่อนไหวไปหมด บางคนอาจไม่มีอารมณ์เศร้าชัดเจนแต่จะบอกว่าจิตใจหม่นหมอง ไม่แจ่มใส ไม่สดชื่นเหมือนเดิม บางคนอาจมีความรู้สึกเบื่อหน่ายไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งที่เดิมตนเคยทำแล้วเพลินใจหรือสบายใจ เช่น ฟังเพลง พบปะเพื่อนฝูง เข้าวัด ก็ไม่อยากทำหรือทำแล้วก็ไม่ทำให้สบายใจขึ้น บ้างก็รู้สึกเบื่อไปหมดตั้งแต่ตื่นเช้ามา บางคนอาจมีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย อะไรก็ดูขวางหูขวางตาไปหมด กลายเป็นคนอารมณ์ร้าย ไม่ใจเย็นเหมือนก่อน
2. ความคิดเปลี่ยนไป
มองอะไรก็รู้สึกว่าแย่ไปหมด มองชีวิตที่ผ่านมาในอดีตก็เห็นแต่ความผิดพลาดความล้มเหลวของตนเอง ชีวิตตอนนี้ก็รู้สึกว่าอะไรๆ ก็ดูแย่ไปหมด ไม่มีใครช่วยอะไรได้ ไม่เห็นทางออก มองอนาคตไม่เห็น รู้สึกท้อแท้หมดหวังกับชีวิต บางคนกลายเป็นคนไม่มั่นใจตนเองไป จะตัดสินใจอะไรก็ลังเลไปหมด รู้สึกว่าตนเองไร้ความสามารถ ไร้คุณค่า เป็นภาระแก่คนอื่น ทั้งๆ ที่ญาติหรือเพื่อนๆ ก็ยืนยันว่ายินดีช่วยเหลือ เขาไม่เป็นภาระอะไรแต่ก็ยังคงคิดเช่นนั้นอยู่ ความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ความคับข้องใจ ทรมานจิตใจ เหล่านี้อาจทำให้เจ้าตัวคิดถึงเรื่องการตายอยู่บ่อยๆ แรกๆ ก็อาจคิดเพียงแค่อยากไปให้พ้นๆ จากสภาพตอนนี้ ต่อมาเริ่มคิดอยากตายแต่ก็ไม่ได้คิดถึงแผนการณ์อะไรที่แน่นอน เมื่ออารมณ์เศร้าหรือความรู้สึกหมดหวังมีมากขึ้น ก็จะเริ่มคิดเป็นเรื่องเป็นราวว่าจะทำอย่างไร ในช่วงนี้หากมีเหตุการณ์มากระทบกระเทือนจิตใจก็อาจเกิดการทำร้ายตนเองขึ้นได้จากอารมณ์ชั่ววูบ
3. สมาธิความจำแย่ลง
จะหลงลืมง่าย โดยเฉพาะกับเรื่องใหม่ๆ วางของไว้ที่ไหนก็นึกไม่ออก ญาติเพิ่งพูดด้วยเมื่อเช้าก็นึกไม่ออกว่าเขาสั่งว่าอะไร จิตใจเหม่อลอยบ่อย ทำอะไรไม่ได้นานเนื่องจากสมาธิไม่มี ดูโทรทัศน์นานๆ จะไม่รู้เรื่อง อ่านหนังสือก็ได้ไม่ถึงหน้า ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทำงานผิดๆ ถูกๆ
4. มีอาการทางร่างกายต่างๆ
ที่พบบ่อยคือจะรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง มีปัญหาด้านการนอน เช่น หลับยาก นอนไม่เต็มอิ่ม หลับๆตื่นๆ บางคนตื่นแต่เช้ามืดแล้วนอนต่อไม่ได้ รู้สึกเบื่ออาหาร ไม่เจริญอาหารเหมือนเดิม น้ำหนักลดลงหลายกิโลกรัมภายใน 1 เดือน อาจมีอาการท้องผูก อืดแน่นท้อง ปากคอแห้ง ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว
5. ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเปลี่ยนไป
ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะซึมลง ไม่ร่าเริงแจ่มใส เหมือนก่อน จะเก็บตัวมากขึ้น ไม่ค่อยพูดจากับใคร บางคนอาจกลายเป็นคนใจน้อย อ่อนไหวง่าย ซึ่งคนรอบข้างก็มักจะไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงเปลี่ยนไป บางคนอาจหงุดหงิดบ่อยกว่าเดิม แม่บ้านอาจทนที่ลูกๆ ซนไม่ได้ หรือมีปากเสียงกับคู่ครองบ่อยๆ
6. การงานแย่ลงความรับผิดชอบต่อการงานลดลง
งานไม่ได้ทำ หรือทำแบบลวกๆ เพียงให้ผ่านๆ ไป ความละเอียดลดลงเพราะไม่มีสมาธิ รู้สึกหมดพลังที่จะต่อสู้ เริ่มลางานขาดงานบ่อยๆ ซึ่งหากไม่มีผู้เข้าใจหรือให้การช่วยเหลือก็มักจะถูกให้ออกจากงาน
7. อาการโรคจิต 
มักพบในรายที่เป็นรุนแรง นอกจากผู้ที่เป็นจะมีอาการซึมเศร้าแล้ว ยังพบอาการของโรคจิตได้แก่ อาการหลงผิดหรือประสาทหลอนร่วมด้วย ที่พบบ่อยคือ จะเชื่อว่ามีคนคอยกลั่นแกล้ง หรือประสงค์ร้ายต่อตนเอง อาจมีหูแว่วเสียงคนมาพูดคุยด้วย อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้มักจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อได้รับการรักษา อารมณ์เศร้าดีขึ้น อาการโรคจิตก็มักทุเลาตาม
วิธีลดความเสี่ยง ในการเกิด "ภาวะซึมเศร้า"
1. สังเกต
หมั่นสำรวจอารมณ์ของตัวเอง เพื่อเป็นการสังเกตว่า สิ่งใดช่วยทำให้อารมณ์เศร้าหมองหรือสดชื่น แจ่มใส และพยายามรักษาจิตใจให้สดชื่นแจ่มใสอยู่เสมอ
2. ไม่กระตุ้น
ไม่นำตนไปอยู่ในสถานการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดความซึมเศร้า รวมถึงการใช้สารเสพติด
3. ทำกิจกรรม
เลือกกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิต เช่น การออกกำลังกาย กิจกรรมสันทนาการ พบปะ เพื่อนฝูง เข้าสังคม
หากพบว่าตนเองซึมเศร้า เบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร ไร้เรี่ยวแรง ขาดสมาธิ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือนอนมากและมีความคิด อยากตาย รู้สึกตัวไร้คุณค่าเป็นภาระ โดยมีอาการติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและให้การดูแลรักษาต่อไป

แนะนำแแพทย์

แพคเกจ

รศ.พญ.วันเพ็ญ ธุรกิตต์วัณณการ
อายุรแพทย์ / จิตแพทย์
พญ.ชุติมา สายเพ็ชร์
อายุรแพทย์ระบบประสาทและสมอง
กระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (TMS)
Transcranial Magnetic Stimulation

รู้ให้ทัน…เรื่องกัญชา

รู้ให้ทัน..เรื่องกัญชา

CANNABIS
ในปัจจุบันข่าวสารเกี่ยวกับประโยชน์ของกัญชามีออกมาเป็นระยะๆ แต่สารทุกสิ่งในโลกนี้มีสองด้านเสมอ กัญชาก็จัดเป็นพืชที่มีสารเสพติดและเป็นอันตรายต่อสุขภาพเช่นกัน เราจึงควรจะต้องมีความรู้เท่าทันที่จะใช้ประโยชน์จากกัญชา แต่มีวิธีการในการปกป้องตนเองและบุคคลที่เรารักจากอันตรายของกัญชา ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ จึงมีคำแนะนำดังต่อไปนี้
สำหรับประชาชน
  1. ไม่ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการอย่างเด็ดขาด
  2. ให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชน ให้ทราบถึงอันตรายจากการใช้กัญชา เพื่อเป็นการสร้างภูมิต้านทานที่สำคัญ
  3. ช่วยกันสอดส่องดูแล ให้เด็กและเยาวชนห่างไกลจากกัญชา
  4. ช่วยกันสร้างสังคม บ้าน โรงเรียนและชุมชนให้ปลอดกัญชา
สำหรับผู้ที่กำลังคิดว่าจะการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค
  1. ขอให้ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ วิธีการใช้กัญชาและผลข้างเคียงจากกัญชาอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ
  2. ผู้ที่มีโรคประจำตัว ขอให้ปรึกษากับแพทย์ที่ให้การรักษา เกี่ยวกับโรคและยาที่รับประทานอยู่ ว่าจะมีผลต่อกันหรือไม่เพราะกัญชาอาจจะทำให้โรคประจำตัวที่มีอยู่ทรุดลง หรืออาจจะมีอันตกริยาระหว่างยากับกัญชา จนทำให้เกิดอันตรายได้
  3. หากจะใช้กัญชา ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
สำหรับผู้ใช้กัญชา
  1. หากท่านอายุน้อยกว่า 20 ปี ขอให้พิจารณาเลิกใช้กัญชาทันที
  2. ถ้าเป็นไปได้ เลือกใช้กัญชาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เพื่อหลีกเสี่ยงการปนเปื้อนของโลหะหนัก และสารกำจัดศัตรูพืช
  3. หลีกเลี่ยงการใช้ช่อดอกกัญชา เพราะเป็นส่วนที่มีสารแคนนาบินอยด์สูง ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้มาก
  4. ขอให้สูบกัญชาในบริเวณที่ห่างไกลจากคนอื่น โดยเฉพาะเด็ก เยาวชนและสตรีมีครรภ์ เพราะบุคคลเหล่านี้อาจจะเป็นผู้สูบมือสองได้ และได้ผลกระทบจากควันกัญชาได้
  5. ไม่ขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักรต่างๆ ภายใน 6 ชั่วโมงหลังได้รับกัญชา เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  6. ถ้าได้รับกัญชาแล้ว มีอาการผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์ และแจ้งให้แพทย์ทราบเรื่องการได้รับกัญชา เพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงที
  7. หากรู้สึกว่าต้องเพิ่มขนาดความถี่ของการใช้กัญชา หรือไม่สามารถหยุดใช้กัญชาได้โดยง่าย แสดงว่าติดกัญชาแล้ว ขอให้รีบพบแพทย์เพื่อการรักษาภาวะติดกัญชา
  8. หากท่านปลูกัญชาในบ้าน ขอให้หาวิธีไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้โดยง่าย
  9. กรณีท่านเป็นผู้ผลิตอาหารที่ใส่กัญชา ขอให้อย่าใช้ช่อดอก และต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบเสมอว่ามีการใส่กัญชาในอาหารหรือไม่
 
เมากัญชา ทำอย่างไร
  1. อาการเมากัญชา ตาแดง เดินเซ การตอบสนองช้าลง ปากแห้ง เพิ่มความอยากอาหาร อารมณ์เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว หัวใจเต้นเร็ว ความดันเพิ่มขึ้น เมื่อใช้ปริมาณมากจะมีอาการหลอน เกิดภาพลวงตา ควบคุมตัวเองไม่ได้ ให้รีบส่งโรงพยาบาล
  2. ระยะเวลาที่มีอาการ หลังใช้ 2-3 ชม. และอาจอยู่ในร่างกายนานหลายวันถึงเป็นเดือน ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ใช้
  3. อาการถอนยา อาการปวดศีรษะ นอนไม่หลับ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย ปวดท้อง สั่น เหงื่อออก ไข้ สั่น หลังหยุดกัญชา มักมีอาการ 24-48 ชม. อาการมากสุด อาการมากสุด วันที่ 4-6 อาการจะคงอยู่ 1-3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับ สมุนไพรที่อาจจะลดอาการเมากัญชา ได้ น้ำมะนาว หรือรับประทานรากว่านน้ำ
  4. ถ่้ามีอาการทางจิต เช่น มีภาวะซึมเศร้า กระสับกระส่ายอย่างรุนแรง เห็นภาพหลอน มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ให้รีบส่งโรงพยาบาล

โปรแกรมและแพ็คเกจ

ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ และโควิด อาการต่างกันอย่างไร

โรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ และโควิด -19 อาการเหมือน ต่างกันอย่างไร

DENGUE FEVER / INFLUENZA / COVID - 19
ทุกๆ ปีเมื่อฤดูฝนมาถึง มักจะพบโรคระบาดเจ้าประจำอย่าง ไข้เลือดออก กับ ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งทำให้หลายคนแยกไม่ออกว่า กำลังป่วยเป็นโรคอะไรอยู่ ยิ่งในปัจจุบันยังมีโรคอุบัติใหม่อีกหนึ่งโรคคือ โควิด 19 และจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นเร็วๆ นี้ หลายคนเกิดความสับสนมากขึ้น เนื่องจากทั้ง 3 โรค มีอาการที่คล้ายคลึงกัน แล้วเราจะเฝ้าระวังและสังเกตอาการอย่างไร เพื่อดูแลรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที ที่นี่มีคำตอบ

ไข้เลือดออก (Dengue)
โรคไข้เลือดออกเดงกี เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มียุงลายเป็นพาหนะนำโรค พบได้ตลอดปีแต่จะพบมากขึ้นในฤดูฝน ส่วนใหญ่จะพบในเด็ก แต่ผู้ใหญ่ก็พบได้ เชื้อไวรัสเดงกี่ มี 4 สายพันธุ์ คือ เดงกี่ 1 เดงกี่ 2 เดงกี่ 3 และเดงกี่ 4 ด้วยสาเหตุนี้ทำให้เราติดเชื้อได้หลายครั้ง โรคไข้เลือดออกเดงกี่เกิดจากยุงลายตัวเมียกัด ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการ 5-8 วัน อาจมีอาการปวดท้องและช็อกได้ จึงต้องรีบรักษาโดยเร็ว โดยการเฝ้าระวังภาวะช็อค และเลือดออก
การป้องกันไข้เลือดออกที่ดีที่สุดคือ การกำจัดลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะไม่ให้ขยายพันธุ์ โดยหมั่นตรวจสอบและกำจัดแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่ยุงจะเพาะพันธุ์อยู่
ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถเกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และติดต่อกันง่ายมาก ระบาดตลอดทั้งปี แต่มักเกิดในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ฤดูฝนต่อกับฤดูหนาว

การป้องกันไข้หวัดใหญ่ ที่ดีที่สุด คือการได้รับวัคซีนปีละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันอาการรุนแรงของโรค
โควิด-19 (Covid 19)

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นตระกูลของไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ และโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS-CoV) สามารถแพร่เชื้อจากคนสู่ คนได้ ปัจจุบัน โควิด-19 มีหลายสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่แพร่กระจายเชื้อได้รวดเร็ว คือ โอมิครอน และพบในประเทศไทยมากที่สุด

การป้องกันโดยการสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อยๆ ไม่ไปในที่ระบาด เป็นการป้องกันได้อีกทางหนึ่ง แต่ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรค เพื่อลดความรุนแรงของโรค

แยกโรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ โรคโควิด ได้อย่างไร

อาการของโรคทั้ง 3 โรค เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
  1. มีไข้สูงเฉียบพลัน นาน 2-7 วัน
  2. ปวดศีรษะ
  3. ปวดเมื่อยตามตัว
  4. ส่วนใหญ่มีอาการหน้าแดง
  5. มีจุดเลือดออกขนาดเล็กตามลำตัว แขน ขา
  6. มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  7. ปวดท้องและเบื่ออาหาร
เมื่อไข้ลง ควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเนื่องจากสามารถพบภาวะช๊อกหรือเลือดออก อาจถึงแก่ชีวิตได้ หากมีไข้สูงต่อเนื่องตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป เช็ดตัวและทานยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้น ควรมาโรงพยาบาล
  1. มีไข้สูงเกิน 38 องศาฯ
  2. ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หนาวสั่น
  3. ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  4. คัดจมูก มีน้ำมูกใส ไอแห้ง
  5. บางรายมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  6. เบื่ออาหาร
โรคไข้หวัดใหญ่สามารถหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์ การได้ยาต้านไวรัสช่วยลดความรุนแรงและลดระยะเวลาเจ็บป่วยได้ แนะนำควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรง
  1. ไม่มีไข้ถึงมีไข้สูง
  2. ปวดศีรษะ
  3. ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  4. ไอแห้งหรือมีเสมหะ เจ็บคอ
  5. มีน้ำมูก
  6. หอบเหนื่อย หายใจลำบาก
  7. บางรายอาจมีอาการอาเจียนหรือท้องเสียร่วมด้วย
โควิดโอมิครอนเป็นการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ อาจมีปอดอักเสบหรืออาการรุนแรงในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง การฉีดวัคซีนป้องกันจะช่วยลดความรุนแรงของโรค การสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ จะช่วยป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
หากสงสัย มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือมีการถ่ายเหลวร่วมด้วย เบื้องต้นให้ตรวจ ATK ได้ทันที หากผลเป็นลบ อย่าพึงวางใจ ให้สังเกตอาการต่ออีก 48 ชม. ถ้ายังไม่ดีขึ้นให้ไปโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโรคอื่น ๆ เพราะอาจเสี่ยงเป็นโรคไข้เลือดออก

โปรแกรมและแพ็คเกจ

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ็
ให้บริการ ดูแลผู้ป่วย COVID-19
Promotion ชุดตรวจสุขภาพ ลด 20%

โรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออกเดงกี

DENGUE FEVER
โรคไข้เลือดออกเดงกี เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มียุงลายเป็นพาหนะนำโรค พบได้ตลอดปีแต่จะพบมากขึ้นในฤดูฝน ส่วนใหญ่จะพบในเด็ก แต่ผู้ใหญ่ก็พบได้ เชื้อไวรัสเดงกี่ มี 4 สายพันธุ์ คือ เดงกี่ 1 เดงกี่ 2 เดงกี่ 3 และเดงกี่ 4 ด้วยสาเหตุนี้ทำให้เราติดเชื้อได้หลายครั้ง ระยะฟักตัวในยุงลายประมาณ 8-10 วัน โรคไข้เลือดออกเดงกี่เกิดจากยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้ ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก เมื่อยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่ไปกัดก็ทำให้ผู้ที่ถูกกัดป่วยได้ ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการ 5-8 วัน
 
อาการ
  • มีไข้สูง 2-7 วัน ร่วมกับอาการอาเจียน ปวดหัว
  • อาการหวัดไม่เด่นชัด มักไม่มีอาการไอ หรือน้ำมูกไหล
  • ส่วนใหญ่ มีหน้าแดง ปวดศีรษะ
  • อาจมีเลือดออกตามผิวหนัง หรือตามอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะเลือดกำเดา
  • อาจมีอาการถ่ายอุจจาระ อาเจียนเป็นเลือด
  • บางรายมีภาวะช็อคเกิดขึ้นพร้อมๆ กับมีไข้ลดลง โดยมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ปวดท้องรุนแรงขึ้น
  • ในรายที่รุนแรงมาก อาจถึงเสียชีวิตถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที
 
โรคไข้เลือดออกเดงกี แบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ
  • ระยะไข้
    ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส บางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้นโดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชักมาก่อน ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง (flushed face) ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการน้ำมูกไหลหรืออาการไอ เบื่ออาหาร อาเจียน และไข้จะสูงลอยอยู่ 2-7 วัน อาจพบมีผื่นแบบ erythema หรือ maculopapular ซึ่งมีลักษณะคล้ายผื่น rubella ได้ อาการเลือดออกที่พบบ่อยคือ ที่ผิวหนัง การทำ tourniquet test ให้ผลบวกได้ตั้งแต่ 2-3 วันแรกของโรค ร่วมกับมีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena) ส่วนใหญ่จะคลำตับ โต ได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย ในระยะที่ยังมีไข้อยู่ ตับจะนุ่มและกดเจ็บ
  • ระยะวิกฤติ/ช็อก
    ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกี จะมีอาการรุนแรง มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลวเกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับที่มีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว เวลาที่เกิดช็อกจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้ อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค (ถ้ามีไข้ 2 วัน) หรือเกิดวันที่ 8 ของโรค (ถ้ามีไข้ 7 วัน) ภาวะช็อกที่เกิดขึ้นนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะมีอาการเลวลง และจะเสียชีวิตภายใน 12-24 ชั่วโมง หลังเริ่มมีภาวะช็อก
  • ระยะฟื้นตัว
    ระยะฟื้นตัวของผู้ป่วยค่อนข้างเร็ว ในผู้ป่วยที่ไม่ช็อกเมื่อไข้ลดส่วนใหญ่ก็จะดีขึ้น ส่วนผู้ป่วยช็อกถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงทีจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ระยะฟื้นตัวมีช่วงเวลาประมาณ 2-3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน
กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโรคไข้เลือดออกและเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
  • ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 15 ปี
  • กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเลือด โรคทางระบบประสาทและติดสุรา
ข้อควรปฏิบัติเมื่อสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก
  • ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อลดไข้
  • หากจำเป็นต้องใช้ยาลดไข้ ควรใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพริน เพราะจะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น
  • ดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำตาลเกลือแร่บ่อยๆ
  • ควรพบแพทย์เมื่อไข้สูงเกิน 2 วัน เพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำแพทย์ กลับไปตรวจติดตามดูอาการและการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะๆ
  • ระยะวิกฤต คือระยะไข้ลด ถ้ามีอาการเลวลง ซึม มือเท้าเย็น ปวดท้อง กระสับกระส่าย ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ด่วน!
การกำจัดลูกน้ำยุงลาย
การกำจัดลูกน้ำยุงลาย ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา
  1. เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง ไม่มีบริเวณอับทึบให้ยุงลายเกาะพัก
  2. เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บเศษภาชนะที่ไม่ต้องการทิ้งไว้ในถุงดำมัดปิดปากถุง และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
  3. เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะไม่ใช้ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำหรือปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ และเน้นการป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยทายากันยุง และนอนในมุ้ง

หลักสูตร ความรอบรู้ เรื่อกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขง โรคติดต่อนำโดยแมลงและการกำจัด 

โรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสแดงกี่ ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค

โปรแกรมและแพ็คเกจ

บุหรี่กับมะเร็งปอด

31 พฤษภาคม วันงดสูบบุหรี่โลก 2565

WHO WORLD NO TOBACCO DAY " บุหรี่ ทำลายสิ่่ิงแวดล้อม"
 
ประวัติวันงดสูบบุหรี่โลก
วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day) เริ่มมีการจัดงานตั้งแต่ปี ค.ศ.1988 โดยองค์การอนามัยโลก เนื่องจากเล็งเห็นอันตรายของบุหรี่ต่อสุขภาพ การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่สามารถป้องกันได้ จึงมีการกำหนดคำขวัญในการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ในแต่ละปี ของผู้สูบบุหรี่และผู้ไม่สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่ การจัดงานวันงดสูบบุหรี่โลกก็เพื่อกระตุ้นให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบ และให้รัฐบาลชุมชนและประชากรโลก ตระหนักถึงความสำคัญและเข้าร่วมกิจกรรม
 
โทษของบุหรี่
การสูบบุหรี่เป็นการทำลายสุขภาพ ทั้งต่อผู้สูบเองและผู้อยู่ใกล้ชิดที่สูดเอาอากาศที่มีควันบุหรี่เข้าไป เพราะควันบุหรี่ประกอบด้วยสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และมีสารก่อมะเร็ง ไม่ต่ำกว่า 42 ชนิด ซึ่งสารอันตรายที่สำคัญ เช่น
  1. คาร์บอนมอนอกไซด์ ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถจับออกซิเจนได้เท่ากับเวลาปกติ หากได้รับจะเกิดการขาดออกซิเจน ทำให้มึนงง ตัดสินใจช้า เหนื่อยง่าย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ
  2. นิโคติน เป็นสารระเหยในควันบุหรี่ มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง มีผลต่อต่อมหมวกไต ทำให้เกิดการหลั่งอิพิเนฟริน ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจ เต้นเร็วกว่าปกติ และไม่เป็นจังหวะ หลอดเลือดที่แขนและขาหดตัว เพิ่มไขมันในเส้นเลือด (ก้นกรองไม่ได้ทำให้ปริมาณนิโคตินลดลงได้
  3. ทาร์ หรือน้ำมันดินเป็นคราบมันข้นเหนียว สีน้ำตาลแก่ เกิดจากการเผาไหม้ของกระดาษและใบยาสูบ และเป็นสารก่อมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งปอด, กล่องเสียง, หลอดลม. หลอดอาหาร, ไต, กระเพาะปัสสาวะ และอื่นๆ ร้อยละ 50 ของน้ำมันดินจะไปจับที่ปอด เกิดระคายเคือง ทำให้ไอเรื้อรัง มีเสมหะ
  4. ผู้สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นต้อกระจก เนื่องจากสารพิษในบุหรี่จะเข้าสู่เลนส์ตา ทำให้ตาขุ่นมัว ยิ่งสูบมากก็ยิ่งมีโอกาสมาก
  5. เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด บุหรี่ส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจหดตัว เกิดการตีบตัน หากมีการออกกำลังกายหนักๆ อาจมีโอกาสเกิดหัวใจวายเฉียบพลัน
  6. โรคปอด โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอด สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการสูบบุหรี่ โดยจากข้อมูลพบว่าเพียงแค่สูบบุหรี่วันละ 1 ซอง สามารถมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปอดมากกว่าคนปกติถึง 10 เท่า!

บุหรี่กับมะเร็งปอด

สูบบุหรี่วันละ 1 ซอง มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปอดมากกว่าคนปกติถึง 10 เท่า!
 
5 วิธีพร้อมเลิกบุหรี่ เลิกง่าย ทำได้อยู่แล้ว
  1. ค้นหาแรงจูงใจให้ตนเอง การเลิกบุหรี่จะทำให้ชีวิตตนเองดีขึ้นอย่างไรบ้าง จะเป็นผลดีต่อคนรอบข้างอย่างไรบ้างเมื่อตนเองเลิกได
  2. หาวันที่เหมาะสมในการเริ่มต้นอาจเป็นวันที่มีความหมายต่อตนเอง เช่น วันเกิด วันเกิดของลูก หรือฤกษ์ดีอื่นๆ เช่น วันพระ วันปีใหม่ วันสำคัญทางศาสนา
  3. หักดิบดีกว่าค่อยๆหยุด โดยทั่วไป การเลิกบุหรี่โดยการหักดิบจะมีรโอกาสเลิกได้สำเร็จ ในระยะยาวมากกว่าการค่อยๆหยุด
  4. หลีกเลี่ยงและกำจัดสิ่งกระตุ้นให้สูบบุหรี่ ใช้สเปรย์ดับกลิ่นบุหรี่ที่ยังตกค้างตามที่ต่างๆ ทิ้งไฟแช็คและที่เขี่ยบุหรี่ รวมถึงรู้จักปฏิเสธผู้ที่ชักชวนให้สูบ
  5. ใช้ยาช่วยเลิกในกรณีที่สูบ ตั้งแต่ 10 มวนต่อวัน ปัจจุบันมียาหลากหลายที่ให้ผลได้ดีมาก เช่น ยาวาเรนิคลิน (Varenicline) ยาบูโบรพิออน (Bupropion) และนิโคตินทดแทน

โปรแกรมและแพ็คเกจ

โปรแกรมคัดกรองมะเร็งปอด ด้วย CT SCAN LOW DOSE
Promotion ชุดตรวจสุขภาพ ลด 20%

การผ่าตัดรักษาต่อมไทรอยด์

การผ่าตัดรักษาต่อมไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) เป็นต่อมขนาดใหญ่ที่สุดในระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย มีรูปร่างคล้ายผีเสื้ออยู่ตรงส่วนหน้าของลำคอ บริเวณใต้ลูกกระเดือกลงมา หน้าที่ของต่อมไทรอยด์คือการหลั่งฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อให้ร่างกายสามารถเผาผลาญพลังงานและส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ในบางครั้งอาจพบก้อนเนื้อเกิดขึ้นบนต่อมไทรอยด์ได้ ก้อนเหล่านี้ส่วนใหญ่มักเป็นเนื้องอกธรรมดาที่ไม่ใช่มะเร็ง แต่มีประมาณ 5% ที่เป็นมะเร็ง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
การวินิจฉัยก้อนที่ต่อมไทรอยด์
มักตรวจพบก้อนที่ต่อมไทรอยด์จากการตรวจร่างกายประจำปีหรือจากการตรวจทางรังสีวินิจฉัยที่ส่งทำจากปัญหาอื่นๆ หลังจากที่แพทย์ตรวจพบก้อนที่ต่อมไทรอยด์ แพทย์จะส่งตรวจเพิ่มเติมดังนี้
โดยส่วนใหญ่โรคไข้ชัก มักมีอาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัวภายใน 24 ชั่วโมงหลังมีไข้สูง ส่วนน้อยที่มีอาการชักก่อนการมีไข้ หรือหลังจากมีไข้แล้ว 24 ชั่วโมง การชักแต่ละครั้งมักเป็นอยู่ไม่กี่วินาที และชักเพียงครั้งเดียวในการเป็นไข้แต่ละครั้ง นอกจากนั้นหลังชักจะมีแขนขาอ่อนแรงตามมา
  1. ตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ เพื่อดูว่าต่อมไทรอยด์ทำงานปกติหรือไม่
  2. ตรวจต่อมไทรอยด์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อให้เห็นภาพของต่อมไทรอยด์ ระบุตำแหน่งและขนาดของก้อน และดูลักษณะของก้อนว่าเป็นก้อนแข็งหรือมีสารน้ำอยู่ภายใน
  3. การใช้เข็มขนาดเล็กเจาะก้อนเพื่อส่งชิ้นเนื้อไปตรวจ
  4.  Thyroid scan เป็นการใช้สารไอโอดีนทึบรังสีเพื่อช่วยระบุว่าก้อนนั้นเป็นเนื้องอกธรรมดาหรือเป็นมะเร็ง จะตรวจเฉพาะผู้ป่วยบางรายเท่านั้น
ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์จะมีได้หลายลักษณะ  สามารถจำแนกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1) ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนปริมาณผิดปกติ แต่อาจจะมีเนื้องอกหรือไม่มีก็ได้ ถ้ามีการสร้างฮอร์โมนผิดปกติ แพทย์จะรักษาด้วยการคุมฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ ซึ่งต้องใช้ยาหรือการกลืนแร่ไอโอดีน เพื่อทำให้ตัวต่อมไทรอยด์กลับมาทำงานปกติ ซึ่งไม่ได้ใช้การผ่าตัดรักษาเป็นหลัก แต่ถ้ารักษาด้วยยาไม่ได้ผลก็อาจจำเป็นต้องผ่าตัด

2) ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนปริมาณปกติ แต่มีเนื้องอกเกิดขึ้น

  • กลุ่มที่เป็นเนื้องอกธรรมดา  กลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดทุกราย แค่ทานยาเสริมฮอร์โมนเข้าไป เนื้องอกก็อาจจะเล็กลงได้ แต่ถ้าเนื้องอกขนาดใหญ่ทานยาแล้วขนาดก้อนไม่ยุบหรือเนื้องอกเบียดทางเดินหายใจ หรือมีปัจจัยเสียงที่จะเป็นมะเร็งมากขึ้น เช่น เคยได้รับรังสีบริเวณคอมาก่อน หรือมีประวัติเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ในครอบครัว  แพทย์จะพิจารณาการรักษาโดยการผ่าตัด
  • กลุ่มที่เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ กลุ่มนี้จำเป็นต้องรับการรักษาโดยการผ่าตัดทันที
การผ่าตัดไทรอยด์
  1. ผ่าตัดไทรอยด์แบบเปิด สามารถผ่าตัดก้อนที่ต่อมไทรอยด์ได้ทุกชนิดโดยเฉพาะมะเร็งต่อมไทรอยด์ การผ่าตัดวิธีนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีแผลผ่าตัดบริเวณกลางลำคอ ทั้งนี้ในการผ่าตัดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะพยายามเปิดแผลผ่าตัดให้เล็กที่สุดตามรอยผิวหนังเพื่อให้เห็นรอยแผลผ่าตัดน้อยที่สุด โดยความยาวแผลผ่าตัดขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนด้วย
  2. ผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้อง ข้อดีคือซ่อนแผลบริเวณกลางลำคอ โดยมีเพียงแผลขนาดเล็กบริเวณรักแร้ แต่มีข้อจำกัดคือผ่าตัดได้ฉพาะก้อนที่ขนาดไม่ใหญ่มาก และค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดสูงกว่าแบบเปิด

ผู้ป่วยที่ผ่าตัดแบบเปิดจะมีแผลที่ผิวหนังบริเวณด้านหน้าลำคอ มีผ้าก๊อซปิดแผล และท่อระบายออกจากแผลเพื่อป้องกันเลือดออกและคั่งอยู่ใต้แผล เมื่อเลือดและของเหลวใต้แผลที่ออกจากท่อระบายน้อยลง แพทย์ก็จะเอาท่อระบายออก  ผู้ป่วยจะได้รับยาที่จำเป็น เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ ยาละลายเสมหะ

ภาวะแทรกซ้อน
    ภาวะแทรกซ้อน ที่อาจเกิดการผ่าตัด ได้แก่ แผลผ่าตัดติดเชื้อ สายเสียงไม่ทำงานทำให้มีเสียงแหบ พบได้ 1-5%  มีเลือดออกใต้แผลผ่าตัดซึ่งอาจทำให้เกิดการอุดกั้นในระบบทางเดินหายใจ แต่ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้พบได้น้อยมาก ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนผู้ป่วยจะกลับบ้านได้หลังผ่าตัดประมาณ 3 วัน แพทย์จะนัดมาดูแผลผ่าตัดและตัดไหม รวมทั้งฟังผลชิ้นเนื้อ ประมาณ 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด

ตัวอย่างแผลผ่าตัดวันที่ 3

ตัวอย่างแผลผ่าตัด 1 เดือน

ตัวอย่างแผลผ่าตัด 1 ปี

เตรียมตัวอย่างไร ก่อนฉีดวัคซีนโควิด – 19

เตรียมตัวอย่างไรก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19


เตรียมตัวอย่างไร ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19

  1. ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือมียาประจำที่ต้องรับประทานทุกวัน ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อน
  2. ก่อนฉีดวัคซีนโควิด 2 วัน ควรงดการออกกำลังกายหนักๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ
  3. หากมีอาการป่วย มีไข้ ไม่สบาย ให้เลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน ประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะหายดี
  4. ก่อนฉีดวัคซีนควรดื่มน้ำเปล่าเยอะๆ และงดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  5. รับประทานอาหาร และยารักษาโรคประจำตัวให้เรียบร้อย ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน
    ผู้ที่มีโรคประจำตัว ดังนี้
    • โรคเบาหวาน
    • ความดันโลหิตสูง
    • หัวใจ
    • อัมพฤกษ์ และอัมพาต
    ไม่ควรหยุดยา เพื่อฉีดวัคซีน ยกเว้นกรณีที่แพทย์แนะนำให้หยุดยาชั่วคราว เพื่อให้ผลลัพธ์ของวัคซีนมีความแม่นยำ
  6. การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดควรห่างกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ อย่างน้อย 1 เดือน แนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิดให้ครบโดสก่อน
  7. ผู้ที่เป็นโรคเลือดออกได้ง่าย ควรแจ้งแพทย์และเจ้าหน้าที่ทราบก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน เพราะอาจต้องใช้เวลากดแผลบริเวณที่ฉีดนานขึ้น
  8. ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว หากมีอาการของโรคกำเริบ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนหรือไม่ก็ตาม ให้รีบปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อน
ฉีดวัคซีน COVID-19
  • กรุณานำบัตรประชาชนมา ณ สถานที่ให้บริการ
  • สวมเสื้อแขนสั้น สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ รักษาระยะห่าง
จุดให้บริการฉีดวัคซีน : ชั้น 2 โซนใหม่ ติดกับแผนกศัลยกรรม โรงพยาบาลบางโพ โปรดมาในช่วงเวลานัด เพื่อลดความแออัด ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
จุดรับส่ง (drop-off) : จุดส่งผู้มาฉีดวัคซีนโควิดใกล้ที่สุด คือ ทางขึ้นชั้น 2 อาคาร 1 หน้าแผนกฉุกเฉิน
ที่จอดรถ : จอดรถที่อาคารจอดรถของโรงพยาบาล และอาคารจอดรถ เกตเวย์ แอท บางซื่อ ชั้น 1C, 2C โดยแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนครั้งต่อไป ที่จุดประชาสัมพันธ์

ขั้นตอนการเข้ารับบริการ

ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ร่วมกับวัคซีนป้องกันโควิด-19

คำแนะนำในการฉีด
“วัคซีนไข้หวัดใหญ่”
ร่วมกับ
“วัคซีนป้องกันโควิด-19”


ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้ทั้ง ก่อน ระหว่าง หรือหลัง การฉีดวัคซีน โควิด-19 (COVID-19) ได้โดยการเว้นระยะการฉีดวัคซีนดังนี้

การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ร่วมกับวัคซีนป้องกันโควิด-19
ตามที่กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค และ สปสช. แนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เพื่อลดการป่วยรุนแรงและสร้างภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่ ในช่วงต้นฤดูฝน เนื่องจากเป็นฤดูกาลระบาดในประเทศไทยซึ่งมี 2 ช่วง คือ ช่วงปลายฝน (เดือนกรกฎาคม-กันยายน) และปลายหนาว (เดือนมกราคม-มีนาคม) นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ก่อนที่ จะติดเชื้อโควิด-19 ยังช่วยลดการนอนโรงพยาบาล หรือเข้ารักษาในโรงพยาบาลสั้นกว่าคนที่ไม่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อนการติดเชื้อโควิด-19
ในสถานการณ์ปัจจุบัน เกิดโรคระบาดอีกชนิดหนึ่ง คือ โควิด-19 และวัคซีนป้องกันโรคโควิดได้พัฒนาจนสามารถฉีดได้แล้ว แต่อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังมีความสำคัญ เพื่อแยกอาการป่วยระหว่างไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ที่มีอาการคล้ายกันมาก เช่น ไข้สูง ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ถ่ายเหลว (ยกเว้นจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสที่จำเพาะกับโควิด-19 มากกว่า) และมีความรุนแรงเหมือนกัน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ได้แก่ กลุ่มเสี่ยง ดังนี้
7 กลุ่มเสี่ยงได้แก่
  1. หญิงมีครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
  2. ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจ หืด ไตวาย หลอดเลือดสมอง เบาหวาน ผู้ป่วยมะเร็ง ที่อยู่ในระหว่างการได้รับยา เคมีบำบัด
  3. ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
  4. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
  5. ผู้พิการทางสมอง ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
  6. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ
  7. ผู้ที่มีน้ำหนัก ตั้งแต่ 100 กก. หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กก./ตรม.
การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ร่วมกับวัคซีนป้องกันโควิด-19
สามารถทำได้ทั้ง ก่อน ระหว่าง หรือหลัง การฉีดวัคซีน โควิด-19 (COVID-19) ได้โดยการเว้นระยะการฉีดวัคซีนดังนี้
ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ก่อน ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด - 19
ผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ โดยให้เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เดือน จึงค่อยฉีดวัคซีนโควิด-19

ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หลัง วัคซีนป้องกันโควิด-19 ซิโนแวค (Sinovac)
ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค (Sinovac) เข็มที่ 1 แล้ว ให้ฉีดจนครบทั้ง 2 เข็มก่อนโดยระยะการฉีดห่างกัน 2-4 สัปดาห์ จึงรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลได้ โดยให้ห่างจากวัคซีนเข็มที่ 2 อย่างน้อย 1 เดือน

ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ระหว่าง วัคซีนป้องกันโควิด-19 แอสตราเซเนกา (AstraZeneca)
ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) เข็มที่ 1 และอยู่ระหว่างรอกำหนดฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 สามารถรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ โดยให้ห่างจากวัคซีนเข็มที่ 1 อย่างน้อย 1 เดือน และหลังจากนั้นให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ตามกำหนดนัด โดยให้มีระยะห่างจากการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างน้อย 1 เดือน
วัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) เข็มที่ 2 จะมีกำหนดฉีดหลังจากฉีดเข็มที่แรก 10 - 12 สัปดาห์

ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หลัง วัคซีนป้องกันโควิด-19 แอสตราเซเนกา (AstraZeneca)
ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ครบทั้ง 2 เข็มแล้ว โดยระยะการฉีดระหว่างเข็มที่ 1 และ 2 ห่างกันประมาณ 10-12 สัปดาห์ สามารถเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้หลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แล้วอย่างน้อย 1 เดือน