PM 2.5 กับโรคภูมิแพ้จมูกอักเสบ

PM 2.5 และ โรคภูมิแพ้

PM2.5 คืออะไร?
PM (Particulate Matter) คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ สามารถอยู่ได้ทั้งในรูปอนุภาคของแข็ง และ ของเหลว เกิดขึ้นได้ทั้งจากธรรมชาติ เช่น ไฟป่า หรือ ฝุ่นเกลือจากทะเล และ เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น ไอเสียรถยนต์ หรือ การก่อสร้าง เป็นต้น
PM มีหลากหลายขนาด แต่ฝุ่นละอองที่สามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานมักเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ฝุ่น PM สามารถแบ่งประเภทตามขนาดได้เป็น
  • ฝุ่นหยาบ (Coarse Particle, PM10) คือ ฝุ่นที่มีขนาด 2.5 - 10 ไมครอน ซึ่งฝุ่น PM10 นี้จะไปสะสมบริเวณทางเดินหายใจส่วนต้น ส่งผลให้เกิดอาการทางจมูก เช่น คัดจมูก คันจมูก จาม และ น้ำมูกไหล
  • ฝุ่นละเอียด (Fine Particle, PM2.5) คือ ฝุ่นที่มีขนาด 0.1 - 2.5 ไมครอน ฝุ่น PM2.5 นี้มีขนาดเล็กมากขึ้น จึงสามารถไปสะสมในบริเวณทางเดินหายใจส่วนล่างที่ลึกขึ้น และ ปอด ส่งผลให้เกิดอาการ ไอ แน่นหน้าอก หายใจติดขัด และ หอบเหนื่อยได้
  • ฝุ่นละเอียดพิเศษ (Ultrafine Particle, PM0.1) คือ ฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 0.1 ไมครอน ฝุ่นชนิดนี้มีขนาดที่เล็กมาก จึงสามารถสะสมที่ปอดได้นานมากขึ้น และ สามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้โดยตรง
PM 2.5 และ โรคภูมิแพ้
ฝุ่น PM2.5 มีความสัมพันธ์กับโรคภูมิแพ้เป็นอย่างมาก เนื่องจากฝุ่นนี้จะก่อให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจมากยิ่งขึ้น ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้วจึงมีอาการกำเริบได้ง่ายเมื่อได้รับ PM2.5 ทั้งโรคภูมิแพ้จมูกอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ หอบหืด และ ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
นอกจากนี้ การได้รับฝุ่น PM2.5 ยังสามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ตัวเดิมได้มากขึ้น และ กระตุ้นให้เกิดการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดใหม่ได้อีกด้วย
การหลีกเลี่ยง และ ป้องกันฝุ่น PM2.5
  1. ตรวจเช็คดัชนีคุณภาพอากาศอย่างสม่ำเสมอ หากระดับ PM2.5 อยู่ในระดับสูง ควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน และ งดกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็ก คนชรา หญิงตั้งครรภ์ และ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ และ โรคหัวใจ
  2. สวมหน้ากากทางการแพทย์ หรือ หน้ากาก N95 เมื่อจำเป็นต้องออกนอกบ้าน
  3. ใช้เครื่องกรองอากาศที่มีตัวกรองอากาศ HEPA Filter (High Efficiency Particulate Air) ตัวกรองนี้จะสามารถกรองฝุ่นที่มีขนาด 0.3 ไมครอนได้ และ สามารถลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้บางชนิดได้อีกด้วย
  4. ล้างจมูก และ ใช้ยารักษาโรคภูมิแพ้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดอาการที่อาจถูกกระตุ้นโดยฝุ่น PM2.5 ได้
ฝุ่น PM2.5 สามารถทำให้ผู้ป่วยภูมิแพ้มีอาการกำเริบได้ หากผู้ป่วยมีอาการแพ้จากฝุ่น PM2.5 และทำให้รบกวนกิจวัตรประจำวัน การทำงาน การเรียน หรือ การนอน ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจประเมิน และ ให้การรักษาอย่างรวดเร็ว หากปล่อยไว้นานอาจทำโรคเรื้อรัง ยากต่อการรักษา และ ส่งผลกระทบต่อร่างกายได้

โปรแกรมและแพ็คเกจ

โรคภูมิแพ้โพรงจมูกอักเสบด้วยคลื่นความถี่วิทยุ

รักษาโรคภูมิแพ้โพรงจมูกอักเสบด้วยคลื่นความถี่วิทยุ

โรคภูมิแพ้ หรือโรคจมูกอักเสบเรื้อรัง ถือว่าเป็นโรคที่พบบ่อยโรคหนึ่งเลยทีเดียวสำหรับคนเมือง สาเหตุของโรค เกิดจากเยื่อบุจมูกมีความไวผิดปกติเมื่อสัมผัสกับสิ่งกระตุ้น เช่น ฝุ่น ควัน ของฉุน มลภาวะทางอากาศ และการเปลี่ยนแปลงของอากาศ เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการของโรคที่สามารถสังเกตได้ เช่น คันจมูก จามติดต่อกันหลายครั้ง มีน้ำมูกใสไหลตลอดเวลา เสมหะไหลลงคอ จมูกไม่ได้กลิ่นหรือได้กลิ่นลดลง เจ็บคอ ระคายคอ ไอ เสียงแหบ หรืออาจมีอาการอื่นๆ เช่น คันตา คันคอ คันหู หรือคันที่เพดานปาก ปวดศีรษะ ปวดหู หูอื้อ เป็นต้น โดยทั่วไปผู้ป่วยมักบรรเทาอาการด้วยการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ร่วมกับการใช้ยารับประทาน การใช้ยาพ่นจมูก และการใช้น้ำเกลือล้างจมูก ในผู้ป่วยบางราย ถึงแม้ว่าจะหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีการต่างๆ ข้างต้นแล้ว อาการของโรคภูมิแพ้โพรงจมูกอักเสบก็ยังไม่ดีขึ้น บางคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นได้ หรือไม่ต้องการใช้ยาในการรักษา กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเรื้อรังและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาอย่างเต็มที่แล้วนั้นปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุมาใช้ในการผ่าตัด เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคภูมิแพ้โพรงจมูกอักเสบซึ่งได้ผลลัพธ์ที่ดีหลังการรักษา

การรักษาโรคภูมิแพ้โพรงจมูกอักเสบด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency volumetric tissue reduction: RFVTR)
การใช้คลื่นความถี่วิทยุ เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคภูมิแพ้ในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา เป็นการผ่าตัดนำเข็มพิเศษเข้าไปในเนื้อเยื่อจมูก เพื่อส่งคลื่นความถี่วิทยุ(Radiofrequency) ไปยังเยื่อบุจมูกที่บวมโตจนอุดกั้นโพรงจมูก คลื่นความถี่สูงนี้จะเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อน ทำให้เกิดการสูญเสียสภาพและเกิดการหดรัดของเนื้อเยื่อ ส่งผลให้เนื้อเยื่อบริเวณที่ต้องการรักษาหดตัวลง ทำให้โพรงจมูกโล่งขึ้น หายใจสะดวกขึ้น นอกจากนี้ คลื่นความถี่วิทยุยังได้ลดจำนวนต่อมสร้างน้ำมูก จึงช่วยรักษาอาการคัน จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล และเสมหะลงคออีกด้วย

วิธีรักษาแพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ทำการรักษาโดยใส่เครื่องมือผ่านทางช่องจมูก ทำให้ไม่มีบาดแผลที่มองเห็นได้จากภายนอก ควรทำในผู้ป่วยที่ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดี ไม่เป็นหวัดหรือมีอาการติดเชื้อของทางเดินหายใจเฉียบพลันในขณะทำการรักษา การรักษาโรคภูมิแพ้ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ เป็นวิธีการผ่าตัดที่ง่ายในการทำ มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน ใช้เวลาในการทำการรักษาประมาณ 20 นาที ผลข้างเคียงน้อย และให้ผลการรักษาที่ดีโดยที่ผลของการรักษาในการลดอาการคัน, จาม, น้ำมูกไหล และเสมหะในคอจะเห็นผลชัดเจนใน 4-6 สัปดาห์ และผลนั้นคงอยู่นานถึง 1-2 ปี/div>

คำแนะนำการปฏิบัติตัวหลังการรักษา
ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บแผลที่เยื่อบุจมูกเล็กน้อย มีน้ำมูกหรือน้ำลายปนเลือดออกมาได้บ้างเล็กน้อย  อาจมีอาการบวม รู้สึกตึงบริเวณจมูกคล้ายกับมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในโพรงจมูก เสียงเปลี่ยน หรือมีไข้ แต่อาการต่างๆ เหล่านี้จะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์

หลังทำการรักษา เยื่อบุจมูกอาจบวมมากขึ้น ทำให้คัดจมูก หายใจลำบาก ผู้ป่วยอาจต้องหายใจทางปาก จึงควรนอนศีรษะสูง อมและประคบน้ำแข็งที่หน้าผากหรือคอบ่อยๆ ในช่วง 24-48 ชั่วโมงแรก เพื่อลดอาการต่างๆ ดังกล่าวและลดอาการเลือดออกบริเวณแผลผ่าตัด และรับประทานยาตามแพทย์สั่ง

ควรหลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรงๆ หลีกเลี่ยงการแคะ แกะ เกา หรือกระทบกระเทือนบริเวณจมูก งดออกกำลังกายหักโหม ยกของหนัก หรือการออกแรงมาก เพราะอาจทำให้เลือดออกจากแผลผ่าตัดได้ หากมีเลือดออกให้นอนศีรษะสูง อมและประคบน้ำแข็งจนกระทั่งเลือดหยุด หากเลือดออกไม่หยุดหรือออกมากผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

การทำความสะอาดจมูกและแผลหลังทำ RF 48 ชั่วโมงแรก ควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดสะเก็ดแผลซึ่งจะทำให้แผลหายช้า ขณะล้างทำความสะอาดอาจมีวัสดุห้ามเลือดหลุดออกมาจากโพรงจมูก ไม่ต้องตกใจ ผู้ป่วยสามารถล้างต่อได้ ยกเว้นถ้าเลือดออกมาก ควรหยุดล้าง และอมหรือประคบน้ำแข็งเพื่อให้เลือดหยุดไหล หากเลือดออกไม่หยุดหรือออกมากผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ ถ้าล้างแล้ววัสดุห้ามเลือดไม่ออกมา แพทย์จะเอาออกให้ในวันนัดดูแผล

หลังทำ RF ประมาณ 1-2 สัปดาห์ แผลในจมูกจะหายเป็นปกติ เยื่อบุจมูกจะมีขนาดลดลง อาการต่างๆ ของโรคภูมิแพ้ เช่น คัดจมูก คัน จาม น้ำมูกไหล และเสมหะลงคอ จะค่อยๆ ดีขึ้น โดยผู้ป่วยจะสังเกตได้ชัดเจนหลังทำ RF ประมาณ 4-6 สัปดาห์ สามารถทำซ้ำอีกได้หากผลการรักษายังไม่เป็นที่น่าพอใจ

โปรแกรมและแพ็คเกจ

เมื่อไรควรผ่าตัดต่อมทอนซิล Tonsillectomy

Tonsillectomy

การผ่าตัดต่อมทอนซิล
ต่อมทอนซิลอักเสบ
เป็นภาวะติดเชื้อในช่องคอทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอ กลืนเจ็บ กลืนลำบาก มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย สร้างความรำคาญและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ บางคนที่มีต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรังก็จำเป็นต้องผ่าตัดออก เด็กมีแนวโน้มที่จะต้องผ่าตัดต่อมทอนซิลมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของทอนซิลทำงานมากที่สุดในช่วงก่อนเข้าวัยวัยเจริญพันธุ์ การผ่าตัดต่อมทอนซิลอาจทำไปพร้อมกับการตัดต่อมอะดินอยด์ในผู้ป่วยเด็ก แต่ทั้งนี้ผู้ใหญ่ที่มีการอักเสบเรื้อรังอยู่บ่อยครั้งก็จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเช่นกัน
เมื่อไหร่ที่มีอาการตามนี้ การผ่าตัดทอนซิล คือ ทางออกที่ดีที่สุด
  • ต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรังเป็นๆหายๆ
  • ต่อมทอนซิลอักเสบรุนแรง เกิดฝีรอบ ๆ ต่อมทอนซิล
  • สงสัยเนื้องอกที่ต่อมทอนซิล
  • ต่อมทอนซิลมีขนาดโตมาก จนอุดกั้นทางเดินหายใจ มีอาการนอนกรน
  • มีก้อนนิ่วที่ต่อมทอนซิล ทำให้มีกลิ่นปาก
การผ่าตัดทอนซิล (Tonsillectomy)
การผ่าตัดทอนซิล ทำโดยศัลยแพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก โดยทำการผ่าตัดภายใต้การดมยาสลบ แพทย์ผ่าตัดจะทำการใส่เครื่องมือเล็ก ๆ เพื่ออ้าปากออก และใช้เครื่องจี้ไฟฟ้า หรือใช้วิธีคว้านเอาต่อมทอนซิลออกทั้งหมด โดยจะไม่มีแผล
  • การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 30 นาที
  • ผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล 1 คืน เพื่อดูอาการ
  • หลังผ่าตัดแนะนำให้ทานอาหารอ่อน ๆ เป็นเวลา 2-3 วันแรก
  • ในช่องคอจะพบมีรอยแผลสีขาว ๆ บริเวณต่อมทอนซิลที่ตัดออกไป ซึ่งเป็นภาวะปกติ รอยนี้จะหายไปได้เองภายในระยะเวลา 5-10 วัน
  • ระยะฟื้นตัวประมาณ 1-2 สัปดาห์

โปรแกรมและแพ็คเกจ

อันตรายจากต่อมทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis)

อันตรายจากต่อมทอนซิลอักเสบ

Tonsillitis
ต่อมทอนซิลคือเนื้อเยื่อในลำคอ 2 ข้างบริเวณโคนลิ้น ทำหน้าที่ดักจับและกรองเชื้อโรค เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามไปในร่างกายมากขึ้น นอกจากต่อมทอนซิลแล้วบริเวณผนังลำคอด้านหลังเนื้อเยื่อที่โคนลิ้นและต่อมอะดินอยด์ (Adenoid) ซึ่งอยู่บริเวณคอหลังจมูกก็เป็นตัวช่วยกรองเชื้อโรคเช่นกัน สาเหตุของต่อมทอนซิลอักเสบเกิดจากภาวะที่ร่างกายอ่อนแอหรือติดเชื้อจากผู้อื่นที่เจ็บป่วย เชื้อโรคในช่องปากและคอจะมีปริมาณมากขึ้น ต่อมทอนซิลจะทำงานมากขึ้นเพื่อกำจัดเชื้อโรคเหล่านี้ ทำให้ทอนซิลแดง บวม และโตขึ้น ซึ่งเรียกว่า ต่อมทอนซิลอักเสบ
อาการต่อมทอนซิลอักเสบ
คล้ายโรคคออักเสบทั่วไป คือเจ็บคอร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ไข้ ไอ เสมหะหรือมีน้ำมูก โดยอาการเจ็บคอจะเจ็บมากบริเวณด้านข้างของช่องปากทั้งสองข้าง เมื่ออ้าปากจะพบว่า ทอนซิลมีลักษณะบวมแดงและโตกว่าปกติ ในกรณีที่เป็นเชื้อรุนแรงอาจมีจุดหนองที่ทอนซิลและต่อมน้ำเหลืองข้างลำคอโตด้วย
อันตรายจากต่อมทอนซิลอักเสบ
เชื้อที่เป็นสาเหตุของทอนซิลอักเสบบางชนิดเป็นเชื้อที่รุนแรงอาจทำให้เกิดหนองรอบๆ ทอนซิลถ้าโรคลุกลาม อาจเกิดการอุดตันของทางเดินหายใจได้ บางชนิดการอักเสบจะมีผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและทำให้ไต หรือหัวใจผิดปกติได้ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียชนิดสเตรปโตคอคคัส (Streptococcal Tonsillitis)
ผู้ป่วยที่มีทอนซิลอักเสบบ่อย ๆ ขนาดของทอนซิลจะโต ซึ่งอาจทำให้ทางเดินหายใจแคบลง เกิดภาวะทางเดินหายใจอุดตันได้ สังเกตได้จากขณะนอนหลับผู้ป่วยมักจะกรนดังหรือสะดุ้งตื่นบ่อย ๆ โดยเฉพาะในเด็ก
การรักษาต่อมทอนซิลอักเสบ
ถ้าอาการอักเสบไม่มาก เจ็บคอเล็กน้อย ไม่มีไข้ ผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยา โดยให้พักผ่อนมากขึ้น ดื่มน้ำ รับประทานอาหารให้เพียงพอ ถ้าร่างกายสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ภายใน 2-3 วัน อาการจะดีขึ้น แต่ถ้ามีอาการมาก เช่น มีไข้สูง เจ็บคอมาก ทานอาหารได้น้อย ควรมาพบแพทย์ หากตรวจพบอาการอักเสบค่อนข้างรุนแรง มักจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับยาอื่น ๆ ซึ่งอาการมักจะดีขึ้นในช่วง 3-7 วัน
จำเป็นต้องตัดทอนซิลออกหรือไม่
ต่อมทอนซิลมีหน้าที่กรองเชื้อโรคไม่ให้ลุกลามเข้าไปในร่างกายดังที่กล่าวแล้ว โดยทั่วไปจะไม่แนะนำให้ตัดทิ้ง แต่หากในกรณีที่มีการอักเสบรุนแรงหรืออันตรายจากทอนซิลอักเสบ ผู้ป่วยที่ควรได้รับการตัดต่อมทอนซิลออก ได้แก่
  • ต่อมทอนซิลที่มีขนาดใหญ่ทำให้เกิดทางเดินหายใจอุดตัน นอนกรน
  • เคยมีภาวะหนองข้างทอนซิล (Peritonsillar abscess) ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา
  • ต่อมทอนซิลโตกว่าปกติสงสัยว่าอาจเป็นเนื้องอกมะเร็ง
พิจารณาให้ผ่าตัดทอนซิลออกในกรณีนี้ เช่น มีอาการอักเสบบ่อยมากกว่า 6 ครั้งใน 1 ปีหรือ 3-5 ครั้งใน 2 ปีติดต่อกัน, มีกลิ่นปากจากทอนซิลอักเสบเรื้อรังหรือมีเศษอาหารอุดตันเข้าไปในทอนซิล, ทอนซิลอักเสบชนิดสเตรปโตคอคคัสและทอนซิลที่โตข้างเดียวที่อาจเป็นมะเร็งได้
อายุเท่าไรที่สามารถตัดต่อมทอนซิลได้
โดยทั่วไปไม่จำกัดอายุในการผ่าตัดรวมถึงเด็กเล็ก ถ้ามีข้อบ่งชี้ชัดเจน และไม่มีข้อห้ามในการผ่าตัด เช่น มีปัญหาเลือดหยุดยาก โลหิตจาง ไม่สามารถใช้ยาสลบได้หรือมีโรคประจำตัวที่รุนแรง
การผ่าตัดทอนซิลมีวิธีการอย่างไร
การผ่าตัดทอนซิลต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางโสต ศอ นาสิก โดยใช้เครื่องมือพิเศษตัดทอนซิลออกทางปาก ไม่มีแผลผ่าตัดให้เห็นด้านนอก และมักผ่าตัดโดยการดมยาสลบ
การผ่าตัดจะใช้กรรไกร มีด และเครื่องจี้ให้เลือดหยุดไหล ในปัจจุบันมีวิทยาการใหม่ ๆ ที่อาจลดความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดลงได้กว่าวิธีการเดิม เช่น ใช้คลื่นวิทยุหรือเลเซอร์ช่วยในการผ่าตัด

อันตรายจากการผ่าตัดทอนซิล
การผ่าตัดทอนซิลเป็นการผ่าตัดที่มีความปลอดภัยสูง ผู้ป่วยอาจมีปัญหาเลือดออกหลังการผ่าตัด ปวดบริเวณแผลทำให้กลืนลำบากหรืออาจเกิดอาการข้างเคียงจากการดมยาสลบ ดังนั้นจึงต้องสังเกตอาการผู้ป่วยในโรงพยาบาล 1 วันหลังจากการผ่าตัด จนแน่ใจว่าปลอดภัยแพทย์จึงอนุญาตให้กลับไปพักผ่อนที่บ้านได้
ผลข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ไข้ ภาวะขาดน้ำ น้ำหนักลด เสียงเปลี่ยน ส่วนอันตรายถึงแก่ชีวิต จากภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ มีโอกาสเกิดน้อยมาก
หลังผ่าตัดทอนซิลออก ทำให้เกิดคออักเสบบ่อยขึ้นหรือไม่
ถึงแม้ทอนซิลจะถูกตัดออก และตัวกรองเชื้อโรคลดลง แต่เนื้อเยื่อที่โคนลิ้นและผนังลำคอยังสามารถกรองเชื้อโรคแทนต่อมทอนซิลได้เพียงพอ ดังนั้นหลังการผ่าตัด ถ้าผู้ป่วยดูแลสุขภาพได้ดี ความถี่ของคออักเสบจะเกิดไม่บ่อยขึ้น และมีแนวโน้มที่จะน้อยลง
การดูแลหลังการผ่าตัดทอนซิล
ในวันแรกหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารอ่อนและเย็น เช่น น้ำหวาน ไอศกรีม โยเกิร์ต เยลลี่ เพื่อป้องกันไม่ให้แผลบวมและมีเลือดออก ในวันถัดไปจะปรับอาหารให้นุ่ม แข็งขึ้น อุ่นขึ้น ประมาณ 2-5 วันขึ้นอยู่กับอาการปวดของผู้ป่วย การรับประทานอาหารปกติและร้อนควรแน่ใจว่าแผลไม่มีปัญหาแล้วจึงจะเริ่มรับประทานได้ ซึ่งมักใช้เวลา 5-7 วัน หลังออกจากโรงพยาบาล 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจซ้ำอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าแผลหายดีและไม่มีเลือดออกอีก
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดต่อมทอนซิลอักเสบ
เช่นเดียวกับหลักการดูแลสุขภาพทั่วๆไป และป้องกันการเกิดหวัด โดยควรพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดื่มน้ำมากๆ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

โปรแกรมและแพ็คเกจ

Q&A “รู้เรา เอาชนะภูมิแพ้”

Q&A “รู้เรา เอาชนะภูมิแพ้”

allergry-test-skin
อาการจามบ่อยๆ น้ำมูกไหล ไอเรื้อรัง คันคอ เจ็บคอ คันๆ เกาๆ มีผื่นแดงขึ้นตามตัวหรือบริเวณต่างๆ เรื่องใกล้ตัวที่ควรใส่ใจ หากปล่อยให้เรื้อรังและอาการรุนแรงขึ้น อาจทำให้เสียบุคลิกภาพ เสียสุขภาพจิต เสียสมาธิ และส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันได้ไม่มากก็น้อย รู้และเข้าใจโรคภูมิแพ้ เพื่อการรักษาและดูแลอย่างถูกต้อง
ถาม ที่เรียกว่าโรคภูมิแพ้คืออย่างไร เกิดจากสาเหตุอะไร
ตอบ โรคภูมิแพ้เป็นภาวะผิดปรกติที่เกิดจากร่างกายมีความไวต่อสารบางอย่างในสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่นในบ้าน เชื้อรา ละอองเกสรดอกไม้ เกสรหญ้า ซึ่งปะปนอยู่ในอากาศ ทำให้มีอาการหลังจากสัมผัสสารที่ก่อภูมิแพ้เหล่านั้น มักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ไม่ขาด และถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
ถาม โรคภูมิแพ้จะทำให้เกิดอาการกับอวัยวะส่วนใดของร่างกายบ้าง
ตอบ เกิดอาการได้ทุกระบบ ถ้าเกิดกับระบบหายใจส่วนบนจะทำให้เกิดมีอาการที่ชาวบ้านเรียกว่าหวัดเรื้อรัง ถ้าเกิดกับระบบหายใจส่วนล่าง จะทำให้เกิดโรคที่เรียกว่า โรคหอบหืด ถ้าเกิดกับผิวหนังจะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่าลมพิษ นอกจากนั้นโรคภูมิแพ้ยังเกิดขึ้นยังเกิดขึ้นกับส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้อีก เช่น ที่ตา อาจทำให้เกิดตาแดง ตามัว น้ำตาไหล หรือในระบบทางเดินอาหาร ทำให้ท้องเดิน ท้องเสียบ่อย ท้องอืด
ถาม สถิติการเกิดโรคภูมิแพ้ มีคนเป็นโรคภูมิแพ้กันมากน้อยเพียงใด
ตอบ โรคภูมิแพ้ใดแต่ละส่วนของโลกมีอุบัติการณ์ที่เกิดแตกต่างกันมากน้อยแล้วแต่สิ่งแวดล้อมและกรรมพันธุ์สำหรับคนไทยนั้นจากการสำรวจขององค์การอนามัยโลกเมื่อปี พ.ศ. 2525 พบว่า คนไทยมีอุบัติการณ์เป็นโรคภูมิแพ้ประมาณ 15-20%
ถาม อาการของโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยจะจะเกิดกับส่วนใดของร่างกาย
ตอบ ที่จมูก พบประมาณ 42% ของโรคภูมิแพ้ทั้งหมด รองลงมาคือ ระบบหายใจส่วนล่าง (โรคหอบหืด) พบประมาณ 29 % นอกจากนั้นเป็นโรคภูมิแพ้ที่เกิดในส่วนอื่นๆ
ถาม โรคภูมิแพ้ทางจมูกแบ่งได้เป็นกี่ชนิด ได้แก่อะไรบ้าง ส่วนใหญ่ที่พบเป็นประเภทใด
ตอบ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดที่เป็นตลอดปี กับชนิดที่เป็นตามฤดู สำหรับในบ้านเราพบผู้ป่วย ส่วนใหญ่มีอาการหวัดเรื้อรังตลอดทั้งปี พบได้ประมาณ 67% ของผู้ป่วยภูมิแพ้ทางจมูก
ถาม สาเหตุของอาการแพ้ทางหู คอ จมูก เกิดจากอะไร
ตอบ เกิดจากการที่เราหายใจเอาสารก่อภูมิแพ้เข้าไป ได้แก่ ฝุ่น เชื้อรา เกสรดอกไม้ เกสรหญ้า ซึ่งปะปนอยู่ในอากาศ สิ่งเหล่านี้เมื่อไปสัมผัสกับเยื่อบุจมูกทำให้เกิดมีอาการคลั่งของสารต่างๆ ออกมา ที่สำคัญคือ ฮึสตามีน ซึ่งทำให้เกิดอาการน้ำมูกไหลและแน่นจมูก เนื่องจากมีอาการบวมของเยื่อบุจมูก
ถาม สภาพแวดล้อมมีความสำคัญอย่างไรที่จะทำให้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ทางหู คอ จมูก มีอาการมากขึ้น
ตอบ การเปลี่ยนแปลงลักษณะของอากาศ เช่น อากาศเย็นและอับชื้นจะทำให้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้บางกลุ่มมีอาการมากขึ้น นอกจากนั้น ผู้ป่วยที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีควันบุหรี่และควันจากท่อไอเสียรถยนต์ จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการของโรคภูมิแพ้มากขึ้น
ถาม อาการเฉพาะของโรคภูมิแพ้ทางจมูกมีอะไรบ้าง
ตอบ นอกจากจะทำให้มีอาการทางจมูก เช่น จามบ่อย ๆ น้ำมูกไหล ยังทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง คันคอ เจ็บคอ และหูอื้อได้อีกด้วย
ถาม โรคพวกนี้จะถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์หรือไม่
ตอบ ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ จากการศึกษาพบว่า ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคภูมิแพ้ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ 50 % ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้ลูกที่เกิดมาจะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ 75 %
ถาม อาการที่คล้ายกับหวัดจะติดต่อไปยังผู้อื่นได้หรือไม่
ตอบ โรคภูมิแพ้นี้มีคนให้คำจำกัดความไว้ว่าเป็นโรคส่วนตัว ที่เรียกว่าเป็นโรคส่วนตัว หมายถึง ไม่ติดต่อโดยการอยู่ร่วมกัน ไม่ถ่ายทอดจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคลหนึ่งได้
ถาม โรคแทรกซ้อนที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยภูมิแพ้ทางหู คอ จมูก ได้แก่ โรคอะไรบ้าง
ตอบ ที่พบบ่อย คือ เนื้องอกในจมูกที่เรียกว่า ริดสีดวงจมูกอาจมีอาการอักเสบของไซนัสต่างๆ ร่วมด้วยถ้ามีการอุดตันของท่อระบายอากาศของหูชั้นกลางจะทำให้มีอาการหูอื้อได้
ถาม รักษาให้หายขาดได้หรือไม่
ตอบ โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ไม่สามารถจะรักษาให้หายขาดได้ จุดประสงค์ในการรักษาก็เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและป้องกันโรคหรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จากโรงภูมิแพ้
ถาม หลักในการรักษาเป็นอย่างไร
ตอบ มี 4 ขั้นตอนคือ

  1. แนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้
  2. การรักษาทางยา เช่น ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก
  3. การฉีดยาสร้างภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้
  4. ทำการผ่าตัด ในกรณีที่มีโรคหรือภาวะต่างๆ ที่ร่วมก่ออาการด้วยกัน เช่น ริดสีดวงจมูก เป็นต้น
ถาม ข้อแนะนำเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้มีอะไรบ้าง
ตอบ ปัจจุบันการแพทย์ได้เจริญก้าวหน้าอย่างมาก ความทุกทรมานและอันตรายจากโรคภูมิแพ้จะถูกขจัดออกไปได้ถ้าผู้ป่วยและแพทย์ทำความเข้าใจและร่วมมือกันในการรักษา ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาหารือเป็นรายๆไป น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด
หากสงสัยว่ามีอาการทางร่างกาย เช่น จามบ่อยๆ น้ำมูกไหล อาการไอเรื้อรัง คันคอ เจ็บคอ และหูอื้อ ตาแดง ตามัว น้ำตาไหล ผื่นแดง คัน หรือในระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเดิน ท้องเสียบ่อย ท้องอืด ควรมาปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง โรคภูมิแพ้เป็นโรคเรื้อรังอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว การรักษาอย่างถูกวิธีสามารถยกระดับคุณภาพชีวิต และทำให้ผู้ป่วยเข้าร่วมสังคมได้อย่างปกติ

โปรแกรมและแพ็คเกจ

แพคเกจ ทดสอบภูมิแพ้ บนผิวหนัง

รู้และหลีกเลี่ยงสิ่ง […]

การผ่าตัดรักษาต่อมไทรอยด์

การผ่าตัดรักษาต่อมไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) เป็นต่อมขนาดใหญ่ที่สุดในระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย มีรูปร่างคล้ายผีเสื้ออยู่ตรงส่วนหน้าของลำคอ บริเวณใต้ลูกกระเดือกลงมา หน้าที่ของต่อมไทรอยด์คือการหลั่งฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อให้ร่างกายสามารถเผาผลาญพลังงานและส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ในบางครั้งอาจพบก้อนเนื้อเกิดขึ้นบนต่อมไทรอยด์ได้ ก้อนเหล่านี้ส่วนใหญ่มักเป็นเนื้องอกธรรมดาที่ไม่ใช่มะเร็ง แต่มีประมาณ 5% ที่เป็นมะเร็ง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
การวินิจฉัยก้อนที่ต่อมไทรอยด์
มักตรวจพบก้อนที่ต่อมไทรอยด์จากการตรวจร่างกายประจำปีหรือจากการตรวจทางรังสีวินิจฉัยที่ส่งทำจากปัญหาอื่นๆ หลังจากที่แพทย์ตรวจพบก้อนที่ต่อมไทรอยด์ แพทย์จะส่งตรวจเพิ่มเติมดังนี้
โดยส่วนใหญ่โรคไข้ชัก มักมีอาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัวภายใน 24 ชั่วโมงหลังมีไข้สูง ส่วนน้อยที่มีอาการชักก่อนการมีไข้ หรือหลังจากมีไข้แล้ว 24 ชั่วโมง การชักแต่ละครั้งมักเป็นอยู่ไม่กี่วินาที และชักเพียงครั้งเดียวในการเป็นไข้แต่ละครั้ง นอกจากนั้นหลังชักจะมีแขนขาอ่อนแรงตามมา
  1. ตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ เพื่อดูว่าต่อมไทรอยด์ทำงานปกติหรือไม่
  2. ตรวจต่อมไทรอยด์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อให้เห็นภาพของต่อมไทรอยด์ ระบุตำแหน่งและขนาดของก้อน และดูลักษณะของก้อนว่าเป็นก้อนแข็งหรือมีสารน้ำอยู่ภายใน
  3. การใช้เข็มขนาดเล็กเจาะก้อนเพื่อส่งชิ้นเนื้อไปตรวจ
  4.  Thyroid scan เป็นการใช้สารไอโอดีนทึบรังสีเพื่อช่วยระบุว่าก้อนนั้นเป็นเนื้องอกธรรมดาหรือเป็นมะเร็ง จะตรวจเฉพาะผู้ป่วยบางรายเท่านั้น
ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์จะมีได้หลายลักษณะ  สามารถจำแนกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1) ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนปริมาณผิดปกติ แต่อาจจะมีเนื้องอกหรือไม่มีก็ได้ ถ้ามีการสร้างฮอร์โมนผิดปกติ แพทย์จะรักษาด้วยการคุมฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ ซึ่งต้องใช้ยาหรือการกลืนแร่ไอโอดีน เพื่อทำให้ตัวต่อมไทรอยด์กลับมาทำงานปกติ ซึ่งไม่ได้ใช้การผ่าตัดรักษาเป็นหลัก แต่ถ้ารักษาด้วยยาไม่ได้ผลก็อาจจำเป็นต้องผ่าตัด

2) ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนปริมาณปกติ แต่มีเนื้องอกเกิดขึ้น

  • กลุ่มที่เป็นเนื้องอกธรรมดา  กลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดทุกราย แค่ทานยาเสริมฮอร์โมนเข้าไป เนื้องอกก็อาจจะเล็กลงได้ แต่ถ้าเนื้องอกขนาดใหญ่ทานยาแล้วขนาดก้อนไม่ยุบหรือเนื้องอกเบียดทางเดินหายใจ หรือมีปัจจัยเสียงที่จะเป็นมะเร็งมากขึ้น เช่น เคยได้รับรังสีบริเวณคอมาก่อน หรือมีประวัติเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ในครอบครัว  แพทย์จะพิจารณาการรักษาโดยการผ่าตัด
  • กลุ่มที่เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ กลุ่มนี้จำเป็นต้องรับการรักษาโดยการผ่าตัดทันที
การผ่าตัดไทรอยด์
  1. ผ่าตัดไทรอยด์แบบเปิด สามารถผ่าตัดก้อนที่ต่อมไทรอยด์ได้ทุกชนิดโดยเฉพาะมะเร็งต่อมไทรอยด์ การผ่าตัดวิธีนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีแผลผ่าตัดบริเวณกลางลำคอ ทั้งนี้ในการผ่าตัดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะพยายามเปิดแผลผ่าตัดให้เล็กที่สุดตามรอยผิวหนังเพื่อให้เห็นรอยแผลผ่าตัดน้อยที่สุด โดยความยาวแผลผ่าตัดขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนด้วย
  2. ผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้อง ข้อดีคือซ่อนแผลบริเวณกลางลำคอ โดยมีเพียงแผลขนาดเล็กบริเวณรักแร้ แต่มีข้อจำกัดคือผ่าตัดได้ฉพาะก้อนที่ขนาดไม่ใหญ่มาก และค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดสูงกว่าแบบเปิด

ผู้ป่วยที่ผ่าตัดแบบเปิดจะมีแผลที่ผิวหนังบริเวณด้านหน้าลำคอ มีผ้าก๊อซปิดแผล และท่อระบายออกจากแผลเพื่อป้องกันเลือดออกและคั่งอยู่ใต้แผล เมื่อเลือดและของเหลวใต้แผลที่ออกจากท่อระบายน้อยลง แพทย์ก็จะเอาท่อระบายออก  ผู้ป่วยจะได้รับยาที่จำเป็น เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ ยาละลายเสมหะ

ภาวะแทรกซ้อน
    ภาวะแทรกซ้อน ที่อาจเกิดการผ่าตัด ได้แก่ แผลผ่าตัดติดเชื้อ สายเสียงไม่ทำงานทำให้มีเสียงแหบ พบได้ 1-5%  มีเลือดออกใต้แผลผ่าตัดซึ่งอาจทำให้เกิดการอุดกั้นในระบบทางเดินหายใจ แต่ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้พบได้น้อยมาก ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนผู้ป่วยจะกลับบ้านได้หลังผ่าตัดประมาณ 3 วัน แพทย์จะนัดมาดูแผลผ่าตัดและตัดไหม รวมทั้งฟังผลชิ้นเนื้อ ประมาณ 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด

ตัวอย่างแผลผ่าตัดวันที่ 3

ตัวอย่างแผลผ่าตัด 1 เดือน

ตัวอย่างแผลผ่าตัด 1 ปี

ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ร่วมกับวัคซีนป้องกันโควิด-19

คำแนะนำในการฉีด
“วัคซีนไข้หวัดใหญ่”
ร่วมกับ
“วัคซีนป้องกันโควิด-19”


ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้ทั้ง ก่อน ระหว่าง หรือหลัง การฉีดวัคซีน โควิด-19 (COVID-19) ได้โดยการเว้นระยะการฉีดวัคซีนดังนี้

การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ร่วมกับวัคซีนป้องกันโควิด-19
ตามที่กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค และ สปสช. แนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เพื่อลดการป่วยรุนแรงและสร้างภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่ ในช่วงต้นฤดูฝน เนื่องจากเป็นฤดูกาลระบาดในประเทศไทยซึ่งมี 2 ช่วง คือ ช่วงปลายฝน (เดือนกรกฎาคม-กันยายน) และปลายหนาว (เดือนมกราคม-มีนาคม) นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ก่อนที่ จะติดเชื้อโควิด-19 ยังช่วยลดการนอนโรงพยาบาล หรือเข้ารักษาในโรงพยาบาลสั้นกว่าคนที่ไม่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อนการติดเชื้อโควิด-19
ในสถานการณ์ปัจจุบัน เกิดโรคระบาดอีกชนิดหนึ่ง คือ โควิด-19 และวัคซีนป้องกันโรคโควิดได้พัฒนาจนสามารถฉีดได้แล้ว แต่อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังมีความสำคัญ เพื่อแยกอาการป่วยระหว่างไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ที่มีอาการคล้ายกันมาก เช่น ไข้สูง ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ถ่ายเหลว (ยกเว้นจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสที่จำเพาะกับโควิด-19 มากกว่า) และมีความรุนแรงเหมือนกัน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ได้แก่ กลุ่มเสี่ยง ดังนี้
7 กลุ่มเสี่ยงได้แก่
  1. หญิงมีครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
  2. ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจ หืด ไตวาย หลอดเลือดสมอง เบาหวาน ผู้ป่วยมะเร็ง ที่อยู่ในระหว่างการได้รับยา เคมีบำบัด
  3. ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
  4. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
  5. ผู้พิการทางสมอง ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
  6. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ
  7. ผู้ที่มีน้ำหนัก ตั้งแต่ 100 กก. หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กก./ตรม.
การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ร่วมกับวัคซีนป้องกันโควิด-19
สามารถทำได้ทั้ง ก่อน ระหว่าง หรือหลัง การฉีดวัคซีน โควิด-19 (COVID-19) ได้โดยการเว้นระยะการฉีดวัคซีนดังนี้
ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ก่อน ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด - 19
ผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ โดยให้เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เดือน จึงค่อยฉีดวัคซีนโควิด-19

ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หลัง วัคซีนป้องกันโควิด-19 ซิโนแวค (Sinovac)
ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค (Sinovac) เข็มที่ 1 แล้ว ให้ฉีดจนครบทั้ง 2 เข็มก่อนโดยระยะการฉีดห่างกัน 2-4 สัปดาห์ จึงรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลได้ โดยให้ห่างจากวัคซีนเข็มที่ 2 อย่างน้อย 1 เดือน

ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ระหว่าง วัคซีนป้องกันโควิด-19 แอสตราเซเนกา (AstraZeneca)
ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) เข็มที่ 1 และอยู่ระหว่างรอกำหนดฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 สามารถรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ โดยให้ห่างจากวัคซีนเข็มที่ 1 อย่างน้อย 1 เดือน และหลังจากนั้นให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ตามกำหนดนัด โดยให้มีระยะห่างจากการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างน้อย 1 เดือน
วัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) เข็มที่ 2 จะมีกำหนดฉีดหลังจากฉีดเข็มที่แรก 10 - 12 สัปดาห์

ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หลัง วัคซีนป้องกันโควิด-19 แอสตราเซเนกา (AstraZeneca)
ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ครบทั้ง 2 เข็มแล้ว โดยระยะการฉีดระหว่างเข็มที่ 1 และ 2 ห่างกันประมาณ 10-12 สัปดาห์ สามารถเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้หลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แล้วอย่างน้อย 1 เดือน

กรดไหลย้อน

กรดไหลย้อน gastroesophageal reflux disease: GERD

โรคกรดไหลย้อนขึ้นคอและกล่องเสียง หรือเรียกสั้นๆว่า โรคกรดไหลย้อน เกิดจากการไหลย้อนกลับของกรดหรือน้ำย่อยในกระเพะอาหารขึ้นมาเหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดอาการระคายเคืองของกรดต่อเยื่อบุหลอดอาหาร ลำคอ และกล่องเสียง
การวินิจฉัย

จากประวัติ อาการ และการตรวจร่างกายทาง หู คอ จมูก แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาลดกรดและสังเกตการตอบสนองของโรคต่อยาใน ผู้ป่วยบางราย แพทย์จะพิจารณาส่องกล้องทางจมูกถึงกล่องเสียงเพื่อดูว่ามีความผิดปกติบริเวณกล่องเสียงและลำคอหรือไม่
อาการของโรคกรดไหลย้อน

  1. อาการทางคอหอยและหลอดอาหาร
    • รู้สึกคล้ายว่ามีก้อนอยู่ในคอ หรือแน่นคอ
    • มีเสมหะอยู่ในลำคอ หรือระคายคอตลอดเวลา
    • เจ็บคอ แสบคอ แสบปาก แสบลิ้นเรื้อรัง โดยเฉพาะในตอนเช้า
    • รู้สึกเหมือนมีรสขมของน้ำดี รสเปรี้ยวของกรดในคอ หรือปาก
    • เรอบ่อย คลื่นไส้ คล้ายมีอาหาร หรือน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาในอก หรือ คอ
    • อาการปวดแสบร้อนที่หน้าอกและลิ้นปี่
    • รู้สึกจุกแน่นในหน้าอก คล้ายอาหารไม่ย่อย มีน้ำลายไหลมากผิดปกติ มีกลิ่นปาก เสียวฟัน หรือมีฟันผุได้
  2. อาการทางกล่องเสียงและหลอดลม
    • เสียงแหบเรื้อรัง หรือแหบเฉพาะตอนเช้า หรือมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม
    • ไอเรื้อรัง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารหรือขณะนอน
    • ไอ สำลักน้ำลาย หรือ หายใจไม่ออกในเวลากลางคืน กระแอมไอบ่อย
การรักษา

  1. การปรับเปลี่ยนนิสัย และการดำเนินชีวิตประจำวัน
    • วิธีนี้สำคัญที่สุดในการทำให้ผู้ป่วยมีอาการน้อยลงป้องกันไม่ให้เกิดอาการ และลดการกลับมาเป็นซ้ำ โดยลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหารและป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นไปที่คอ และกล่องเสียงมากขึ้น การรักษาโดยวิธีนี้ควรปฏิบัติไปตลอดชีวิต เพราะเป็นการรักษาที่ต้นเหตุ แม้ว่าจะมีอาการดีขึ้นแล้ว หรือหายดีแล้ว โดยไม่ต้องรับประทานยา
  2. การรับประทานยา
    • เพื่อลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหารและหรือเพื่อการเคลื่อนตัวของระบบทางเดินอาหารในการกำจัดกรดปัจจุบันยาลดกรดกลุ่ม ()เป็นยาที่สามารถยับยั้งการหลั่งกรดได้ดี เห็นผลการรักษาเร็ว การรักษาโรคกรดไหลย้อน ควรรับประทานยาให้สม่ำเสมอตามแพทย์สั่งไม่ควรลดขนาดของยา หรือหยุดยาเอง นอกจากแพทย์แนะนำและควรไปตามที่แพทย์นัดสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ในบางรายอาจใช้เวลานานประมาณ 1–3 เดือนอาการต่างๆจึงจะดีขึ้น สามารถปรับเปลี่ยนนิสัยและการดำเนินชีวิตประจำวันได้รับประทานยาตอเนื่อง 2–3 เดือน แพทย์จะปรับขนาดยาลงทีละน้อย พบว่าประมาณ 90 % สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา
  3. การผ่าตัด
  4. ส่วนน้อยที่รักษาด้วยวิธีนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นที่คอและกล่องเสียง การรักษาวิธีนี้จะทำในกรณี
    • อาการรุนแรง ซึ่งให้การรักษาโดยยาอย่างเต็มที่แร้วไม่ดีขึ้น
    • ไม่สามารถรับประทานยาที่ใช้ในการรักษาภาวะนี้ได้
    • ในรายที่ดีขึ้นหลังจากการใช้ยาแต่ไม่ต้องการที่รับประทานยาต่อ
    • รายที่มีอาการกลับเป็นซ้ำบ่อยๆหลังหยุดยา
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารก่อนนอน ภายในเวลา 3 ช.ม. การนอนราบหรือการออกกำลังกายหลังจากทานอาหารทันที
  • รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารมัน ทอด อาหารย่อยยาก พืชผักบางชนิด เช่น หัวหอม มะเขือเทศ ช็อกโกแลต ถั่ว หรืออาหารที่มีรสจัด เช่น เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด เครื่องดื่มบางประเภท เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง แอลกอฮอล์
  • พยายามหลีกเลี่ยงความเครียด
  • เลิกสูบบุหรี่
  • ถ้าน้ำหนักเกินควรลดน้ำหนัก
  • หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่แน่นเกินไปโดยเฉพาะบริเวณรอบเอว
  • เวลานอน ควรหมุนหัวเตียงให้สูงขึ้น ประมาณ 6 นิ้ว จากพื้นราบโดยใช้วัสดุรองขาเตียง เช่น ไม้ อิฐอย่ายกศีรษะโดยการใช้หมอนรองศีรษะ เพราะจะทำให้ความดันช่องท้องเพิ่มขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเองเวลาป่วยเนื่องจากยาบางชนิดจะทำให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดเพิ่มมากขึ้น หรือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนลางคลายตัวมากขึ้น
  • ไม่ควรรับประทานอาหารจนอิ่มเกินไปในแต่ละมื้อ

การผ่าตัดโพรงจมูกและไซนัสด้วยกล้องเอ็นโดสโคป

การผ่าตัดโพรงจมูกและไซนัสด้วยกล้องเอ็นโดสโคป

การผ่าตัดโพรงจมูกและไซนัสด้วยกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscopic Sinus Surgery: ESS)

คือ การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคต่างๆในโพรงจมูกและไซนัส ได้แก่โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง (chronic rhinosinusitis), โรคริดสีดวงจมูก (nasal polyp), โรคผนังกั้นจมูกคด (deviated nasal septum), โรคเนื้องอกของโพรงจมูกและไซนัส (tumor of nose and paranasal sinus)  รวมทั้งยังสามารถรักษาโรคของอวัยวะใกล้เคียง เช่น ภาวะน้ำในสมองรั่วเข้ามาในโพรงจมูก (cerebrospinal fluid rhinorrhea), ถุงน้ำตาอักเสบเรื้อรัง (chronic dacryocystitis), โรคที่ต้องผ่าตัด เพื่อลดความดันในกระบอกตา เช่นโรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ (thyroid orbitopathy) และโรคเนื้องอกของต่อมใต้สมอง (pituitary adenoma) ด้วยกล้องเอ็นโดสโคป ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพได้โดยตรง และชัดเจน  โดยเฉพาะในบริเวณที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทำให้การประเมินพยาธิสภาพ และการรักษาโดยการผ่าตัดภายในโพรงจมูกและไซนัสเป็นไปได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น
ในปัจจุบันการผ่าตัดโดยวิธีนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าได้ผลดีสำหรับโรคดังกล่าว ทั้งนี้ขึ้นกับประสบการณ์ และความชำนาญของแพทย์ผู้ผ่าตัด รวมทั้งการดูแลหลังผ่าตัดที่ดี การผ่าตัดโดยวิธีนี้ใช้กล้องเอนโดสโคป ซึ่งเป็นกล้องขยายที่มีขนาดเล็ก ดูบริเวณรอยโรคในโพรงจมูกและไซนัส และใช้เครื่องมือผ่าตัดที่ถูกออกแบบมาเฉพาะเพื่อการผ่าตัดนี้  แพทย์ผู้ผ่าตัดจึงเห็นบริเวณผ่าตัดได้ชัดเจนกว่าการผ่าตัดด้วยตาเปล่า เนื่องจากเป็นการผ่าตัดผ่านรูจมูก โดยทั่วไป จึงไม่มีแผลผ่าตัดที่ผิวหนัง แต่หากแพทย์ต้องดัดแปลงการผ่าตัดเพื่อผู้ป่วยเฉพาะราย อาจมีแผลผ่าตัดที่ผิวหนังร่วมด้วย ซึ่งแพทย์จะแจ้งให้ผู้ป่วยทราบเป็นรายๆ
ขั้นตอนการผ่าตัดโพรงจมูกและไซนัสด้วยกล้องเอ็นโดสโคป

เมื่อแพทย์พิจารณาว่าผู้ป่วยสมควรได้รับการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ แพทย์จะปรึกษากับผู้ป่วยว่าจะทำผ่าตัดโดยวิธีดมยาสลบ หรือฉีดยาชาเฉพาะที่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และความสมัครใจของผู้ป่วย   ในกรณีที่ดมยาสลบ ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเพิ่มเติม เช่น การเจาะเลือดตรวจ, ตรวจปัสสาวะ, ถ่ายภาพรังสีทรวงอก, ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ  เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยมีโอกาสเสี่ยงต่อการดมยาสลบน้อยที่สุด  แพทย์จะนัดให้ผู้ป่วยมาอยู่โรงพยาบาลอย่างน้อย 1 วันก่อนผ่าตัด เพื่อเตรียมความพร้อม  โดยทั่วไปการผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 1 – 3 ชั่วโมงซึ่งขึ้นกับชนิด และความรุนแรงของโรค  หลังจากผ่าตัดเสร็จ แพทย์จะใส่วัสดุห้ามเลือดไว้ในโพรงจมูก ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยต้องหายใจทางปาก     หลังผ่าตัด 24-48 ชั่วโมง แพทย์จะเอาวัสดุห้ามเลือดออก ซึ่งถ้าเอาออกได้หมด ไม่มีเลือดออกมากและผู้ป่วยแข็งแรงดีแล้ว ผู้ป่วยอาจกลับบ้านได้ในวันนั้น   แต่หากผู้ป่วยยังไม่แข็งแรงดี  มีปัญหาเลือดออกมาก แพทย์อาจให้ผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาล เพื่อเฝ้าดูอาการต่ออีก 1 วัน  โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะต้องนอนอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 4 วัน (3 คืน)  บางกรณีหากเลือดออกมาก ผู้ป่วยอาจได้รับการให้เลือด หรือใส่วัสดุห้ามเลือดเข้าไปในโพรงจมูกเพิ่มอีก หรือหากมีภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด อาจทำให้ผู้ป่วยต้องอยู่โรงพยาบาลนานขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัด

เนื่องจากโพรงจมูกและไซนัสอยู่ใกล้กับอวัยวะสำคัญเช่น ตา สมอง การผ่าตัดจึงอาจเกิดอันตรายกับอวัยวะใกล้เคียงได้ ทั้งนี้ขึ้นกับประสบการณ์และความชำนาญของแพทย์ ผู้ป่วยจึงควรทราบภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการรับการผ่าตัด หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์ผู้ทำผ่าตัดให้เข้าใจก่อนรับการผ่าตัด  ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่
  1. การมีเลือดออกใน หรือรอบดวงตา (intraorbital hematoma or periorbital ecchymosis) จะทำให้รอบดวงตาเขียว เหมือนถูกกระแทกที่กระบอกตา  ส่วนใหญ่มักจะค่อย ๆ หายไปเองภายใน 1-2 เดือน  แต่หากเลือดออกมาก จนเป็นก้อนเลือดในกระบอกหรือลูกตา อาจกระทบกระเทือนต่อประสาทตา ทำให้การมองเห็นลดลง แพทย์อาจต้องรีบผ่าตัด เพื่อระบายเอาก้อนเลือดนั้นออก โดยจะมีแผลที่หัวตา
  2. ท่อน้ำตาอุดตัน  (nasolacrimal duct obstruction) เนื่องจากท่อน้ำตาซึ่งช่วยระบายน้ำตาลงสู่โพรงจมูกอยู่ใกล้กับบริเวณที่ทำผ่าตัด จึงอาจเกิดการกระทบกระเทือน หรือบาดเจ็บจนมีการอุดตันได้  ทำให้น้ำตาไหลท้นจากตาอยู่ตลอดเวลา  การอุดตันนี้อาจเป็นเพียงชั่วคราว แล้วค่อย ๆ หายไปเองภายใน 1 – 2 เดือน หรืออาจเป็นถาวร หากมีการกระทบกระเทือน หรือบาดเจ็บมาก  ซึ่งสามารถทำการผ่าตัดเพื่อแก้ไขภายหลังได้
  3. ภาวะน้ำในสมองรั่วเข้ามาในโพรงจมูก(cerebrospinal fluid rhinorrhea) เกิดจากการกระทบกระเทือน หรือบาดเจ็บต่อเพดานจมูก ซึ่งเป็นพื้นของช่องกะโหลกศีรษะส่วนหน้า (skull base) หากเกิดรอยรั่ว จะทำให้น้ำในสมองรั่วลงมาในโพรงจมูก มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อในช่องกระโหลกศีรษะ หากทราบว่าเกิดรอยรั่วขึ้น แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมทันทีในห้องผ่าตัด  แต่หากทราบภายหลัง อาจจะต้องดมยาสลบใหม่ เพื่อผ่าตัดซ่อมแซมอีกครั้ง
ในผู้ป่วยบางราย อาจจะต้องทำการผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะผนังกั้นช่องจมูกคด (septoplasty) ร่วมด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน คืออาการชาที่ริมฝีปากบนบริเวณฟัน 4 ซี่หน้า หากเกิดขึ้น อาการดังกล่าวอาจเป็นเพียงชั่วคราว แล้วค่อย ๆ หายไปเองภายใน 1 – 2 เดือน หรืออาจเป็นถาวร หากมีการกระทบกระเทือน หรือบาดเจ็บมาก  นอกจากนี้อาจเกิดรูทะลุของผนังกั้นช่องจมูก (septal perforation) ซึ่งมองไม่เห็นจากภายนอก และส่วนใหญ่ไม่มีอาการใด ๆ  ส่วนน้อย ผู้ป่วยอาจมีน้ำมูกแห้ง ๆ เกาะบริเวณรูที่ทะลุบ่อย ๆ  อาจมีเลือดกำเดาออกเป็นครั้งคราว และในบางรายอาจได้ยินเสียงลมวิ่งผ่านรูทะลุเวลาหายใจ  หากมีอาการ ก็สามารถทำผ่าตัดเพื่อปิดรูทะลุดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย โดยขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่นประสบการณ์และความชำนาญของแพทย์, ความรุนแรงของโรค
การปฏิบัติตนหลังผ่าตัด

  1. ผู้ป่วยจะมีแผลในโพรงจมูกและไซนัส และ มีวัสดุห้ามเลือดในช่องจมูกหลังรับการรักษา  อาจมีอาการเจ็บจมูกจากแผลผ่าตัดเล็กน้อย  อาจมีน้ำมูก หรือน้ำลายปนเลือดออกมาได้บ้างเล็กน้อย ในช่วงหลังผ่าตัดเสร็จใหม่ ๆ  ในรายที่มีวัสดุห้ามเลือดในโพรงจมูก อาจทำให้ผู้ป่วยต้องหายใจทางปาก  อาจทำให้มีอาการเจ็บคอ  คอแห้งได้  ควรจิบหรือดื่มน้ำบ่อยๆ และกลั้วคอ ทำความสะอาดบ่อยๆ และแปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร  ห้ามดึงวัสดุห้ามเลือดในโพรงจมูกออกเอง เพราะอาจทำให้มีเลือดออกมากได้
  2. ผู้ป่วยอาจจะมีไข้ หรือมีอาการบวม หรือรู้สึกติดๆ ขัดๆ ตึงๆคล้ายมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในโพรงจมูก หรือมีเสียงเปลี่ยนได้ ซึ่งอาการดังกล่าวมักจะหายไปภายใน 1 สัปดาห์
  3. หลังการผ่าตัด 24-48 ชั่วโมงแรก เยื่อบุจมูกอาจบวมมากขึ้น ทำให้มีอาการคัดจมูกมากขึ้นได้  ดังนั้นจึงควรนอนศีรษะสูง โดยใช้หมอนหนุน หรือนอนบนที่นอนที่สามารถปรับความเอียงได้  อมและประคบน้ำแข็งบ่อยๆบริเวณหน้าผากหรือลำคอ ในช่วงสัปดาห์แรก  เพื่อลดอาการบวม และเลือดออกบริเวณที่ทำผ่าตัด
  4. ผู้ป่วยจะได้รับยาต้านจุลชีพ  ยาแก้ปวด ยาลดบวม ยาลดอาการคัน จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล ซึ่งผู้ป่วยควรจะรับประทานยาดังกล่าวให้หมด ไม่ว่าอาการจะดีขึ้นหรือไม่ก็ตาม  ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล  เมื่อจำเป็นได้
  5. แพทย์จะให้ผู้ป่วยพักรักษาตัวที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์  ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ  แต่ควรหลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรงๆ  การแคะจมูก หรือการกระทบกระเทือนบริเวณจมูก  การออกแรงมาก  การเล่นกีฬาที่หักโหม หรือยกของหนัก หลังผ่าตัด ภายใน 24-48 ชั่วโมงแรก  เพราะอาจทำให้มีเลือดออกจากแผลในโพรงจมูกและไซนัสได้ ถ้ามีเลือดออกจากจมูก หรือไหลลงคอ ควรนอนพัก ยกศีรษะสูง  หยอด หรือพ่นยาหยอดจมูกเพื่อห้ามเลือดที่แพทย์สั่งไว้ให้ 3-4 หยด หรือ 3-4 puffs ในโพรงจมูกแต่ละข้าง  นำน้ำแข็งหรือ cold pack มาประคบบริเวณหน้าผากหรือคอ อมน้ำแข็งเพื่อให้เลือดหยุด  การประคบหรืออมน้ำแข็ง  ควรประคบ หรืออมประมาณ 10 นาที แล้วจึงเอาออกประมาณ 10 นาที แล้วค่อยประคบ หรืออมใหม่เป็นเวลา 10 นาที  ทำเช่นนี้สลับกันไปเรื่อยๆ  ถ้าเลือดออกไม่หยุด หรือออกมากผิดปกติ เช่น เป็นถ้วยแก้ว  ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาแพทย์ทันที
  6. ประมาณ 2 วัน  หลังจากที่แพทย์เอาวัสดุห้ามเลือดออกจากโพรงจมูกแล้ว และไม่มีเลือดออกที่ผิดปกติ ผู้ป่วยควรล้างทำความสะอาดโพรงจมูกและแผลผ่าตัดด้วยน้ำเกลือ เพื่อป้องกันการเกิดสะเก็ดแผล ซึ่งเกิดจากน้ำมูกไปเกาะที่แผลบนเยื่อบุจมูกและไซนัส  เพราะสะเก็ดแผลดังกล่าว จะทำให้แผลหายช้า  ควรล้างจมูกวันละ 2 ครั้งอย่างน้อย  ในวันหยุด ควรล้างจมูกเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 3-4 ครั้ง ถ้าล้างจมูก แล้วมีเลือดออกมาก ควรหยุดล้างและปฏิบัติตามข้อ 5
  7. หลังกลับบ้านแล้ว แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาทำความสะอาดในโพรงจมูกที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ประมาณ 3 – 4 ครั้ง และห่างออกเป็นระยะเช่น ทุก 2 สัปดาห์, 1 เดือน, 3 เดือน, 6 เดือน จนกว่าแผลจะหายดี การดูแลหลังผ่าตัดนี้เป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งสำหรับความสำเร็จในการรักษาโดยวิธีผ่าตัดนี้โดยปกติหลังผ่าตัดประมาณ 4 สัปดาห์แผลในโพรงจมูกและไซนัสจะหายเป็นปกติ อาการคัดจมูก คัน จาม น้ำมูกไหล เสมหะลงคอจะดีขึ้นหลังการทำผ่าตัด ประมาณ 2-4 สัปดาห์
เงื่อนไขการเข้ารับบริการ
  1. ผู้เข้ารับบริการสามารถใช้แพ็กเกจได้หลังจากตรวจวินิจฉัยเรียบร้อยแล้ว โดยค่าใช้จ่ายในการวินิจฉัยจัดเป็นค่าใช้จ่ายนอกแพ็กเกจ
  2. แพ็กเกจดังกล่าวไม่สามารถใช้ร่วมกับสิทธิ์และส่วนลดอื่นๆ ได้ เช่น ผู้ถือหุ้น บริษัทคู่สัญญา และบริษัทประกัน
  3. ผู้เข้ารับบริการชำระค่าใช้จ่าย ณ โรงพยาบาล ในวันที่เข้ารับบริการ
  4. โรงพยาบาลขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข โดยมิต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

อาหารที่เป็นเชื้อรา กับโรคภูมิแพ้

อาหารที่เป็นเชื้อรา กับโรคภูมิแพ้

อาหารที่เป็นเชื้อรา กับโรคภูมิแพ้

เชื้อราส่วนใหญ่จะมีปนเปื้อนในอาหารจำพวกหมักดองและมักจะพบเชื้อราในที่อับชื้นซึ้งผู้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยง อาหารที่มีเชื้อรา เช่น
  1. เนยทุกชนิด รวมทั้งนมเปรี้ยว ครีม ชาดำ
  2. เบียร์ ไวน์ เหล้าทุกชนิด
  3. น้ำซีอิ้ว เต้าเจี้ยว กะปิ เต้าหู้ยี้
  4. เห็ดทุกชนิด
  5. น้ำมะเขือเขือเทศกระป๋อง น้ำผลไม้กระป๋อง (ยกเว้นที่คั้นเอง)
  6. ไส้กรอก
  7. น้ำส้มสายชูและอาหารที่เคล้าน้ำส้มสายชู เช่น ซอสมะเขือเทศ น้ำสลัด
  8. ขนมปัง ขนมเค้ก คุกกี้
  9. แตง มะเขือเทศ
  10. ผลไม้แห้ง
  11. ของหมักดองทุกชนิด
ท่านที่ได้รับการทดสอบภูมิแพ้อยู่ในขณะนี้ สิ่งที่เราทำการทดสอบให้ท่านคือ สิ่งที่ปะปนอยู่ในอากาศ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ เชื้อรา ขนของสัตว์เลี้ยง เช่น แมว นก เป็ด ไก่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ยากต่อการหลีกเลี่ยง ทำให้ท่านเข้าใจว่า "แพ้อากาศ"
อาการของผู้ป่วยภูมิแพ้

การหลีกเลี่ยงต่อสิ่งที่ทำให้แพ้ ตามปกติแล้วการหลีกเลี่ยงต่อสิ่งที่ทำให้ท่านแพ้ที่ผ่านระบบหายใจ เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก มักจะทำได้ไม่สมบูรณ์เด็ดขาดเหมือนกรณีที่แพ้อาหาร การหลีกเลี่ยงอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้เป็นสิ่งที่จำเป็น ถ้าท่านสามารถปฏิบัติได้ อาการต่างๆ เกี่ยวกับโรคที่ท่านเป็นอยู่จะดีขึ้น ซึ่งเป็นผลดีกับตัวท่านเอง ในแง่นี้อาจจะไม่ต้องมารักษาเลย ทั้งเป็นการทุ่นเวลาและทรัพย์ของท่านเองด้วย ในบางครั้งท่านหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้แล้วยังมีอาการเป็นครั้งคราว หรือบางฤดูกาลท่านอาจจะต้องรับประทานยาช่วยเป็นครั้งคราว อย่าลืมว่าการหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้เป็นวิธีที่ดีที่สุด ท่านอาจจะปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเต็มที่ตามคำแนะนำไม่ได้ เพราะว่าสิ่งที่ท่านทำนั้นเกี่ยวกับอาชีพของท่านหรือเป็นสิ่งที่ท่านรัก ชอบ อาการเหล่านี้ยังคงรบกวนท่านอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ท่านจึงควรมารับการทดสอบภูมิแพ้ เพื่อที่จะให้ท่านได้รับการฉีดยาเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน การฉีดยาจำเป็นอาจจะทำให้ร่างกายหายขาดไม่เป็นอีกเลย เพราะว่าท่านไม่เป็นโรคภูมิแพ้ของอย่างหนึ่งอย่างใดเพียงอย่างเดียวแต่ท่านจะแพ้หลายๆ อย่าง ยาที่ฉีดให้ท่านนั้น แพทย์ได้เลือกเฉพาะสิ่งที่ท่านไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยตนเอง ท่านที่เป็นโรคนี้จำเป็นต้องหมั่นสังเกตอาการของท่าน บางท่านที่แพ้อาจแฝงมาอยู่ในรูปของเครื่องใช้ประจำวันหรืออาหาร โดยไม่มีโอกาสจะทราบได้ ท่านคนเดียวเท่านั้นที่จะช่วยวินิจฉัยการรักษาว่าจะไปในรูปใด
คำแนะนำสำหรับพวกที่แพ้สิ่งที่ปะปนเข้าไปกับลมหายใจ

เช่น ฝุ่น เชื้อรา เกสรดอกไม้
  1. ฝุ่นที่ทำให้ท่านมีอาการ เป็นฝุ่นละอองเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านของท่านเป็นส่วนใหญ่ ฝุ่นที่เกิดจากที่นอน หมอนที่ทำจากนุ่น มุ้ง กองเสื้อผ้า กองหนังสือทิ้งไว้นานๆ พรม ผ้าม่าน ของเหล่านี้เป็นตัวที่ทำให้เกิดฝุ่นอย่างดี
  2. ห้องนอนเป็นห้องที่ท่านได้อยู่ประจำ สมควรที่ท่านจะกำจัดฝุ่นหรือสิ่งที่ท่านแพ้ออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ห้องนอนควรเป็นห้องสำหรับพักผ่อนจริงๆ ควรจะให้ห้องนั้นโล่งสะดวกแก่การทำความสะอาด การทำความสะอาดควรใช้ผ้าเปียกเช็ด หรือใช้เครื่องดูดฝุ่นบริเวณหลังตู้ ใต้เตียงเป็นที่เก็บฝุ่นอย่างดี ควรจะได้รับการดูแลทำความสะอาดบ่อยๆ
  3. ฝุ่นจากที่นอน หมอน ผ้าห่ม เก้าอี้นวมที่ทำด้วยนุ่น หลังจากใช้ไประยะหนึ่งจะสลายตัวออกเป็นฝุ่นละอองเล็กซึ่งทำให้ท่านแพ้ได้ ถ้าหากสามารถเปลี่ยนเป็นยางได้จะสะดวกแก่การทำความสะอาด หรือจะใช้พลาสติกคลุมไว้จะช่วยไม่ให้ฝุ่นละอองฟุ้งออกมาภายนอก
  4. หลังจากทำความสะอาดให้ห้องนอนแล้ว ควรปิดไม่ให้ฝุ่นจากภายนอกมาสะสมใหม่ การใช้เครื่องปรับอากาศหรือพัดลมดูดอากาศจะช่วยให้อากาศถ่ายเทดีขึ้น ช่วยกำจัดฝุ่น
  5. พยายามทำความสะอาดห้องอื่นๆ ในบ้านท่านด้วย โดยเฉพาะห้องที่ใช้บ่อย ๆ ก็ควรทำความสะอาดเช่นเดียวกับห้องนอน
  6. ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ ไม่ควรทำความสะอาดห้องเอง ไม่ควรอยู่ในบริเวณที่กำลังทำความสะอาดและไม่รื้อของเองเพราะในขณะนั้นฝุ่นมีมากกว่าธรรมดา ถ้าจำเป็นต้องทำควรใช้ผ้าเปียกปิดปากและจมูก เพื่อช่วยกันฝุ่น
  7. ไม่ควรอนุญาตให้สัตว์เลี้ยงทุกชนิดเข้ามาอยู่ในบ้าน เพราะขนสัตว์เลี้ยง เช่น แมว สุนัขจะสะสมเพิ่มปริมาณทำให้เกิดฝุ่น ซึ้งทำให้เกิดภาวะมากขึ้น
ท่านเท่านั้นที่ทราบว่าท่านแพ้อาหารชนิดใด ต้องเป็นตนช่างสังเกตว่ารับประทานอาหารชนิดใดแล้วเกิดอาการแพ้ และท่านต้องไม่ลืมว่าการหลีกเลี่ยงว่าการหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้เป็นการรักษาที่ดีที่สุด

โปรแกรมและแพ็คเกจ

แพคเกจ ทดสอบภูมิแพ้ บนผิวหนัง

รู้และหลีกเลี่ยงสิ่ง […]

โรคหืด

โรคหืด (Asthma)

Asthma
อาการของผู้ป่วยขณะที่จับหืดคือ มีอาการแน่นหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย หายใจดังหวีด มักมีอาการเป็นๆหายๆ หรือในกรณีที่มีอาการมากอาจมีอาการทุกคืน อาการอาจบรรเทาได้ด้วยยาขยายหลอดลม แต่ก็มักควบคุมอาการได้เฉพาะช่วงแรกๆ ต่อมามักต้องใช้ยาบ่อยขึ้นและมากขึ้น บางครั้งโรคหืดอาจแสดงอาการเพียงแต่อาการไอกลางคืน หรือไอเรื้อรังโดยไม่มีเสียงหวีด หรืออาการแน่นหน้าอกก็ได้ ทำให้การวินิจฉัยยากขึ้น บางครั้งก็มีอาการแน่นหน้าอกเฉพาะช่วงออกกำลังกาย แต่ที่มักถูกมองข้ามเกือบเสมอๆ คือ ไม่ได้นึกถึงโรคภูมิแพ้ทางจมูก ซึ่งสามารถพบร่วมกันได้มากกว่า 70-80% ซึ่งการให้การรักษาอาการของโรคหืดอย่างเดียวโดยไม่รักษาโรคภูมิแพ้ทางจมูกด้วยจะทำให้ควบคุมอาการไม่ดีเท่าที่ควร
การวินิจฉัยที่แน่นอนคือ การตรวจวัดสมรรถภาพปอด ซึ่งนอกจากจะช่วยในการวินิจฉัยโรคแล้ว ยังช่วยประเมินความรุนแรงของโรคอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามการตรวจโดยวิธีนี้ทำได้ค่อนข้างยากในผู้ป่วยเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 7 ปี กรณีที่ไม่มีเครื่องทดสอบสมรรถภาพปอด ชนิด Spirometer อาจใช้เครื่องมือชนิดที่เรียกว่า Peak flow meter ซึ่งมีราคาถูกกว่าและมีประโยชน์ในการประเมินอาการของโรคกรณีที่ไม่สามารถตรวจด้วย Spirometer ได้
โรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคแพ้อากาศ (Allergic rhinitis)
อาการของโรคภูมิแพ้ทางจมูกอาจแบ่งได้เป็น 4 ชนิดคือ
  • ชนิดแรกเป็นชนิดที่มีอาการเด่นทางน้ำมูก คือจะมีน้ำมูกใสไหล จาม คันจมูก
  • ชนิดที่สองมีอาการเด่นทางอาการคัดจมูกเป็นหลัก มักไม่มีน้ำมูก หรืออาการจาม
  • ชนิดที่สามจะมีอาการของ 2 ชนิดแรกรวมกัน คือมีทั้งน้ำมูกใส และอาการคัดจมูก
  • ส่วนชนิดสุดท้ายจะมีอาการที่วินิจฉัยยากถ้าผู้ตรวจไม่มีความชำนาญ อาจวินิจฉัยผิดได้ กลุ่มนี้อาจมีอาการ ไอเรื้อรังหรือกระแอม ซึ่งเกิดจากเสมหะไหลหรือซึมลงคอ อาจรู้สึกมีเสมหะติดคอเวลาเช้าได้ บางคนมีอาการปวดหัว/ปวดศีรษะเรื้อรัง นอนกรน หรือถอนหายใจบ่อยๆ ปากแห้ง บางคนมีอาการคันหัวตา โดยไม่มีอาการตาแดง อธิบายว่าเกิดจากการที่มีเยื่อจมูกบวมมากทำให้ท่อน้ำตาที่อยู่ติดๆกันอักเสบ เกิดอาการคันที่หัวตาอย่างมาก
การวินิจฉัยโรคนี้สามารถทำได้จากการซักประวัติทางการแพทย์อย่างละเอียด โดยเฉพาะประวัติโรค หรือมีอาการภูมิแพ้ภายในครอบครัว การสังเกตตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ รวมทั้งสภาพลักษณะการทำงาน สภาพแวดล้อมภายในบ้าน ที่ทำงาน การตรวจร่างกายบางอย่างถ้าพบก็จะมีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรค เช่น การมีขอบตาล่างบวมคล้ำ การตรวจภายในโพรงจมูกจะช่วยบอกถึงความรุนแรงของการอักเสบ และอาจบอกถึงโรคในโพรงจมูกที่มีผลต่อการรักษาโรคภูมิแพ้ได้ เช่น อาจพบการซีด หรือมีสีแดงจัดจากการอักเสบ

โปรแกรมและแพ็คเกจ

โรคจมูกอักเสบเรื้อรัง

โรคภูมิแพ้ หรือโรคจมูกอักเสบเรื้อรัง ถือว่าเป็นโรคที่พบบ่อยโรคหนึ่งเลยทีเดียวสำหรับคนเมือง สาเหตุของโรค เกิดจากเยื่อบุจมูกมีความไวผิดปกติเมื่อสัมผัสกับสิ่งกระตุ้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการของโรคที่สามารถสังเกตได้ เช่น คันจมูก จามติดต่อกันหลายครั้ง มีน้ำมูกใสไหลตลอดเวลา เสมหะไหลลงคอ จมูกไม่ได้กลิ่นหรือได้กลิ่นลดลง หรืออาจมีอาการอื่นๆ เช่น คันตา คันคอ คันหู หรือคันที่เพดานปาก ปวดศีรษะ ปวดหู หูอื้อ เป็นต้น โดยทั่วไปผู้ป่วยมักบรรเทาอาการด้วยการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ร่วมกับการใช้ยารับประทาน การใช้ยาพ่นจมูก และการใช้น้ำเกลือล้างจมูก กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเรื้อรังและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาอย่างเต็มที่แล้วนั้นปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุมาใช้ในการผ่าตัด เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคภูมิแพ้โพรงจมูกอักเสบซึ่งได้ผลลัพธ์ที่ดีหลังการรักษา #โรงพยาบาลบางโพ#ภูมิแพ้#สุขภาพ