เมื่อไรควรผ่าตัดต่อมทอนซิล Tonsillectomy
Tonsillectomy
การผ่าตัดต่อมทอนซิล
ต่อมทอนซิลอักเสบ
เป็นภาวะติดเชื้อในช่องคอทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอ กลืนเจ็บ กลืนลำบาก มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย สร้างความรำคาญและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ บางคนที่มีต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรังก็จำเป็นต้องผ่าตัดออก เด็กมีแนวโน้มที่จะต้องผ่าตัดต่อมทอนซิลมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของทอนซิลทำงานมากที่สุดในช่วงก่อนเข้าวัยวัยเจริญพันธุ์ การผ่าตัดต่อมทอนซิลอาจทำไปพร้อมกับการตัดต่อมอะดินอยด์ในผู้ป่วยเด็ก แต่ทั้งนี้ผู้ใหญ่ที่มีการอักเสบเรื้อรังอยู่บ่อยครั้งก็จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเช่นกัน
เมื่อไหร่ที่มีอาการตามนี้ การผ่าตัดทอนซิล คือ ทางออกที่ดีที่สุด
- ต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรังเป็นๆหายๆ
- ต่อมทอนซิลอักเสบรุนแรง เกิดฝีรอบ ๆ ต่อมทอนซิล
- สงสัยเนื้องอกที่ต่อมทอนซิล
- ต่อมทอนซิลมีขนาดโตมาก จนอุดกั้นทางเดินหายใจ มีอาการนอนกรน
- มีก้อนนิ่วที่ต่อมทอนซิล ทำให้มีกลิ่นปาก
การผ่าตัดทอนซิล (Tonsillectomy)
การผ่าตัดทอนซิล ทำโดยศัลยแพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก โดยทำการผ่าตัดภายใต้การดมยาสลบ แพทย์ผ่าตัดจะทำการใส่เครื่องมือเล็ก ๆ เพื่ออ้าปากออก และใช้เครื่องจี้ไฟฟ้า หรือใช้วิธีคว้านเอาต่อมทอนซิลออกทั้งหมด โดยจะไม่มีแผล
- การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 30 นาที
- ผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล 1 คืน เพื่อดูอาการ
- หลังผ่าตัดแนะนำให้ทานอาหารอ่อน ๆ เป็นเวลา 2-3 วันแรก
- ในช่องคอจะพบมีรอยแผลสีขาว ๆ บริเวณต่อมทอนซิลที่ตัดออกไป ซึ่งเป็นภาวะปกติ รอยนี้จะหายไปได้เองภายในระยะเวลา 5-10 วัน
- ระยะฟื้นตัวประมาณ 1-2 สัปดาห์
ข้อมูลโดย
นพ.เฉลิมพล น้อยเตปิน
แพทย์ประจำคลินิกหู คอ จมูก โรงพยาบาลบางโพ