ภาวะพร่อง ฮอร์โมนเพศชาย

ภาวะพร่อง ฮอร์โมนเพศชาย

LOW TESTOSTERONE
ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย (Hypogonadism) หมายถึง ภาวะที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศชาย หรือ "เทสโทสเตอโรน" ในระดับที่ต่ำกว่าปกติ ซึ่งฮอร์โมนนี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาลักษณะทางเพศชาย การทำงานของอวัยวะเพศ และระบบสืบพันธุ์ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนยังเกี่ยวข้องกับมวลกล้ามเนื้อ ความแข็งแรงของกระดูก และการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง การพร่องฮอร์โมนเพศชายอาจเกิดได้ทั้งในวัยเด็กหรือวัยผู้ใหญ่ ส่งผลต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้กับเพศชายในวัยตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป
ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายแบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่
  1. ภาวะพร่องปฐมภูมิ (Primary hypogonadism): เกิดจากปัญหาที่อัณฑะเอง ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนได้เพียงพอ สาเหตุอาจรวมถึง

    • ความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มอาการไคลน์เฟลเตอร์ (Klinefelter syndrome)
    • อัณฑะบิดตัวหรือบาดเจ็บจากการบาดเจ็บที่ทำให้อัณฑะไม่ทำงานตามปกติ
    • การติดเชื้อในอัณฑะ เช่น คางทูม
    • รังสีรักษาหรือเคมีบำบัด
  2. ภาวะพร่องทุติยภูมิ (Secondary hypogonadism): เกิดจากปัญหาที่ต่อมใต้สมองหรือไฮโปทาลามัส ซึ่งเป็นส่วนที่ ควบคุมการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน สาเหตุอาจรวมถึง

    • เนื้องอกในสมอง
    • การฉายรังสีที่สมอง
    • การได้รับยาบางประเภท เช่น สเตียรอยด์
    • โรคอ้วน
อาการ
อาการของภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายสามารถแตกต่างกันไปตามช่วงอายุที่เริ่มเกิดภาวะนี้:
  • ในวัยเด็ก: อาจทำให้ลักษณะเพศชายไม่พัฒนา เช่น ขนตามตัวน้อย กล้ามเนื้อไม่เจริญเติบโต เสียงไม่เปลี่ยน
  • ในวัยผู้ใหญ่: : อาจมีอาการเช่น ความต้องการทางเพศลดลง หย่อนสมรรถภาพทางเพศ มวลกล้ามเนื้อลดลง การเพิ่มขึ้นของไขมันร่างกาย อารมณ์ไม่คงที่ อ่อนเพลีย ซึมเศร้า อยากอยู่คนเดียว ขาดสมาธิ หมดเรี่ยวแรง อ้วนลงพุง และการทำงานของสมองช้าลง ทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ
ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้ว่านี่คืออาการที่อาจเกิดจากภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย และปล่อยผ่านเลยจนถึงจุดที่ยากจะรักษา เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือ การตระหนักรู้ถึงกลุ่มอาการและปัจจัยเสี่ยงที่จะนำไปสู่ภาวะเหล่านี้
กลุ่มที่มีความเสี่ยง
  • ผู้ชายที่ใช้ชีวิตหนัก พักผ่อนน้อย
  • ผู้มีโรคเรื้องรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง
  • ผู้ที่มีภาวะอ้วนลงพุง (เส้นรอบเอวมากกว่า 36 นิ้ว)
  • ผู้ที่ไม่ค่อยมีเพศสัมพันธ์
ขั้นตอนการเข้ารับการตรวจง่ายนิดเดียว
  1. เริ่มจากการทำแบบสอบถาม เพื่อคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายในเบื้องต้น
  2. แพทย์จะประเมินอาการหากต้องมี การตรวจวัดระดับฮอร์โมนเพศชายด้วยการเจาะเลือดเพื่อการรักษาที่เฉพาะเจาะจงตามอาการสำหรับแต่ละคน
ควรเจาะเลือด | เพื่อตรวจในช่วงเช้า 7:00 - 11:00 น.
การรักษาภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตได้แก่ การงดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การควบคุมการรับประทานอาหารประเภทแป้งและไขมัน และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • การให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาระดับฮอร์โมนเพศชายที่จำเป็นต่อสรีระการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น การคงสภาวะกระดูกกล้ามเนื้อ อารมณ์ ความต้องการทางเพศ และสมรรถภาพทางเพศ โดยเฉพาะความรู้สึกถึงคุณภาพการดำรงชีวิต และ การสนองตอบทางเพศ
รูปแบบของยาฮอร์โมนเพศชาย
  1. รูปแบบทาที่ผิวหนัง เป็นรูปแบบเจลใสในซอง ทาลงบนผิวหนังที่แห้งและสะอาด บริเวณหัวไหล่ ต้นแขน หรือที่หน้าท้อง
  2. รูปแบบฉีด เป็นชนิดที่ฉีดเข้าในกล้ามเนื้อ
การเพิ่มฮอร์โมนเพศชายนั้น แนะนำให้อยู่ในการดูแลของแพทย์
หากคุณมีอาการเหล่านี้
  • ไม่กระฉับกระเฉง
  • ขาดความมั่นใจ
  • หงุดหงิดง่าย
  • ซึมเศร้า
  • ไม่อยากทำการบ้าน
  • อ้วนลงพุง
  • อารมณ์แปรปรวน
  • เส้นรอบเอวมากกว่า 36 นิ้ว
  • เฉื่อยชา
  • กระสับกระส่าย
  • ร้อนวูบวาบ
  • นอนไม่หลับ
  • นกเขาไม่ขัน
คุณอาจมีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับคำแนะนำในการรักษาอย่างเหมาะสม

ความรู้เรื่อง…โรคเบาหวาน

ความรู้เรื่อง...โรคเบาหวาน

โรคเบาหวานคืออะไร
โรคเบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือด สูงกว่าปกติ เกิดขึ้นเนื่องจากร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้ตามปกติ ถ้าน้ำตาลในเลือดสูงอยู่เป็นเวลานานจะเกิดโรคแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ตา ไต และระบบประสาท
เบาหวานมีกี่ประเภท
  1. เบาหวานประเภทที่ 1 (เบาหวานชนิดพึ่งอินสุลิน)
  2. เบาหวานประเภทที่ 2 (เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินสุลิน)
  3. เเบาหวานจากสาเหตุอื่นๆ เช่น โรคของตับอ่อน โรคทางพันธุกรรม โรคเนื้องอกของต่อมหมวกไตที่สร้างฮอร์โมน
  4. เบาหวานในหญิงตั้งครรภ์ในประเทศไทย พบเบาหวานชนิดที่ 2 มากที่สุด ประมาณ ร้อยละ 95
สาเหตุของโรคเบาหวาน
เบาหวานสืบทอดทางกรรมพันธุ์ได้ก็จริง แต่ผู้ที่มีญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง ) เป็นเบาหวาน ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคเบาหวานทุกคน
มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดโรคเบาหวาน ได้แก่
  1. โรคอ้วน ทำให้การตอบสนองของเนื้อเยื่อร่างกายต่ออินสุลินไม่ดี
  2. ผู้สูงอายุ การสังเคราะห์และการหลั่งฮอร์โมนอินสุลินลดลง
  3. การได้รับยาบางชนิด สเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ ยาคุมกำเนิดบางชนิด ทำให้มีการสร้างน้ำตาลมากขึ้น หรือการตอบสนองของอินสุลินไม่ดี
  4. การตั้งครรภ์ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนจากรกหลายชนิดมีผลยับยั้งการทำงานของอินสุลิน
อาการของโรคเบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานอาจไม่มีอาการใดๆ โดยทั่วไปจะมีอาการปัสสาวะบ่อยและมาก ปัสสาวะกลางคืน คอแห้ง กระหายน้ำ ดื่มน้ำมาก มีอาการหิวบ่อยรับประทานจุ แต่น้ำหนักลด อ่อนเพลีย คันตามผิวหนัง ชาปลายมือ ปลายเท้า ตามัว
วินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานได้อย่างไร
การวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานได้โดย
  1. ผู้ที่มีอาการของโรคเบาหวานชัดเจนคือ หิวน้ำมาก ปัสสาวะบ่อยและมาก น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่มีสาเหตุ ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเวลาใดก็ได้ไม่จำเป็นต้องออาหาร ถ้ามีค่ามากกว่า หรือเท่ากับ 200 มก./ดล. ให้วินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน
  2. การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดตอนเช้าหลังอดอาหารข้ามคืนมากกว่า 8 ชั่วโมง พบค่า มากกว่าหรือเท่ากับ 126 มก./ดล. ให้ตรวจยืนยันอีกครั้งหนึ่ง ต่างวันกัน
  3. การตรวจความทนต่อน้ำตาลกลูโคส (75 g Oral Glucose Tolerance Test, OGTT) ใช้สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงแต่ตรวจพบน้ำตาลในเลือดตอนเช้าหลังอดอาหารข้ามคืน น้อยกว่า 126 มก./ดล. ถ้าระดับน้ำตาลในเลือด 2 ชั่วโมงหลังดื่มกลูโคสมากกว่าหรือเท่ากับ 200 มก./ดล. ให้การวินิจฉัยว่า "เป็นโรคเบาหวาน"
หมายเหตุ : ในการเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลพลาสมากลูโคสให้งดอาหารอย่างน้อย 8-10 ชม. ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหรือลูกอม แต่ดื่มน้ำเปล่าได้
ผู้ใดควรได้รับการตรวจเช็คเบาหวาน
  1. ผู้ที่มีอาการดังกล่าวข้างต้น
  2. ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้
    • ไม่มีอาการแต่อายุเกิน 35 ปี
    • ญาติสายตรงเป็นโรคเบาหวาน
    • น้ำหนักจัดอยู่ในเกณฑ์โรคอ้วน
    • เคยแท้งหรือบุตรเสียชีวิตตอนคลอด
    • คลอดบุตรน้ำหนักแรกคลอดมากกว่า 4 กิโลกรัม
    • เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
    • หญิงตั้งครรภ์ทุกราย (อายุครรภ์อยู่ระหว่าง 24-28 สัปดาห์)
    • ผู้ที่มีโรคหลอดเลือดไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือโรคหลอดเลือดในสมองตีบ
    • ผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง
    • ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง
ทำไมเราจึงควรตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน
แม้ว่าบุคคลเหล่านี้ไม่มีอาการโรคเบาหวานชัดเจน ก็ควรหมั่นตรวจสอบ ถ้าระดับน้ำตาลอยู่ระดับน่าสงสัย ก็ควรตรวจระดับพลาสมากลูโคสเป็นระยะทุก 1 ปี การวินิจฉัยโรคเบาหวานได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และให้การรักษาควบคุมระดับน้ำตาลให้ดีจะชะลอการเกิดโรคแทรกซ้อนเรื้อรังได้ ผู้ป่วยบางรายมีอาการชัดเจนแต่เพิ่งวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานอาจพบโรคแทรกซ้อนร่วมด้วย เพราะเป็นโรคเบาหวานนานแล้วแต่ไม่เคยตรวจ
โรคเบาหวานรักษาไม่หายขาด แต่ถ้าปฏิบัติตัวดีสามารถควบคุมระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมจะชะลอการเกิดโรคแทรกซ้อน

โปรแกรมและแพ็คเกจ