โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน (HNP)

Herniated Nucleus Pulposus
อาการปวดหลังบริเวณหลังส่วนล่างเป็นอาการที่พบได้บ่อย สาเหตุอย่างหนึ่งคือ โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ซึ่งเป็นสาเหตุของการผ่าตัดกระดูกสันหลังที่พบได้บ่อยที่สุดทั่วโลก
อาการของโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนจะแตกต่างกันออกไปตามตำแหน่งของเส้นประสาทที่ถูกกด โดยมีอาการหลักๆ ดังนี้
  • ปวดร้าวตามเส้นประสาท
  • ปวดหลังส่วนล่าง
  • ชาตามเส้นประสาทที่ถูกกดทับ
  • อ่อนแรงตามเส้นประสาทที่ถูกกดทับ
  • งอตัวลำบาก งอหลังได้ไม่สุด
  • ปวดเมื่อทำกิจกรรม เช่น ออกแรง ไอ จาม
  • ปวดมากเวลานั่ง
85-90% ของผู้ป่วยหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทที่มีอาการอย่างเฉียบพลัน อาการจะทุเลาเองใน 6-12 สัปดาห์โดยไม่ต้องผ่าตัด ในผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องส่งตรวจทางรังสีเพิ่มเติม
ควรส่งตรวจทางรังสีเพิ่มเติมเมื่อสงสัยว่าอาจมีอื่นโรคร่วม
อาการที่พึงระวัง ได้แก่
  • มีไข้
  • อายุมากกว่า 50 ปี
  • มีประวัติอุบัติเหตุนำมาก่อน
  • มีอาการปวดตอนกลางคืนหรือขณะพัก
  • น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ
  • ตรวจพบความผิดปกติของระบบประสาทที่เป็นมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • มีอาการชารอบทวารหนัก (saddle anesthesia)
  • มีประวัติป่วยด้วยโรคมะเร็งหรือกระดูกพรุน
  • หรืออาการไม่ดีขึ้นหลังจากการรักษาแล้วไม่น้อยกว่า 6 สัปดาห์
การส่งตรวจเพิ่มเติมจะประกอบไปด้วยภาพเอกซเรย์กระดูกสันหลังบริเวณเอว โดยวิธีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomographic, CT scan) หรือเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging, MRI) แพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย
ภาพเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของผู้ป่วยหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทข้อที่ 4 ต่อ 5
การรักษา
เนื่องจากอาการปวดบริเวณหลังส่วนล่างมักหายได้เองใน 6-8 สัปดาห์ ดังนั้นการรักษาขั้นแรกสุด คือการรักษาแบบไม่ผ่าตัด ยกเว้นในผู้ป่วยบางรายที่ตรวจพบการบกพร่องของระบบประสาทที่มากขึ้น หรือสงสัยภาวะจากโรคกลุ่ม Cauda Equina ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้สำหรับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน
การรักษาโดยไม่ผ่าตัด
เป็นการรักษาที่แนะนำเป็นอันดับแรกในผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการของโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยพักการใช้งานหลัง ให้ความรู้เกี่ยวกับตัวโรค สอนวิธีการออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแผ่นหลัง และสั่งยาบรรเทาอาการปวด หรือสั่งการรักษาด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด
หากอาการปวดยังเป็นอยู่นานมากกว่า 6 สัปดาห์ แม้จะได้รับการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว อาจพิจารณาการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าในช่องไขสันหลัง เพื่อบรรเทาอาการปวดจากเส้นประสาทในระยะสั้น (ช่วยบรรเทาอาการได้เฉลี่ยประมาณ 2-4 สัปดาห์ขึ้นกับบุคคล)
การรักษาด้วยการผ่าตัด
การรักษาด้วยการผ่าตัดแนะนำให้ทำในผู้ป่วยที่อาการป่วยรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และไม่ตอบต่อการรักษาโดยไม่ผ่าตัด
วิธีการผ่าตัดแบ่งออกหลักๆได้ 2 ประเภท ได้แก่
  1. การเปิดแผลแบบมาตรฐาน (Open Approach) โดยการเปิดแผลเข้าไปตัดหมอนรองกระดูก
  2. การเปิดแผลแบบบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อน้อย (Minimal Invasive Approach) เป็นการผ่าตัดผ่านกล้อง (Tube Access) เป็นการผ่าตัดที่ใช้ระยะเวลาผ่าตัดน้อย เสียเลือดน้อย บาดแผลมีขนาดเล็ก แผลหายไว
สรุป
ภาวะหมอนรองกระดูกเคลื่อนนั้นพบได้ค่อนข้างบ่อย พบได้ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยกลางคน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมาด้วยอาการปวดหลัง ร้าวลงขา ก่อให้เกิดปัญหาเรื้อรังตามมาอีกมาก ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังเรื้อรังหรือมีอาการที่พึงระวังร่วมด้วย ควรมาพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ แพทย์จะพิจารณาว่าต้องส่งตรวจเพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยต่อไป
นอกจากเรื่องกระดูกสันหลังแล้ว การดูแลใส่ใจสุขภาพในแง่อื่นให้ครบถ้วนก็เป็นเรื่องที่สำคัญ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีเพื่อคัดกรองโรคที่เกิดขึ้นได้แม้ว่าจะยังไม่มีอาการเจ็บป่วย

โปรแกรมและแพ็คเกจ