โรคมือเท้าปาก…ไวรัสร้ายในวัยอนุบาล
โรคมือเท้าปาก…ไวรัสร้ายในวัยอนุบาล
Hand-Foot-and-Mouth Disease
โรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot Mouth Disease) เป็นโรคที่มักพบการติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็กและในที่อยู่รวมกันอย่างแออัดจะมีโอกาสที่เกิดการระบาดได้ มักระบาดในฤดูฝน แต่บางรายจะมีอาการรุนแรงขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัสที่มีการติดเชื้อ โรคนี้ติดต่อโดยการสัมผัสน้ำลาย น้ำมูก เสมหะ ตุ่มหรือผื่นที่ผิวหนัง ทั้งสัมผัสโดยตรงและสัมผัสเชื้อทางอ้อม
โรคมือ เท้า ปากเกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Enteroviruses ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ โรคมือเท้าปาก ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า coxsackie A16 มักไม่รุนแรง เด็กจะหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน ส่วนที่เกิดจาก Enterovirus 71 อาจพบโรครุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น
การแพร่ระบาด และการติดต่อ
การติดต่อส่วนใหญ่เกิดจากได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง โรคแพร่ติดต่อง่ายใน ช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย โดยเชื้อไวรัสติดมากับมือหรือของเล่น ที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผล หรืออุจจาระของผู้ป่วยและเกิดจากการ ไอจามรดกันโดยหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายจากละอองฝอยของผู้ป่วย และการติดเชื้อจากอุจจาระ
อาการของโรค
อาการมักจะเริ่มด้วยไข้ เบื่ออาหาร ครั่นเนื้อครั่นตัวเจ็บคอ เจ็บในปากกลืนน้ำลายไม่ได้ ทำให้ไม่กินอาหาร หลังจากไข้ 1-2 วันจะเห็นแผลแดงเล็กๆ ที่ปากโดยเป็นตุ่มน้ำใส ส่วนใหญ่พบที่เพดานอ่อนลิ้น กระพุ้งแก้ม เป็นสาเหตุให้เด็กไม่ดูดนม ไม่กินอาหารเพราะเจ็บในระยะแรกและแตกเป็นแผล ตำแหน่งของแผลมักจะอยู่ที่เพดานปาก หลังจากนั้นอีก 1-2 วันจะเกิดผื่นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ส้นเท้า แขนขา และก้น ผื่นที่มือและเท้า แต่ก็อาจจะเกิดที่แขน ขาและก้น
อาการที่ต้องเฝ้าระวังซึ่งเป็นสัญญาณอันตราย
- มีไข้สูงนานเกิน 2 วัน
- อาเจียนมาก
- ซึม
- มือกระตุกคล้ายผวา
- เดินเซ ตากระตุก
- เจ็บแผลในปาก จนกินอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ มีภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ปัสสาวะออกน้อย ผิวแห้ง ปัสสาวะสีเข็ม
- หายใจหอบเหนื่อย
ควรรีบไปพบแพทย์เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ หากมีอาการดังที่กล่าวมา ให้รีบพาบุตรหลานพบแพทย์ทันที
การรักษา
โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาทาแก้ปวด ในรายมีแผลที่ลิ้น หรือกระพุ้งแก้มผู้ปกครองหรือผู้เลี้ยงดูเด็ก ควรเช็ดตัวเด็กเพื่อลดไข้เป็นระยะ และให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนๆรสไม่จัด ดื่มน้ำและน้ำผลไม้ และนอนพักผ่อนมากๆ
ปัจจุบันมีวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสเชื้อเอนเตอร์โรไวรัส 71 หรือเรียกสั้นๆ ว่าเชื้อ อีวี 71 ซึ่งเป็นชนิดที่ก่อโรคมือ เท้า ปากรุนแรง โดยสามารถ
- ฉีดได้ในช่วงอายุ 6 เดือน - 5 ปี 11 เดือน
- ควรได้รับวัคซีน 2 เข็ม โดยเว้นระยะห่างจากเข็มแรก 1 เดือน
- เด็กที่หายจากโรคมือ เท้า ปาก ประมาณ 1 เดือน
- เด็กที่ได้รับวัคซีนอื่นๆ ต้องเว้นระยะห่าง 2 สัปดาห์ ก่อนเริ่มวัคซีนชนิดใหม่
การป้องกัน / การควบคุมโรค
โรคมือเท้าปากจะติดต่อจากคนสู่คนโดยการสัมผัส น้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วย รวมทั้งน้ำจากตุ่ม และอุจจาระ การลดความเสี่ยงของการติดต่อทำได้โดย
- ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับเด็กที่ป่วย
- ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังเตรียมอาหาร แยกของใช้ส่วนตัว
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย ระมัดระวังการไอจามรดกันให้ใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก
- หลีกเลี่ยงที่มีคนมากและแออัด ไม่ควรนำเด็กเล็กไปในที่ชุมชนสาธารณที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมากๆ เช่น สนามเด็กเล่นและห้างสรรพสินค้า ตลาด สระว่ายน้ำ
- ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่มีการจับบ่อย เช่น ลูกบิด โทรศัพท์
- ไม่เล่นของเล่นร่วมกับผู้ป่วย คือ ต้องแยกผู้ป่วย เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และคอยทำความสะอาดพื้น ห้องน้ำ สุขา เครื่องใช้ ของเล่น สนามเด็กเล่น ตลอดจนเสื้อผ้าที่อาจปนเปื้อนเชื้อด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้ทั่วไปภายในบ้าน
หากมีเด็กป่วยจำนวนมาก ผู้บริหารโรงเรียนหรือผู้จัดการสถานรับเลี้ยงเด็กต้องดำเนินการ ดังนี้
- ปิดห้องเรียนที่มีเด็กป่วยหรือปิดทั้งโรงเรียนชั่วคราว (ประมาณ 5 – 7 วัน)
- ทำความสะอาดสถานที่เพื่อฆ่าเชื้อโรคบริเวณห้องนํ้า ห้องส้วม สระว่ายนํ้า ครัว โรงอาหารบริเวณที่เล่นของเด็ก สนามเด็กเล่น โดยใช้ผงซักฟอก หรือสบู่ทำความสะอาดก่อน แล้ว ตามด้วยน้ำยาฟอกขาว 1 ส่วนผสมกับน้ำ 30 ส่วน ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วล้าง เช็ด/แช่ ด้วยน้ำสะอาด เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง
- ทำความสะอาดของเล่น เครื่องใช้ของเด็กด้วยการซักล้างแล้วผึ่งแดดให้แห้ง
- หยุดใช้เครื่องปรับอากาศ เปิดม่านให้แสงแดดส่องให้ทั่วถึง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
คลินิกกุมารเวช 02 587 0144 ต่อ 2400