โรคพาร์กินสัน PARKINSON’S DISEASE

โรคพาร์กินสัน

PARKINSON’S DISEASE
11 เมษายนเป็นวันโรคพาร์กินสันโลก (World Parkinson’s Disease Day) โรคทางสมองพบแพทย์เร็ว ช่วยชะลอความรุนแรงของโรคได้
โรคพาร์กินสัน (PARKINSON’S DISEASE)
โรคพาร์กินสัน หรือ โรคสั่นสันนิบาต เป็นโรคทางสมองที่เกิดจากเซลล์สมองในบางตำแหน่งตายโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จึงทำให้ "โดพามีน" สารสื่อประสาทในสมองซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายตายและลดจำนวนลง ทำให้ร่างกายของผู้ป่วยเกิดอาการสั่น โรคความเสื่อมของระบบประสาท พบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป พบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 1.5 เท่า เกิดจากสารเคมีในสมองที่เรียกว่าโดปามีน (Dopamine) ลดลง เพราะมีความเสื่อมตายของเซลล์ในสมอง สารโดปามีนมีความสำคัญในการควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ เมื่อสารโดปามีนลดลงจึงเกิดความผิดปกติในการเคลื่อนไหว เช่น มีอาการสั่น เคลื่อนไหวช้า เดินซอย แขนขาเกร็ง เคลื่อนไหวร่างกายช้าและสูญเสียการทรงตัว ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและทวีความรุนแรงขึ้นอย่างช้าๆ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่หากได้รับการวินิจฉัยโรคและรับการดูแลตั้งแต่เนิ่นๆ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะช่วยชะลออาการของโรคและทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
อาการ แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ
  1. กลุ่มอาการผิดปกติของการเคลื่อนไหว (Motor symptoms)
  2. กลุ่มอาการที่ไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว (Non-Motor symptoms)
กลุ่มอาการผิดปกติของการเคลื่อนไหว (Motor symptoms) มักเป็นอาการแรกเริ่มของผู้ป่วยพาร์กินสัน
  1. อาการเคลื่อนไหวช้า (Bradykinesia) ผู้ป่วยจะเดินช้า เริ่มก้าวลำบาก เมื่อก้าวเดินแล้วจะซอยเท้าถี่ๆ ก้าวเท้าตามปกติไม่ค่อยได้
  2. อาการแข็งเกร็ง (Rigidity) เป็นอาการแข็งเกร็งที่เกิดกับแขนหรือขาข้างที่มีอาการสั่น ทำให้เคลื่อนไหวได้ช้า เขียนหนังสือลำบาก ตัวหนังสือที่เขียนจะเล็กลงและชิดติดกัน
  3. มีการสูญเสียการทำงานของมือ การเคลื่อนไหวแขนจะน้อย เช่น เวลาเดินจะไม่แกว่งแขน และกล้ามเนื้อใบหน้าไม่มีการเคลื่อนไหวทำให้ดูหน้าตาย ไม่แสดงอารมณ์ที่ใบหน้า
  4. สูญเสียการทรงตัว โดยเฉพาะเวลาเดินจะทรงตัวไม่ได้ ผู้ป่วยจะโน้มตัวไปข้างหน้า ขาดความสมดุลในการทรงตัว ทำให้ผู้ป่วยหกล้มได้ง่าย
กลุ่มอาการที่ไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว (Non-Motor symptoms)
เช่น อาการหลงลืม ขี้กังวล เหนื่อยล้าง่าย เหงื่อออกมาก ท้องผูก การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคพาร์กินสันจากประวัติ อาการ และจากการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เพื่อแยกโรคอื่นๆ ที่มีอาการคล้ายกัน เช่น การตรวจภาพของสมองด้วย MRI (Magnetic resonance imaging) หรือตรวจด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เครื่อง SPECT (Single-photon emission computed tomography) หรือเครื่อง PET (Positron emission tomography) เป็นต้น
การรักษา
  1. รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง เป้าหมายการรักษาคือการควบคุมอาการต่างๆ โดยการเพิ่มสารโดปามีน เข้าไปในสมอง ด้วยการให้รับประทานยาที่มีผลเพิ่มสารโดปามีน เช่น ลีโวโดปา (levodopa) ในบางรายแพทย์อาจจะพิจารณาการผ่าตัดสมอง
  2. รับประทานอาหารที่เหมาะสมให้ครบ 5 หมู่ แต่ระวังไม่ควรรับประทานอาหารโปรตีนมากเกินไป เพราะจะทำให้การดูดซึมของยาลีโวโดปาลดลง รับประทานอาหารที่มีเส้นใยไฟเบอร์ เพื่อลดอาการท้องผูก เมื่อมีปัญหาการกลืนต้องปรับเป็นอาหารอ่อน ให้กินทีละน้อยแต่บ่อยขึ้น
  3. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้การเคลื่อนไหวดีขึ้น ช่วยในการทรงตัว ช่วยให้การทำกิจวัตรประจำวันดีขึ้น โดยรับการแนะนำและฝึกฝนจากนักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรายงานการรำไทเก็ก ช่วยให้ผู้ป่วยพาร์กินสัน เคลื่อนไหวและทรงตัวได้ดีขึ้น และการร้องเพลงประสานเสียงยังช่วยให้ผู้ป่วยพูดได้คล่องขึ้นแก้ปัญหาการพูดติดขัดได้
  4. การปรับสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้สะดวกมากขึ้น เช่น การมีราวให้มือจับเวลาเคลื่อนไหว เพื่อป้องกันการหกล้ม ภายในบริเวณบ้านควรมีแสงสว่างที่เพียงพอ ระวังอย่าให้พื้นภายในบ้านเปียกชื้น ควรมีแผ่นยางกันลื่น ห้องน้ำควรมีโถชักโครก เป็นต้น
ผู้ป่วยพาร์กินสัน ยังคงมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ถ้าติดตามการรักษากับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ รับประทานยาตรงตามที่แพทย์สั่ง รับประทานอาหารที่เหมาะสมและออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้หกล้ม ทำงานอดิเรกที่ชอบได้ เช่น การวาดรูป จะเป็นการช่วยฝึกการเคลื่อนไหวของมือ และทำให้เกิดความเพลิดเพลินได้
หากคุณสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ ขอแนะนำให้รีบไปพบแพทย์ เพราะการรักษาแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น

โปรแกรมและแพ็คเกจ

โปรแกรมตรวจสุขภาพ ใส่ใจ

โปรแกรมตรวจสุขภาพ ใส […]

เพราะหัวใจต้องการคนดูแล

การดูแลหัวใจให้แข็งแ […]