“ตับแข็ง และมะเร็งตับ” รู้ก่อน ป้องกันก่อน
เฝ้าระวังโรคตับตั้งแต่วันนี้…..ป้องกันตับแข็ง และมะเร็งตับ
Liver Cancer
ตับเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของร่างกายรองจากผิวหนัง และมีหน้าที่หลายประการในร่างกาย ได้แก่ การสร้างน้ำดีเพื่อช่วยในกระบวนการย่อยไขมัน การสังเคราะห์โปรตีนไข่ขาวและปัจจัยการแข็งตัวของเลือดในร่างกาย และช่วยกำจัดสารพิษต่างๆ อย่างไรก็ตามแม้ตับจะเป็นอวัยวะที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่ตับกลับมีเพียงข้างเดียวเช่นเดียวกับหัวใจ ดังนั้นความเสียหายต่อตับย่อมสร้างความเสียหายต่อร่างกายได้อย่างมาก
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะการบาดเจ็บต่อตับหรือตับอักเสบนั้นมีดังนี้คือ
- เกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบ โดยเฉพาะชนิดบี และซี
- แอลกอฮอล์ ซึ่งมาจากการดื่มสุรา เบียร์
- ภูมิต้านทานต่อตับมากผิดปกติ
- สารพิษต่างๆ
- ไขมันเกาะตับ
- พันธุกรรม
- ภาวะธาตุเหล็กเกิน
- เส้นเลือดที่เกี่ยวข้องกับตับผิดปกติ
ในส่วนของอาการนั้นหากการบาดเจ็บของตับยังมีไม่มากผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการอะไรหรือมีเพียงอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หรือคันโดยเฉพาะปลายมือปลายเท้าเท่านั้น และจะวินิจฉัยได้เมื่อพบความผิดปกติจากการตรวจเลือดเท่านั้น แต่หากการบาดเจ็บของตับทวีความรุนแรงมากขึ้นผู้ป่วยถึงจะเริ่มมีภาวะแทรกซ้อนของโรคตับ คือ ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องบวมโต ขาบวม อาเจียนเป็นเลือด อาการสับสนจากการมีสารพิษคั่งในร่างกาย ผู้ป่วยในระยะนี้มักจะมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี บางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการเปลี่ยนตับ
การวินิจฉัยโรคตับ
การวินิจฉัยโรคตับตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้มีการทำลายของตับอย่างเรื้อรังหรือรุนแรง จนเกิดภาวะตับแข็ง ตับวาย รวมทั้งมะเร็งตับตามมา ซึ่งเป็นระยะที่รักษาให้หายขาดได้ยาก และก่อให้เกิดทุพพลภาพเป็นอย่างมาก ดังนั้นหากเป็นไปได้บุคคลทุกคนควรได้รับการตรวจสุขภาพตับเป็นระยะ โดยเฉพาะผู้ที่มีความอาการหรือเสี่ยงดังต่อไปนี้
- มีอาการที่บ่งชี้ถึงโรคตับ ได้แก่ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องบวมโต ขาบวม อาเจียนเป็นเลือด อาการสับสน
- มีพฤติกรรมหรือประวัติเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นโรคตับ ได้แก่ ดื่มเหล้า สุรา มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันหรือมีเพศสัมพันธ์กับหลายบุคคล ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น เคยสัก เคยได้รับเลือดมาก่อน รับประทานยาที่อาจก่อให้เกิดพิษต่อตับ เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ ยาสมุนไพร
- มีภาวะหรือโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคตับ ได้แก่ ภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง
- มีประวัติครอบครัวเป็นโรคตับอักเสบ ตับแข็ง หรือมะเร็งตับ
โรคตับเป็นโรคที่รักษาได้หากวินิจฉัยตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งการรักษาก็จะช่วยป้องกันไม่ให้ตับที่ดีกลายเป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับในอนาคต ดังนั้นอย่ารอช้าที่จะมาดูแลสุขภาพของตับกันนะครับ
ด้วยความปรารถนาดี
นายแพทย์สุรัตน์ ปราณีนรารัตน์
อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ