รู้ให้ทัน…เรื่องกัญชา
รู้ให้ทัน..เรื่องกัญชา
CANNABIS
ในปัจจุบันข่าวสารเกี่ยวกับประโยชน์ของกัญชามีออกมาเป็นระยะๆ แต่สารทุกสิ่งในโลกนี้มีสองด้านเสมอ กัญชาก็จัดเป็นพืชที่มีสารเสพติดและเป็นอันตรายต่อสุขภาพเช่นกัน เราจึงควรจะต้องมีความรู้เท่าทันที่จะใช้ประโยชน์จากกัญชา แต่มีวิธีการในการปกป้องตนเองและบุคคลที่เรารักจากอันตรายของกัญชา ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ จึงมีคำแนะนำดังต่อไปนี้
สำหรับประชาชน
- ไม่ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการอย่างเด็ดขาด
- ให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชน ให้ทราบถึงอันตรายจากการใช้กัญชา เพื่อเป็นการสร้างภูมิต้านทานที่สำคัญ
- ช่วยกันสอดส่องดูแล ให้เด็กและเยาวชนห่างไกลจากกัญชา
- ช่วยกันสร้างสังคม บ้าน โรงเรียนและชุมชนให้ปลอดกัญชา
สำหรับผู้ที่กำลังคิดว่าจะการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค
- ขอให้ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ วิธีการใช้กัญชาและผลข้างเคียงจากกัญชาอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว ขอให้ปรึกษากับแพทย์ที่ให้การรักษา เกี่ยวกับโรคและยาที่รับประทานอยู่ ว่าจะมีผลต่อกันหรือไม่เพราะกัญชาอาจจะทำให้โรคประจำตัวที่มีอยู่ทรุดลง หรืออาจจะมีอันตกริยาระหว่างยากับกัญชา จนทำให้เกิดอันตรายได้
- หากจะใช้กัญชา ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
สำหรับผู้ใช้กัญชา
- หากท่านอายุน้อยกว่า 20 ปี ขอให้พิจารณาเลิกใช้กัญชาทันที
- ถ้าเป็นไปได้ เลือกใช้กัญชาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เพื่อหลีกเสี่ยงการปนเปื้อนของโลหะหนัก และสารกำจัดศัตรูพืช
- หลีกเลี่ยงการใช้ช่อดอกกัญชา เพราะเป็นส่วนที่มีสารแคนนาบินอยด์สูง ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้มาก
- ขอให้สูบกัญชาในบริเวณที่ห่างไกลจากคนอื่น โดยเฉพาะเด็ก เยาวชนและสตรีมีครรภ์ เพราะบุคคลเหล่านี้อาจจะเป็นผู้สูบมือสองได้ และได้ผลกระทบจากควันกัญชาได้
- ไม่ขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักรต่างๆ ภายใน 6 ชั่วโมงหลังได้รับกัญชา เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ถ้าได้รับกัญชาแล้ว มีอาการผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์ และแจ้งให้แพทย์ทราบเรื่องการได้รับกัญชา เพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงที
- หากรู้สึกว่าต้องเพิ่มขนาดความถี่ของการใช้กัญชา หรือไม่สามารถหยุดใช้กัญชาได้โดยง่าย แสดงว่าติดกัญชาแล้ว ขอให้รีบพบแพทย์เพื่อการรักษาภาวะติดกัญชา
- หากท่านปลูกัญชาในบ้าน ขอให้หาวิธีไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้โดยง่าย
- กรณีท่านเป็นผู้ผลิตอาหารที่ใส่กัญชา ขอให้อย่าใช้ช่อดอก และต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบเสมอว่ามีการใส่กัญชาในอาหารหรือไม่
เมากัญชา ทำอย่างไร
- อาการเมากัญชา ตาแดง เดินเซ การตอบสนองช้าลง ปากแห้ง เพิ่มความอยากอาหาร อารมณ์เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว หัวใจเต้นเร็ว ความดันเพิ่มขึ้น เมื่อใช้ปริมาณมากจะมีอาการหลอน เกิดภาพลวงตา ควบคุมตัวเองไม่ได้ ให้รีบส่งโรงพยาบาล
- ระยะเวลาที่มีอาการ หลังใช้ 2-3 ชม. และอาจอยู่ในร่างกายนานหลายวันถึงเป็นเดือน ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ใช้
- อาการถอนยา อาการปวดศีรษะ นอนไม่หลับ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย ปวดท้อง สั่น เหงื่อออก ไข้ สั่น หลังหยุดกัญชา มักมีอาการ 24-48 ชม. อาการมากสุด อาการมากสุด วันที่ 4-6 อาการจะคงอยู่ 1-3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับ สมุนไพรที่อาจจะลดอาการเมากัญชา ได้ น้ำมะนาว หรือรับประทานรากว่านน้ำ
- ถ่้ามีอาการทางจิต เช่น มีภาวะซึมเศร้า กระสับกระส่ายอย่างรุนแรง เห็นภาพหลอน มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ให้รีบส่งโรงพยาบาล
ขอบคุณข้อมูล
ศาสตราจารย์ นายแพทย์วินัย วนานุกูล ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข