ฝุ่น PM2.5 ภัยอันตรายอาจจะกลายเป็น “มะเร็งปอด”

ฝุ่น PM2.5 ภัยอันตรายอาจจะกลายเป็น “มะเร็งปอด”
สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ที่มีระดับพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกพื้นที่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ตา และผิวหนัง เมื่อเจอกับสถานการณ์ฝุ่นแบบนี้ เพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพ
เราจะมาคุยกับคุณหมอ...เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นตัวร้ายอย่างถูกต้อง และปลอดภัย
รู้จัก PM 2.5
PM 2.5 มาจากคำว่า Particulate matter ซึ่งคือ ฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือขนาดประมาณ 1 ใน 25ของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผม เมื่อเราหายใจเอาฝุ่นเหล่านี้เข้าไป จะสามารถหลุดรอดการกรองจากจมูก และผ่านลงไปในถุงลมปอด เข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตได้ ซึ่งส่งผลให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินหายใจ ระบบไหลเวียนโลหิต รวมถึงอวัยวะอื่นๆ นอกจากนี้มักพบสารก่อมะเร็งและโลหะหนักที่เป็นอันตรายเกาะอยู่ด้วย
ฝุ่นละอองทำให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง ?
เราสามารถพบผู้ป่วยที่มีอาการดังต่อไปนี้
  • ไอ, จาม, มีน้ำมูก, เจ็บคอ, มีเสมหะ ภูมิแพ้, ไซนัส, หายใจลำบาก, เจ็บหน้าอก
  • หลอดลมอักเสบ, หายใจมีเสียงดังอึด ๆ, ปอดอักเสบเกิดพังผืด, โรคถุงลมโป่งพอง
  • โรคมะเร็งระบบทางเดินหายใจ และ มะเร็งปอด
กลุ่มเสี่ยงและกลุ่มผู้ป่วย
  • ผู้สูงอายุ
  • เด็กเล็ก
  • ผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์
  • ผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับปอด และระบบทางเดินหายใจ
อาการและผลกระทบ
ระยะสั้น :
ทำให้ระคายเคืองตา ตาแดง คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ อาการภูมิแพ้และหอบหืดกำเริบ ทำให้ปอดอักเสบติดเชื้อง่ายขึ้น ผิวหนังอักเสบมีผื่นคันที่ผิวหนัง
ระยะยาว :
การทำงานของปอดแย่ลง เสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ และ โรคหลอดเลือดสมอง เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอด ผิวหนังเหี่ยวย่นก่อนวัย
การป้องกันวิธีการรับมือกับ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ทางราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ร่วมกับ 5 สมาคมวิชาชีพเวชกรรม ออกคำแนะนำการปฎิบัติตัวของประชาชนในช่วงวิกฤตฝุ่น PM2.5
  1. หมั่นตรวจสอบคุณภาพอากาศจากแหล่งข้อมูลของรัฐและเอกชนอย่างสม่ำเสมอ หรือใช้เครื่องวัดปริมาณฝุ่นแบบพกพา เพื่อวางแผนกิจวัตร ประจำวันให้เหมาะสมและให้หลีกเลี่ยงการสัมผัส สูด PM2.5 โดยการจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัย (safety zone)
  2. เมื่อค่า PM2.5 ในขณะนั้น (ค่ารายชั่วโมง) ขึ้นสูงเกินเกณฑ์ คือ
    1. สูงกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กลุ่มเสี่ยงควรงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง บุคคลทั่วไปควรลดและปรับเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
    2. สูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกคนควรงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง ยกเว้นผู้ที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะกลางแจ้งให้ใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา
    3. สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกคนควรอยู่ในตัวอาคารซึ่งติดตั้งระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ยกเว้นผู้ที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะกลางแจ้ง ให้ใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา และจำกัดช่วงเวลาปฏิบัติงาน ไม่ให้เกินครั้งละ 60 นาที
  3. ขณะที่ปริมาณฝุ่นภายนอกขึ้นสูง ภายในตัวอาคารควรจัดให้มีระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
  4. การออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงลดโอกาสเจ็บป่วย แต่ขณะที่ปริมาณฝุ่นขึ้นสูงควรหลีกเลี่ยงหรือลดเวลาการออกกำลังกายกลางแจ้ง ตามระดับเตือนภัยในข้อ 2 หรือออกกําลังกายในร่มที่มีระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
  5. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ จะช่วยเร่งการขับฝุ่น PM2.5 ที่เล็ดลอดเข้ากระแสเลือด ออกไปทางไตในรูปของปัสสาวะได้มากขึ้น
  6. การอยู่ในบริเวณที่มีต้นไม้ใบเขียว จะช่วยการดูดซับฝุ่นในอากาศได้เพิ่มมากขึ้น