การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง(EEG)
การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG)
Electroencephalography
การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองคืออะไร
การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองหรือ EEG เป็นการบันทึกสัญญาณไฟฟ้า ซึ่งเกิดจากผลรวมของกระแสไฟฟ้าของกลุ่มเซลล์ในสมอง ผลการตรวจจะปรากฏในรูปแบบกราฟบนแถบกระดาษหรือในจอภาพ (มอนิเตอร์)
ขั้นตอนการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองมีอะไรบ้าง
- ผู้ตรวจติดอิเลคโทรดบนหนังศีรษะในตำแหน่งต่าง ๆ
- เมื่อเปิดเครื่องตรวจ สัญญาณไฟฟ้าจากสมอง จะปรากฏเป็นเส้นกราฟบนแถบกระดาษหรือจอภาพตลอดเวลาที่ตรวจ
- ผู้ป่วยสามารถนอนหลับตาในขณะตรวจบางครั้ง ผู้ตรวจอาจขอให้ลืมตา หลับตา หายใจเข้าออกลึก ๆ คิดคำนวณ หรือ จำคำต่าง ๆ ขณะตรวจ
- ระยะเวลาการตรวจนานประมาณ 1 ชั่วโมง หรืออาจนานกว่านี้ ถ้ามีการตรวจพิเศษ
- มักมีการถ่ายวิดีโอไปพร้อมกับการบันทึกคลื่นสมองเพื่อวินิจฉัยได้ดีขึ้น
- กรณีเด็กเล็กหรือเด็กที่มีปัญหาทางพัฒนาการที่ไม่ให้ความร่วมมือ อาจต้องให้ยานอนหลับ หลังจากนั้นอาจปลุกเด็กให้ตื่น เพื่อตรวจในขณะตื่นด้วย
นอกจากขั้นตอนดังกล่าวแล้วยังมีวิธีกระตุ้นให้ผิดปกติในคลื่นสมองบางชนิดปรากฏชัดเจนมากขึ้นได้แก่
- การหายใจลึกนาน 3 – 5 นาที
- ใช้แสงไฟกระพริบฉายที่ใบหน้าผู้ป่วย แสงไฟกระพริบนี้ไม่เป็นอันตรายใด ๆ ต่อผู้ป่วย
- การอดนอน โดยเข้านอนดึกที่สุดและปลุกให้ตื่นเช้ากว่าปกติ
การเตรียมตัวก่อนมาตรวจคลื่นสมอง
การเตรียมตัวก่อนมาตรวจคลื่นสมองสามารถลดเวลาการตรวจคลื่นสมองและไม่ต้องเสียเวลากลับมาทำซ้ำ การเตรียมตัวทำดังนี้
- สระผมให้สะอาด ห้ามใส่น้ำมันหรือครีมใดๆ
- ถ้ากินยากันชักอยู่ให้กินต่อไปห้ามหยุดยากันชักเองอย่างกะทันหันเพื่อทำการตรวจ ยกเว้นกรณีแพทย์ระบบประสาทบอกให้หยุด
- เด็กเล็กผู้ปกครองควรเตรียมขวดนมหรือน้ำ และของเล่นของเด็กมาด้วย
- ในเด็ก ถ้าสามารถทำให้เด็กไม่นอนหลับก่อนมาตรวจเด็กอาจหลับได้ขณะที่ทำการตรวจโดยไม่ต้องให้ยานอนหลับ
การตรวจคลื่นสมองในผู้ป่วยโรคลมชักจะพบความผิดปกติเสมอหรือไม่
ผู้ป่วยโรคลมชักอาจตรวจไม่พบความผิดปกติในการตรวจคลื่นสมองเพียงครั้งเดียว ดังนั้นผลการตรวจที่ปกติไม่ได้หมายความว่าไม่ได้เป็นโรคลมชัก