โรคกระเพาะอาหาร (Dyspepsia)

โรคกระเพาะอาหาร (Dyspepsia)

โรคดิสเปปเซีย (Dyspepsia) หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อโรคกระเพาะอาหารนั้น คือ โรคที่มีอาการปวดท้องหรือไม่สบายท้องที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของบริเวณกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้นก็ได้ โดยหากผู้ป่วยได้รับการส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนบนจะพบความรุนแรงของโรคกระเพาะอาหารได้แตกต่างกัน ได้แก่ ตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆในกระเพาะอาหารเลยที่เรียกว่าฟังก์ชันนัลดิสเปปเซีย (Functional dyspepsia) พบเยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) มีแผลในกระเพาะอาหาร (Peptic ulcer) หรือแม้แต่เป็นโรคร้ายแรงคือมะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric cancer)

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคกระเพาะอาหาร
  1. การติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ในกระเพาะอาหาร
  2. การรับประทานยาที่อาจระคายเคืองกระเพาะอาหาร ได้แก่ ยาแก้ปวด ยาคลายเส้น ยาละลายลิ่มเลือด
  3. การสูบบุหรี่
  4. การรับประทานเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
  5. ภาวะความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล
อาการของโรคกระเพาะอาหาร

ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารสามารถมาพบแพทย์ด้วยอาการสำคัญ 4 แบบ ได้แก่

  1. ปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ (Epigastric pain)
  2. แสบร้อนท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ (Epigastric burning)
  3. แน่นหรืออึดอัดท้องหลังมื้ออาหาร (Post-prandial fullness)
  4. อิ่มเร็วกว่าปกติ (Early satiation)

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารนั้นไม่จำเป็นต้องมีอาการปวดท้องหรือแสบท้องเสมอไป อาการแน่นหรืออึดอัดท้อง รับประทานอาหารแล้วอิ่มเร็วกว่าปกติ ก็เป็นอาการที่บ่งชี้ว่าผู้ป่วยอาจจะป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารได้เช่นเดียวกัน

การตรวจเพื่อวินิจฉัยชนิดของโรคกระเพาะอาหาร

การวินิจฉัยแยกชนิดของโรคกระเพาะอาหารว่าเป็นชนิดใดนั้น มีความจำเป็นต้องอาศัยการส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนบน ซึ่งสามารถเห็นลักษณะความผิดปกติ รวมถึงก้อนเนื้องอกต่างๆบริเวณกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นได้อย่างชัดเจน โดยผู้ที่มีความเสี่ยงที่อาจจะป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารชนิดร้ายแรงและมีความจำเป็นต้องได้รับการส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนบน ได้แก่ มีอาการกลืนลำบาก อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเป็นสีดำ มีภาวะซีด น้ำหนักลด อาเจียนต่อเนื่อง อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 55 ปี รักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น มีอาการเป็นซ้ำ

ภาวะแทรกซ้อนของโรคกระเพาะอาหาร

ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารชนิดมีแผลอาจจะส่งผลทำให้มีเลือดออกจากแผลซึ่งบางครั้งอาจจะรุนแรงจนเกิดภาวะช็อกหรือเสียชีวิตได้ ทำให้อาเจียนจากภาวะกระเพาะอาหารอุดตัน ทำให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรงจากแผลทะลุ แต่หากผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารชนิดเยื่อบุอักเสบและมีการอักเสบเกิดขึ้นแบบเรื้อรังก็อาจส่งผลทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์เยื่อบุและกลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารขึ้นมาได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่มีอาการบ่งชี้ถึงโรคกระเพาะอาหารควรได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นจากตัวโรคในภายหลัง

การรักษาโรคกระเพาะอาหาร

ยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคกระเพาะอาหารโดยเฉพาะชนิดเยื่อบุอักเสบ หรือชนิดมีแผลประกอบด้วยยาลดกรดชนิดต่างๆ อย่างไรก็ตามในบางครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคกระเพาะอาหารชนิดฟังก์ชันนัลดิสเปปเซียอาจมีความจำเป็นต้องให้ยากลุ่มอื่นๆร่วมด้วย เช่น ยาที่ช่วยในการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหาร ยาที่ลดการตอบสนองของกระเพาะอาหาร เพื่อทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น

หากพบว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ก็มีความจำเป็นต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างน้อย 2 ชนิดเพื่อกำจัดเชื้อโรคนี้ร่วมด้วย

วิธีปฏิบัติตัวในผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหาร
  • หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น อาหารเผ็ด เปรี้ยว เค็ม ของหมักดอง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม กาแฟ โกโก้ ช็อคโกแลต เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารปริมาณมากๆในหนึ่งมื้อ
  • หลีกเลี่ยงการเอนตัวหรือนอนหลังกินอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาแก้ปวด ยาคลายเส้น ยาละลายลิ่มเลือด โดยไม่มีข้อบ่งชี้
  • งดสูบบุหรี่
  • ลดน้ำหนักหากมีภาวะอ้วน
  • หลีกเลี่ยงการใส่กางเกง กระโปรง หรือเข็มขัดที่รัดแน่นเกินไป
  • ออกกำลังกายแบบแอโรบิคอย่างน้อย 30 นาทีต่อครั้ง 3 ครั้งต่อสัปดาห์