ภาวะสมองเสื่อม

(DEMENTIA)
ภาวะสมองเสื่อมเป็นภาวะที่สมองทำงานผิดปกติ เป็นผลให้มีอาการหลงลืม ความจำเสื่อม บุคลิกเปลี่ยนแปลง ขาดความสามารถในการเรียนรู้และการสื่อสาร ไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้
ภาวะสมองเสื่อม เกิดจากการเสื่อมของเซลล์สมอง มีแนวโน้มว่าจะเกิดภาวะสมองเสื่อมมากขึ้นตามอายุ โรคอัลไซเมอร์จัดเป็นภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด อาจพบภาวะสมองเสื่อมในโรคหลอดเลือดสมอง โรคติดเชื้อทางสมอง เนื้องอกในสมอง อุบัติเหตุทางสมอง หรือเป็นผลจากการขาดวิตามินบีเป็นเวลานาน หรือเกิดจากโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือเกิดจากการกินยานอนหลับหรือยากล่อมประสาทเป็นเวลานาน
อาการ
  1. ความจำเสื่อม นับเป็นอาการแรกๆของภาวะสมองเสื่อม จำชื่อคนใกล้ชิดไม่ได้ ไม่สามารถจำหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ วางของแล้วจำไม่ได้ ถามคำถามซ้ำซาก ลืมว่าเคยถามและได้คำตอบแล้ว
  2. ไม่สามารถทำงานที่เคยทำได้ เช่น เคยขับรถได้แต่ขับไม่ได้ เคยหุงข้าวได้กลับหุงไม่เป็น
  3. มีปัญหาด้านภาษา เรียกชื่อญาติหรือคนใกล้ชิดไม่ถูก เรียกสิ่งของผิดไป นึกคำพูดไม่ออก พูดซ้ำซาก สื่อสารกับผู้อื่นไม่รู้เรื่อง
  4. สับสนเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ จำเส้นทางเดินทางไปบ้านตัวเองไม่ถูก จำสถานที่ เวลา หรือเหตุการณ์ปัจจุบันไม่ได้ บอกไม่ได้ว่าตัวเองอยู่ไหน
  5. มีความผิดปกติในการตัดสินใจ ตัดสินใจช้าและตัดสินใจไม่ถูก ไม่เหมาะสมกับกาลเทศะ ตัดสินใจผิดพลาด
  6. สติปัญญาด้อยลง ขาดความสามารถในการวางแผน บวกนับเลขไม่ถูก ทอนเงินไม่ถูก
  7. วางสิ่งของผิดที่ไม่เหมาะสม เช่น วางแว่นตาในอ่างน้ำ วางถังขยะบนโต๊ะอาหาร และมักหาสิ่งของไม่พบ
  8. อารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าว หรือซึมเศร้า อาจนั่งร้องไห้โดยไม่สามารถอธิบายสาเหตุ เพราะการสื่อสารไม่เข้าใจ
  9. บุคลิกภาพและพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เช่น หนีสังคม เก็บตัว ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมและเหตุการณ์รอบตัว ในรายที่เป็นรุนแรง จะมีปัญหาการช่วยเหลือตัวเองในกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำเองไม่เป็น ใส่เสื้อผ้าเองไม่เป็น ติดกระดุมเสื้อเองไม่ได้ตักข้าวกินเองไม่ได้
หากมีอาการความจำเสื่อมร่วมกับอาการอื่นๆ ดังกล่าวข้างต้นอีก 3 อย่างขึ้นไป และต้องพึ่งพาผู้อื่นในการทำกิจวัตรประจำวัน จึงจะวินิจฉัยว่ามีภาวะสมองเสื่อม
การวินิจฉัยโรค
แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกาย ประวัติจะได้จากญาติใกล้ชิด เพราะผู้ป่วยเองจะหลงลืมให้ประวัติไม่ได้ จะมีแบบทดสอบความจำ สติปัญญา แบบทดสอบภาวะทางจิตใจ นอกจากนี้แพทย์จะตรวจเลือดและเอ็กซเรย์สมอง เช่น การทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อหาสาเหตุของโรคที่จะรักษาได้
การรักษา
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาด แต่อาจช่วยชะลออาการผู้ป่วยได้ ยกเว้นสภาวะสมองเสื่อมที่มีสาเหตุที่รักษาได้ เช่น เป็นเนื้องอกในสมองก็ผ่าตัดเอาเนื้องอกออก ผ่าตัดแก้ไขโพรงน้ำในสมองขยายตัว งดสารเสพติด รักษาโรคพิษสุราเรื้อรัง เป็นต้น
นอกจากนี้ต้องรักษาโรคที่เป็นความเสี่ยงให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นต้น แพทย์อาจใช้ยาที่ช่วยชะลอความจำเสื่อมและยาที่ช่วยระงับพฤติกรรมที่ผิดปกติ เช่น เอะอะก้าวร้าว เห็นภาพหลอน
การรักษาจะสมบูรณ์ได้ต้องมีการให้ความรู้แก่ผู้ดูแลผู้ป่วย ให้เข้าใจการดำเนินของโรค เข้าใจลักษณะของผู้ป่วย ให้ผู้ดูแลสามารถติดต่อสื่อสารกับทีมรักษาเพื่อปรึกษาปัญหาให้แก่ผู้ป่วย ผู้ดูแลควรเป็นผู้มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ ควรให้ผู้ดูแลมีช่วงเวลาพักเพื่อคลายเครียด เพื่อไม่ให้ความเครียดหรือภาระในการดูแลผู้ป่วย ส่งผลให้การดูแลผู้ป่วยไม่ดีและยังมีผลเสียต่อสุขภาพของผู้ดูแลอีกด้วย
การป้องกัน
  1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ อย่างสมดุล หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง รสเค็มหรือหวานจัด
  2. งดเสพสุรา และสารเสพติด งดสูบบุหรี่
  3. ฝึกบริหารสมอง เช่น การฝึกใช้มือซ้ายทำงานแทนมือขวาที่ถนัด ฝึกเปลี่ยนเส้นทางเดินที่ใช้ประจำ ฝึกเล่นเกม หัดคิดเลข อ่านหนังสือบ่อยๆ
  4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรหักโหมจนเกินไป สัปดาห์ละ 3 - 5 วัน
  5. ระวังอุบัติเหตุต่างๆ โดยเฉพาะอุบัติเหตุทางสมอง ใส่หมวกกันน็อค คาดเข็มขัดนิรภัยเวลานั่งรถ
  6. เข้าสังคมผู้สูงอายุ พบปะผู้อื่นบ่อยๆ มีกิจกรรมทำร่วมกับผู้อื่น
  7. รักษาโรคประจำตัวอย่างสม่ำเสมอ เช่น รักษาเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และตรวจสุขภาพประจำปี
  8. ทำจิตใจให้ผ่องใส ไม่เครียด มองโลกในแง่ดี ฝึกสมาธิ
หากท่านสงสัยว่าจะมีภาวะสมองเสื่อม ให้รีบมาพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรับการรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการในระยะแรกๆ จะช่วยให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น

>

โปรแกรมและแพ็คเกจ

Promotion ตรวจเช็คโรคระบบประสาทและสมอง
คัดกรองความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
Promotion ชุดตรวจสุขภาพ ลด 20%