สุขภาพของคนทำงาน ตอน “การป้องกันการสัมผัสจากสารเคมี”
ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพและหลักการป้องกันการสัมผัสจากสารเคมี
ในการดำเนินงานทางด้านอาชีวอนามัยนั้น การดูแลสุขภาพของคนทำงานที่สัมผัสสารเคมีต่างๆ ถือเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอีกประการหนึ่ง โดยหลักการพื้นฐานทางอาชีวเวชศาสตร์ มีแนวคิดหลักที่ว่าคนทำงานสามารถจะเกิดความเจ็บป่วยหรือโรคที่เกิดจากการทำงานได้เกิดจากสาเหตุ 2 ทาง อันได้แก่
- สุขภาพส่วนตัวของคนทำงาน (Host) เช่น โรคประจำตัว พฤติกรรมการใช้ชีวิตส่วนตัว อาหาร ยา การดื่มสุรา สูบบุหรี่ สุขภาพจิตและอารมณ์ส่วนบุคคล ของคนที่ทำงาน เป็นต้น
- สิ่งคุกคามจากสถานที่ทำงานหรือสิ่งแวดล้อมที่คนทำงานเข้าไปทำงาน (Hazard) ซึ่งมีอยู่ 5 ประการ ได้แก่ สิ่งคุกคามทางกายภาพ (Physical Hazard) สิ่งคุกคามทางชีวภาพ (Biological Hazard) สิ่งคุกคามทางเคมี (Chemical Hazard) สิ่งคุกคามทางการยศาสตร์ (Ergonomic Hazard) สิ่งคุกคามทางจิตสังคม (Psychosocial Hazard)
(ภาพอ้างอิงจาก: สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมกรมควบคุมโรค)
เมื่อมีสาเหตุ 2 ทางเกิดขึ้นกับคนทำงานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุจากคนทำงานเอง หรือสาเหตุจากการสัมผัสสิ่งคุกคามในที่ทำงานหรือสิ่งแวดล้อม หรือทั้งสองสาเหตุ ก็จะทำเกิดการเจ็บป่วยหรือโรคที่เกิดจากการทำงานได้ ดังนั้นเราควรป้องกันการเกิดสาเหตุทั้งสุขภาพส่วนตัวของคนทำงานและสาเหตุจากสิ่งคุกคาม เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อการเจ็บป่วยหรือโรคจากการทำงาน ในที่นี้จะกล่าวถึงสิ่งคุกคามทางสารเคมีซึ่งเป็นสิ่งคุกคามจากการทำงานชนิดหนึ่งที่คนทำงานหากสัมผัสเป็นเวลานานๆโดยไม่มีการป้องกัน ส่งผลทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้
สารเคมีอันตราย หมายถึง สารเคมีที่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งผลกระทบอย่างฉับพลัน หรือเรื้อรัง มักรวมถึงสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง (Carcinogen) สารพิษ สารพิษที่ก่อให้เกิดผลต่อระบบสืบพันธุ์ (Reproductive toxins) สารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง (Irritants) สารที่ส่งผลต่อระบบเลือด ระบบประสาท เป็นต้นและสารเคมีมี 2 คุณสมบัติที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพคนทำงานที่ไปสัมผัสได้แก่
1.มีคุณสมบัติสิ่งคุกคามอันตราย (Hazard) คือ มีโอกาสที่สารเคมีจะก่อให้เกิดผลอันไม่พึงประสงค์ต่อสุขภาพร่างกาย
2.ความเป็นพิษ ( Toxicity) คือ มีศักยภาพของสารเคมีที่เกิดให้เกิดพิษ หรือความเป็นพิษ
ในหลักการป้องกันทางอาชีวอนามัย ถือว่าการที่ไม่รับสัมผัสสารย่อมไม่เกิดอันตราย ( No exposure-No hazard) สารเคมีที่มีความเป็นพิษสูง อาจเป็นสารที่มีอันตรายสูงหรือต่ำก็ได้ขึ้นกับโอกาส และสภาพการใช้สารนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น การใช้สารยาฆ่าแมลงจะสัมพันธ์ต่อการสัมผัสสาร CO ได้สูง เป็นต้น
หลักการป้องกันการสัมผัสสารเคมี
ดังที่กล่าวไว้ว่า “No exposure-No hazard” เป็นหลักการป้องกันทางอาชีวอนามัย แต่ถ้าหากจำเป็นต้องสัมผัสจริงๆ ก็ควรมีการป้องกันให้ดีหรือมีการสัมผัสให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมี โดยอะไรที่ควรทำเพื่อลดการบาดเจ็บ ลดอุบัติเหตุ ลดการรับสัมผัสสารเคมี ป้องกันการหกรั่วไหล และการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ให้เกิดน้อยที่สุด ทั้งหมดนี้จะอยู่ในหลักการป้องกันการสัมผัสสารเคมี 4 ประการสำคัญได้แก่
- ป้องกันที่ต้นเหตุ
การลดใช้สารเคมี หรือ การใช้สารเคมีที่มีพิษกว่าทดแทน เมื่อลดการใช้สารเคมีที่มีความเป็นพิษสูง ก็จะทำให้โอกาสเกิดการเจ็บป่วยหรือรับสัมพิษจากสารเคมีน้อยลง
- ป้องกันด้วยเครื่องใช้
การปรับเปลี่ยนเครื่องใช้ที่เหมาะสมกับงาน ซึ่งจะสามารถลดการสัมผัสสารเคมีโดยตรงได้เป็นอย่างดี เช่น มีระบบระบายอากาศเฉพาะที่(Local Exhaust Ventilation) ระบบการทำงานแบบปิด (Close system) การปิดคลุม (Enclosure)
ระบบระบายอากาศเฉพาะที่(Local Exhaust Ventilation)
ระบบการทำงานแบบปิด (Close system)
- ป้องกันด้วยหลักการทำงาน
การทำงานที่ได้มาตรฐาน โดยมีหลักการคือ เพื่อลดเวลาการสัมผัสสารเคมี เพื่อเพิ่มระยะห่างระหว่างสารเคมีกับคนทำงาน เพื่อปรับวิธีการให้เหมาะเอื้อต่อความปลอดภัยของคนทำงาน และเพื่อเพิ่มความชำนาณของคนทำงาน เมื่อคนทำงานมีความชำนาณในงานนั้น ก็จะลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุ ความเจ็บป่วยจากการทำงานได้
- ป้องกันด้วยเครื่องมือส่วนบุคคล
อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment; PPE) เช่น ถุงมือ หมวก และรองเท้า เป็นต้น ทั้งนี้ชนิดและการออกแบบของอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลขึ้นกับชนิด ปริมาณ ความเข้มข้น และระยะเวลาของสารเคมีที่จะไปสัมผัส ดังนั้นควรเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลให้เหมาะสมกับงาน และศึกษาวิธีการใช้และใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลให้ถูกต้องทุกครั้ง
เมื่อมีหลักการป้องกันการสัมผัสสารเคมีที่เหมาะสมแล้ว ก็ควรมีการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยจากการสัมผัสสารเคมีนั่นคือ การประเมินการสัมผัสสารเคมีเป็นระยะ เมื่อเกิดความผิดปกติจากการประเมิน เราก็สามารถแก้ไขได้ทันท่วงทีและลดโอกาสอันตรายจากการสัมผัสสารเคมีนั้นได้
การประเมินการสัมผัสสารเคมีนั้น มีวิธีการประเมินว่า คนทำงานมีการสัมผัส (Exposure) ต่อสารเคมี (Chemical hazards) มีหลายวิธีดังต่อไปนี้
- การซักประวัติสอบถามจากคนทำงานโดยตรง เช่น หาอาการที่ผิดปกติหรือสงสัยว่าน่าจะมาจากการสัมผัสสารเคมี เช่น อาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลียจากการทำงาน ผื่นแพ้อักเสบหลังเลิกงาน เป็นต้น
- การตรวจร่างกายคนทำงาน เช่น หาภาวะซีด ภาวะตัวเหลืองตาเหลือง ตับโต ม้ามโต เป็นต้น
- การตรวจวัดระดับสารเคมีในสิ่งแวดล้อม (Environment monitoring) เพื่อดูว่ามีระดับสารเคมีเพิ่มขึ้นเกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ หากมีระดับสารเคมีที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ ย่อมส่งผลเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่คนทำงานจะได้รับอันตรายจากการสัมผัสสารเคมีมากขึ้น
- การตรวจระดับสารเคมีในร่างกายของคนทำงาน (Biological monitoring) เพื่อดูว่าคนทำงานได้รับสารเคมีที่อยู่ในสถานที่ทำงานหรือสิ่งแวดล้อมหรือไม่
หนึ่งในสี่วิธีนี้สามารถใช้มาประเมินร่วมกันได้ โดยวิธีการตรวจระดับสารเคมีในร่างกายคนทำงานเป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด เพราะสามารถบอกได้โดยตรงว่าคนทำงานไปสัมผัสสารเคมีมากหรือน้อย
ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ
Biological marker (Biomarker) คือสารเคมีหรือค่าจากการตรวจใดๆก็ตามที่เราตรวจวัดจากร่างกายของคนทำงาน เพื่อดูว่า คนทำงานได้รับการสัมผัสสารเคมีที่อยู่ในที่ทำงานแล้วหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น โรงงานทำแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้สารตะกั่วในการทำบัคกรี ถ้าต้องการดูว่าคนทำงานมีการสัมผัสตะกั่วมากน้อยเพียงใด ก็สามารถตรวจสารตะกั่วในเลือด นั่นหมายความว่า สารตะกั่วในเลือด เป็นสารตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของตะกั่ว เป็นต้น
ชนิดของ Biomarker มีอยู่ 3 ชนิดได้แก่
- Biomarker of exposure หรือ Direct biomarker ตัวสารนั้น หรือ metobolite ของสารนั้น(สารเคมีที่ถูกเปลี่ยนสภาพโดยกระบวนการของร่างกาย) ที่วัดได้ในตัวอย่างชีวภาพของคนทำงาน เช่น ตรวจจากเลือด ปัสสาวะ อากาศที่หายใจ เส้นผล เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่นการตรวจสาร Syrene เมื่อเข้าไปร่างกายจะเปลี่ยนแปลง ผ่านกระบวนการทางเคมีในร่างกายจนกลายเป็น mandelic acid ซึ่งถือว่า การตรวจระดับ mandelic acid ในปัสสาวะ เป็นการตรวจ biomarker of exposure ของสาร Syrene เป้นต้น
- Biomarker of effect หรือ Indirect biomarker คือ การตรวจผลเปลี่ยนแปลงทางเคมี,ชีวภาพ,สรีรวิทยา หรือในระดับโมเลกุล ที่จะเกิดขึ้นแก่ร่างกายเมื่อได้รับสารพิษนั้นๆ เช่น เราทราบว่า การสัมผัส n-hexane จะทำให้เกิดอัมภาพที่เส้นประสาทได้ การตรวจการนำกระแสไฟฟ้าของเส้นประสาท(Nerve ConductionVelocety;NCV) เพื่อดูว่าเส้นประสาทเป็นอัมภาพไปหรือไม่ ก็ถือว่าเป็น Biomarker of effect ของสาร n-hexane
- Biomarker of susceptibility คือ การวัดระดับความไวรับ (Susceptibility) ในการเจ็บป่วยจากสารเคมีในแต่ละคน การตรวจนี้จะทำให้คาดการณ์ได้ว่า คนทำงานสัมผัสสารเคมีตัวที่พิจรณาแล้ว จะมีโอกาสเจ็บป่วยมากน้อยเพียงใด และเป็นการตรวจตั้งแต่ยังไม่ได้รับการสัมผัส (pre-exposure) และส่วนใหญ่เป็นการตรวจทางพันธุกรรม(genetic tesing) มักใช้ในทางการงานวิจัย ไม่ได้ใช้ในทางเวชปฏิบัติ
ซึ่งในทางเวชปฏิบัติจริงๆจะใช้ biomarker of exposure และ biomarker of effect เท่านั้น และbiomarker ในการหาสาเคมีตัวหนึ่งนั้น อาจมี biomarker of exposure หลายตัวได้ เช่น การตรวจหาสาร toluene มี biomarker ได้แก่ hipuric acid in Urine , Toluene in Urine,Toluene in Blood หรืออีกกรณีหนึ่งคือ สารเคมีหลายตัวก็อาจมี Biomarker of Exposure เป็นตัวเดียวกันได้ เช่น การตรวจหา acetone,isopropyl alcohol มี biomarker ตัวเดียวกันคือ acetone in Urine สำหรับการตรวจ biomarker นั้นทำเพื่อดูว่าคนทำงานมีการสัมผัส (exposure) กับสารเคมีแล้วดูดซึมเข้าไปในร่างกายหรือไม่ มากน้อยเพียงใด (Biological monitoring) ดังนั้นจึงมักมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับค่าสารเคมีในสิ่งแวดล้อมจากการทำงาน (Environment monitoring) เสมอ
ในการประเมินการสัมผัสสารเคมีนั้นควรทำการตรวจวัดทั้งระดับสารเคมีในสิ่งแวดล้อมการทำงาน(environment monitoring) และระดับสารเคมีในร่างกาย (biological monitoring) ควบคู่ กันไปด้วยเสมอ
เมื่อไหร่จึงควรสั่งตรวจ biomarker
เหตุผลหลัก คือ ตรวจเมื่อต้องการประเมินการสัมผัสสารเคมีในร่างกายคนทำงาน ส่วนเหตุผลรองลงมา คือ ตรวจเมื่อค่าตรวจระดับสารเคมีในสิ่งแวดล้อมมีระดับสูงเกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือเมื่อมีอาการพิษเกิดขึ้นกับผู้ป่วย โดยอิงจากกฎหมายที่กำหนดเกณฑ์มาตรฐานระดับสารเคมีในสถานที่ทำงานของกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดสารเคมีอันตรายที่ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้าง พ.ศ.2552
ในส่วนค่ามาตรฐานของ biomarker จะถูกกำหนดโดยองค์กรACGIH(American Conference of Government Industrial Hygienists) เป็นองค์กรที่กำหนดค่ามาตรฐานที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมากที่สุด โดยค่าที่กำหนดเรียกว่าค่า BEI ซึ่งแนะนำให้ใช้ค่า BEI ได้ในกรณีดังต่อไปนี้
- ประเมินการสัมผัสทางผิวหนัง (Skin absorption) และการกิน (Ingestion)
- ประเมินขนาดการสัมผัสสะสมในร่างกาย (body burden)
- คาดคะเนการสัมผัสในอดีต (past exposure) ในกรณีที่ไม่มีข้อมูลทางอื่น
- ประเมินการสัมผัสสารเคมีนอกงาน (non-occupational exposure)
- ทดสอบประสิทธิภาพของการควบคุมทางวิศวกรรม (engineering control)
- ทดสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Protective equipment)
- ตรวจสอบวินัยด้านความปลอดภัยในการทำงาน (work practice)
นอกจากยังมีปัจจัยที่มีผลต่อค่า BEI ที่ทำให้เปลี่ยนแปลงสูงหรือต่ำมากเกินความเป็นจริงได้อันได้แก่
- ความอ้วน-ผอม
- ระดับเมตาบอลิซึมของแต่ละคน
- อายุ เพศการตั้งครรภ์ โรคที่เป็นเช่น โรคตับโรคไต
- อาหารหรือยาที่รับประทาน
- การสัมผัสสารเคมีนอกงาน
- วิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- วิธีการเก็บตัวอย่าง การรักษาสภาพตัวอย่าง
- การปนเปื้อนระหว่างเก็บตัวอย่าง
และ BEI ยังมีข้อจำกัดบางอย่างที่ควรระลึกไว้เสมอ คือ biomarker เอาไว้ประเมินการสัมผัส (Exposure) ต่อสารเคมี ซึ่งถ้าค่าเกินมาตรฐานนั่นแปลว่า คนทำงาน อาจมีการสัมผัสสารเคมีนั้น แต่ไม่ใช่เป็นการตัดตายหรือ cut point เพื่อวินิจฉัยโรคพิษจากสารเคมี ไม่ได้เอาไว้ทดแทนการตรวจระดับสารเคมีในสิ่งแวดล้อม และไม่ได้เอาไว้ยืนยันว่าถ้าที่ตรวจวัดได้ต่ำแล้วโรคจะไม่ได้เกิดขึ้น
คำแนะนำเมื่อตรวจพบ Biomarker สูงกว่ามาตรฐาน
- พิจรณาตรวจยืนยัน และดูปัจจัยความแปรปรวนต่างๆ
- ย้อนกลับไปดูผลตรวจ environment monitoring
- ซักประวัติเพิ่มเติม ตรวจร่าวงกาย หาอาการพิษ ถ้ามีให้ทำการรักษาโดยแพทย์
- ถ้าประเมินแล้วน่าจะมาจากการสัมผัสสารเคมีจริงๆ ให้พิจรณาว่าปัญหาเกิดจากแหล่งใดใน 3 แหล่งได้แก่
หาสาเหตุจากแหล่งกำเนิดของสารเคมี (Source)
หาสาเหตุหนทาง (Pathway) และช่องทางการสัมผัส (Route)
หาสาเหตุและหาวิธีลดการสัมผัสของตัวบุคคลทำงาน (Person)
ข้อควรรู้เกี่ยวกับ biomarker
แร่ธาตุอื่นๆที่ตรวจ biomarker สามารถตรวจได้ถ้ามีการสัมผัส และมีค่ามาตรฐานที่องค์กร ACGIH-BEI กำหนดไว้ เช่น Cadmium Chromium (VI) Cobalt Fluoride Mercury Uranium เป็นต้น แต่แร่ธาตุที่เป็น Essential elements มีอยู่ในร่างกายมนุษย์อยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะไม่สามารถส่งตรวจ biomarker ได้เพราะไม่มีค่ามาตรฐานให้แปลผลและพบได้ในร่างกายคนทั่วไปอยู่แล้ว เช่น Copper Chromium (III) Iron Magnesium Selenium Zinc เป็นต้น
หากมีข้อสงสัยเรื่องการตรวจสารบ่งชีทางชีวภาพว่าจะตรวจตัวไหนบ้างไม่ต้องตรวจตัวไหนบ้าง สามารถปรึกษากับแพทย์ด้านอาชีวเวชศาสตร์ เพื่อจะได้รับคำแนะนำและการตรวจสารบ่งชีทางชีวภาพที่ถูกต้อง
ข้อมูลโดย
นายแพทย์วรวัฒน์ โนหล้า
แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ Occupational Medicine
แพทย์ประจำศูนย์สุขภาพและอาชีวอนามัย
โรงพยาบาลบางโพ
You must be logged in to post a comment.