อาการปวดหลังส่วนล่าง จากการทำงาน

อาการปวดหลังส่วนล่าง (Low back pain) คือ อาการปวดกล้ามเนื้อหลังตึงหรือมีอาการหลังแข็ง ตั้งแต่ล่างต่อชายโครงไปจนถึงส่วนล่างของแก้มก้น อาจมีอาการปวดร้าวลงไปที่ขาร่วมด้วย บางรายปวดจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนปกติ พบได้บ่อยในวัยทำงานและผู้สูงอายุ รวมถึงลักษณะงานที่ทำให้ปวดหลังได้แก่ คนที่ต้องทำงานประเภทแบกหาม ยกของหนักงานที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บเฉียบพลัน เช่น การยกของที่อยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสม งานที่ก้มๆ เงยๆ หรือบิดเอวเป็นประจำเป็นระยะเวลานาน คนที่ทำงานนั่งโต๊ะหรือนั่งกับพื้นเป็นประจำ เช่น ขับรถ เป็นต้น
อาการปวดหลังสามารถแบ่งตามระยะเวลาได้ 3 ประเภท ได้แก่
  1. อาการปวดหลังแบบเฉียบพลัน (Acute low back pain) คือ อาการปวดหลังอย่างต่อเนื่องน้อยกว่า 6 สัปดาห์
  2. อาการปวดหลังกึ่งเฉียบพลัน (Subacute low back pain) คือ อาการปวดหลังอย่างต่อเนื่องมากกว่า 6 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 3 เดือน
  3. อาการปวดหลังเรื้อรัง (Chronic low back pain) คือ อาการปวดหลังอย่างต่อเนื่องมากกว่า 3 เดือน
การบาดเจ็บต่อโครงสร้างและเนื้อเยื่อต่าง ๆ บริเวณบั้นเอวเกิดขึ้นได้ 2 กรณี
  1. การบาดเจ็บที่เกิดจากแรงกระทำที่มากผิดปกติ ต่อโครงสร้างที่ผิดปกติ เช่น จากการถูกรถชน จากการถูกของแข็งมากระแทก
  2. การบาดเจ็บที่เกิดจากแรงกระทำที่ปกติ แต่โครงสร้างที่เริ่มเสื่อมทรุดโทรมหรือโครงสร้างส่วนนั้นยังไม่พร้อมรับแรงกระทำนั้นๆ เช่น กล้ามเนื้อและเอ็นที่ยังไม่ได้รับการอบอุ่นและยืดหยุ่นที่เพียงพอ
แล้วได้รับแรงกระชากทันที มีผลทำให้เกิดการฉีกขาดของกล้ามเนื้อและเอ็นได้ เช่น กรณีของกล้ามเนื้อเอวเคล็ดจากการทำงาน (back strain)
อาการปวดหลังจากการทำงาน
  1. กลุ่มอาการปวดหลังเฉียบพลัน เกิดจากการก้มยกของหรือการบิดเอวที่ผิดจังหวะ จะมีอาการปวดแบบกระจายบริเวณเอวส่วนล่าง หรือบริเวณแก้มก้นอาจร้าวไปบริเวณ ต้นขา แต่ไม่ถึงหัวเข่า และจะปวดมากขึ้นเมื่อเคลื่อนไหว หากได้พักหรือเคลื่อนไหวน้อยลงอาการปวดจะทุเลา
  2. กลุ่มอาการปวดร้าวไปที่ขา มีอาการคล้ายกับกลุ่มแรกแต่มีอาการปวดร้าวบริเวณน่องและปลายเท้า ซึ่งการปวดร้าวขึ้นกับรากประสาทที่เกี่ยวข้องอาการอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ อาการปวดตามแนวรากประสาท ซึ่งแสดงออกโดยผลตรวจด้วยการโยกขาที่เหยียดตรงในขณะที่ผู้ป่วยนอนให้ผลบวก อาจพบการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ และอาการชาผิวหนังที่เลี้ยงด้วยรากประสาทที่เกี่ยวข้องตลอดจนอาการลดลงของปฏิกิริยา reflex หรืออาจมีอาการผิดปกติด้านการขับถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะ ซึ่งเกิดจากการกดทับของรากประสาทกระเบนเหน็บหลายเส้น
  3. กลุ่มอาการปวดล้าบริเวณน่องขณะเดินและผู้ป่วยต้องหยุดเดินหลังจากเดินได้ระยะทางหนึ่ง กลุ่มนี้มักเกิดจากการตีบแคบของโพรงรากประสาท และความเสื่อมของกระดูกสันหลัง
การวินิจฉัยโรค
  1. ประวัติการทำงาน ลักษณะงานหรือท่าทางการทำงานที่มีกิจกรรมซ้ำในท่าเดิมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เช่น พนักงานออฟฟิศ นั่งทำงานทั้งวัน ไม่ค่อยขยับร่างกาย หรือ พนักงานที่ยกของหนักเป็นประจำ มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดอาการปวดหลัง หรือการใช้ท่าทางในการยกของที่ผิด, อุบัติเหตุจากการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น พลัดตกหกล้ม การตกจากที่สูง
  2. การตรวจวินิจฉัยทางรังสี (Radiographic Investigation)
    ผู้ที่มีอาการปวดหลังส่วนล่างไม่มีความจำเป็นที่ต้องรับการตรวจภาพถ่ายทางรังสีทุกราย โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งมีอาการมาไม่นานและไม่รุนแรง ซึ่งภาพถ่ายทางรังสีแต่ละชนิดจะให้ข้อมูลและประโยชน์กับผู้ป่วยปวดหลังส่วนล่างต่างกันไป เช่น

    • Plain radiograph การ x-ray ธรรมดา เป็นขั้นแรกที่ควรส่งตรวจเนื่องจากสะดวกและราคาถูก สามารถให้ข้อมูลได้พอสมควร โดยเฉพาะเกี่ยวกับโครงสร้างของกระดูกสันหลังที่มีลักษณะผิดรูปต่าง ๆ แต่ไม่สามารถดูความผิดปกติของหมอนรองกระดูก เส้นประสาทและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue)
    • Computerized Tomography (CT Scan) ภาพถ่ายทางรังสีด้วยวิธี CT Scan ใช้ดูโครงสร้างของกระดูกคล้ายกับการดู Plain film แต่มีความละเอียดกว่ามาก และมีการตัดภาพของแต่ละส่วนในระนาบต่าง ๆ ทำให้เห็นพยาธิสภาพของกระดูกได้ชัดเจน อย่างไรก็ตามข้อเสียของ CT Scan คือไม่สามารถดูเนื้อเยื่อเกี่ยวพันรวมถึงหมอนรองกระดูก
    • Resonance Imaging (MRI) การถ่ายภาพกระดูกสันหลังด้วยการ x-ray คลื่นสนามแม่เหล็ก เป็นการส่งตรวจที่ให้ความละเอียดสูงสุดและสามารถให้มุมมองภายในของกระดูกสันหลังในทุกระนาบ สามารถดูได้ทั้งหมอนรองกระดูก กล้ามเนื้อ เส้นประสาท กระดูก น้ำไขสันหลัง รวมทั้งสามารถบอกพยาธิสภาพได้ เช่น มีการอักเสบ หนอง เลือด เป็นต้น ดังนั้นการตรวจ MRI จึงเป็นการตรวจที่ดีที่สุดในการค้นหาความผิดปกติและช่วยวินิจฉัยโรคที่อยู่บริเวณกระดูกสันหลัง
การักษาและฟื้นฟูอาการปวดหลังส่วนล่าง


เมื่อปวดหลังส่วนล่างมีอาการรุนแรงหรือเป็นเรื้อรัง ควรเข้าไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ และทำการรักษาต่อไป โดยแพทย์จะเป็นผู้แนะนำทางเลือกที่เหมาะสมกับอาการและข้อจำกัดของคนไข้แต่ละคน เพื่อให้ได้การรักษาที่ตรงจุด สำหรับวิธีการรักษาก็จะมีตั้งแต่การใช้ยา และการรักษาโดยเวชศาสตร์ฟื้นฟู

  1. ยา การใช้ยากลุ่มบรรเทาอาการปวด ยาลดการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาลดความปวดเส้นประสาทจะถูกจัดให้ตามความเหมาะสม และตามโรคที่คนไข้เป็น แพทย์จะเป็นผู้กำหนดให้เหมาะสมกับตัวโรคและข้อควรระวังในการใช้ยา
  2. กายภาพบำบัด มุ่งเน้นการดูแลรักษา แก้ไขความเจ็บปวดฟื้นฟูสภาพร่างกายของผู้ป่วยให้กลับมาแข็งแรง ทำให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกมากขึ้น สำหรับผู้ที่ปวดหลังส่วนล่าง ที่จะออกแบบโปรแกรมให้กับผู้ป่วยแต่ละคนโดยเฉพาะ ซึ่งมีหลายวิธีด้วยกันดังนี้
    • การประคบแผ่นร้อน
    • การลดปวดโดยใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น PMS, High Power Laser, Ultrasound และอื่น ๆ
    • การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
    • Manual technique และการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลัง
    • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วย ปรับท่าทางให้ถูกต้อง
  3. การฉีดยาเข้าโพรงประสาท เพื่อลดการอักเสบของระบบประสาทเส้นนั้น ๆ
  4. การรักษาโดยการผ่าตัด การรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างด้วยการผ่าตัดเป็นวิธีการรักษาขั้นสุดท้ายที่แพทย์จะแนะนำ เมื่อการรักษารูปแบบอื่นๆ ไม่ได้ผล
การป้องกัน
ปัญหาปวดหลังส่วนล่าง ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนั้น จึงเป็นโรคที่สามารถลดความเสี่ยงและป้องกันได้ เพียงแค่ต้องมีการดูแลตัวเองให้เป็นอย่างดี และเหมาะสม ดังนี้
  • ควบคุมน้ำหนัก
  • ออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อหลังและแกนกลางลำตัวแข็งแรง
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ เช่น การยกของหนักมากๆ และการยกให้ถูกวิธี
  • ไม่อยู่ในท่าเดิมซ้ำๆ หากต้องนั่งทำงานทั้งวันควรเปลี่ยนท่าทางอิริยาบถทุกๆ 1 ชั่วโมง และหมั่นยืดเหยียดกล้ามเนื้อหลังและขา

โปรแกรมและแพ็คเกจ