สุขภาพของคนทำงาน ตอน “การป้องกันการสัมผัสจากสารเคมี”

Tablet with the text Occupational Health and Safety

ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพและหลักการป้องกันการสัมผัสจากสารเคมี

ในการดำเนินงานทางด้านอาชีวอนามัยนั้น การดูแลสุขภาพของคนทำงานที่สัมผัสสารเคมีต่างๆ ถือเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอีกประการหนึ่ง โดยหลักการพื้นฐานทางอาชีวเวชศาสตร์ มีแนวคิดหลักที่ว่าคนทำงานสามารถจะเกิดความเจ็บป่วยหรือโรคที่เกิดจากการทำงานได้เกิดจากสาเหตุ 2 ทาง อันได้แก่

  1. สุขภาพส่วนตัวของคนทำงาน (Host)  เช่น โรคประจำตัว พฤติกรรมการใช้ชีวิตส่วนตัว อาหาร ยา การดื่มสุรา สูบบุหรี่ สุขภาพจิตและอารมณ์ส่วนบุคคล ของคนที่ทำงาน เป็นต้น
  2. สิ่งคุกคามจากสถานที่ทำงานหรือสิ่งแวดล้อมที่คนทำงานเข้าไปทำงาน (Hazard) ซึ่งมีอยู่ 5 ประการ ได้แก่ สิ่งคุกคามทางกายภาพ (Physical Hazard) สิ่งคุกคามทางชีวภาพ (Biological Hazard) สิ่งคุกคามทางเคมี (Chemical Hazard) สิ่งคุกคามทางการยศาสตร์ (Ergonomic Hazard) สิ่งคุกคามทางจิตสังคม (Psychosocial Hazard)

(ภาพอ้างอิงจาก: สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมกรมควบคุมโรค)

เมื่อมีสาเหตุ 2 ทางเกิดขึ้นกับคนทำงานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุจากคนทำงานเอง หรือสาเหตุจากการสัมผัสสิ่งคุกคามในที่ทำงานหรือสิ่งแวดล้อม หรือทั้งสองสาเหตุ ก็จะทำเกิดการเจ็บป่วยหรือโรคที่เกิดจากการทำงานได้ ดังนั้นเราควรป้องกันการเกิดสาเหตุทั้งสุขภาพส่วนตัวของคนทำงานและสาเหตุจากสิ่งคุกคาม เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อการเจ็บป่วยหรือโรคจากการทำงาน  ในที่นี้จะกล่าวถึงสิ่งคุกคามทางสารเคมีซึ่งเป็นสิ่งคุกคามจากการทำงานชนิดหนึ่งที่คนทำงานหากสัมผัสเป็นเวลานานๆโดยไม่มีการป้องกัน ส่งผลทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้

สารเคมีอันตราย หมายถึง สารเคมีที่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งผลกระทบอย่างฉับพลัน หรือเรื้อรัง มักรวมถึงสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง (Carcinogen) สารพิษ สารพิษที่ก่อให้เกิดผลต่อระบบสืบพันธุ์ (Reproductive toxins) สารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง (Irritants) สารที่ส่งผลต่อระบบเลือด ระบบประสาท เป็นต้นและสารเคมีมี 2 คุณสมบัติที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพคนทำงานที่ไปสัมผัสได้แก่

1.มีคุณสมบัติสิ่งคุกคามอันตราย (Hazard) คือ มีโอกาสที่สารเคมีจะก่อให้เกิดผลอันไม่พึงประสงค์ต่อสุขภาพร่างกาย

2.ความเป็นพิษ ( Toxicity) คือ มีศักยภาพของสารเคมีที่เกิดให้เกิดพิษ หรือความเป็นพิษ

ในหลักการป้องกันทางอาชีวอนามัย ถือว่าการที่ไม่รับสัมผัสสารย่อมไม่เกิดอันตราย ( No exposure-No hazard) สารเคมีที่มีความเป็นพิษสูง อาจเป็นสารที่มีอันตรายสูงหรือต่ำก็ได้ขึ้นกับโอกาส และสภาพการใช้สารนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น การใช้สารยาฆ่าแมลงจะสัมพันธ์ต่อการสัมผัสสาร CO ได้สูง เป็นต้น

หลักการป้องกันการสัมผัสสารเคมี

ดังที่กล่าวไว้ว่า “No exposure-No hazard” เป็นหลักการป้องกันทางอาชีวอนามัย แต่ถ้าหากจำเป็นต้องสัมผัสจริงๆ ก็ควรมีการป้องกันให้ดีหรือมีการสัมผัสให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมี โดยอะไรที่ควรทำเพื่อลดการบาดเจ็บ ลดอุบัติเหตุ ลดการรับสัมผัสสารเคมี ป้องกันการหกรั่วไหล และการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ให้เกิดน้อยที่สุด ทั้งหมดนี้จะอยู่ในหลักการป้องกันการสัมผัสสารเคมี 4 ประการสำคัญได้แก่

  1. ป้องกันที่ต้นเหตุ

การลดใช้สารเคมี หรือ การใช้สารเคมีที่มีพิษกว่าทดแทน เมื่อลดการใช้สารเคมีที่มีความเป็นพิษสูง ก็จะทำให้โอกาสเกิดการเจ็บป่วยหรือรับสัมพิษจากสารเคมีน้อยลง

 

  1. ป้องกันด้วยเครื่องใช้

การปรับเปลี่ยนเครื่องใช้ที่เหมาะสมกับงาน ซึ่งจะสามารถลดการสัมผัสสารเคมีโดยตรงได้เป็นอย่างดี เช่น มีระบบระบายอากาศเฉพาะที่(Local Exhaust Ventilation) ระบบการทำงานแบบปิด (Close system) การปิดคลุม (Enclosure)

 

ระบบระบายอากาศเฉพาะที่(Local Exhaust Ventilation)

ระบบการทำงานแบบปิด (Close system)

  1. ป้องกันด้วยหลักการทำงาน

การทำงานที่ได้มาตรฐาน โดยมีหลักการคือ เพื่อลดเวลาการสัมผัสสารเคมี เพื่อเพิ่มระยะห่างระหว่างสารเคมีกับคนทำงาน เพื่อปรับวิธีการให้เหมาะเอื้อต่อความปลอดภัยของคนทำงาน และเพื่อเพิ่มความชำนาณของคนทำงาน เมื่อคนทำงานมีความชำนาณในงานนั้น ก็จะลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุ ความเจ็บป่วยจากการทำงานได้

  1. ป้องกันด้วยเครื่องมือส่วนบุคคล

อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment; PPE) เช่น ถุงมือ หมวก และรองเท้า เป็นต้น ทั้งนี้ชนิดและการออกแบบของอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลขึ้นกับชนิด ปริมาณ ความเข้มข้น และระยะเวลาของสารเคมีที่จะไปสัมผัส ดังนั้นควรเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลให้เหมาะสมกับงาน และศึกษาวิธีการใช้และใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลให้ถูกต้องทุกครั้ง

เมื่อมีหลักการป้องกันการสัมผัสสารเคมีที่เหมาะสมแล้ว ก็ควรมีการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยจากการสัมผัสสารเคมีนั่นคือ การประเมินการสัมผัสสารเคมีเป็นระยะ เมื่อเกิดความผิดปกติจากการประเมิน เราก็สามารถแก้ไขได้ทันท่วงทีและลดโอกาสอันตรายจากการสัมผัสสารเคมีนั้นได้

การประเมินการสัมผัสสารเคมีนั้น มีวิธีการประเมินว่า คนทำงานมีการสัมผัส (Exposure) ต่อสารเคมี (Chemical hazards) มีหลายวิธีดังต่อไปนี้

  1. การซักประวัติสอบถามจากคนทำงานโดยตรง เช่น หาอาการที่ผิดปกติหรือสงสัยว่าน่าจะมาจากการสัมผัสสารเคมี เช่น อาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลียจากการทำงาน ผื่นแพ้อักเสบหลังเลิกงาน เป็นต้น
  2. การตรวจร่างกายคนทำงาน เช่น หาภาวะซีด ภาวะตัวเหลืองตาเหลือง ตับโต ม้ามโต เป็นต้น
  3. การตรวจวัดระดับสารเคมีในสิ่งแวดล้อม (Environment monitoring) เพื่อดูว่ามีระดับสารเคมีเพิ่มขึ้นเกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ หากมีระดับสารเคมีที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ ย่อมส่งผลเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่คนทำงานจะได้รับอันตรายจากการสัมผัสสารเคมีมากขึ้น
  4. การตรวจระดับสารเคมีในร่างกายของคนทำงาน (Biological monitoring) เพื่อดูว่าคนทำงานได้รับสารเคมีที่อยู่ในสถานที่ทำงานหรือสิ่งแวดล้อมหรือไม่

หนึ่งในสี่วิธีนี้สามารถใช้มาประเมินร่วมกันได้ โดยวิธีการตรวจระดับสารเคมีในร่างกายคนทำงานเป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด เพราะสามารถบอกได้โดยตรงว่าคนทำงานไปสัมผัสสารเคมีมากหรือน้อย

ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ

Biological marker (Biomarker) คือสารเคมีหรือค่าจากการตรวจใดๆก็ตามที่เราตรวจวัดจากร่างกายของคนทำงาน เพื่อดูว่า คนทำงานได้รับการสัมผัสสารเคมีที่อยู่ในที่ทำงานแล้วหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น โรงงานทำแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้สารตะกั่วในการทำบัคกรี ถ้าต้องการดูว่าคนทำงานมีการสัมผัสตะกั่วมากน้อยเพียงใด ก็สามารถตรวจสารตะกั่วในเลือด นั่นหมายความว่า สารตะกั่วในเลือด เป็นสารตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของตะกั่ว เป็นต้น

ชนิดของ Biomarker มีอยู่ 3 ชนิดได้แก่

  1. Biomarker of exposure หรือ Direct biomarker ตัวสารนั้น หรือ metobolite ของสารนั้น(สารเคมีที่ถูกเปลี่ยนสภาพโดยกระบวนการของร่างกาย) ที่วัดได้ในตัวอย่างชีวภาพของคนทำงาน เช่น ตรวจจากเลือด ปัสสาวะ อากาศที่หายใจ เส้นผล เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่นการตรวจสาร Syrene เมื่อเข้าไปร่างกายจะเปลี่ยนแปลง ผ่านกระบวนการทางเคมีในร่างกายจนกลายเป็น mandelic acid ซึ่งถือว่า การตรวจระดับ mandelic acid ในปัสสาวะ เป็นการตรวจ biomarker of exposure ของสาร Syrene เป้นต้น
  2. Biomarker of effect หรือ Indirect biomarker คือ การตรวจผลเปลี่ยนแปลงทางเคมี,ชีวภาพ,สรีรวิทยา หรือในระดับโมเลกุล ที่จะเกิดขึ้นแก่ร่างกายเมื่อได้รับสารพิษนั้นๆ เช่น เราทราบว่า การสัมผัส n-hexane จะทำให้เกิดอัมภาพที่เส้นประสาทได้ การตรวจการนำกระแสไฟฟ้าของเส้นประสาท(Nerve ConductionVelocety;NCV) เพื่อดูว่าเส้นประสาทเป็นอัมภาพไปหรือไม่ ก็ถือว่าเป็น Biomarker of effect ของสาร n-hexane
  3. Biomarker of susceptibility คือ การวัดระดับความไวรับ (Susceptibility) ในการเจ็บป่วยจากสารเคมีในแต่ละคน การตรวจนี้จะทำให้คาดการณ์ได้ว่า คนทำงานสัมผัสสารเคมีตัวที่พิจรณาแล้ว จะมีโอกาสเจ็บป่วยมากน้อยเพียงใด และเป็นการตรวจตั้งแต่ยังไม่ได้รับการสัมผัส (pre-exposure) และส่วนใหญ่เป็นการตรวจทางพันธุกรรม(genetic tesing) มักใช้ในทางการงานวิจัย ไม่ได้ใช้ในทางเวชปฏิบัติ

ซึ่งในทางเวชปฏิบัติจริงๆจะใช้ biomarker of exposure และ biomarker of effect เท่านั้น และbiomarker ในการหาสาเคมีตัวหนึ่งนั้น อาจมี biomarker of exposure หลายตัวได้ เช่น การตรวจหาสาร toluene มี biomarker ได้แก่ hipuric acid in Urine , Toluene in Urine,Toluene in Blood หรืออีกกรณีหนึ่งคือ สารเคมีหลายตัวก็อาจมี Biomarker of Exposure เป็นตัวเดียวกันได้ เช่น การตรวจหา acetone,isopropyl alcohol มี biomarker ตัวเดียวกันคือ acetone in Urine สำหรับการตรวจ biomarker นั้นทำเพื่อดูว่าคนทำงานมีการสัมผัส (exposure) กับสารเคมีแล้วดูดซึมเข้าไปในร่างกายหรือไม่ มากน้อยเพียงใด (Biological monitoring) ดังนั้นจึงมักมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับค่าสารเคมีในสิ่งแวดล้อมจากการทำงาน (Environment monitoring) เสมอ

ในการประเมินการสัมผัสสารเคมีนั้นควรทำการตรวจวัดทั้งระดับสารเคมีในสิ่งแวดล้อมการทำงาน(environment monitoring) และระดับสารเคมีในร่างกาย (biological monitoring) ควบคู่ กันไปด้วยเสมอ

เมื่อไหร่จึงควรสั่งตรวจ biomarker

เหตุผลหลัก คือ ตรวจเมื่อต้องการประเมินการสัมผัสสารเคมีในร่างกายคนทำงาน  ส่วนเหตุผลรองลงมา คือ ตรวจเมื่อค่าตรวจระดับสารเคมีในสิ่งแวดล้อมมีระดับสูงเกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือเมื่อมีอาการพิษเกิดขึ้นกับผู้ป่วย โดยอิงจากกฎหมายที่กำหนดเกณฑ์มาตรฐานระดับสารเคมีในสถานที่ทำงานของกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดสารเคมีอันตรายที่ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้าง พ.ศ.2552

ในส่วนค่ามาตรฐานของ biomarker จะถูกกำหนดโดยองค์กรACGIH(American Conference of Government Industrial Hygienists) เป็นองค์กรที่กำหนดค่ามาตรฐานที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมากที่สุด โดยค่าที่กำหนดเรียกว่าค่า BEI ซึ่งแนะนำให้ใช้ค่า BEI ได้ในกรณีดังต่อไปนี้

  • ประเมินการสัมผัสทางผิวหนัง (Skin absorption) และการกิน (Ingestion)
  • ประเมินขนาดการสัมผัสสะสมในร่างกาย (body burden)
  • คาดคะเนการสัมผัสในอดีต (past exposure) ในกรณีที่ไม่มีข้อมูลทางอื่น
  • ประเมินการสัมผัสสารเคมีนอกงาน (non-occupational exposure)
  • ทดสอบประสิทธิภาพของการควบคุมทางวิศวกรรม (engineering control)
  • ทดสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Protective equipment)
  • ตรวจสอบวินัยด้านความปลอดภัยในการทำงาน (work practice)

นอกจากยังมีปัจจัยที่มีผลต่อค่า BEI ที่ทำให้เปลี่ยนแปลงสูงหรือต่ำมากเกินความเป็นจริงได้อันได้แก่

  • ความอ้วน-ผอม
  • ระดับเมตาบอลิซึมของแต่ละคน
  • อายุ เพศการตั้งครรภ์ โรคที่เป็นเช่น โรคตับโรคไต
  • อาหารหรือยาที่รับประทาน
  • การสัมผัสสารเคมีนอกงาน
  • วิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
  • วิธีการเก็บตัวอย่าง การรักษาสภาพตัวอย่าง
  • การปนเปื้อนระหว่างเก็บตัวอย่าง

และ BEI ยังมีข้อจำกัดบางอย่างที่ควรระลึกไว้เสมอ คือ biomarker เอาไว้ประเมินการสัมผัส (Exposure) ต่อสารเคมี ซึ่งถ้าค่าเกินมาตรฐานนั่นแปลว่า คนทำงาน อาจมีการสัมผัสสารเคมีนั้น แต่ไม่ใช่เป็นการตัดตายหรือ cut point เพื่อวินิจฉัยโรคพิษจากสารเคมี  ไม่ได้เอาไว้ทดแทนการตรวจระดับสารเคมีในสิ่งแวดล้อม และไม่ได้เอาไว้ยืนยันว่าถ้าที่ตรวจวัดได้ต่ำแล้วโรคจะไม่ได้เกิดขึ้น

คำแนะนำเมื่อตรวจพบ Biomarker สูงกว่ามาตรฐาน

  1. พิจรณาตรวจยืนยัน และดูปัจจัยความแปรปรวนต่างๆ
  2. ย้อนกลับไปดูผลตรวจ environment monitoring
  3. ซักประวัติเพิ่มเติม ตรวจร่าวงกาย หาอาการพิษ ถ้ามีให้ทำการรักษาโดยแพทย์
  4. ถ้าประเมินแล้วน่าจะมาจากการสัมผัสสารเคมีจริงๆ ให้พิจรณาว่าปัญหาเกิดจากแหล่งใดใน 3 แหล่งได้แก่

หาสาเหตุจากแหล่งกำเนิดของสารเคมี (Source)

หาสาเหตุหนทาง (Pathway) และช่องทางการสัมผัส (Route)

หาสาเหตุและหาวิธีลดการสัมผัสของตัวบุคคลทำงาน (Person)

ข้อควรรู้เกี่ยวกับ biomarker

           แร่ธาตุอื่นๆที่ตรวจ biomarker สามารถตรวจได้ถ้ามีการสัมผัส และมีค่ามาตรฐานที่องค์กร ACGIH-BEI กำหนดไว้ เช่น Cadmium Chromium (VI) Cobalt Fluoride Mercury Uranium เป็นต้น แต่แร่ธาตุที่เป็น Essential elements มีอยู่ในร่างกายมนุษย์อยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะไม่สามารถส่งตรวจ biomarker ได้เพราะไม่มีค่ามาตรฐานให้แปลผลและพบได้ในร่างกายคนทั่วไปอยู่แล้ว เช่น Copper Chromium (III) Iron Magnesium Selenium Zinc เป็นต้น

หากมีข้อสงสัยเรื่องการตรวจสารบ่งชีทางชีวภาพว่าจะตรวจตัวไหนบ้างไม่ต้องตรวจตัวไหนบ้าง สามารถปรึกษากับแพทย์ด้านอาชีวเวชศาสตร์ เพื่อจะได้รับคำแนะนำและการตรวจสารบ่งชีทางชีวภาพที่ถูกต้อง

 

ข้อมูลโดย
นายแพทย์วรวัฒน์ โนหล้า
แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ Occupational Medicine
แพทย์ประจำศูนย์สุขภาพและอาชีวอนามัย
โรงพยาบาลบางโพ

 

 

#ฝุ่น #ควัน #ฝุ่นละอองกรุงเทพ #มลพิษทางอากาศ #สุขภาพคนเมือง #สุขภาพคนทำงาน
#หน้ากากอนามัย #วิธีการป้องกันฝุ่นควัน #Bangpohospital #ศูนย์สุขภาพและอาชีวอนามัย

เส้นเลือดขอด

เส้นเลือดขอด

เส้นเลือดขอดหมายถึงภาวะที่มีการขยายตัวผิดปกติของหลอดเลือดดำในผิวหนังชั้นตื้นของขา ผู้ป่วยที่มีปัญหาเส้นเลือดขอดจะมีอาการแสดงได้หลากหลายตั้งแต่เห็นหลอดเลือดโป่งนูนที่ขาเล็กน้อย จนถึงมีแผลเส้นเลือดขอดเรื้อรังที่ขาซึ่งรักษาให้หายได้ยากในผู้ป่วยที่เป็นเส้นเลือดขอดแบบรุนแรง

รูปแสดงหลอดเลือดดำในผิวหนังชั้นตื้นของขา

สาเหตุของเส้นเลือดขอด

ส่วนใหญ่เกิดจากผนังของหลอดเลือดและลิ้นกั้นเลือดในหลอดเลือดดำผิดปกติก่อให้เกิดการไหลกลับของเลือดในหลอดเลือดดำ และภาวะเส้นเลือดขอดนี้อาจเกิดตามหลังการอุดตันของหลอดเลือดดำในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดดำอักเสบ(phlebitis)หรือ ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ(deep vein thrombosis)

การวินิจฉัยภาวะเส้นเลือดขอด

การตรวจวินิจฉัยภาวะเส้นเลือดขอดให้มีความแม่นยำนั้นจำเป็นต้องมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติมด้วยการทำอัลตราซาวน์หลอดเลือดดำที่บริเวณขาโดยศัลยแพทย์หลอดเลือดหรือรังสีแพทย์เฉพาะทาง เพื่อประเมินว่าสาเหตุของเส้นเลือดขอดอยุ่ตำแหน่งใด และมีสาเหตุร่วมอื่นหรือไม่

การรักษาเส้นเลือดขอด

การรักษาด้วยยากลุ่ม flavonoid หรือสารสกัดจากพืชกลุ่ม horse chestnut จะช่วยให้ผู้ป่วยเส้นเลือดขอด ลดอาการบวมของขา และลดการอักเสบของผิวหนัง ทำให้อาการเหล่านี้ดีขึ้นได้

อาการของเส้นเลือดขอด

อาการที่พบในผู้ป่วยเส้นเลือดขอดได้แก่ ปวดน่อง คัน รู้สึกแสบร้อนหรือเป็นตะคริวที่น่อง หนักขาเป็นต้น พบร่วมกับมีขาบวมหลังยืนหรือห้อยขาเป็นเวลานาน มีหลอดเลือดฝอย และเส้นเลือดขอดที่ปลายเท้า และหากอาการรุนแรงมากขึ้นจะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่ขา โดยผิวหนังจะแข็งตึง และดำคล้ำร่วมกับเกิดแผลเรื้อรังที่บริเวณข้อเท้าได้

รูปแสดงเส้นเลือดขอดที่ขา

การรักษาด้วยการใช้ถุงน่องป้องกันเส้นเลือดขอด(compression stockings) ภายใต้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดของศัลยแพทย์หลอดเลือดเพื่อเลือกแรงรัดที่เหมาะสมของถุงน่องกับอาการผู้ป่วยจะช่วยลดอาการปวดบวมขา และช่วยทำให้ผู้ป่วยที่มีแผลจากเส้นเลือดขอดหายได้ง่ายขึ้น

การรักษาด้วยการผ่าตัด มีประโยชน์ในผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการผิดปกติจากเส้นเลือดขอดร่วมกับตรวจพบว่ามีลิ้นกั้นเลือดในหลอดเลือดดำทำงานผิดปกติ เกิดมีการไหลย้อนทางของเลือดในหลอดเลือดดำที่ขา การรักษาด้วยการผ่าตัดปัจจุบันมีการรักษา 2 แบบคือ

  1. รักษาด้วยการผ่าตัดเปิด เป็นการผ่าตัดเปิดแผลเพื่อนำหลอดเลือดดำของขาที่มีปัญหาออก (high ligation with venous stripping)
  2. รักษาแบบ minimal invasive surgery เป็นการรักษาเส้นเลือดขอดวิธีใหม่ด้วยการเจาะรูบริเวณขาที่มีอาการเพื่อใส่อุปกรณ์เข้าไปทำการรักษาหลอดเลือดที่มีปัญหาให้อุดตันไปโดยไม่ต้องผ่าตัดนำหลอดเลือดออกมาจากผู้ป่วย (endovenous treatment) ผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีนี้จะมีสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าและมีอาการปวดหลังผ่าตัดน้อยกว่าวิธีผ่าตัดเปิด

รูปแสดง การผ่าตัดเส้นเลือดขอดด้วยวิธีการเจาะรูใช้คลื่นวิทยุ (endovenous radiofrequency radiation)

ข้อมูลโดย
นพ. เกียรติศักดิ์   ทัศนวิภาส
แพทย์ศัลยกรรมทั่วไป , ศัลยศาสตร์หลอดเลือด ประจำโรงพยาบาลบางโพ

สัญญาณ บ่งบอกว่าเรามีปัญหาการได้ยิน

เข้าใจในปัญหาการสูญเสียการได้ยิน

การสูญเสียการได้ยินอาจเกิดขึ้นได้อย่างฉับพลันหากได้รับเสียงดังมากจนเกินไป เช่น เสียงระเบิด เสียงประทัด หรือ เสียงปืน เป็นต้น และ การสูญเสียการได้ยินสามารถเกิดขึ้นได้อย่างช้าๆ อันเนื่องมาจากอายุ, กรรมพันธุ์ , โรคบางชนิด รวมถึงการใช้ยายาบางชนิดเป็นระยะเวลานาน

 

สัญญานที่บ่งบอกว่าเรามีปัญหาการได้ยิน

  • รู้สึกเหมือนว่าทุกๆ คนรอบๆ ตัวคุณ พูดงึมงำฟังไม่ค่อยเข้าใจ บางครั้งต้องขอให้อีกฝ่ายพูดซ้ำ
  • ประสบกับความยากลำบากในการพยามทำความเข้าใจคู่สนทนา  ในสถานที่ๆ ที่มีเสียงจอแจ เช่น ตลาด, สถานีรถไฟ, ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
  • ได้ยินเสียงสนทนา แต่ไม่สามารถเข้าใจในคำสนทนาได้โดยเฉพาะหากผู้พูดเป็น เด็ก หรือ ผู้หญิงที่มีเสียงเล็กแหลม เสียงของตัวอักษร  เช่น ส, ฟ, S, H, F, TH เป็นต้น
  • คุณไม่ได้ยินเสียงในธรรมชาติบางอย่าง มานานมากแล้ว เช่น เสียงนกร้อง เสียงฝนตก

อาการเหล่านี้เป็นสัญญานบ่งบอกว่ามีการสูญเสียการได้ยิน

การสูญเสียการได้ยิน แบ่งออกเป็น/ ประเภทของการสูญเสียการได้ยิน

  1. การนำเสียงบกพร่อง (Conductive hearing loss) มีพยาธิสภาพที่หูชั้นนอกหรือหูชั้นกลาง หรือทั้งสอง ทำให้เสียงไม่สามารถผ่านไปยังหูชั้นในได้อย่างปกติ
  2. ประสาทรับฟังเสียงบกพร่อง ( Sensorineural hearing loss) มีพยาธิสภาพที่หูชั้นในหรือเส้นประสาทเสียง
  3. การรับฟังเสียงบกพร่องแบบผสม (Mixed hearing loss) มีพยาธิสภาพที่เกิดร่วมกันทั้งการนำเสียงบกพร่องและประสาทรับฟังเสียงบกพร่อง มีปัญหาที่หูชั้นนอกหรือหูชั้นกลางและหูชั้นในร่วมกัน

ระดับการสูญเสียการได้ยิน

ค่าเฉลี่ย  PTA 500-2000 Hz(db)        ระดับการได้ยิน                                                     ความสามารถในการฟัง

-10 – 25                    การได้ยินปกติ( Normal hearing.)                                   ได้ยินเสียงพูดชัดเจน

26 – 40                      หูตึงเล็กน้อย (Mild hearing loss.)                                   มีปัญหาไม่ได้ยินเสียงพูดเบาๆ

41 – 55                      หูตึงปานกลาง( Moderate hearing loss.)                        เข้าใจคำพูดในระดับความดังปกติในระยะ 3-5 ฟุต

56 – 70                      หูตึงมาก (Moderately severe hearing loss.)                  ต้องพูดเสียงดังๆ จึงจะเข้าใจ และฟังเสียงพูดในสถานทีมีเสียงจอแจไม่เข้าใจ

71 – 90                      หูตึงรุนแรง (Severe hearing loss.)                                  ได้ยินเสียงตะโกนในระยะ 1 ฟุต แต่ไม่เข้าใจความหมาย

90  ขึ้นไป                   หูหนวก (Profound hearing loss.)                                   ไม่ได้ยินเสียงตะโกน

 

เครื่องช่วยฟัง คือเครื่องขยายเสียงขนาดเล็ก ทำหน้าที่ขยายเสียงคำพูดและเสีย­­­­­­­งสิ่งแวดล้อม ช่วยให้ฟังเสียงชัดเจนดีขึ้น

ประโยชน์ของเครื่องช่วยฟัง

1  ช่วยให้ได้ยินดีขึ้น และเข้าใจความหมายของเสียงพูดได้ดีมากขึ้น

2  ช่วยรักษาหน้าที่เซลล์หูให้คงสภาพ เพราะเสียงจากเครื่องช่วยฟังเข้าไปกระตุ้นให้เซลล์ในหูชั้นในให้ทำงานอยู่ตลอด ไม่ให้เซลล์เสื่อมสภาพ

3  ช่วยให้สามารถแยกแยะทิศทางของเสียงได้ดีขึ้น

 

เครื่องช่วยฟังมี 3 ประเภท ได้แก่

  1. แบบกล่อง (Body Aid) ลักษณะตัวเครื่องเป็นกล่องสี่เหลี่ยมมีสายหูฟังต่อเข้ากับตัวเครื่อง
  2. แบบทัดหลังหู (Behind the ear hearing aid) เป็นเครื่องช่วยฟังแบบทัดหลังหู ลักษณะตัวเครื่องจะเกี่ยวอยู่ด้านหลังใบหู มีท่อต่อกับพิมพ์หูใส่ไว้รูหู

3. แบบในช่องหู (Custom made hearing aid) เป็นเครื่องขนาดเล็ก ใส่เข้าไปในช่องหู แบ่งออกเป็น ITE (In the ear) แบบใหญ่เต็มช่อง/เบ้าหู ITC (In the canal) แบบกลาง CIC (Complete in the canal) แบบเล็ก

ปัจจุบันเครื่องช่วยฟังมีคุณสมบัติพิเศษ ดังต่อไปนี้

  • ระบบตัดเสียงลม และเสียงหวีดรบกวนขณะสวมใส่เครื่องช่วยฟัง
  • ระบบช่วยลดเสียงดังในหู Tinnitus Masker
  • ป้องกันฝุ่นและกันน้ำ
  • รองรับการเชื่อมต่อ Bluetooth
  • เชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือ ปรับระดับความดังผ่าน Application บนมือถือได้ เป็นต้น

และคุณสมบัติพิเศษอื่นๆ ขึ้นอยู่กับรุ่นของเครื่องช่วยฟัง ควรเลือกให้เหมาะสมและสะดวกสบายกับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ที่ใส่เครื่องช่วยฟัง

สอบถามและปรึกษา ได้ที่
คลินิก หู คอ จมูก  ชั้น 2 อาคาร 2 โรงพยาบาลบางโพ
โทร.02 587 0144  ต่อ 2220

 

วันเด็กปีนี้ พาน้องเที่ยวที่ไหนดี

วันเด็กปีนี้ พาน้องเที่ยวที่ไหนดี

อีก 2 วันก็จะถึงวันเด็กแห่งชาติ ที่เด็กๆ และผู้ใหญ่บางท่านรอคอย ค่ะ เพราะนอกจากน้องๆ จะได้สนุกสนานกันแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็มีความสุขไปด้วย หลายพื้นที่มีการจัดงานโดยเน้น ความสุข สนุก และเสริมสร้างพัฒนาการของน้องๆ การเล่นแบบไหนเสริมพัฒนาการด้านใดเรามาดูกันค่ะ

– กิจกรรมการระบายสี การวาดรูป  ช่วยในการพัฒนากล้ามเนื้อมือทั้งมัดเล็กและมัดใหญ่ (Motor skill) และเป็นการฝึกการทำงานที่สัมพันธ์กันระหว่างมือกับตา

–  กิจกรรมการอ่าน   การฝึกทักษะด้านภาษา การฝึกการมองภาพและการรู้จักสิ่งต่างๆ  สร้างจินตนาการ สร้างความอบอุ่น สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่กับลูกน้อยด้วย เป็นกิจกรรมกระตุ้น พัฒนาการเด็ก ที่ดีที่สุด

– กิจกรรมการปีนป่าย  รวมถึงการปั่นจักรยาน เด็กชอบที่จะปีนป่าย จะชอบสำรวจสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ที่ท้าทาย เป็นการพัฒนากล้ามเนื้อหลักๆของร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อแขนขาและยังช่วยฝึกทักษะการสร้างสมดุลของร่างกาย

– กิจกรรมการทำอาหาร หรือ กิจกรรมเลียนแบบอาชีพต่างๆ   ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านร่างกายและสังคม  กระตุ้นให้เกิดความมุ่งมั่นพากเพียร  จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์   โดยตั้งแต่กระบวนความคิด การวางแผน การจัดลำดับขั้นตอน และการแก้ปัญหา เป็นการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ( Learning by doing )

วันนี้ Admin จึงขอแนะนำ สถานที่จัดวันเด็ก มาให้คุณพ่อคุณแม่พาน้องไปสนุกกันค่ะ

 

 ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.

วันเด็กปีนี้ ชวนน้องๆ ออกมาเล่นให้สนุกสุดเหวี่ยง!! ไปกับเกมแสนสนุกตลอดทั้งวัน  เช่น – ระเบิดบอลระบายสี – ปีนเขาหรรษา – บันไดงูยักษ์ – ลอดช่องอุปสรรค – พิเศษ..สอยดาวลุ้นของรางวัลมากมาย!! เพลิดเพลินกับการแสดงบนเวทีของพี่น้องผองเพื่อน   ในวันที่ 12 มกราคม 2562 ตั้งแต่เวลา 09.00-15.30 น   ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาะวะ สสส.

มิวเซียมสยาม 

พบกับกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ตอน “ผจญภัยในห้องครัว”  รับความรู้  เกมจาก 5 เมนูอาหารไทย เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องอาหารไทยเมนูต่างๆ ประกอบด้วยเมนู ต้มยำกุ้ง ส้มตำ แกงเขียวหวาน บัวลอย และไข่เจียว โดยกุ๊กตัวน้อยจะต้องช่วยกันออกตามหาวัตถุดิบจากทั้ง 5 เมนู  ในรูปแบบฐาน อาทิ ฐานฟาร์ม   ฐานตลาด   ฐานสวนผัก   ฐานสวนผลไม้  กิจกรรมตอบคำภามในห้องนิทรรศการ (ห้องไทยชิม) พร้อมของรางวัลพิเศษอีกมากมาย  ตั้งแต่เวลา 10.00 – 18.00 น.   ณ  มิวเซียมสยาม  ถนน สนามไชย แขวง พระบรมมหาราชวัง เขต พระนคร

 

พิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย (Thai Red Cross Museum)

กาชาดสร้างความสุขให้เด็กไทย ในงานวันเด็กแห่งชาติ 2562  เชิญชวนเด็กและเยาวชน เข้าร่วมกิจกรรมงานวันเด็กแห่งชาติ  ภายในงานมีกิจกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ของสภากาชาดไทย ร่วมให้ความสนุกและความรู้มากมาย อาทิ    กิจกรรม “เรียนรู้…สนุก KID กับพิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย” กิจกรรม “Paper dolls” และ “เกมบันไดงู”   ย กิจกรรม “กาชาดร่วมใจ สร้างอนาคตสดใส เพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่”   จัดกิจกรรมความรู้ เกม สนุก ๆ ตามฐานต่าง ๆ เช่น ความรู้เรื่องเครื่องหมายกาชาด ฯลฯ   จัดกิจกรรมการให้ความรู้เกี่ยวกับการช่วยชีวิตเบื้องต้น   ให้บริการตรวจเช็คฟันและอุดเคลือบร่องฟันด้วยรถทันตกรรมเคลื่อนที่   และเข้าชมสวนงู ฟรี และชมการแสดงจับงูในเวลา 11.00 และ 14.30 น.

ตั้งแต่เวลา 08.30-15.30 น. ณ พิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย ถนนอังรีดูนังต์

พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานครแห่งที่ 1 “จตุจักร”

พบกับกิจกรรมและของรางวัลมากมาย ร่วมเล่นเกมส์ตอบปัญหาชิงรางวัล ลุ้นรับโชคกับ Lucky Draw และร่วมชมการแสดงความสามารถของเด็กๆ ได้ที่ พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานครแห่งที่ 1 (จตุจักร)

 

Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ตอน คิด(ส์) หลาก หลาย: Everybody is Unique”   น้องๆจะได้ชมผลงานศิลปะจากศิลปินชื่อดังจากทั่วโลก กว่า 40 ชิ้น จากนิทรรศการ Bangkok Art Biennale 2018 ที่นำเสนอเรื่องราวความสุขผ่านมุมมอง วิธีคิด และวัฒนธรรมที่หลากหลาย   และปล่อยพลังความคิดสร้างสรรค์ไปกับฐานกิจกรรมที่รอตอนรับน้องๆ ตั้งแต่ชั้น L จนถึงชั้น 9 ทั้งฐานนิทานคุณหนูฐานกราฟฟิตี้คิดส์ฐานจากนิทรรศการBangkok Art Biennale และอีกมากมายได้ทั้งความสนุกและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

เวลา 10.00น.-16.00 น. ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

มูลนิธิเอสซีจี

กิจกรรม มหัศจรรย์หนังสือภาพ – เทศกาลนิทานในสวน ปีที่ 14  ชวนท่องไปในสวนนิทาน เปิดประสบการณ์การอ่าน เปิดโลกแห่งจินตนาการ เสริมสร้างพัฒนาการที่ดีให้ลูกรัก ใน ‘เทศกาลนิทานในสวนกรุงเทพฯ  เพื่อเปิดพื้นที่ให้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองได้พาลูกหลานมานั่งฟังนิทาน อ่านหนังสือ พร้อมทำกิจกรรมแสนสนุกภายใต้บรรยากาศร่มรื่นยามเย็น ภายในงานพบกับกิจกรรมที่เหมาะกับทุกคนในครอบครัวที่จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการให้กับลูกน้อยอย่างรอบด้าน  เวลา  16.00 – 18.00 น. ณ สวนสาธารณะใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ