นิ่วในถุงน้ำดี
สาเหตุ เกิดจากภาวะไม่สมดุลของสารประกอบในน้ำดี เมื่อมีนิ่วเกิดขึ้น อาจมีอาการตั้งแต่ ท้องอืด อาหารไม่ย่อย บางครั้งนิ่วไปอุดท่อถุงน้ำดี ทำให้มีอาการปวดแบบปวดดิ้น หรือถ้านิ่วตกลงไปอุดท่อน้ำดีใหญ่ จะทำให้มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง ในบางรายอาจตรวจพบนิ่วในถุงน้ำดีแต่ไม่มีอาการได้เช่นกัน อาการดังกล่าวข้างต้นจะเกิดเมื่อใดก็ได้และพบในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งถุงน้ำดี มักพบว่ามีนิ่วร่วมด้วยเป็นส่วนใหญ่
นิ่วในถุงน้ำดี ไม่สามารถรักษาได้โดยใช้เครื่องสลายนิ่ว การรักษาโดยใช้ยาละลายนิ่วใช้ได้เฉพาะนิ่วบางชนิดเท่านั้น ส่วนใหญ่ต้องรับประทานยาเป็นเวลานานและเมื่อหยุดยาก็อาจเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้อีก อีกทั้งนิ่วของคนไทยส่วนมากมักไม่ละลายโดยใช้ยา ดังนั้นการรักษาที่ดีที่สุด คือการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก ซึ่งการตัดถุงน้ำดี ไม่มีผลต่อการย่อยอาหาร เพราะน้ำดีสร้างมาจากตับ ถุงน้ำดีเป็นเพียงที่เก็บพักน้ำดีเท่านั้น
อาการ ผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดี อาจไม่มีอาการเลยหรือมีอาการบางอย่าง ดังต่อไปนี้ โดยไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการได้แก่
- ท้องอืด
- แน่นท้องหลังรับประมานอาหาร โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารที่มีไขมันมาก
- ปวดท้องใต้ชายโครงขวาเป็นครั้งคราว
- ปวดท้องรุนแรง และปวดร้าวไปถึงสะบักด้านขวา
- ไข้สูงเฉียบพลัน ถ้ามีการอักเสบของถุงน้ำดีอย่างเฉียบพลัน
- ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม
จะตรวจพบว่าเป็นนิ่วถุงน้ำดีได้อย่างไร
วิธีที่ดีที่สุด ที่จะวินิจฉัยว่ามีนิ่วในถุงน้ำดี คือการตรวจอัลตร้าซาวด์
การรักษา
การผ่าตัดเอาถุงน้ำออกเป็นการแก้ปัญหาที่ถาวร เพื่อไม่ให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีขึ้นได้อีกต่อไปและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่างๆ การผ่าตัดถุงน้ำดีในปัจจุบัน มี 2 วิธี
- ผ่าตัดแบบเดิม โดยการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง (Open Cholecy – stectomy) ปัจจุบันจะเลือกใช้ในการผ่าตัด ถุงน้ำดีที่มีอาการอักเสบมากหรือแตกทะลุในช่องท้อง
- ผ่าตัดภายในกล้อง โดยการเจาะรูเล็กๆ ที่หน้าท้อง (Laparo-scopic Cholecystectomy) ถ้าผู้ป่วยไม่มีถุงน้ำดีอักเสบมากเฉียบพลัน สามารถทำได้สำเร็จถึงร้อยละ 95 ถ้าถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันเกิน 3 วัน โอกาสผ่าตัดโดยวีนี้ได้สำเร็จจะน้อยลง
วิธีการผ่าตัดผ่านกล้อง
- เจาะรูเล็กๆ บริเวณหน้าท้อง 4 แห่ง ด้วยเครื่องมือที่ออกแบบเฉพาะสำหรับการเจาะหน้าท้องอย่างปลอดภัย ขนาดของรูประมาณ 0.5 ซม. 3 ตำแหน่ง และขนาด 1 ซม. ที่สะดือ 1 ตำแหน่ง
- ใส่กล้องที่มีก้านยาวและเครื่องมือผ่านรูที่ผนังหน้าท้องลงไปศัลยแพทย์จะสามารถมองเห็นถุงน้ำดีและอวัยวะต่างๆ จากจอโทรทัศน์ซึ่งกล้องส่งสัญญาณภาพมา
- ศัลยแพทย์สามารถเลาะแยกถุงน้ำดีออกจากตับ และใช้คลิปหนีบห้ามเลือดแทนไหมเย็บแผล ก่อนตัดขั่วของถุงน้ำดีแล้วเลาะส่วนที่เหลือให้หลุดออก
- เมื่อตัดถุงน้ำดีได้แล้ว บรรจุใส่ถุงที่ออกแบบมาโดยเฉพาะแล้วดึงออกจากร่างกายบริเวณรูสะดือ จากนั้นศัลยแพทย์จะสำรวจความเรียบร้อยเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนดึงเครื่องมือและกล้องออกแล้วเย็บปิดแผล
- ในผู้ป่วยบางรายถ้ามีการอักเสบมาก อาจต้องมีการใส่ท่อระบายไว้ 2-3 วัน
ผลดีของการผ่าตัดถุงน้ำดีผ่านกล้อง
- อาการปวดแผลหลังผ่าตัดน้อยกว่า เพราะแผลมีขนาดเล็ก
- อยู่โรงพยาบาล ประมาณ 1-2 วัน ซึ่งผ่าตัดแบบเดิม อยู่โรงพยาบาล ประมาณ 3-5 วัน
- การพักฟื้นหลังผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ทำให้กลับไปทำงานตามปกติได้เร็วกว่า ถ้าผ่าตัดแบบเดิมใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 1 เดือน
- แผลขนาดเล็กดูแลง่ายกว่าและมีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่าแผลใหญ่
คำแนะนำผู้ป่วยก่อนผ่าตัด
ในกรณีที่เป็นการผ่าตัดที่ไม่ฉุกเฉิน (Elective Case) ผู้ป่วยควรดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง ปราศจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ถ้าผู้ป่วยที่ทานยาละลายลิ่มเลือดหรือยากลุ่ม Antiplatelet ควรหยุดยาอย่างน้อย 7 วัน
คำแนะนำผู้ป่วยหลังผ่าตัด
ผู้ป่วยจะปวดแผลค่อนข้างมากในวันแรกหลังการผ่าตัด ดังนั้นควรได้รับยาลดปวดจากพยาบาลตามความเหมาะสม ในบางรายอาจมีการอาเจียนจากผลของยาสลบได้ขอให้แจ้งพยาบาลทันทีที่มีอาการเพื่อจะได้ยาลดอาการดังกล่าว หลังจากไม่มีภาวะคลื่นไส้ อาเจียน ผู้ป่วยสามารถทานอาหารเหลวได้ทันทีหลังการผ่าตัดภายใต้กล้อง Laparoscopic cholecystectomy
การปฏิบัติตัวเมื่อกลับบ้าน
- ถ้ามีอาการของการปวดท้องหรือมีไข้ ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะเหลือง ขอให้รีบแจ้งแพทย์ให้ทราบทันที เพื่อที่จะหาสาเหตุของความผิดปกติที่อาจพบได้หลังการผ่าตัดถุงน้ำดี
- ควรงดการยกของหนัก 3 เดือน
- ควรงดอาหารที่มันจัดตลอดชีวิต
สอบถามและปรึกษาได้ที่
คลินิกอายุรกรรม ระบบทางเดินอาหาร ชั้น 2 อาคาร 2 โรงพยาบาลบางโพ
โทร. 02 587 0144 ต่อ 2200
You must be logged in to post a comment.