โรคอหิวาตกโรค (Cholera)

Cholera
โรคอหิวาตกโรค
Cholera
หลังจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้การระบาดของโรคอหิวาตกโรคเป็น "ภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่" และพบผู้ป่วยในหลายประเทศเพิ่มขึ้น ประเทศไทยได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าวมาโดยตลอด
สถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทย
พบผู้ป่วย 4 คนตั้งแต่เดือน ธ.ค.2567 ในพื้นที่ จ.ตาก เป็นชาวต่างชาติ 2 คน คนไทย 2 คน และมีผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการอีก 3 คน (ต่างชาติ 2 คน คนไทย 1 คน) ทั้งหมดได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว และไม่มีผู้เสียชีวิต
กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอย่างเข้มงวด ทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี เน้นการป้องกัน เนื่องจากโรคอหิวาตกโรคแพร่กระจายได้ง่าย ผ่านการบริโภคอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อน
จึงต้องเน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด เช่น กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และเลือกบริโภคอาหารที่ปรุงสุกใหม่
อาการ
ผู้ป่วย จะถ่ายเป็นน้ำจำนวนมาก มีเนื้ออุจจาระน้อย เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันร่วมกับมีอาการและอาการแสดงของการขาดน้ำอย่างรวดเร็วและรุนแรง อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน ส่วนใหญ่ไม่มีไข้ ไม่ปวดท้อง
ในรายที่มีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยอาจตายในเวลา 2-3 ชั่วโมง และอัตราป่วยตายสูงมากกว่าร้อยละ 50 แต่ถ้าได้รับการรักษาถูกต้องและทันท่วงที อัตราป่วยตายจะลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 1
การควบคุม
  1. จัดให้มีการสุขาภิบาลในเรื่องการทำลายอุจจาระและการป้องกันแมลงวัน จัดที่สำหรับล้างมือในกรณีที่ไม่มีส้วม ควรกำจัดอุจจาระด้วยการฝัง และที่ฝังจะต้องห่างจากแหล่งน้ำดื่มน้ำดื่มควรต้มหรือใส่คลอรีน น้ำใช้ควรได้จากแหล่งที่สะอาด
  2. ควบคุมแมลงวันโดยใช้มุ้งลวด พ่นยาฆ่าแมลง หรือใช้กับดัก ควบคุมการขยายพันธุ์ด้วยการเก็บและทำลายขยะโดยวิธีที่เหมาะสม
  3. ระมัดระวังเรื่องความสะอาดของอาหาร ควรเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงใหม่หรือแน่ใจว่าสะอาด การล้างมือก่อนรับประทานอาหาร
  4. นมหรือผลิตภัณฑ์นมควรผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ หรือการต้มก่อน ให้คำแนะนำเรื่องการควบคุมการผลิต การเก็บรักษา และการจัดจำหน่ายให้ถูกสุขลักษณะ
  5. ควบคุมการผลิตอาหาร และเครื่องดื่มให้เหมาะสม ให้ใช้น้ำผสมคลอรีนในงานผลิตอาหารและเครื่องดื่ม
  6. ผู้ที่ต้องเดินทางไปยังท้องที่ ซึ่งมีความเสี่ยงในการติดโรคสูงอาจกินยาปฏิชีวนะ จะช่วยป้อง กันโรคได้ สำหรับระยะเวลาสั้นๆ เช่น ภายใน 2 สัปดาห์แต่เชื้ออาจดื้อยาได้
  7. การให้วัคซีนป้องกันโรคอหิวาตกโรคในขณะที่มีการระบาดปัจจุบันไม่แนะนำให้ใช้แล้วเพราะสามารถป้องกันได้เพียงร้อยละ 50 และมีอายุสั้นเพียง 3-6 เดือน สำหรับวัคซีนชนิดกินที่ให้ภูมิคุ้มกันสูงต่อเชื้ออหิวาต์สายพันธุ์ o1 ได้หลายเดือนมีใช้แล้วหลายประเทศ มีสองชนิด ชนิดแรกวัคซีนเชื้อยังมีชีวิตกินครั้งเดียว (สายพันธุ์ CVD 103-HgR) ส่วนชนิดที่สองเป็นเชื้อตายแล้วประกอบด้วยเชื้ออหิวาห์ตายแล้วกับ cholera toxin ชนิด B-subunit กิน 2 ครั้ง
  8. การป้องกันการระบาดในสถานเลี้ยงเด็กเล็ก โดยรักษาความสะอาดสถานที่ข้าวของเครื่องใช้ เจ้าหน้าที่ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ แยกผู้ป่วยที่มีอาการอุจจาระร่วงและเพาะเชื้อหาสาเหตุของการป่วย
  9. มาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายประชากร อาหาร และสินค้าอื่นๆ ไม่นิยมทำนอกจากมีข้อ บ่งชี้ชัดเจน
การป้องกันโรค
  • กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ
  • เป็นวิธีป้องกันโรคที่ง่ายที่สุดและมีประสิทธิภาพสูงสุด
  • เลือกบริโภคอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หลีกเลี่ยงอาหารดิบหรือสุก ๆ ดิบ ๆ
  • ดื่มน้ำสะอาดที่ผ่านการต้มหรือน้ำบรรจุขวดรักษาความสะอาด
  • ล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
  • หากมีอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ทันที