HPV Vaccine วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
“ก้าวที่กล้าเพื่อหยุดมะเร็งปากมดลูก”
“รู้หรือไม่ ว่าในทุกๆ วันผู้หญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกมากถึง 12 คน”
มะเร็งปากมดลูกไม่ได้มีสาเหตุจากพันธุกรรม แต่เกิดจากไวรัส HPV ซึ่งติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นหลัก และรวมถึงสัมผัส ใกล้ชิดจากภายนอก และเชื้อนี้ยังสามารถก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ได้อีกหลายชนิด
ปัจจุบันมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าการติดเชื้อ ไวรัสที่ชื่อว่า Human Papilloma Virus (HPV) เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกการฉีด HPV Vaccine เพื่อการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อ HPV เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยป้องกันปากมดลูกจากการติดเชื้อ HPV ได้
ชนิดของวัคซีน
- HPV Vaccine ชนิด 4 สายพันธุ์ สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกมะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งช่องคลอด และหูดอวัยวะเพศซึ่งเกิดจาก HPV สายพันธ์ 6,11,16,18
- HPV Vaccine ชนิด 2 สายพันธุ์ สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกซึ่งเกิดจาก HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ได้
ช่วงอายุที่แนะนำให้ฉีด HPV Vaccine
ประสิทธิภาพของ HPV Vaccine จะสูงที่สุดในสตรีที่ยังไม่ติดเชื้อ HPV ดังนั้นจึงควรฉีดวัคซีนก่อนถึงวัยที่จะมีเพศสัมพันธุ์ โดยปัจจุบันแนะนำให้ฉีด ในทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย ที่มีอายุ 9 ปี ช่วงดังกล่าวเด็กจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างเต็มที่นอกจากนั้นยังแนะนำว่าผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 13-26 ปี ที่ไม่เคยฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่ครบควรได้รับการฉีดทุกคน
เด็กอายุ 9-12 ปี ฉีด 2 เข็ม
อายุตั้งแต่ 13-26 ปี ฉีด 3 เข็ม
การฉีด HPV Vaccine
การฉีด HPV Vaccine ให้ฉีด 0.5 มล.
เข้ากล้ามเนื้อจำนวน 3 ครั้ง (3 เข็ม) ดังนี้
ครั้งที่ 1 : ฉีดในวันที่กำหนดเลือก
ครั้งที่ 2 : ฉีดในเดือนที่ 2 หลังจากการฉีดครั้งแรก
ครั้งที่ 3 : ฉีดในเดือนที่ 6 หลังจากการฉีดครั้งแรก
ผลข้างเคียงของการฉีด HPV Vaccine
โดยทั่วไปการฉีด HPV Vaccine มีความปลอดภัยสูงไม่พบอาการข้างเคียงชนิดรุนแรง อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่
- อาการข้างเคียงบริเวณที่ฉีดวัคซีน เช่น ปวด บวม แดง และคัน ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง เป็นอยู่ชั่วคราวและหายไปเอง
- อาการทั่วไปเช่น ไข้ พบประมาณร้อยละ 10 ส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและหายได้ไอง อาการอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย และผื่นคันตามตัว อาการเหล่านี้ไม่รุนแรงและหายได้เอง
คำแนะนำที่ควรทราบก่อนการฉีด HPV Vaccine
- การฉีด HPV Vaccine ไม่สามารถทดแทนการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้
- การฉีด HPV Vaccine ป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ 90% และไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคอื่นที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อ HPV เช่นโรคเริม ตกขาวจากเชื้อโรคชนิดต่างๆ
- ถ้ามีภูมิคุ้มกันต่ำหรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนอาจจะลดลง
- หลังจากฉีด HPV Vaccine แล้ว ถ้ามีเพศสัมพันธ์ควรมีเพศสัมพันธ์ในเชิงป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีด้วย เช่นการมีคู่นอนคนเดียว (monogamous) หรือการคุมกำเนิดโดยใช้ถุงยางอนามัย เป็นต้น
- ในช่วงที่ฉีด HPV Vaccine ควรคุมกำเนิดด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพจนกระทั่งฉีดครบ 3 เข็มไปแล้วอย่างน้อย 1 เดือน
- ควรฉีด HPV Vaccine ให้ครบ 3 เข็มในช่วงที่กำหนด
- หลังฉีด HPV Vaccine ควรมารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามที่แพทย์นัดเมื่อถึงวัยอันควร
- หลังฉีด HPV Vaccine แล้ว ควรนอนพักสังเกตอาการอย่างน้อย 30 นาที ไม่ควรเดินกลับคนเดียวหรือกลับด้วยตนเอง ควรมีเพื่อนหรือผู้ปกครองมาด้วย
วัคซีนป้องกันได้นานแค่ไหน
จากการติดตามผลจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 10 ปี พบว่า วัคซีน มีประสิทธิภาพในการป้องกัน การเกิดโรคได้ดี และในการศึกษายังพบแนวโน้มว่า ภูมิคุ้มกันของวัคซีน HPVมีลักษณะคล้ายกับไวรัสตับอักเสบบี
ที่ภูมิคุ้มกันมีโอกาสอยู่ได้นาน 10 – 20 ปี หรืออาจจะตลอดชีวิต
เอกสารอ้างอิง
– ชมรมคอลโปสโคปีและพยาธิสภาพปากมดลูกแห่งประเทศไทย ( TSCCP )
– ศ.นพ.จตุพล ศรีสมบูรณ์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
– รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรโมชั่น และแพคเกจ
– วัคซีน HPV vaccine สำหรับเด็ก
– วัคซีน HPV vaccine สำหรับผู้ใหญ่
สอบถามเพิ่มเติม
คลินิกสุขภาพสตรี โรงพยาบาลบางโพ ชั้น 4 อาคาร 2
โทร. 02 587 0144 ต่อ 2411