ต้อหิน
โรคต้อหินเป็นโรคของดวงตาชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากความเสื่อมของประสาทตา เป็นประสาทที่เชื่อมระหว่างตากับสมอง (Optic Nerve) หรือการที่เส้นประสาทตาถูกทำลาย สาเหตุมักเกิดจากความดันในลูกตาสูง ทำให้สูญเสียการมองเห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเริ่มจากบริเวณรอบนอกก่อน แต่ยังสามารถเห็นวัตถุที่วางอยู่ตรงหน้าได้ชัดเจน แต่จะมองไม่เห็นวัตถุที่อยู่ด้านข้าง เมื่อมีอาการมากขึ้น การมองเห็นก็จะค่อยๆแคบลงและตาบอดในที่สุด สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
ต้อหินแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
1.ต้อหินแบบมุมเปิด พบได้บ่อย เกิดจากลักษณะการอุดตันที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้นอย่างช้าๆ จึงไม่มีอาการเจ็บปวดแต่ประสาทตาจะถูกทำลายไปทีละน้อย การสูญเสียการมองเห็นจะเกิดขึ้นเมื่อเป็นโรคนี้ในระยะเวลานาน และมักเป็นกับตา 2 ข้าง
2.ต้อหินแบบมุมปิด ทำให้ของเหลวในลูกตาไหลออกจากตาไม่ได้ ความดันลูกตาจึงสูงขึ้น อาจมีอาการแบบเฉียบพลัน โดยมีอาการปวดตารุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะในข้างที่มีต้อหินเฉียบพลัน ตามัวลง มองเห็นสีรุ้งรอบดวงไฟ ตาแดง และต้อหินชนิดมุมปิดนี้อาจมีอาการเรื้อรังได้ ไม่ปวดตาแต่ตรวจพบความดันลูกตาสูงและการมองเห็นแคบลง ต้อหินมุมปิดมักพบในชาวเอเชีย
ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นต้อหิน
-มีกรรมพันธุ์ในครอบครัวเป็นโรคต้อหินมุมเปิด
-ผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดอักเสบ
-ผู้ที่มีสายตาสั้นมากๆ
-ผู้ที่เคยผ่าตัดหรือได้รับอุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตา
-การใช้ยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์มาเป็นเวลานาน
การวินิจฉัย
1.Tonometry เป็นการวินิจฉัยที่ไม่เจ็บเพื่อวัดความดันในลูกตา
2.Opthalmoscopy เป็นการใช้เครื่องมือเพื่อช่วยให้มองเห็นเส้นประสาทตาในลูกตา
3.Visual Field Testing เป็นการวัดประสิทธิภาพของงานสายตาซึ่งสัมพันธ์กับความเสื่อมของประสาทตา
4.Gonioscopy เป็นการตรวจช่องทางการไหลของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา
การรักษาโรคต้อหิน
1.การใช้ยาหยอดตาและกินยาลดความดันลูกตา สำหรับผู้ที่เป็นต้อหินระยะเริ่มแรกที่ความดันลูกตายังไม่สูงมาก
2.การรักษาด้วยการยิงเลเซอร์ขึ้นอยู่กับชนิดต้อหินที่เป็น หลักการเพื่อช่วยทำให้มุมม่านตาระบายน้ำออกจากลูกตาได้ดีขึ้น ความดันตาจะได้ลดลง
3.การผ่าตัดจะเป็นการช่วยลดความดันในลูกตา โดยทำช่องทางระบายน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาไหลออกกว้างขึ้น หรือทำช่องทางเดินระบายน้ำใหม่ให้น้ำหล่อเลี้ยงลูกตาไหลออกได้ ปัจจุบันการใช้ยารักษาต้อหินด้วยยาหยอดตาเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด และนิยมมากที่สุด
การมีส่วนร่วมในการรักษาต้อหิน
1.ใช้ยาหยอดยาหรือรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
2.ไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อวัดความดันลูกตาเป็นระยะๆ เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของโรค
3.ปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อพบผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยา